DOTS DESIGN STUDIO

มาทำความรู้จักกับสตูดิโอออกแบบผลิตภัณฑ์นี้ ที่มีจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ จากการตั้งสตูดิโอในสมัยเรียน สู่การเติบโตและคว้ารางวัลใหญ่ๆ มามากมาย รวมถึงเปิดกระบวนการคิดที่เน้นเสนองานดีไซน์ที่แปลกใหม่ แต่มีความสมดุล

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF DOTS DESIGN STUDIO

(For English, press here

กฤษณ์ พุฒพิมพ์ ก่อตั้ง DOTS DESIGN STUDIO กับเพื่อนๆ เด็กลาดกระบังที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่เรียน ผลงานออกแบบของพวกเขาคว้ารางวัลมามากมายทั้ง DEmark G-mark RED DOT รวมทั้ง Designer of the Year 2019 งานของ DOTS ส่วนใหญ่จะเป็นการแก้ปัญหาพร้อมเสนอทางออกใหม่ๆ ให้กับลูกค้า แต่หลายๆ ครั้ง พวกเขาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาจาก passion ภายในล้วนๆ ขึ้นมาก่อนค่อยทำตลาดตามมาทีหลัง อย่าง จักรยานไม้ DOTS และล่าสุด เรือไม้ไผ่ DOTS Bamboo Kayak กฤษณ์เล่าความคิดเกี่ยวกับงานออกแบบของเขาและเพื่อนๆ ชาว DOTS ให้กับ art4d

art4d: อยากให้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ DOTS DESIGN STUDIO จุดเริ่มต้น แนวทางการทำงาน และเป้าหมายในอนาคต

Krit Phutpim: จุดเริ่มต้นและที่มาของชื่อ ย้อนไปสมัยที่เรียนออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ลาดกระบัง ผมกับเพื่อนทำงาน part time รับงานออกแบบกันเลยอยากตั้งชื่อ studio เพื่อรับงานช่วงที่เรียนกัน เลยเลือกชื่อที่เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ แบบตามทฤษฎีศิลปะเบื้องต้น 

เราก็คิดว่าจุด หลายๆ จุดเชื่อมกันเป็นเส้น เส้นเชื่อมกันเป็นรูปร่างและเป็นรูปทรง เราก็ชอบกันเพราะเหมือนเป็นจุดเริ่มเล็กๆ ที่เริ่มของหลายสิ่ง ตัดสินใจใช้ชื่อนี้เพื่อรับงานกันช่วงที่ยังเรียนอยู่ หลังจบก็แยกย้ายกันไปทำงานบ้าง เรียนต่อบ้าง จนผมเรียนจบกลับมาจากสวีเดน แล้วเริ่มกลับมาทำงานในประเทศ ตอนที่คิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นจริงจังคือตอนที่ apply เพื่อไปแสดงที่งาน Salone Satellite / Milan Design Week ช่วงปี 2006 กับเพื่อนกลุ่มที่เคยทำงานสมัยเรียนที่ลาดกระบัง ก็เลยหยิบเอาชื่อ “dots” มาใช้เพื่อ register น่าจะถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ทำงานในฐานะ DOTS DESIGN STUDIO อย่างเป็นทางการ 

เริ่มแรกตั้งใจให้ DOTS เป็นพื้นที่ทำงานของเราในรูปแบบที่เราอยากจะนำเสนอที่ไม่ใช่ design service อย่างเดียว แต่รวมถึงโปรเจ็คต์ที่ทีมสนใจในช่วงเวลานั้นๆ เช่นจักรยานไม้ หรือ เรือ เราเป็น product design firm ที่พยายามมองปัญหา และโจทย์ของงานที่ทำเป็นความท้าทาย ใช้แนวคิด design thinking process ที่แตกต่างในการนำเสนอแนวทางใหม่ให้กับงาน ผสมผสานกับงาน styling ที่ถนัดมาหาสมดุลให้กับงานออกแบบ 

Render Chinatown

Vicotry bruch

DAIWA skd

art4d: คิดว่าอะไรเป็นสาเหตุให้คุณยึดอาชีพเป็นนักออกแบบผลิตภัณฑ์ในทุกวันนี้

KP: เพราะเราชอบและสนุกกับมัน เราโชคดีที่มีความสนใจเรื่องงานออกแบบ การประดิษฐ์ต่างๆ มาตั้งแต่เด็ก ชอบที่จะดูและจินตนาการสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัว พอโตขึ้นมาได้ทำอาชีพนี้ก็คิดว่าเป็นอาชีพที่ตัวเองถนัดและทำได้ดี มันมีเรื่องให้ท้าทายในทุกๆ โปรเจ็คต์ ไม่ใช่แค่ออกแบบของให้มันสวยเท่านั้น พอมาเป็นอาชีพแล้วมันทำให้ถูกคิดถึงมุมอื่นๆ อย่าง การตลาด พฤติกรรมผู้บริโภค หรือ เทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราสนใจและอยากที่จะทำความรู้จักกับสิ่งเหล่านี้

ทีมนักออกแบบของ DOTS เรามองหาโอกาสสนุกๆ ในการทำงาน เพราะต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมในประเทศไทยความหลากหลายของแบรนด์และผลิตภัณฑ์ค่อนข้างจำกัด แต่เรามองเห็นว่าอุตสาหกรรมของไทยสามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์มาพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้ถีบตัวออกมาจากความเป็นผู้ผลิตได้เป็นอย่างดี ซึ่งเราอยากจะเป็นฟันเฟืองที่เป็นตัวเร่งกระบวนการนี้ให้ไปได้ไกลยิ่งขึ้น

 

coffee or tea

coffee or tea

art4d: คุณคิดว่างานออกแบบที่ดีต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง?

KP: งานออกแบบที่ดีน่าจะต้องเป็นงานที่ต้องเติมเต็มผู้ใช้งานในมุมต่างๆ ได้ แต่งานออกแบบที่เราคิดว่าดี จริงๆ แล้วมันอาจจะไม่ดีกับผู้ใช้คนอื่นก็ได้ อย่าง iPhone ที่หลายคนบอกว่า ดี ใช้งานง่าย แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่บอกว่า Samsung หรือ Android ใช้งานได้ดีกว่า มันตีความได้หลายมิติ เพราะว่าพอขึ้นชื่อว่างานออกแบบแล้ว จะมี criteria ต่างๆ มาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่น พฤติกรรมของกลุ่มผู้ใช้งาน ข้อจำกัดในการผลิต เทคโนโลยี เทรนด์ตลาด หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์ ปัจจัยเหล่านี้เป็นส่วนที่ต้องเอามาเป็นโจทย์ตั้งในการทำงานออกแบบ 

โปรดักต์ หรือ เฟอร์นิเจอร์ เป็นสินค้าที่ทำขึ้นเพื่อเชิงพาณิชย์ ซึ่งวิธีคิด ที่มาของการแก้ปัญหา และบริบท จะต่างจากการทำงานศิลปะ แต่ก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของความงามและศิลปะอยู่ส่วนนึง บางคนแค่มองว่าสวยถูกใจ หรืออะไรก็ได้ขอเป็นแบรนด์ที่ตัวเองชื่นชอบก็พอ แต่บางคนจะมองถึงการใช้งาน ราคาที่คุ้มค่าเป็นหลัก เพราะปัจจัยการตัดสินใจของแต่ละคนมีเงื่อนไขและน้ำหนักของความสำคัญที่ต่างกันออกไป พูดง่ายๆ คงจะเป็นเรื่องของความชอบ รสนิยม วัฒนธรรมถิ่นที่อยู่ของเรา ประสบการณ์ที่มีผลต่อการตัดสินใจ รวมถึงเป็นเรื่องของเทรนด์กับการตลาด

dots bamboo kayak

art4d: ช่วงหลังมานี้คุณมีงานออกแบบเรือ มันเริ่มต้นมาได้อย่างไร

KP: พื้นฐานของเราทำงานออกแบบ product และ transportation มาอยู่แล้ว ใน wish list project ก็จะมี project พวกนี้วนเวียนมาตลอดซึ่งเรือก็เป็นหนึ่งในนั้น 

ปี 2019 ทางเราได้มีโอกาสเข้า program พัฒนากลุ่มผู้ประกอบการไทยเพื่อที่จะให้นักออกแบบได้มาช่วยแบรนด์ไทยพัฒนา มองหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทาง DOTS สนใจวัสดุไม้ไผ่ของแบรนด์ Bambunique เลยเสนออยากจะทดลองทำงานกับวัสดุไม้ไผ่และลองหาความเป็นไปได้ในการพัฒนาเป็น product และเอามาใช้ในแนวทางของเรา 

dots bamboo kayak

art4d: งานออกแบบเรือ kayak ชิ้นนี้ของคุณ มีกระบวนการอย่างไร

KP: เราได้ศึกษาคุญสมบัติของไม้ไผ่ และเห็นว่าน่าสนใจเพราะเป็นไม้ที่ปลูกทดแทนง่าย โตไว ยืดหยุ่น น้ำหนักเบา และยังใช้งานได้คงทน บวกกับเราอยากจะทดสอบ skill การขึ้นรูปทรงในเชิงช่าง บวกกับเป็น product แนวที่เราถนัด จึงเกิด project นี้ขึ้นมา 

จริง ๆ ไม้ไผ่ถูกใช้งานลักษณะนี้มาก่อนอยู่แล้ว เราใช้ไม้ไผ่ทำแพ และสร้างที่อยู่อาศัย เลยคิดว่าคุณสมบัติมันเหมาะที่จะทำเรือได้ 

ส่วนเรื่องแบบเรือ และ styling เราเริ่มจากการศึกษาประเภทของเรือที่เหมาะสมกับการใช้งาน แน่นอนว่านอกจาก styling ที่ต้องสวยงาม เท่ ในแบบของ DOTS แล้วยังต้องมีฟังก์ชั่นที่ดีด้วย ซึ่งก็ต้องมีการ test รูปทรงของเรือด้วย ทำ mock up หลายๆ แบบเพื่อเช็คการลอยตัว 

โปรเจ็คต์นี้เราค่อนข้างใช้เวลาไปกับการพัฒนาเทคนิคของการขึ้นรูปไม้ไผ่แบบของเชิงช่าง กับวิธีการผลิตเรื่อเชิงอุตสาหกรรม เพื่อที่จะนำเทคนิคนี้ไป apply กับวิธีผลิตของโรงงาน เพราะงานออกแบบที่ดีมันจะไม่ได้จบแค่ในกระดาษแต่มันต้องเข้าไปช่วยพัฒนาและถ่ายทอดเทคนิคการผลิตเพื่อที่สุดท้ายจะได้ product ที่ดีออกมา

ตอนนี้สนใจและกำลังเริ่มโปรเจ็คต์ เรือใบ และ speed boat เรากำลังมองหา เจ้าของโปรเจ็คต์ที่อยากร่วมงานด้วย

dots bamboo kayak

dots bamboo kayak

art4d: ต้องทำงานร่วมกับวิศวกรด้วยรึเปล่า

KP: งานออกแบบส่วนใหญ่ต้องร่วมงานกับวิศวกรอยู่แล้วครับ มากน้อยขึ้นอยู่กับรูปแบบของโปรเจ็คต์ ซึ่งเรามองว่าค่อนข้างจำเป็นที่จะต้องมีวิศวกรคอยช่วย support งานออกแบบในเชิงวิศกรรมการผลิต กลับกัน engineering project ก็ต้องการ design thinking มาช่วยหา solution ในการทำงานเช่นกัน มันเป็นกระบวนการที่ขาดกันไม่ได้ ช่วยส่งเสริมกันได้ เช่น เราอยากออกแบบเก้าอี้ที่น้ำหนักเบาที่สุด เราต้องอาศัยงานออกแบบเชิงวิศวกรรมโครงสร้างมาช่วยคำนวน หรือวิศวกรรมการผลิตที่ทำให้วัสดุน้ำหนักเบาและยังแข็งแรงอยู่

P. Tendercool – KING ARTHUR’S WET DREAM

P. Tendercool – KING ARTHUR’S WET DREAM

art4d: งานที่คุณออกแบบให้กับลูกค้า กับงานที่คุณทำเพื่อสนองไลฟ์สไตล์ตัวเอง มีความแตกต่างอย่างไร

KP: งานออกแบบที่ทำให้ลูกค้าก็จะค่อนข้างคำนึงถึงกลุ่มผู้ใช้งานและความต้องการของ project owner เป็นหลัก แต่บ่อยครั้งก็จะใส่ styling และรสนิยมความชอบของเราเข้าไปบ้างในบริบทของโปรเจ็คต์นั้นๆ เพราะหลายโปรเจ็คต์ที่เราได้มีส่วนร่วม เจ้าของผลิตภัณฑ์ก็ชอบในสไตล์และเชื่อในรสนิยมของเราเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว 

ส่วนงานออกแบบที่เริ่มขึ้นมาเองที่มาส่วนใหญ่ก็จะเกิดจากความสนใจ หรือมองเห็นโอกาสความเป็นไปได้ อย่างเช่น ยาดม arma กระบวนการออกแบบก็จะเหมือนกับงานที่ทำให้ลูกค้า แต่ขั้นตอนจะกระชับกว่าเพราะเป็นโปรเจ็คต์ที่เรามองเห็นภาพปลายทางอยู่แล้ว บางโปรเจ็คต์ก็จะมีตัวเราเป็นกลุ่มเป้าหมายอยู่ด้วยซึ่งทำให้เราเข้าในถึงพฤติกรรมความต้องการอยู่แล้ว

art4d: บทเรียนที่คุณเรียนรู้จากการทำงานที่คิดว่ามีความสำคัญที่สุดคือ

KP: พูดได้ว่าเราเรียนรู้จากทุกโปรเจ็คต์ที่ทำงานด้วย เราได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในหลายๆ อุตสาหกรรม ที่มีเทคนิค วิธีการ และมุมมองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ตั้งแต่โรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ จนถึงชุมชนทำงานคราฟท์เล็ก ๆ  หรือแม้แต่เจ้าของร้านเล็กๆ 

สิ่งที่เราเรียนรู้คือเรามองเห็นมุมมองและกระบวนการคิดของคนที่หลากหลายและน่าสนใจ ช่วงทำงานปีแรกๆ เราเคยคิดว่างานออกแบบเรามันดี แต่ทำไมมันขายไม่ดีอย่างที่คิดเลย ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเราไม่เข้าใจถึงกระบวนการทั้งหมด เราเลยคิดว่าการได้มองเห็นภาพกว้าง มันทำให้เราเข้าใจบริบทต่างๆ มุมที่เรามองไม่เห็น เราถอยออกมามองเห็นซอกมุมที่เราไม่เคยมองมัน 

art4d: มีข้อแนะนำอะไรสำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่บ้าง

KP: ถ้าอยากจะทำงานออกแบบต้องคิดแบบนักออกแบบ และใช้ชีวิตแบบนักออกแบบ สำรวจตัวเองว่าตัวเองหมกมุ่นกับอะไรใน 24 ชั่วโมงของวัน เราเชื่อว่า วิธีคิด มุมมองการใช้ชีวิต ความหลงใหลหรืองานอดิเรกจะเป็นตัวบอกเองว่าเราเป็นคนแบบไหน หรือเหมาะที่จะทำงานออกแบบได้ไหม May the force be with you

dotsobject.com
facebook.com/DotsDesignStudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *