THE CHANGING FORM OF WORKPLACE AND ITS FUTURE

EXPLORE THE WORKPLACE DESIGN SINCE ITS EARLY DAY AND FIND OUT WHERE DOES THE WORKPLACE DESIGN HEAD TOWARD TODAY

TEXT: CHANIDA LUMTHAWEEPAISAL
PHOTO CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

Taylorism – Ybor cigar factory | Photo courtesy of Ybor cigar factory

Great Workroom of the Johnson Wax Building | Photo courtesy of scjohnson.com

Atrium of Larkin Administration Building | Photo courtesy of ads9rca.wordpress.com

First floor plan Larkin Administration Building | Photo courtesy of The Frank Lloyd Wright Foundation

วัฒนธรรมการทำงานขององค์กรในปัจจุบันได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปจากอดีต การออกแบบ‘พื้นที่การทำงาน’ เป็นการตีความความสัมพันธ์ระหว่าง กลยุทธ์องค์กร (Organization Strategy) คน (People) และพื้นที่ (Space) ซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่ตายตัว จุดเริ่มต้นของการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ คือ สำนักงานแบบผังเปิดโล่ง (Open-plan Office) ในยุค 40’ ที่ได้รับอิทธิพลมาจากการจัดพื้นที่การทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมแบบ Taylorism เหมาะสำหรับองค์กรที่มีพนักงานจำนวนมาก และทุกคนทำงานเหมือนกัน โต๊ะทำงานของทุกคนเรียงรายอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำให้หัวหน้างานสามารถสอดส่องการทำงานของพนักงานได้อย่างทั่วถึง ตัวอย่างเช่น สำนักงาน The Johnson Wax Company และ Larkin Administration Building

Osram Headquarters Munich Office Landscape | Photo courtesy of henn.com

Floor plan of Headquarters Munich Office | Photo courtesy of henn.com

Vitra Ad-Hoc Office | Photo courtesy of vitra.com

Cubicle Farm Office | Photo courtesy of Getty Image

ต่อมาในยุค 60’ ได้ถูกพัฒนาเป็น สำนักงานแบบภูมิทัศน์ (Office Landscape) ที่ยังคงมีการจัดพื้นที่การทำงานแบบเปิดโล่ง มีแพทเทิร์น (Pattern) การวางผังเฟอร์นิเจอร์เป็นรูปทรงเรขาคณิตที่ไม่สมมาตร เพื่อแบ่งกลุ่มการทำงาน และสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในกลุ่มย่อย ตัวอย่างเช่น สำนักงาน Osram AG และเป็นการเกิดขึ้นของเฟอร์นิเจอร์สำนักงานยี่ห้อ Herman Miller และ Vitra ต่อมาในยุค 80’ จากสภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทำให้สำนักงานต้องใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โต๊ะทำงานถูกจัดวางในระยะใกล้กันมากขึ้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายการเช่าพื้นที่ จึงเกิดเป็น สำนักงานแบบคอก (Cubicle Farm) โดยโต๊ะทำงานมีแผงกั้นระหว่างโต๊ะเพื่อสร้างสมาธิและแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงที่เกิดขึ้นระหว่างการทำงาน มีการใช้งานอย่างแพร่หลายในช่วงปลายศตวรรษที่ 20

Agile Methodology | Photo courtesy of selleo.com

แล้วทิศทางการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ในปัจจุบันเป็นอย่างไร เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า Workplace Agility เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในการทำงานขององค์กรต่างๆ Workplace Agility หมายถึง ความคล่องแคล่วหรือความคล่องตัวของสถานที่ทำงาน ที่ตอบสนองต่อกลยุทธ์การทำงานแบบใหม่ที่มีเงื่อนไขของเวลา และคุณภาพของผลงานเป็นตัววัดผล ในสถานการณ์ของโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันสูงขึ้น และเทคโนโลยีช่วยเหลือการทำงานต่างๆ ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด Agility หรือ Agile Methodology คือ รูปแบบการทำงานที่เน้นการปรับปรุง และตอบสนองต่อแผนงานอย่างรวดเร็ว เป็นวงจรการทำงานแบบสั้นๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างต่อเนื่องกับกลุ่มการทำงานย่อยภายในองค์กร ซึ่งหลายองค์กรนำมาใช้เพื่อทำให้การทำงานมีความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น การทำงานแบบ Agility ได้ฉีกกฎวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรแบบดั้งเดิม ที่ทุกอย่างต้องเป็นขั้นตอนและมีลำดับชั้น (Hierarchy) ให้เป็นการทำงานที่เน้นการสื่อสารระหว่างคนในองค์กรในระดับย่อย, เน้นการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรและลูกค้า การวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ และพร้อมที่จะปรับตัวกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ในองค์กรต่างๆ ได้อย่างชัดเจน

Airbnb Headquarters San Francisco, Cambridge, MA | Photo courtesy of officesnapshots.com

Airbnb Headquarters San Francisco, Cambridge, MA | Photo courtesy of officesnapshots.com

ตัวอย่างขององค์กรที่มีการออกแบบสำนักงานให้สอดคล้องกับการทำงานแบบ Agility เช่น สำนักงาน IDEO สาขา Cambridge ที่ออกแบบพื้นที่สำนักงานให้สามารถเติบโตไปพร้อมกับคนในองค์กร มีพื้นที่สำหรับการทำงานด้วยการลงมือทำ และเอื้อให้เกิดการสื่อสารของคนในองค์กรระดับย่อย ซึ่งตอบสนองกับกลยุทธ์การทำงานแบบ ‘Design Thinking’ ขององค์กร อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ สำนักงานใหญ่ Airbnb San Francisco กับแนวคิดหลัก ‘Belong Anywhere’ ที่สามารถสะท้อนออกมาในการออกแบบสำนักงานได้เป็นอย่างดี โดยการทำงานสามารถเกิดขึ้นในพื้นที่ใดก็ได้ภายในสำนักงาน มีการออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์การทำงานที่หลากหลาย และมีการเพิ่มพื้นที่สันทนาการเพื่อสร้างบรรยากาศที่ดีทำให้คนในองค์กรมีความสุข สนุกกับการทำงาน และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร ซึ่งนำไปสู่ประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น

WeWork Avenue de France Paris, Cambridge, MA | Photo courtesy of wework.com

Agile Methodology มีบทบาทเด่นชัดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 21 จากการเกิดขึ้นของ Co-Working Space ที่เป็นการแบ่งพื้นที่ทำงานแบบชั่วคราวสำหรับองค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็กหรือแม้แต่ระดับบุคคล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายและกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ข้ามองค์กร ส่งผลให้ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่เคยกระจุกตัวอยู่ในตึกสูง มีความเป็นทางการ พนักงานนั่งทำงานอย่างพร้อมเพรียง ถูกกระจายตัวออก (Decentralized) จากจุดศูนย์กลางธุรกิจ (Central Business District) เกิดเป็นกลุ่มการทำงานที่เล็กลง มีบรรยากาศที่ผ่อนคลายและใกล้ชิดกันมากขึ้น WeWork เป็นตัวอย่างของ อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) ในรูปแบบของ Co-Working Space ที่มีการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน และส่งเสริมให้คนมีทัศนคติที่ดีต่อการทำงาน นอกเหนือจากการเป็นสถานที่ทำงานแล้ว WeWork ยังเป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ ของคนในสังคมเมืองอีกด้วย

WeWork Hatton Garden London, Cambridge, MA | Photo courtesy of wework.com

แม้ว่า Workplace Agility ไม่สามารถเป็นคำตอบสุดท้ายของกลยุทธ์การทำงานของทุกองค์กร แต่เราสามารถเรียนรู้และนำไปประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ เป็นการเปิดโอกาสให้องค์กรได้ทดลองสิ่งใหม่ และอาจนำไปสู่ทิศทางของการออกแบบที่น่าสนใจในลักษณะอื่นๆ ขณะนี้เราเดินทางมาถึงยุคของการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) จากวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ทำให้เราเห็นว่า ‘พื้นที่การทำงาน’ กลายเป็นที่ไหนก็ได้ เราย้ายที่ทำงานจากโต๊ะในสำนักงานกลับมาใช้โต๊ะที่บ้าน เราทำงานกับเพื่อนร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ คำถามคือ เรายังต้องการพื้นที่ที่ถูกออกแบบสำหรับการทำงานโดยเฉพาะอยู่หรือไม่ และทิศทางของการออกแบบจะเป็นอย่างไร วัฏจักรของ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่แปรผันตามสังคมและวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนไปข้างหน้า นอกเหนือจากการออกแบบพื้นที่ทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดแล้ว สุขภาวะของคนทำงานก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม การออกแบบพื้นที่ ‘พื้นที่การทำงาน’ ที่คงไว้ซึ่งความสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง ‘คน’ และ ‘พื้นที่’ จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายสำหรับนักออกแบบในทุกยุคทุกสมัย และเป็นใจความสำคัญของการออกแบบ ‘พื้นที่การทำงาน’ ในอนาคต

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *