Herzog & de Meuron ส่งท้ายปี 2021 ที่ผ่านมากับผลงานการออกแบบพิพิธภัณฑ์ M+ ในฮ่องกง ที่ถือเป็นหนี่งในพิพิธภัณฑ์ด้าน visual culture ที่ใหญ่ที่สุด พร้อมชวนเราตั้งคำถามถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ ทั้งการเป็นแลนด์มาร์คในโลกสมัยใหม่ พื้นที่เสรีในการวิพากษ์ รวมไปถึงการเมืองที่แอบซ่อนอยู่ภายใน
TEXT : KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: KEVIN MAK EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ในปี 2021 ที่ผ่านมา หากพูดถึงอาคารทางศิลปะวัฒนธรรมในฐานะแลนด์มาร์คที่เปิดตัวขึ้นในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาคาร SONGEUN Art Space ในประเทศเกาหลีหรืออาคาร MKM Museum ในประเทศเยอรมนี ชื่อของ Herzog & de Meuron ล้วนปรากฏขึ้นในฐานะผู้ออกแบบจนกลายเป็นภาพชินตาของสถาปัตยกรรมบนพื้นที่ของโลกศิลปะ นอกเหนือจากอาคารที่กล่าวมา Herzog & de Meuron ส่งท้ายปีในเดือนพฤศจิกายนด้วยอาคาร M+ ที่เปิดตัวขึ้นในประเทศฮ่องกงในฐานะหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยด้านศิลปวัฒนธรรมที่ใหญ่ที่สุดของโลก ท่ามกลางบริบทของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงที่ปะทุขึ้นเป็นระยะๆ รวมถึงความพยายามในการผลักดันศิลปะวัฒนธรรมในฮ่องกง พิพิธภัณฑ์ M+ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ในขอบเขตของโลกศิลปะเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังชวนเราตั้งคำถามถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ทั้งในฐานะแลนด์มาร์คของเมืองรวมถึงพื้นที่ทางการเมืองที่ขับเคี่ยวกันอยู่ภายใน
บนพื้นที่ริมอ่าววิคตอเรียในพื้นที่เขตวัฒนธรรมเกาลูนตะวันตก (WKCD) อาคาร M+ ที่ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Herzog & de Meuron และ TFP Farrell เกิดขึ้นในฐานะพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยที่นำเสนอศิลปวัฒนธรรมของฮ่องกงในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานออกแบบ, Visual art, รวมไปถึงสถาปัตยกรรม บนที่ดินขนาด 25,000 ตารางเมตร อาคารลักษณะคล้ายกับตัว T คว่ำความสูงรวม 18 ชั้นนี้มีพื้นที่ใช้งานในอาคารสุทธิ 65,000 ตารางเมตร พร้อมทั้งประกอบไปด้วยสองส่วนหลักได้แก่ส่วนฐานอาคารที่เข้าถึงได้ง่ายอย่างส่วนของพื้นที่จัดแสดง, mediatheque, learning hub และ research center ส่วนอาคารสูงนั้นถูกจัดสรรเป็นพื้นที่สำหรับฟังก์ชันสนับสนุนอาทิ คาเฟ่ ร้านค้าและสำนักงาน ซึ่งเมื่อถอยออกมามองในบริบทของย่าน เขต WKCD ซึ่งเป็นที่ตั้งของอาคารนี้เป็นที่ดินที่ถมใหม่ขึ้นมาบนทะเลขนาด 40 ไร่ซึ่งได้รับการวางผังจาก Norman Foster เมื่อปี 2009 โดยมุ่งให้เป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่ผสมผสานเข้าไปกับชีวิตประจำวันและถ่ายทอดลักษณะเฉพาะของเมืองออกมาในรูปแบบผสมผสานทั้งพื้นที่สาธารณะ พื้นที่การศึกษา พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และอาคารอื่น ๆ ที่หลากหลาย
ด้วยลักษณะของอาคาร M+ ที่ประพฤติตัวเป็นพื้นที่สาธารณะของเขต WKCD การเข้าถึงอาคารจึงถูกออกแบบให้เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่สวนสาธารณะภายนอก บันไดคอนกรีตขนาดยักษ์ค่อยๆ เปลี่ยนระดับผู้คนจากระดับพื้นเข้าสู่โถงอาคารในชั้นสอง สร้างความเชื่อมโยงของอาคารกับผู้คนที่ใช้งานในพื้นที่รอบข้าง อย่างการเดินเล่น พักผ่อนในสวนสาธารณะหรือแม้แต่ผู้คนที่เดินผ่าน ทำให้การเข้าพิพิธภัณฑ์เป็นกิจกรรมที่ผู้คนสามารถเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน เมื่อเข้าสู่อาคาร โครงสร้างอาคารที่มีวัสดุหลักเป็นคอนกรีตถูกเปิดเผยให้เห็นในพื้นที่ส่วนใหญ่ของอาคาร เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดแสดง และบอกเล่าถึงการเป็นพื้นที่เขตอุตสาหกรรมในอดีต ในชั้น 2 โครงสร้าง mega truss ที่ทำหน้าที่รับน้ำหนักส่วนอาคารสูงผุดแทรกขึ้นมากลางพื้นที่จัดแสดง โครงสร้างที่ปรากฏขึ้นนี้ทำหน้าที่เป็นทางสัญจรหลักที่กระจายผู้คนเข้าสู่ส่วนจัดนิทรรศการทั้ง 4 ส่วน รวมถึงบันไดวนที่ปรากฏอยู่ตรงกลางโครงสร้างขนาดยักษ์นีี้ยังเชื่อมต่อชั้นผู้คนในชั้น 2 เข้าสู่ชั้นดาดฟ้า ในชั้นดาดฟ้าของส่วนฐานอาคาร พื้นที่ว่างถูกใช้เพื่อเป็นช่องแสงเข้าสู่พื้นที่ในฐานอาคารทั้งหมด ทั้งหลังคากระจกรูปทรงฟันเลื่อยที่นำแสงเข้าสู่พื้นที่ส่วน north gallery รวมถึงแนวช่องแสงยาวที่ติดกับส่วนฐานของอาคารสูงทั้งสองด้านที่นำแสงเข้าสู่ atrium อันทะลุผ่านทุกชั้นในด้านล่างจนถึงชั้นใต้ดิน และด้วยพื้นที่ดาดฟ้านี้ยังได้รับประโยชน์จากทัศนียภาพของอ่าววิคตอเรีย ที่ตึกระฟ้าทั้งหลายบนพื้นที่ฝั่งตรงข้ามอย่างเกาะฮ่องกงทำหน้าที่เหมือนเป็นพื้นหลังของอาคารหลังนี้ นอกจากนี้อาคาร M+ ยังชดเชยพื้นที่สีเขียวที่หายไปจากอาคารด้วยพิ้นที่ roof garden ในด้านบน ให้พื้นที่สวนสาธารณะไม่ได้ถูกแทนที่ด้วยอาคารคอนกรีตขนาดใหญ่ แต่เพียงย้ายพื้นที่ส่วนเหล่านั้นไปไว้บนอาคารแทน
ภายในชั้นใต้ดิน เส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสองสายอย่าง Tung Chung Line และ Airport Express Way ที่ลอดผ่านใต้อาคารก่อให้เกิดข้อจำกัดในการก่อสร้าง สถาปนิกเปลี่ยนพื้นที่ที่อุบัติขึ้นในอาคารโดยไม่ตั้งใจนี้ให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงอันเป็นเอกลักษณ์ของอาคาร โดยให้โครงสร้างคอนกรีตที่ล้อมเส้นทางรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งสองเส้นนั้นกินพื้นที่เข้ามายังชั้นใต้ดินของอาคาร ก่อให้เกิดพื้นที่ที่เหลื่อมกันจนเป็นขั้นบันไดที่มีขนาดกว้างพอที่จะกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงได้ พื้นที่ ‘Found Space’ นี้ตั้งชื่อตามความบังเอิญของพื้นที่ ทั้งเส้นรถไฟฟ้าใต้ดินที่ไม่ตรงกับแกนของอาคารยังก่อให้เกิดเส้นสายที่อ้างอิงกับช่องเปิดในชั้นหนึ่ง ช่องเปิดที่รับแสงจากชั้นดาดฟ้าที่ขนานไปกับตัวอาคารพร้อมกับโถงอาคารที่เจาะเชื่อมกับชั้นใต้ดินตามแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน ก่อให้เกิดเส้นสายที่ตัดกันภายในอาคารและสร้างมิติของพื้นที่จัดแสดงที่ซับซ้อนและแปลกตา
นอกจากในเชิงอรรถประโยชน์ พื้นที่ที่อยู่ภายนอกสุดอย่างเปลือกอาคารยังทำหน้าที่สำคัญอย่างการบ่งบอกอัตลักษณ์ของอาคาร ในพื้นที่ที่มีความซับซ้อนทางการเมืองอย่างฮ่องกง อาคาร M+ ราวกับกำลังนำเสนออัตลักษณ์ของความเป็น ‘หนึ่งจีน สองระบบ’ ผ่านภาษาของสถาปัตยกรรมอยู่กลายๆ ในพื้นที่ส่วนฐานอาคาร Herzog & de Meuron เลือกใช้ façade ของอาคารที่สะท้อนถึงรากของสถาปัตยกรรมท้องถิ่นจีนอย่างหลังคาดินเผา ดินเผารูปทรงกระบอกผ่าครึ่งนี้ถูกติดตั้งในแนวตั้งรายล้อมส่วนฐานอาคารทั้งสี่ด้าน ก่อให้เกิดความเป็นลอนที่ทั้งแสดงออกถึงลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอย่างหลังคาและวัสดุพื้นถิ่นอย่างไม้ไผ่ไปพร้อมๆ กัน กลับกันในส่วนอาคารสูง ความเป็นลอนถูกนำเสนอในรูปแบบของเส้นนอนในแผงอาคาร คอนกรีตหล่อรูปลอนนี้ทำหน้าที่เป็นแผงกันแดดแนวนอนที่ป้องกันแสงเข้าอาคารโดยตรงอันเป็นปัญหาของอาคารสูง พร้อมทั้งภายใต้แผงกันแดด แผงไฟ LED ถูกติดตั้งเพื่อเปลี่ยนให้ผิวอาคารกลายเป็นจอภาพขนาดยักษ์ในตอนค่ำคืนเพื่อนำเสนอความเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มุ่งผลักดันในเรื่องของ visual art เป็นหลัก เป็นอีกครั้งที่ Herzog & de Meuron ชวนให้เรามองสถาปัตยกรรมอย่างตั้งใจ ลักษณะของผิวอาคารที่ดูจะเป็นแค่เส้นตั้งในชั้นล่างและเส้นนอนในด้านบนที่หากมองอย่างตั้งใจ เราจะพบกับรากของสถาปัตยกรรมที่ถูกออกแบบอย่างละเอียดเข้าไปถึงยังในการใช้วัสดุ และหากเรามองควบคู่ไปกับความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างฮ่องกงกับประเทศจีน อาคารหลังนี้ยังทำหน้าที่สะท้อนความเป็นรากของวัฒนธรรมในแผ่นดินแม่อย่างจีนแผ่นดินใหญ่ในส่วนฐานอาคาร และแผง LED ที่พูดคุยกับอาคารที่เกิดขึ้นในฐานะเมืองศูนย์กลางทางการเงินในฝั่งตรงข้ามอย่าง Bank of China และ ตึก HSBC จะด้วยเป็นความตั้งใจของผู้ออกแบบหรือไม่ เรื่องราวการซ้อนทับกันระหว่างสังคมนิยมในจีนและทุนนิยมในฮ่องกงก็ได้ถูกถ่ายทอดผ่านอาคาร M+ แห่งนี้ พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงสถาปัตยกรรมที่ไม่เคยเป็นเรื่องของอาคารเดี่ยวๆ หากแต่ทำงานอยู่ในบริบทของพื้นที่รอบข้างตลอดเวลา
นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 บทบาทของพิพิธภัณฑ์นั้นไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ในพื้นที่ของงานศิลปะแต่เพียงอย่างเดียว แต่ทำหน้าที่เป็นแลนด์มาร์คของโลกสมัยใหม่ซึ่งบอกเล่าถึงวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของพื้นที่ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทั้งยังสร้างพลวัตต่อพื้นที่ในระดับเมืองที่คล้ายคลึงกับสถาปัตยกรรมประเภทวิหารในอดีต ความเป็นแลนด์มาร์คที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดพื้นที่ที่ตามมาอย่าง public space ไม่ว่าจะเป็น plaza สวนสาธารณะ หรือพื้นที่ในรูปแบบอื่นๆ เพื่อรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นรายล้อมอาคาร ในอีกมุมหนึ่ง ความเป็นพื้นที่ทางศิลปะยังสร้างบทสนทนาที่หลากหลายและมักจะเปราะบางในประเด็นที่ละเอียดอ่อนอย่างเช่นการเมือง แม้ว่าศิลปินผู้เป็นไม้เบื่อไม้เบากับรัฐบาลจีนอย่าง Ai Weiwei จะเป็นที่เพ่งเล่งและจำกัดการแสดงผลงานจากทางรัฐบาลจีน แต่ M+ Musuem นั้นก็ได้เก็บรวมรวบผลงานของ Ai Weiwei และนำมาจัดแสดงเป็นระยะๆ ราวกับว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ได้อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของจีน หากแต่ทำงานบนพื้นที่เสรีที่แยกตัวออกมาในโลกของศิลปะ ที่อนุญาตให้เราตั้งคำถามได้อย่างไม่สิ้นสุด
ผลงานพื้นที่ทางศิลปะในปี 2021 เหล่านี้ของ Herzog & de Meuron ล้วนไม่ได้ทำหน้าที่เพียงตั้งรับให้ผู้คนทั่วไปเข้ามาใช้งาน แต่กลับพยายามให้ตัวโครงการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ เป็นอาคารที่เรียกร้องความสนใจและพยายามให้ศิลปะเป็นเรื่องทั่วไปที่ผู้คนสามารถเข้าถึงในชีวิตประจำวันพร้อมกับผลักดันศิลปินในพื้นที่ไปพร้อมๆ กัน การทำงานร่วมกับบริบทนั้นอาจแตกต่างกันในวิธีการ The Museum Küppersmühle (MKM) Extension ทำงานกับบริบทผ่านสเกลอาคารและวัสดุที่เหมือนกับอาคารท้องถิ่น บนพื้นฐานความคิดเดียวกัน อาคาร SONGEUN ที่กรุงโซลกลับใช้วัสดุอย่างคอนกรีตที่โดดเด่นออกมาจากอาคารข้างเคียงที่ส่วนใหญ่เป็นกระจก และมีการลดระดับอาคารให้สอดคล้องกับทั้งถนนด้านหน้าและชุมชนด้านหลัง รวมถึงอาคาร M+ ที่มีสเกลอาคารที่สอดคล้องทั้งกับกิจกรรมของผู้คนเบื้องล่างและในขณะเดียวกันก็มีสเกลที่แนบเนียนไปกับบริบทอาคารสูงที่รายล้อม ความกลมกลืนเหล่านี้ที่ปรากฏอยู่ในสถาปัตยกรรมไม่ได้เกิดจากการนำสถาปัตยกรรมที่เป็นบริบทรอบข้างมา ‘ทำซ้ำ’ หากแต่อยู่ที่การผสมผสานความเป็นอดีตและทิศทางที่จะไปเปลี่ยนไปในอนาคตเข้าด้วยกัน คล้ายกับภาพแทนของวัฒนธรรมในยุคโลกาวิวัฒน์ที่ผสมปนเปกันข้ามซีกโลกจนกลายเป็นอัตลักษณ์ของพื้นที่หรือแม้แต่ประเทศนั้นๆ ความท้าทายของสถาปัตยกรรมร่วมสมัยวนเวียนอยู่กับการรักษาระยะห่างระหว่างรากของวัฒนธรรมและอนาคตที่สถาปัตยกรรมนั้นจะมุ่งไปอยู่เสมอ ลองนึกภาพสุดโต่งอย่างการที่อาคาร M+ Museum ปรากฏขึ้นในลักษณะสถาปัตยกรรมจีนแบบพื้นถิ่นเพื่อธำรงไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ หรือปรากฏในรูปอาคารสำนักงานเพื่อถ่ายทอดความเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลกของฮ่องกง แน่นอนว่าสถาปัตยกรรมเช่นนี้ย่อมง่ายกว่าที่จะพูดถึงจุดเด่นจุดใดจุดหนึ่งของพื้นที่ Herzog & de Meuron เลือกวิถีทางที่ยากกว่าอย่างการค้นหาพื้นที่ซ้อนทับที่อยู่ตรงกลาง พื้นที่ที่ทำงานกับคนฮ่องกงทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจหรือชาวเมือง ความเป็นจีนผ่านวัสดุอย่างดินเผาที่ปรากฏขึ้นพร้อมกับจอ LED ขนาดยักษ์บนอาคาร โดยไม่ละทิ้งสิ่งใดสิ่งหนึ่ง พื้นที่ตรงกลางเหล่านี้เองที่แสดงออกถึงความเป็นฮ่องกงอย่างแท้จริง