LORPHOONPHOL RICEMILL OFFICE

อาคารสำนักงานใหม่ของบริษัทผลิตข้าวสารชื่อดังในจังหวัดที่นครสววรค์ที่ PHTAA living design ปรับปรุงและต่อเติมเพื่อตอบรับกับการใช้งาน และสื่อสารถึงการปรับภาพลักษณ์ของธุรกิจให้เข้ากับโลกปัจจุบัน

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: BEER SINGNOI

(For English, press here

เป็นเรื่องปกติที่ธุรกิจจะต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงให้เท่าทันโลก หลังจากดำเนินกิจการไปเป็นระยะยาวนาน บางธุรกิจใช้วิธีเปลี่ยนระบบการทำงานให้ทันสมัย เตรียมพร้อมสู่การเติบโตก้าวกระโดด บ้างปรับตัวด้วยการยกเครื่องภาพลักษณ์ เช่น การออกแบบโลโก้ใหม่หมดจดให้ตัวเอง 

‘ล้อพูนผลไรซ์มิลล์’ บริษัทผลิตข้าวสารชื่อดังประจำจังหวัดนครสวรรค์ที่ดำเนินงานมายาวนานหลายสิบปี ก็ใช้โอกาสที่ธุรกิจเปลี่ยนผ่านเจ้าของจากรุ่นพ่อ มาสู่รุ่นลูก มาอัพเกรดตัวเองเช่นกัน ไม่เพียงล้อพูนผลไรซ์มิลล์จะทุ่มทุนไปกับเทคโนโลยีการผลิตข้าว เพื่อมุ่งเป้าไประดับสากล บริษัทยังพลิกภาพลักษณ์ของตัวเองให้ดูร่วมสมัย โดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องมือ

ท่ามกลางพื้นคอนกรีตสีเทากว้างใหญ่และอาคารโกดังหลังโต คืออาคารสำนักงานโฉมใหม่ของล้อพูนผลไรซ์มิลล์ที่ PHTAA living design รับหน้าที่ออกแบบ 

“บริษัทเขาบอกว่า เขาอยากเปลี่ยนภาพลักษณ์ตัวเขาให้ทันสมัย และอยากได้อะไรที่มันสดใหม่” พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล สถาปนิกจาก PHTAA เล่าถึงเบื้องหลังงานออกแบบ “เราเลยออกแบบอาคารให้ดูร่วมสมัย น่าเชื่อถือ แต่ก็แสดงถึงความเป็นท้องถิ่นอยู่ด้วย”

ตัวอาคารเป็นอาคารคอนกรีตหลังคาแบนหน้าตาเรียบเกลี้ยง ด้านหน้ากรุด้วยกระจกใสให้ความรู้สึกไม่ต่างกับอาคารสำนักงาน อาคารห้อมล้อมด้วยกำแพงอิฐมอญในเส้นสายโค้งมนอิสระ ที่ทำให้อาคารดูบ้านๆ เป็นมิตร และดูโดดเด้งออกมาจากพื้นคอนกรีตและโกดังหลังสีเทาทะมึน

ตัวอาคารใหม่สร้างต่อเติมมาจากอาคารเก่าริมบ่อน้ำ ซึ่งเป็นอาคารที่ใช้รับซื้อข้าวตั้งแต่รุ่นพ่อ แต่ไม่ได้มีการวางผังที่เป็นระบบระเบียบ และมีรูปลักษณ์เหมือนบ้านตึกแถวสมัยก่อน ส่วนอาคารใหม่เป็นการเพิ่มพื้นที่ปีกด้านทิศตะวันออกและทิศเหนือจากอาคารเดิม ที่ชั้นหนึ่งของปีกทิศตะวันออก คือโถงพักคอยสำหรับชาวนาที่ขนข้าวใส่รถบรรทุกมาขาย และห้องแล็บสำหรับตรวจวัดคุณภาพข้าวที่ชาวนานำมา ส่วนปีกทิศเหนือคือพื้นที่สำนักงาน ที่ปลายปีกทั้งสองคือส่วนรับประทานอาหารของพนักงานในตึก ชั้นสองของอาคารคือสตูดิโอถ่ายทำสินค้า รวมไปถึงส่วนต่อขยายในอนาคต “อาคารเก่า function ต่างๆ จะอยู่แยกอาคารกัน เวลาเดินไปส่วนไหนก็ต้องตากแดดตากฝน พอทำอาคารใหม่เราก็รวบทุก function ให้อยู่ในอาคารเดียว และทำให้ flow ของการเดินไปส่วนต่างๆ ต่อเนื่อง” พลวิทย์เล่า

เนื่องจากในอาคารมีแล็บตรวจวัดคุณภาพข้าวที่ชาวนานำมาขาย การควบคุมฝุ่นและความชื้นสะสมจึงเป็นเรื่องที่พลวิทย์กับทีมคำนึงในการออกแบบ ทางทีมจึงใช้อิฐมอญที่ได้รับการออกให้มีหน้าตาเหมือนสามเหลี่ยมครอบสันหลังคา เพื่อลดโอกาสที่น้ำจะไหลย้อนเข้าไปในอาคาร พื้นผิวที่ลาดเอียงก็ช่วยลดการเกาะตัวของฝุ่นไปในตัว

ขณะเดียวกัน ทีมดีไซน์ก็ออกแบบให้ผืนผนังมีช่องเปิดเล็กๆ รวมไปถึงใช้อิฐช่องลมเป็นระยะๆ เพื่อเปิดให้ลมไหลผ่าน และมอบความเย็นให้กับอาคารซึ่งแวดล้อมไปด้วยพื้นคอนกรีตที่โดนดวงอาทิตย์เผาจนร้อนระอุ ส่วนรับประทานอาหารที่มีพื้นที่กว้างใหญ่และมึดทึบ ก็เปิดรับแสงสว่างเข้ามาด้วยช่องโล่งวงกลมใหญ่ๆ ตรงกลาง 

โครงสร้างของอาคารเก่ายังถูกเก็บไว้อยู่ แต่มันถูกปกคลุมไว้ด้วยม่าน façade เหล็กเจาะรูสีขาวที่เอียงมุมเล็กน้อยที่เปิดเผยให้เห็นตัวตนในอดีตอยู่ลางๆ ซึ่งม่านเหล็กเจาะรูนี้ยังมีฟังก์ชันเสริมคือทำให้นกไม่เข้ามาเกาะเกี่ยวหรือทำรัง เพราะผิวเหล็กนั้นเก็บความร้อนได้ดีอีกด้วย

นอกจากเรื่องฟังก์ชันและรายละเอียดการออกแบบที่อัพเกรดการใช้งานได้เป็นอย่างดีแล้ว สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คืออาคารหลังใหม่นี้เป็นเครื่องมือ PR ชั้นดีที่ทำให้หลายคนได้รู้จักบริษัทล้อพูนผลไรซ์มิลล์ รวมถึงความฝันอันทะเยอทะยานของบริษัท ผ่านตัวสถาปัตยกรรม

facebook.com/PHTAAlivingdesign

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *