ตะวัน วัตุยา บันทึกเรื่องราวของบุคคลผู้พยายามทั้งคำถามกับระบบ อุดมการณ์ อคติ แต่ก็ถูกทำให้หลงลืม ในนิทรรศการ KEEP IN THE DARK จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี กฤษฎา ดุษฎีวนิช เป็นภัณฑารักษ์
TEXT: VICHAYA MUKDAMANEE
PHOTO COURTESY OF ART CENTRE, SILPAKORN UNIVERSITY
(For English, press here)
KEEP IN THE DARK โดยตะวัน วัตุยา จัดแสดงที่หอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ 15 ตุลาคม – 27 พฤศจิกายน 2564 มีกฤษฎา ดุษฎีวนิช เป็นภัณฑารักษ์ บันทึกเรื่องราวและตัวตนผ่านภาพบุคคลผู้เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนอุดมการณ์บนท้องถนน ถ่ายทอดปรากฏการณ์ของความพยายามในการตั้งคำถามกับระบบ กรอบคิด อคติ ซึ่งทั้งหมดถูกทำให้พร่าเลือน บิดเบือน และหลงลืม เหมือนกับเศษกระดาษที่ถูกขยำแล้วทิ้งซ่อนไว้ในความมืด นิทรรศการบอกเล่าถึงความหวังและการต่อสู้อันน่าตื่นเต้น ควบคู่ไปกับความอึดอัดและหดหู่ เมื่อตระหนักว่าเศษเสี้ยวของประวัติศาสตร์ โดยกลุ่มคนที่มีเลือดเนื้อ มีชีวิต มีความหวัง (เช่นเดียวกับเราทุกคน … ไม่ว่าจะเป็นความหวังที่เหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรก็ตาม) กำลังและ (คงจะ) ถูกลบให้หายไปจากการรับรู้ จากความทรงจำ และจากบทสนทนาในที่สุด
ตะวัน วัตุยา เป็นอีกหนึ่งศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่ผลงานได้รับการยอมรับอย่างต่อเนื่องจากวงการศิลปะ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตะวันแสดงนิทรรศการทั้งเดี่ยวและกลุ่มหลายครั้งในแต่ละปี ได้รับเชิญให้นำเสนอผลงานในแกลเลอรี่ และเทศกาลศิลปะที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น นิทรรศการ QUEEN (Tokyo, 2019), HATCH ART PROJECT (Singapore, 2019&2021) และล่าสุดได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในมหกรรมศิลปะนานาชาติ Bangkok Art Biennale (2020) คงจะไม่เกินไปนักถ้าหากจะกล่าวว่าตะวันน่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ ของรายชื่อศิลปินไทยผู้เป็นที่รู้จักของนักสะสมและภัณฑารักษ์ระดับนานาชาติในยุคปัจจุบัน หลังจากจบการศึกษามามากกว่า 20 ปี จากคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ นิทรรศการ KEEP IN THE DARK คือครั้งแรกที่ผลงานศิษย์เก่าท่านนี้ถูกนำมาจัดแสดงอย่างเต็มรูปแบบในพื้นที่หอศิลป์ของมหาวิทยาลัยศิลปากร
ผลงานศิลปะของตะวันนำเสนอในรูปแบบของผลงานจิตรกรรมหลากหลายเทคนิค ซึ่งศิลปินมักใช้กระบวนการทำงานที่ฉับพลัน ปลดปล่อยฝีแปรงและสีสันให้แสดงตัวตน ลดทอนการควบคุมด้วยระบบระเบียบของตัวศิลปิน ที่คุ้นเคยและเป็นที่จดจำมากที่สุดคือภาพวาดบุคคล (Portrait) เทคนิคสีน้ำ ทั้งวาดจากต้นแบบบุคคลจริง และหยิบยืมจากภาพถ่ายในข่าวและสื่อต่างๆ โดยศิลปินแสดงออกในแนวทางเฉพาะตัว ใช้สีน้ำที่เปียกฉ่ำ ฝีแปรงที่ชุ่มหนา ระบายอย่างฉับไวแล้วปล่อยให้สีแต่ละสีแทรกซึมระหว่างกันตามธรรมชาติ เกิดเป็นรอยด่าง หยดสี คราบ อย่างอิสระ ภาพบุคคลของตะวันมักแสดงออกด้วยความบิดเบี้ยว รายละเอียดของรูปทรงลดทอนและพร่าเลือน ศิลปินไม่ได้ถ่ายทอดความเป็นจริง แต่สะท้อนภาพ “ความทรงจำ” ที่สังคมคุ้นตา มุ่งเน้นการบันทึกบุคลิก ท่าทาง และโครงสร้างของรูปทรง ณ ชั่วขณะหนึ่ง ภาพบุคคลที่ศิลปินเลือกมาเล่ามักเกี่ยวเรื่องเพศ การศึกษา เครื่องแบบ วัฒนธรรมป๊อป ภาพยนตร์ ฯลฯ โดยเฉพาะประเด็นปัญหาหรือสภาพชีวิตอันอิหลักอิเหลื่อที่ผู้มีอำนาจเลือกจะมองข้ามหรือปิดบัง
KEEP IN THE DARK เปิดงานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2564 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นความตั้งใจของผู้จัดงานและศิลปินในการเลือกวันนี้เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้และความสูญเสีย ที่เกิดขึ้นอย่างซ้ำซาก หมุนวนเป็นวัฏจักรอันชวนกล้ำกลืน ผมเดินกางร่มฝ่าสายฝนยามเย็น มุ่งหน้าสู่อาคารท้องพระโรง สถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ อันเป็นที่ตั้งของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อเข้าร่วมในพิธีเปิดนิทรรศการแบบจองล่วงหน้า จำกัดคนเข้า ในสถานการณ์ที่โควิดก็ยังน่ากังวล และในบรรยากาศที่รอบๆ มหาวิทยาลัยศิลปากรเต็มไปด้วยตู้คอนเทนเนอร์และรั้วลวดหนาม หลายๆ คนที่ตั้งใจมาร่วมงาน ไม่สามารถมาร่วมพิธีเปิดนิทรรศการได้ เพราะมหาวิทยาลัยกลายเป็นว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ห้ามเข้า
ภาพบุคคลกลุ่มเสื้อแดงในสหรัฐอเมริกาและกลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งศิลปินบันทึกมาจากประสบการณ์ที่เคยพูดคุยและคลุกคลี หรือจากภาพข่าวในสื่อต่างๆ บางคนตอนนี้ยังคงเคลื่อนไหวทางการเมืองตามอุดมการณ์ของตน บางคนอยู่ในเรือนจำ บางคนลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ บางคนสูญหายไปแล้ว ภาพวาด “บุคคลชายขอบ” ติดตั้งด้วยหมุดอย่างเรียบง่ายบนผนัง บานประตู หน้าต่าง เหมือนโปสเตอร์หรือประกาศที่เราพบเห็นบนท้องถนน จัดแสดงเต็มพื้นที่แทบทุกห้องของหอศิลป์
เมื่อการประท้วงและกิจกรรมเรียกร้องสิทธิของประชาชนหลายกลุ่มจัดขึ้นบ่อยครั้ง สิ่งกีดขวางต่างๆ มากมายจัดวางกระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณของสนามหลวงและถนนโดยรอบ ประกอบกับสถานการณ์ที่พื้นที่ของมหาวิทยาลัยศิลปากร วังท่าพระ กำลังอยู่ในช่วงสุดท้ายของการปรับปรุงซึ่งยาวนานมามากกว่า 3 ปี ควบคู่กับบริเวณถนนด้านหน้าพระบรมมหาราชวังซึ่งกำลังปรับปรุงครั้งใหญ่ สร้างทางเดินใต้ดิน เตรียมการต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่จะเข้ามาในอนาคต พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของกรุงรัตนโกสินทร์มีสภาพไม่ต่างจากพื้นที่หวงห้าม ยกเว้นสำหรับกลุ่มคนงานทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเดินเข้าออก เร่งทำงานให้ทันกำหนดการ แต่กระนั้นภาพบุคคลของกลุ่มคนที่ปรากฏในภาพข่าวทั้งในฐานะ “ผู้นำ” ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง และในฐานะ “ตัวป่วนของสังคม” สำหรับหลายคน กำลังถูกจัดแสดงอยู่อย่างองอาจ คล้ายกับพยายามยืนหยัดเรียกร้อง ต่อสู้ ตามอุดมการณ์ของตัวเอง ในพื้นที่ซึ่งอยู่ห่างจากรั้วพระบรมมหาราชวังเพียงข้ามถนน