กระเบื้องเกล็ดปลาสีดำที่เรียงเป็นแนวตัดกับตัวอาคารสีขาวนวลที่ดูสะอาดตา คือหนึ่งในจุดเด่นของบ้านหลังนี้โดย SO Architect ที่ซ่อนตัวและเชื่อมต่อกับภายนอกผ่านอิฐช่องลม และออกแบบมาเพื่อตอบรับกับความสุขของเจ้าของบ้าน
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
หากย้อนไปดูผลงานการออกแบบแต่ละชิ้นของ ณรงค์ โอถาวร สถาปนิกผู้ก่อตั้ง SO Architect (และอดีตบรรณาธิการ art4d ของเรา) จะพบลักษณะร่วมที่เห็นได้ชัดในงานหลายชิ้นคือการเปิดรับบรรยากาศภายนอกเข้ามาภายใน และความเชื่อมโยงของพื้นที่ส่วนต่างๆ ของอาคาร และผลงานออกแบบบ้านหลังล่าสุดของเขาในย่านอารีย์หรือ Courtyard House ก็แสดงลักษณะนี้ออกมาอย่างเห็นได้ชัดเช่นเดียวกัน
Courtyard House มีลักษณะภายนอกเป็นบ้านสีขาวนวล ดูสะอาดสะอ้านเกลี้ยงเกลา แต่ก็มีสีสันจากแนวกระเบื้องดินเผาสีดำลายคล้ายเกล็ดปลา ที่กระเบื้องบางแผ่นดูมีสีออกน้ำตาลบ้าง ตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป
“ที่เลือกใช้กระเบื้องลายนี้ เพราะเป็นหนึ่งในลายที่แสดงถึงความเป็นกระเบื้องดินเผาอย่างค่อนข้างชัดเจน ซึ่งมันให้บรรยากาศตรงกับบ้านหลังเดิมที่เป็นบ้านไม้และมุงหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผาอยู่แล้ว แต่เลือกใช้ลายกลมแทนลายแบบเหลี่ยม เพราะให้ความรู้สึกนุ่มนวลมากกว่า และพอดีเจ้าของบ้านเล่าว่าที่นี่มีศาลพญานาคอยู่ มันก็เข้ากันเหมาะเจาะพอดีเลย” ณรงค์เล่าถึงที่มาที่ไปของกระเบื้อง
นอกจากลายเกล็ดปลาจะปรากฎให้เห็นที่กระเบื้องดินเผาแล้ว อิฐช่องลม และประตูรั้วของบ้านก็มีลายเกล็ดปลาเช่นกัน ถ้าจะตั้งชื่อเล่นอีกชื่อให้บ้านนี้ว่า ‘บ้านเกล็ดปลา’ หรือ ‘บ้านพญานาค’ ก็คงไม่ผิดแปลกสักเท่าไหร่
เมื่อผ่านแนวกำแพงบ้านที่เป็นเสมือนปราการกั้นความจอแจภายนอก ก็จะพบกับพื้นที่ภายในที่มีบรรยากาศร่มรื่นแตกต่างกับภายนอกอย่างเห็นได้ชัด ภายในบริเวณบ้านประกอบด้วยเรือนหนึ่งชั้นหลังเล็ก และเรือนสองชั้นที่โอบล้อมบ้านหลังเล็กอยู่ ระหว่างกลางบ้านทั้งสองเป็นสนามหญ้าขนาดย่อม ด้านข้างมีบ่อน้ำธรรมชาติเล็กๆ ซึ่งเป็นที่มาของศาลพญานาค ที่เติมแต่งความชุ่มชื่นให้กับบ้านเป็นอย่างดี บ้านหลังใหญ่ยังมีคอร์ทสวนหินแบบกึ่งภายนอกที่เปิดด้านบนโล่ง พร้อมต้นยีราฟทรงชะลูดที่ดูกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับแนวเสากลมบริเวณทางเดิน
ณรงค์เล่าถึงการวางผังอาคารว่าเป็นการวางตามแนวบ้านเดิมที่ถูกทุบทิ้งไป เพราะมองว่าแนวบ้านเดิมนั้นลงตัวและตอบโจทย์เรื่องทิศทางลมแดดอยู่แล้ว โดยศาลาไม้เดิมที่เคยอยู่ริมบ่อน้ำ ก็กลายเป็นพื้นที่ส่วน pantry และเป็นห้องนั่งเล่นในชั้นสอง ส่วนแนวเขตบ้านไม้หลังเดิม ก็กลายเป็นบ้านสองชั้นที่ด้านล่างมีห้องนอน ส่วนบริการ พื้นที่นั่งเล่นภายนอก และมีชั้นบนเป็นพื้นที่ห้องนอนและห้องทำงาน ส่วนคอร์ทกึ่งภายนอกก็เกิดจากการเชื่อมต่อส่วน pantry ริมน้ำกับตัวบ้านแนวยาวเข้าด้วยกัน
ถึงแม้พื้นที่ภายในบ้านจะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เชื่อมต่อกับภายนอก แต่แนวอิฐช่องลมก็ช่วยทำให้พื้นที่ภายในไม่ได้ตัดขาดกับภายนอกโดยสิ้นเชิง แถมยังช่วยให้ลมสามารถพัดผ่านตัวบ้านได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งวิธีการการออกแบบให้เปิดการรับรู้บรรยากาศภายนอกแม้จะอยู่ในพื้นที่ปิดล้อมยังพบเห็นได้ที่ห้องนั่งเล่นชั้นสอง ที่มีแนวกำแพงด้านหนึ่งเป็นกระจกใสและมีกำแพงทึบด้านนอก เพื่อสร้างความเป็นส่วนตัว แต่ก็มีการเจาะช่องเพื่อเปิดรับแสงอาทิตย์ และช่วยให้รับรู้ความเป็นไปข้างนอก หรือในบริเวณที่ต้องการความเป็นส่วนตัวมากๆ อย่างห้องน้ำ หรือห้องแต่งตัวที่ชั้นสอง ก็มีการเจาะช่องเพื่อรับแสงธรรมชาติอีกเช่นกัน ช่องแสงเหล่านี้ช่วยลดความรู้สึกคับแคบจากสเปซอันกะทัดรัดได้เป็นอย่างดี
วัสดุของตัวบ้านส่วนใหญ่จะมีสีสันออกเป็นโทนสีขาว ทั้งพื้นทรายล้างสีเทาอ่อนด้านนอกที่ให้สัมผัสเย็นๆ เวลาถอดรองเท้าเดิน กำแพงสีขาวบนเรือนใหญ่และผนังไม้เทียมสีขาวของเรือนเล็ก หรือห้องน้ำชั้นสองที่กรุด้วยหินอ่อนสีขาวแทรกด้วยไม้ที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น สีสันและวัสดุทั้งหมดทั้งมวลดูกลมกลืนกัน ไม่ได้ให้ความรู้สึกเยอะแยะจุกจิก ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว นี่ก็เป็นอีกคาแร็คเตอร์ในงานของณรงค์เช่นกัน
เมื่อถามถึงไอเดียตั้งต้นในการออกแบบบ้าน ณรงค์ตอบว่า “บางคนเขาอาจอยากได้บ้านที่ดูสวย ดูโดดเด่น แต่บางคนก็อยากได้บ้านที่เติมเต็มชีวิตเขาให้มีความสุข และเติบโตไปกับเขา แต่ละแบบก็ไม่มีถูกมีผิด เพียงแต่เกิดจากความต้องการที่แตกต่างกันไป และสำหรับบ้านหลังนี้ มันเริ่มคิดด้วยวิธีแบบหลัง” ซึ่งมันก็ดูจะจริงอย่างที่ณรงค์กล่าว เพราะบ้านหลังนี้ไม่ได้เป็นบ้านที่โดดเด่นออกมาจากบ้านหลายสิบหลังในละแวกใกล้เคียง แต่ดูเป็นบ้านที่ตอบการใช้ชีวิตของครอบครัวเจ้าของบ้าน โดยเฉพาะคุณแม่ผู้ชื่นชอบการอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง และยังสามารถรักษาสมดุลระหว่างความเป็นส่วนตัวกับส่วนรวมของคนในครอบครัวอีกเช่นกัน
หลังจากเราพูดคุยกับณรงค์เสร็จ ณรงค์ก็กลับไปพูดคุยกับครอบครัวเจ้าของบ้านถึงการปรับปรุงต่อเติมที่จะเกิดขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของครอบครัวในอนาคต ซึ่งก็น่าตรงกับที่เขาและเจ้าของบ้านตั้งใจไว้ว่าบ้านหลังนี้กับคนที่อยู่อาศัยจะเติบโตไปด้วยกัน