MARINA ABRAMOVIC – “HISTORY OF LONG DURATIONAL WORK AND MAI”

งานบรรยายพิเศษจากศิลปิน performance art ระดับโลกอย่าง Marina Abramovic ในกรุงเทพฯ ที่ผ่านมา ที่ดำดิ่งสู่ประวัติศาสตร์การทำงาน performance ของเธอ ซึ่งอาจจะช่วยให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นว่า แท้จริงแล้ว performance art คืออะไร ?

TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here

25 มกราคม 2023 น่าจะเข้าขั้นเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญทางวงการศิลปะร่วมสมัยไทยเลยทีเดียว การกลับมายัง Bangkok Art Biennale 2022 ของศิลปินเพอร์ฟอร์แมนซ์ Marina Abramovic หรือที่หลายๆ คนเรียกติดปากว่าแม่สร้างปรากฏการณ์คนเต็มฮอลล์ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คราคร่ำไปด้วย นักศึกษาศิลปะ ศิลปิน เหล่าผู้คนในวงการสร้างสรรค์ไทย และสื่อมวลชน

Marina เปิดฉากการบรรยายว่าเธอชอบกรุงเทพฯ เธอกลับมากรุงเทพฯ ด้วยหลายๆ เหตุผล ไม่ว่าจะเพราะความ nice ของผู้คน อาหาร หรือศิลปะ แต่ครั้งนี้ ต้นปี 2023 เธอกลับมาด้วยเหตุผลที่เฉพาะเจาะจงกว่าที่ผ่านๆ มา และต่อจากนั้นกว่า 2 ชั่วโมง Marina พาพวกเราดำดิ่งลงไปในความเข้มข้นของประวัติศาสตร์การทำงานศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์

Long Durational Work ในความหมายของ Marina เกี่ยวพันกับชีวิตอย่างลึกซึ้ง เธอยกตัวอย่างโควตของ Piero Manzoni (เจ้าของผลงาน Artist’s Shit, 1961) “I don’t care whether my art is beautiful or ugly, but It must be true” เธอย้ำบนเวทีว่าศิลปะต้องจริงมันต้องแสดงออกถึงความจริง และสุนทรียศาสตร์ก็เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ผลงาน Long Durational ชิ้นแรกของเธอ The Great Wall Walk (1988) นั้นเรียบง่าย เธอและ Ulay เริ่มต้นเดินจากคนละฟากของกำแพงเมืองจีน ใช้เวลาทั้งสิ้น 90 วัน และทั้งสองคนก็เดินมาพบกันที่จุดกึ่งกลางของเส้นทางเพื่อบอกลา

หลายคนจดจำ The Great Wall Walk (1988) ว่าเป็นวันจุดสิ้นสุดทางรักระหว่างเธอกับ Ulay แต่นั่นเป็นวันแรกของเส้นทางการทำงานศิลปะคนเดียว ไอเดียอย่างหนึ่งที่เธอได้จาก The Great Wall Walk หรืออีกมุมหนึ่ง ก็คือคำถามสำคัญว่า จะส่งต่อความรู้สึกตรงนั้น ระหว่างที่เท้าเธอเหยียบลงบนกรวดหิน ความร้อนและความเย็นในทุกๆ ย่างก้าวบนกำแพงเมืองจีน ไปถึงคนดูได้อย่างไร? นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า Transitory Object ซึ่งปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องในงานอินสตอลเลชั่นหลายๆ ชิ้น ตั้งแต่ปี 1980s เป็นต้นมา ผลงานชิ้นที่ใกล้ตัวคนไทยสักหน่อยคงจะเป็น อินสตอลเลชั่นคริสตัล (ที่ BAB Box) ในปี 2018 ที่เชื้อเชิญให้ผู้ชมได้จรดหน้าผากลงบนแท่งคริสตัลบนเสาไม้ ส่วนที่ว่าพอร่างกายไปสัมผัสกับงานแล้วให้ความรู้สึกยังไง ก็คงต้องไปถามคนที่เคยสัมผัสกับงานของเธอดู

กลับมาที่ Long Duration Work กันบ้าง Marina ใช้เวลานานทีเดียวไล่เรียงโปรเจ็คต์เพอร์ฟอร์แมนซ์ที่กินระยะเวลาตั้งแต่ 1 ชั่วโมง ไปจนถึง 1 ปี หนึ่งในศิลปินที่เธอประทับใจเป็นพิเศษคือศิลปินไต้หวัน Tehching Hsieh

ทั้งชีวิตของศิลปินคนนี้เขาทำงานเพอร์ฟอร์แมนซ์แค่ 6 ชิ้น เท่านั้น แต่แต่ละชิ้นนั้นกินระยะเวลายาวกว่า 1 ปี โปรเจ็คต์ One Year Performance มีตั้งแต่ ขังตัวเองอยู่ในสตูดิโอ ไม่ดูทีวี อ่านหนังสือ ฟังวิทยุ เป็นเวลากว่า 1 ปี หรือ ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ outdoor ต่อเนื่อง 1 ปี และอื่นๆ ที่แม้ดูจะเรียบง่าย ไม่ซับซ้อนแต่ต้องอาศัยพลังกายและใจมหาศาลแบบที่เราไม่อาจจินตนาการถึง อย่างไรก็ดี เรื่องที่น่าสนใจคือ Marina มีโอกาสได้ถามศิลปินว่าหลังจากจบงาน 6 ชิ้น นี้แล้วเขาตั้งใจจะทำอะไรต่อ?” Hsieh ตอบกลับมาเรียบๆ ว่าใช้ชีวิต…” 

คำตอบนี้ขมวดปมและพาให้ผู้เขียนไปสู่อะไรบางอย่างที่ช่วยให้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วศิลปะเพอเฟอร์แมนซ์คืออะไร ความตึงเครียด ความรู้สึก (หนาว ร้อน ตื่นเต้น หวาดกลัว) การเคลื่อนตัวอันคงที่ของเวลา ปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม ในทุกๆ ช่วงนาที คืน วัน จนครบกำหนด ทั้งหมดทั้งมวลนี้เปลี่ยนตัวตนของศิลปินไปจากเดิม สิ่งที่ได้กลับมามันไม่ใช่แค่เสียงปรบมือกึกก้องของผู้ชม (ราวกับนักกีฬา) แต่คือ บทเรียน ความรู้สึก และพลังงานใหม่ภายในตัว

ยากที่จะเชื่อแต่ก็ต้องเชื่อจริงๆ ว่า เรารับรู้พลังงานที่ว่าด้วย ระหว่างที่เธอยืน นั่ง พูดคุยกับคนดูในฮอลล์ เธอไม่ใช่ศิลปินชื่อดังก้องโลก แต่พูดในฐานะมนษุย์คนนึงที่ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจากศิลปะ ช่วงท้ายสุดของรายการ เธอพูดถึงกิจกรรมของ MAI (Marina Abramovic Instituation) ที่ออกเดินทางไปทั่วโลก หลายคนที่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเป็นศิลปิน อันที่จริง MAI นั้นเป็นเหมือนการบำบัด และเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองมากกว่า ความสนุกก็คือ เธอให้ทุกคนในฮอล์ได้ลองทำตาม Abramovic Method ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียง U O A E M จากส่วนต่างๆ ของท้อง กลั้นหายใจ ขยี้หัวเพื่อปลดปล่อยกระแสไฟฟ้า มองตาคนข้างๆ เป็นเวลานาน รวมถึงวิธีการจัดการความโกรธ (สาธิตโดยการเชิญ ศาสตราจารย์ อภินันท์ โปษยานนท์ ขึ้นไปบนเวที)

ปิดจบโชว์ด้วยช่วง Q&A เช่นเคย ทีมงานเตรียมไมโครโฟนไว้ให้คนดูได้ต่อคิวคุยกับ Marina ได้โดยตรง ถ้าไม่นับความผิดพลาดทางเทคนิคที่ทำให้ประสบการณ์ไม่สมูธเท่าที่ควร หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจมาจาก ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ ที่มีใจความประมาณว่า ท่ามกลางความเน่าเฟะของกระบวนการยุติธรรมไทย มีเด็กรุ่นใหม่ใช้กระบวนการแบบเดียวกับศิลปะเพอร์ฟอร์แมนซ์ ในการส่งสารจากคนในสังคมไปสู่รัฐบาลที่ฉ้อฉล คุณคิดว่าศิลปะสามารถเป็นอาวุธในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมได้หรือไม่?” Marina ตอบว่าส่วนตัวเธอคิดว่าไม่จริง เพราะคนเจนเนอเรชั่นเธอไม่ได้เปลี่ยนโลกไปจากเดิม แต่เธอหวังเป็นอย่างยิ่งว่าคนรุ่นใหม่ เจเนอเรชั่นต่อจากนี้จะทำมันสำเร็จ 

Marina Abramovic – “History of Long Durational Work and MAI” มีให้ดูย้อนหลังแล้ววันนี้ที่ youtube.com/watch?v=gUTd3ulxvyU 

bkkartbiennale.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *