art4d พูดคุยกับ Magnus Renfrew ผู้ร่วมก่อตั้ง ART SG และ Shuyin Yang ผู้อำนวยการงาน ART SG ถึงวิสัยทัศน์ จุดมุ่งหมายของการจัดงานอาร์ตแฟร์ระดับสากลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมไปถึงความท้าทายของการจัดงานแฟร์ขนาดใหญ่หลังวิกฤติโรคระบาด
INTERVIEW AND TEXT BY KAMOLTHIP KIMAREE
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับ ART SG หลังจากที่กิจกรรมต่างๆ ของมวลมนุษย์ต้องหยุดชะงักลงไปพักใหญ่เพราะวิกฤติโรคระบาด โดยในช่วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมากิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการมีปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ในหลากหลายรูปแบบซึ่งรวมไปถึงงานแฟร์ต่างๆ และนิทรรศการศิลปะได้ถูกยกไปไว้ในโลกออนไลน์ แน่นอนว่าหลายๆ คนเริ่มเกิดความคุ้นชินกับการซื้อขาย เดินชมนิทรรศการ และการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านโลกเสมือนจริงไปเสียแล้ว
ในเดือนมกราคมปี 2023 ที่จะถึงนี้ ART SG จะเชิญชวนทุกคนกลับมามีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและสัมผัสจิตวิญญาณของศิลปะบนโลกจริงอีกครั้ง โดย Magnus Renfrew ผู้ร่วมก่อตั้ง ART SG และ Shuyin Yang ผู้อำนวยการงาน ART SG ได้มาร่วมแชร์มุมมองผ่านบทสนทนากับ art4d ถึงกลยุทธ์ของการจัดงานในครั้งนี้
art4d: แง่มุมที่โดดเด่นที่สุดของวงการศิลปะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคืออะไร
Magnus Renfrew: เอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่กว้างใหญ่มากและเป็นบ้านของประชากรจำนวนเกินครึ่งของโลก ซึ่งสิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายของการก่อเกิดทางวัฒนธรรม และมันก็ทำให้การตอบคำถามนี้เป็นเรื่องยากด้วยเช่นกัน กลุ่มของผู้ชมงานศิลปะร่วมสมัยกำลังเติบโตขึ้นอย่างมากในเอเชียแปซิฟิก เรียกได้ว่าภูมิภาคนี้กำลังเป็นจุดสนใจของวงการศิลปะระดับนานาชาติซึ่งรวมไปถึงการเปิดตัวของแกลเลอรีในเมืองหลักๆ ทั่วภูมิภาค และเนื่องจากเป็นที่ตั้งของกลุ่มประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดติดอันดับโลก จึงทำให้เห็นถึงโอกาสอันยิ่งใหญ่ต่อการเติบโตของตลาด เรียกได้ว่าพลังงาน ความตื่นเต้น และศักยภาพของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกนั้นไม่มีใครเทียบได้เลยในตอนนี้
Shuyin Yang: ในช่วงไม่กี่ปีมานี้นานาชาติให้ความสนใจในศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพื้นที่ทางศิลปะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในบริบทที่เกี่ยวกับบทสนทนาและการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาค ศิลปินจากเอเชียตะวันออกเชียงใต้ถูกเชิญให้ไปแสดงงานในเทศกาลเบียนนาเลและพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น พินรี สัณฑ์พิทักษ์ ที่ได้รับเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของ Venice Biennale ครั้งที่ 59 ในชื่อ The Milk of Dreams ที่มี Cecilia Alemani เป็นภัณฑารักษ์ รวมไปถึงงาน Asia Society Triennial ที่นิวยอร์ก ในช่วงปี 2021 ที่มีผลงานของศิลปินอย่าง Christine Ay Tjoe, Anne Samat, Jason Wee และ Dinh Q. Le ไปร่วมจัดแสดง
ในภูมิภาคนี้ยังมีฐานของนักสะสมที่มีประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัย ซึ่งพวกเขาติดตามการทำงานและการเติบโตของวงการศิลปะร่วมสมัยมานานหลายปีแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราเองก็ยังสังเกตเห็นกลุ่มคนรักงานศิลปะรุ่นใหม่ๆ ที่มองหาศิลปินและผลงานที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมพร้อมๆ กับโอกาสในการเข้าไปเยี่ยมชมการทำงานของศิลปินที่สตูดิโอและมีส่วนร่วมในบทสนทนา พลังงานและความใคร่รู้จากนักสะสมที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการทำงานศิลปะและศิลปินในภูมิภาคกำลังก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมในวงการศิลปะนานาชาติและกำหนดภาพลักษณ์ของวงการศิลปะในปัจจุบัน
art4d: สิ่งที่คุณคิดว่าเป็นความแตกต่างในตลาดศิลปะก่อนและหลังปี 2000 คืออะไร
MR: ช่วงเวลาที่น่าสนใจยิ่งกว่าปี 2000 คือปี 2008 ซึ่งเราได้เห็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นในตลาดอันเนื่องมาจากมาจากการเปิดตัวของ ART HK ที่ช่วยทำให้เอเชียได้เข้าไปอยู่ในโลกของศิลปะระดับนานาชาติและมันเป็นปีที่เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินระดับโลก หลังปี 2008 เป็นต้นมาแกลเลอรีจากยุโรปและอเมริกาเริ่มมองหาลู่ทางในการขยายตลาดและเริ่มให้ความสำคัญกับตลาดเอเชียอย่างจริงจัง เช่นเดียวกันกับที่รสนิยมของนักสะสมจากเอเชียเองก็เริ่มเปิดกว้างขึ้น จากที่เคยมีความสนใจแค่เรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่นก็ขยายไปสู่การสะสมงานที่มีการผสมผสานทางวัฒนธรรมมากขึ้น พร้อมๆ กันกับความเข้าใจที่มากขึ้นในเรื่องความสำคัญของแกลอรี่ที่มีบทบาทในการส่งเสริมการทำงานของศิลปินในระยะยาว
SY: ในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมาวงการศิลปะของสิงคโปร์ได้พัฒนาไปอย่างมาก สถานะของประเทศในฐานะศูนย์กลางความมั่งคั่งชั้นนำของโลกได้รับการตอกย้ำด้วยฉากทัศน์ทางวัฒนธรรมที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว กลุ่มของนักสะสมและผู้ที่รักงานศิลปะก็เติบโตอย่างคึกคักทั้งในสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ด้วยการเข้ามาของนักซื้องานศิลปะหน้าใหม่และอายุน้อยที่มากขึ้น รวมไปถึงนักสะสมต่างชาติทั้งจากอินโดนีเซีย จีน และกลุ่มคนมีฐานะที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่สิงคโปร์ ขนาดของงาน ART SG ครั้งแรกและความมุ่งมั่นตั้งใจของผุ้จัดงานทั้งในระดับภูมิภาคและนานาชาติ เป็นเครื่องพิสูจน์ถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งของสิงคโปร์ในฐานะเจ้าบ้านผู้จัดงานอาร์ตแฟร์ระดับโลก
art4d: วิธีการหรือกลยุทธ์ใดที่ ART SG คิดว่ามีประสิทธิภาพและใช้เพื่อช่วยสนับสนุนศิลปิน รวมไปถึงตลาดระดับภูมิภาคต่างๆ โดยเฉพาะในประเทศไทย
