A Trip Down Memory Lane นิทรรศการที่พาสำรวจความทรงจำของมนุษย์ที่ไม่เป็นเส้นตรง
TEXT: KANDECH DEELEE
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
นิทรรศการ ในทรงจำ นำทางอันรางเลือน (A Trip Down Memory Lane) ว่าด้วยการสำรวจเส้นทางของความทรงจำที่ไม่ได้ดำเนินไปแบบเป็นเส้นตรง เพราะความทรงจำไม่ได้เป็นสิ่งที่ควบคุมรูปร่างได้ตั้งแต่หัวจรดหาง เส้นสายของความทรงจำจึงเกี่ยวพันทั้งในพื้นที่กายภาพและพื้นที่นามธรรมอย่างซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น ระบบประสาทภายในกับสิ่งแวดล้อมจากภายนอก พื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่ส่วนรวม ตลอดจนประวัติศาสตร์ของทางการกับเรื่องเล่ามุขปาฐะของชุมชน ในนิทรรศการนี้ เส้นทางของความทรงจำได้ถูกสำรวจผ่านงานศิลปะแปดชิ้นโดยมี จีเอมที คอลเลคทีฟ (GMT± Collective) เป็นทีมภัณฑารักษ์
เป็นที่น่าสังเกตว่า ความทรงจำซึ่งมักจะถูกพูดถึงในฐานะกลุ่มก้อนความคิดเชิงนามธรรม กลับมีต้นทางจากสายสัมพันธ์เชิงกายภาพระหว่างผัสสะกับวัตถุแวดล้อม ใน กลไกแห่งความทรงจำ (2024) ญาณิศา เนียรนาทตระกูล ได้จัดวางภาพพิมพ์แสงแดด (cyanotype) ซึ่งฉายเป็นรูปของสมองที่ถูกสแกนออกมาเป็นภาพตัดที่ซ้อนกันเป็นชั้น ตัวผลงานเปิดให้ผู้ชมเดินทะลุผ่านภาพพิมพ์แต่ละชั้นจนพบกับสไลด์ภาพของโรงพยาบาลที่ถูกฉายผ่านโปรเจคเตอร์บนภาพพิมพ์ผืนสุดท้าย ตลอดเส้นทางการเดินทะลุผ่านภาพพิมพ์ ผู้ชมจะได้กลิ่นและยินเสียงภายในโรงพยาบาลที่ถูกจัดวางประกอบผลงาน1 แสดงให้เห็นถึงกลไกที่ประสาทสัมผัสทำงานร่วมกันเพื่อก่อร่างสร้างความทรงจำขึ้นมา
เพราะความทรงจำไม่ใช่การผลิตผลบนสายพานสำเร็จรูป กลไกแห่งความทรงจำ จึงไม่ได้เป็นการจำลองกระบวนการอันสมบูรณ์ของ ‘การสร้าง’ ความทรงจำ แต่เป็นการชี้ให้เห็นฟันเฟืองของความสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกัน ‘ประกอบ’ สร้างความทรงจำขึ้นมา แสงของโปรเจคเตอร์ที่ฉายซ้ำลงบนผืนผ้าได้บรรจบเข้ากับแสงแดดที่ถูกกักเอาไว้บนผืนผ้าไซยาโนไทป์ ก่อเกิดเป็นอุปมานิทัศน์ (allegory) ที่เหลื่อมซ้อนระหว่างพื้นที่ทั้งสอง ในขณะที่แสงหนึ่งกำลังฉายสิ่งที่อยู่ภายนอก อีกแสงหนึ่งก็กำลังเผยสิ่งที่อยู่ภายใน ความทรงจำของมนุษย์จึงไม่ได้เป็นเพียงการกรอกข้อมูลอย่างเรียบทื่อแต่กลับเกี่ยวพันกับการตีความกลับไปกลับมาอย่างซับซ้อน กลไกแห่งความทรงจำ จึงทำให้เห็นว่าความทรงจำไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของ ‘การอ่านสิ่งที่เห็น’ แต่ยังเป็น ‘การเขียนทับสิ่งที่เป็น’ อีกด้วย แสงในงานของญาณิศาจึงส่องให้เห็นภาวะกำเนิดของความทรงจำที่อุบัติขึ้นในระหว่าง (in-betweenness) ธรรมชาติกับการประกอบสร้าง—กายภาพกับนามธรรม ทั้งหมดนี้ได้เลื่อนไหลเข้าหากันจนยากที่จะแยก
ในขณะที่งานของญาณิศาแสดงให้เห็นถึงกระบวนการที่องค์ประกอบทางกายภาพร่วมกันประกอบสร้างความทรงจำที่ไร้ร่างขึ้นมา Carry around (2024) โดย หลินห์ ซาน (Linh San) กลับแสดงให้เห็นกลไกสัมพัทธ์ที่ความทรงจำถูกเล่นแร่แปรธาตุสู่สถานะกายภาพ ซานแปรสภาพ ‘Chiêc khǎn tay’ (ผ้าเช็ดหน้า) เพลงเด็กเวียดนามที่เชื่อมต่อความทรงจำของเธอกับครอบครัวไว้ด้วยกัน ให้กลายเป็นผืนผ้าเช็ดหน้าที่ถูกปักลวดลายจากเส้นผมของเธอ ลายบนผ้าเช็ดหน้าแต่ละผืนจึงเป็นภาพที่ถูกถอดความมาจากเนื้อเพลงดังกล่าว
ดอกไม้-หวี-เท้า-ถ้วย ภาพที่ถูก ‘ร่าง’ ด้วยเส้นผมเหล่านี้ ได้กลายเป็น ‘ร่าง’ ซึ่งทำหน้าที่กักเก็บความทรงจำที่ไร้รูปของซานให้มีสภาพคงตัวและจับต้องได้ Carry around ทำให้เราเห็นถึงวิธีการที่ซานจัดการกับความทรงจำ เพราะความทรงจำเป็นเรื่องของปัจจุบันที่ต่อรองกับเรื่องเล่าจากอดีต ความทรงจำจึงไม่ได้สัมพันธ์กับแค่ ‘เรื่อง’ แต่ยังเป็นเรื่องของการ ‘เล่า’ ร่างทรงของความทรงจำชิ้นนี้จึงเป็นพันธะที่ผูกพันระหว่างอดีตกับปัจจุบัน เป็นบทเฉพาะกาลที่วางอยู่บนความไม่เสถียรของเวลา เส้นผมสีดำของซานกับเส้นด้ายสีขาวของผ้าที่ถูกร้อยรัดเข้าด้วยกันจึงผสานกลายเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ (site of memory) ที่มีศักยภาพในการกักเก็บรักษา (reserve) และเพรียกหา (recall) ไปในเวลาเดียวกัน
ดังจะเห็นได้จากเพลงเด็กของซาน ความทรงจำนั้นเหยียดกายและแทรกตัวลงไปทั้งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่ส่วนรวม ก่อให้เกิดเป็นความทรงจำร่วม (collective memory) ที่มีอำนาจกระทำการร่วมกับเครือข่ายความสัมพันธ์อื่นๆ กาดกองต้า บทบันทึกสัมปทานป่าไม้ (2024) โดย พิศวัสต์ วรรณฟู จึงเสนอปฏิสัมพันธ์ระหว่างความทรงจำร่วมกับประวัติศาสตร์ที่เหลื่อมซ้อนกันของกาดกองต้า ศูนย์กลางการค้าไม้ทางน้ำในจังหวัดลำปางซึ่งรุ่งเรืองในช่วงที่สยามรวมศูนย์อำนาจในศตวรรษที่ 19
ศิลปินได้จัดวางภาพถ่าย บทบันทึกของทางการ และภาพเขียนบนกระดาษไขให้ซ้อนทับกันไปมา บางส่วนภาพก็ซ้อนเข้ากับคำ บางส่วนคำก็ถูกละให้รางเลือนเพราะขาดภาพ การอ่านภาพหรือดูคำในงานชิ้นนี้จะชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อมีการซ้อนทับกัน เหมือนกับความทรงจำร่วมที่จะส่งเสียงชัดเจนได้ก็ต่อเมื่อมันสั่นพ้องไปกับประวัติศาสตร์ของทางการ เช่นเดียวกันกับ กรณีที่ประวัติศาสตร์ทางการเองก็มักจะฉวยใช้และอ้างความชอบธรรมของตนเองผ่านส่วนที่ตนสอดคล้องของความทรงจำร่วมที่ดำรงอยู่ในชุมชน แม้จะพูดถึงเรื่องเดียวกัน แต่งานของพิศวัสต์ก็ชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองต่างเป็นสิ่ง ที่ไม่ได้เรียบเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ไวยากรณ์ของประวัติศาสตร์และความทรงจำต่างยื้อแย่ง ฉวยชิง และกระทบกระทั่งกันอยู่เสมอ
ที่น่าสนใจคือการจัดวางงานชิ้นนี้ไม่ได้เป็นการซ้อนภาพถ่ายกับบทบันทึกให้อัดแน่นทุกตารางนิ้ว บางส่วนของตัวชิ้นงานกลับถูกเว้นว่างจนเห็นพื้นไม้สักที่อยู่ด้านล่าง พื้นไม้สักของห้องจัดแสดงถูกแรงของการมองเห็นเหนี่ยวนำขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวชิ้นงาน สะท้อนให้เห็นถึงสายสัมพันธ์เชิงอำนาจที่สถิตอยู่ในพื้นที่ ซึ่งสืบสาวไปถึงเมื่อครั้งที่พื้นที่จัดแสดงแห่งนี้เคยเป็นอาคารกระทรวงพาณิชย์เดิมของสยาม ไม้สักจากรายงานของทางการ ไม้สักจากภาพถ่ายของชุมชน และไม้สักจากพื้นห้องจัดแสดง จึงกลายเป็นการต่อรองและท้าทายรอยต่อของประวัติศาสตร์ที่อำนาจของสยามมิอาจบรรจบได้เบ็ดเสร็จ
ในทรงจำ นำทางอันรางเลือน จึงมอบความเป็นไปได้ที่ความทรงจำจะถูกก่อตัวขึ้น ‘รูป’ แต่เมื่อความทรงจำถูกขึ้นรูป นิทรรศการนี้ก็ชี้ให้เห็นถึงพันธกิจที่รูปเหล่านี้จำต้องเป็น ‘ร่าง’ ชั่วคราวที่ไม่เสถียรไปในเวลาเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้เราจะไล่คว้าความทรงจำที่ไร้รูปมาประกอบให้เป็นร่างได้ แต่ความทรงจำที่ดูเหมือนว่าจะคว้ามาได้ก็กลับถอยร่นคืนสู่ความเลือนรางและคลุมเครือเสียทุกครั้ง เราจึงอาจจะทำได้เพียงสำรวจความทรงจำในเสี้ยวเวลาที่ฟองสบู่ของความเป็นไปได้พองออก เผยให้เราเห็นเพียงวูบสั้นๆ ที่ความทรงจำได้สานความคลุมเครือนี้เข้าไว้ด้วยกันและทอออกมาเป็นรูปร่างที่ไม่แน่นอน
นิทรรศการ ในทรงจำ นำทางอันรางเลือน (A Trip Down Memory Lane) จัดแสดง ณ ห้องนิทรรศการ 1-3 มิวเซียมสยาม ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 พฤษภาคม 2568
1 ผลงานชิ้นนี้ศิลปินได้รับความร่วมมือจาก สุพัฒน์ กิจถาวรรัตน์ ศิลปินนักออกแบบเสียง และ รุจิรา ตระกูลยิ่งเจริญ นักออกแบบกลิ่น