MR: หนึ่งในวิธีการที่มีประสิทธิภาพทที่สุดที่อาร์ตแฟร์มีคือศักยภาพในการนำจุดสนใจของวงการศิลปะนานาชาติมาสู่เมืองหรือภูมิภาคที่มีการจัดงาน และการนำจุดสนใจมาไว้ที่ภาพของวัฒนธรรมในมุมกว้างซึ่งรวมไปถึงศิลปิน แกลเลอรี และสถาบัน เรานำโลกของศิลปะระดับนานาชาติมาสู่สิงคโปร์ด้วยแรงบันดาลใจที่อยากจะเห็นนักสะสมและแกลเลอรีชั้นนำจากฝั่งตะวันตกสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ความสนใจใคร่รู้นี้ก็จะนำไปสู่การทำความรู้จักวงการศิลปะในเอเชียตะวันออกเชียงใต้อย่างลึกซึ้งและ ART SG ก็จะมีบทบาทในการสร้างกลุ่มผู้ซื้องาน เพื่อจะช่วยให้ศิลปินและการทำงานศิลปะของพวกเขาคงอยู่ต่อไปได้ผ่านการขยายตัวของกลุ่มผู้ชมรวมไปถึงตลาดของศิลปะและวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
SY: ART SG จะสามารถรับหน้าที่สำคัญในการทำให้ศิลปินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นจุดสนใจด้วยการนำเสนอผลงานที่ผ่านการคัดสรรมาอย่างดีโดยพื้นที่ทางศิลปะที่เป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนาน และพื้นที่ทางศิลปะหน้าใหม่ เช่น Richard Koh Fine Art’s (Singapore, Kuala Lumpur, Bangkok) ที่จัดแสดงงานให้ศิลปินจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยโฟกัสไปที่กลุ่มอินโดจีน อย่างเช่น นที อุตฤทธ์, Svay Sareth, Wah Nu และ UuDam Tran Ngu-yen; การแสดงงาน From the Land of Gold Below the Winds in South Seas จัดโดย Yeo Workshop (Singapore) ที่เปรียบเทียบการทำงานที่เป็นการตั้งคำถามในเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของศิลปินจากสิงคโปร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นศิลปินไทยอย่างสันติ หวังชื่น และงาน Simulacra ที่จัดโดย Warin Lab (Bangkok) ซึ่งเป็นพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ของไทยที่ให้ความสำคัญกับประเด็นเกี่ยวกับระบบนิเวศและความยั่งยืน การแสดงผลงานคู่ ระหว่าง Arahmaiani หนึ่งในศิลปินหญิงแนวสหศาสตร์ศิลป์ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในอินโดนีเซีย กับ ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ จิตรกรชาวไทยชื่อดัง การแสดงนี้ได้สร้างบทสนทนาที่สะท้อนสภาวะฉุกเฉินของการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยเน้นย้ำถึงท้องถิ่นและชุมชนเล็กๆ ที่อยู่ในสภาวะความเสี่ยงนี้
ส่วนที่น่าสนใจอื่นๆ ก็จะอยู่ในพื้นที่ที่มีความน่าเชื่อถืออยู่แล้วในภูมิภาคอย่างเช่น Yavuz Gallery, Gajah Gallery, FOST, Sullivan & Strumpf ไปจนถึงพื้นที่ทางศิลปะเกิดใหม่ อย่าง Tropical Futures Institute และ Cuturi Gallery ที่จะเน้นแสดงงานของศิลปินจากสิงคโปร์และประเทศอื่นๆในภูมิภาค ยิ่งไปกว่านั้นศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะถูกทำให้โดดเด่นขึ้นด้วยการไปจัดแสดงกับแกลอรีที่มีชื่อเสียงระดับโลกที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนศิลปิน อย่างเช่น การจัดแสดงงานของ Dinh Q. Le โดย P.P.O.W การจัดแสดงงานของ Sopheap Pich โดย Tomio Koyama Gallery การจัดแสดงงานของ มิตร ใจอินทร์ และ สว่างวงศ์ ยองห้วย โดย TKG และการจัดแสดงงานของ จักกาย ศิริบุตรโดย Flowers Gallery ซึ่งนี่เป็นสิ่งยืนยันถึงความสนใจจากนานานาชาติต่อการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินในภูมิภาค
ในส่วนของ ART SG PLATFORM ที่มีไว้สำหรับผลงานศิลปะการจัดวางแบบ site-specific และชิ้นงานประติมากรรมขนาดใหญ่ อย่างเช่น ‘Kapok’ ผลงานต้นแบบของ Sopheap Pich ศิลปินจากกัมพูชา ที่ Tomio Ko-yama Gallery เป็นผู้จัดแสดง ซึ่งชิ้นงานนี้ประกอบขึ้นจากเศษเรือไม้เก่าที่นำมาใช้ขึ้นรูปเป็นผลนุ่น (kapok) และใช้วัสดุที่เขามักจะใช้จนกลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่างหวายและไม้ไผ่ เพื่อพูดถึงประเด็นของวิถีชีวิตแถบชนบทในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประวัติศาสตร์ของกัมพูชา และความสัมพันธ์ที่ศิลปินมีต่อบ้านเกิดของเขาเอง
art4d: คุณคาดหวังจะได้เห็นอะไรในวงการศิลปะในอนาคตอันใกล้
MR: เราอยากเห็นการตระหนักถึงความสำคัญของเอเชียที่เพิ่มมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าและได้เห็นศิลปินจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าไปมีส่วนร่วมในระดับนานาชาติมากขึ้น ซึ่งตอนนี้แกลเลอรีจากนอกภูมิภาคเอเชียจะเข้าร่วมงานแฟร์ในภูมิภาคนี้มากขึ้นตลอดทั้งปี เพราะพวกเขาเห็นศักยภาพอันน่าทึ่งของภูมิภาคนี้
SY: วงการศิลปะกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่น่าสนใจเนื่องจากเพิ่งพ้นออกจากช่วงหลังวิกฤตโรคระบาด การจัดการกับการกลับมาเปิดชายแดนทางภูมิศาสตร์ และการกลับสู่สภาวะปกติของการเดินทาง นักสะสมต่างกระตือรือร้นที่จะสัมผัสประสบการณ์ของการมีส่วนร่วม รวมไปถึงโอกาสในการชมงานศิลปะ และพูดคุยกับศิลปินและแกลเลอรีแบบตัวต่อตัว ในขณะเดียวกันผลงานศิลปะก็บอกเล่าถึงประสบการณ์ของวิกฤติโรคระบาดและความตึงเครียดที่เกิดขึ้น ซึ่งศิลปินกำลังสร้างเรื่องราวตรงกันข้ามกับการที่สิ่งต่างๆ กำลังกลับคืนสู่สภาพปกติ ทำให้เกิดบทสนทนาที่น่าสนใจและความเข้าใจในมิติที่ลึกกว่าเดิมระหว่างกลุ่มต่างๆ
art4d: อะไรคือปัจจัยหลักสู่ความสำเร็จของ ART SG
MR: ด้วยการทำงานในมาตรฐานระดับสากลรวมไปถึงกระบวนการการคัดเลือกงานที่เข้มข้น เราได้รวบรวมรายชื่อแกลเลอรี่ชั้นนำระดับโลกเอาไว้มากกว่า 160 แห่งจาก 30 ประเทศทั่วโลก นี่จึงเป็นการเปิดตัวงานอาร์ตแฟร์ที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่ง ART SG นั้นจัดขึ้นโดย Art Assembly ที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายงานแสดงศิลปะ 6 งานจากทั่วเอเชีย และเครือข่ายของบุคคลสำคัญในแวดวงศิลปะอีก 5 ประเทศ ซึ่งหมายความว่าเราร่วมทำงานอย่างแข็งขันกับนักสะสมจากทั่วทั้งภูมิภาคตลอดทั้งปีและเครือข่ายต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าจะมีผู้เข้าชมและนักสะสมจากนานาชาติมาร่วมงาน แกลเลอรีต่างๆ เองก็จะมองถึงโอกาสในการขายเป็นอย่างแรกแต่ในขณะเดียวกันพวกเขาก็มองหาหนทางที่จะสร้างเครือข่ายกับกลุ่มนักสะสมและภัณฑารักษ์ด้วยเหมือนกัน โดยเราเองก็กำลังทำงานอย่างหนักเพื่อที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น
SY: วิสัยทัศน์ของ ART SG คือการให้บทบาทสิงคโปร์ในฐานะศูนย์กลาง และการสร้างงานอาร์ตแฟร์ชั้นนำระดับนานาชาติให้กับภูมิภาคนี้ที่สามารถให้ทุกคนเข้าร่วมได้โดยไม่ต้องไปไหนไกลและสามารถสร้างเงื่อนไขของเราได้เอง ซึ่งงานนี้จะเชื่อมต่อเอเชียตะวันออกเชียงใต้เข้ากับโลกศิลปะนานาชาติด้วยการนำเสนอสิ่งที่ดีที่สุดและการพิจารณาถึงบริบท เราตั้งใจจะสร้างอาร์ตแฟร์ที่ให้อะไรกับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักสะสมที่มีประสบการณ์มายาวยานหรือนักสะสมที่เพิ่งเริ่มเดินบนเส้นทางนี้ รวมไปถึงนักซื้องานศิลปะที่เป็นหน้าใหม่จริงๆ เราต้องการที่จะสร้างแพลตฟอร์มที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกแต่ก็ยังมีหัวใจหลักเป็นเรื่องของภูมิภาคอย่างชัดเจนด้วยเช่นกัน ซึ่งการบรรลุถึงวิสัยทัศน์นี้เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จของ ART SG
art4d: ART SG ส่งเสริมบทสนทนาระหว่างวัฒนธรรมที่แตกต่างได้อย่างไรบ้าง
MR: ART SG พากลุ่มคนหลายหลายกลุ่มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อินเดีย และออสเตรเลียมาพบปะกันผ่านงานแฟร์นี้ที่สิงคโปร์ เราช่วยให้ทุกฝ่ายได้เชื่อมต่อกับเอเชียและพิ้นที่ที่อยู่ไกลออกไปจากเมืองหลัก และเรายังมีแกลเลอรีที่เข้าร่วมจากกว่า 30 ประเทศทั่วโลก ดังนั้นการก้าวข้ามทางวัฒนธรรมก็ถูกสร้างขึ้นจากสิ่งที่เรากำลังทำกันอยู่ นอกเหนือจากการเป็นพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนเชิงพานิชย์แล้ว ART SG ยังเป็นโอกาสสำหรับการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและความรู้ที่ไม่ใช่แค่ผ่านผลงานศิลปะที่ถูกนำมาจัดแสดง แต่ยังผ่านโปรแกรมการเสวนาของเราที่จะครอบคลุมหลายมิติและหัวข้อ
SY: โปรแกรมเสวนาของ ART SG นั้นได้รับการออกแบบมาเพื่อส่งเสริมบทสนทนาข้ามวัฒนธรรมและการเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย รวมไปถึงการพูดคุยและแสดงออกด้วยมุมมองที่เปิดกว้างเท่าที่จะเป็นไปได้เกี่ยวกับประเด็นและหัวข้อเร่งด่วนที่เกิดขึ้นในแวดวงศิลปะของเรา ณ ปัจจุบัน โดย ART SG PERSPEC-TIVES: Reconnecting Southeast Asia and Asia Pacific คือซีรีย์การเสวนาที่จัดขึ้นโดย Cosmin Costinas (ผู้อำนวยการร่วมฝ่ายศิลปะของงาน Biennale of Sydney (2024) ครั้งที่24 และอดีตผู้อำนวยการบริหาร Para Site Hong Kong) การเสวนานี้มีขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ให้ผู้สร้างงานศิลปะอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคนี้ได้มาพบกันหลังสถานการณ์โรคระบาดได้คลี่คลายลง ซึ่งมันเป็นความตั้งใจที่จะให้ทุกคนได้จินตนการใหม่ถึงภูมิศาสตร์ของเรา วิธีการการทำงาน และการแลกเปลี่ยนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต