HEATHERWICK STUDIO: BUILDING SOULFULNESS

ทำความรู้จักกับสตูดิโอสัญชาติอังกฤษ Heatherwick Studio ในแง่ของ ‘จิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์’ ในงานออกแบบ กับนิทรรศการล่าสุดของสตูดิโอที่ Mori Art Museum ประเทศญี่ปุ่น

TEXT & PHOTO: THANAPORN LOHAVICHITRANON

(For English, press here)

หลายคนรู้จักและจดจำ Heatherwick Studio สตูดิโอออกแบบสัญชาติอังกฤษได้จากผลงาน UK pavillion ในงาน world expo 2010 ที่เซี่ยงไฮ้ และผลงานอื่นๆตามมาที่หลายงานก็สร้างความตื่นเต้นให้กับวงการสถาปัตยกรรมอยู่เรื่อยๆ ด้วยการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ทั้งแนวคิด ภาพลักษณ์ วิธีการใช้วัสดุและวิธีการก่อสร้างที่ล้ำสมัย และในกลางปี 2023 นี้ ผลงานชิ้นแรกในญี่ปุ่นของ Heatherwick Studio ‘Azabudai Hills / Lower levels’ โครงการปรับปรุงพื้นที่ใจกลางกรุงโตเกียวในย่าน Toranomon-Azabudai จะมีกำหนดการสร้างเสร็จและเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยเจ้าของโครงการคือ Mori Building บริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของโตเกียว ที่เป็นทั้งเจ้าของโครงการเมกะโปรเจ็คต์หลายโครงการในญี่ปุ่น รวมถึง Mori Art Museum หนึ่งในมิวเซียมที่โด่งดังที่สุดในโตเกียวที่นักออกแบบทุกคนรู้จักกันดี

ในประเทศที่มี local architects ชื่อดังอยู่มากมายอย่างญี่ปุ่น การที่สตูดิโอต่างชาติได้รับหน้าที่ออกแบบโครงการขนาดใหญ่แบบนี้ย่อมเป็นที่พูดถึงทั้งในหมู่นักออกแบบและคนทั่วไป ว่านักออกแบบผู้นี้จะมาเติม ‘สีสัน’ ที่แตกต่างออกไปให้โตเกียวได้อย่างไร นิทรรศการนี้จึงเหมือนเป็นอินโทร ที่ Mori ต้องการจะแนะนำให้ชาวโตเกียวได้ทำความรู้จักสถาปนิกคนสำคัญของโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นก่อนจะได้ชมอาคารจริงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับเราอย่างหนึ่งของนิทรรศการนี้ก็คือ การเล่าเรื่องของ Heatherwick Studio ผ่านฟิลเตอร์แบบญี่ปุ่น เชื่อว่าภาพจำของหลายๆ คนกับ Heatherwick Studio คืองานออกแบบที่รูปร่างหน้าตาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เมื่อต้องมาเล่าเรื่องภายในประเทศญี่ปุ่น ที่ผู้คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกับงานออกแบบที่เรียบง่าย ถ่อมตัว คู่กับสตอรี่เบื้องหลังที่ผูกพันชีวิตกับพื้นที่ ฟังๆ ดูแล้วเหมือนจะไปคนละทิศทาง จึงเกิดมาเป็นชื่อนิทรรศการ Heatherwick Studio: Building Soulfulness ที่จะเล่าเรื่องของสตูดิโอในแง่ของ ‘จิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์’ ที่เป็นปรัชญาหลักในการออกแบบของ Thomas Heatherwick ในงานการศึกษา ลองผิดลองถูก พัฒนา และกลายมาเป็นงานออกแบบสร้างชื่อชิ้นที่เราได้รู้จักกันในปัจจุบัน

โซนแรกของนิทรรศการเป็น intro ที่แนะนำให้เรารู้จัก background ของ Thomas Heatherwick ผู้ก่อตั้งสตูดิโอ ตั้งแต่สมัยเรียนจนถึงยุคสมัยปัจจุบัน แสดงให้เห็นความสนใจที่หลากหลายอันมีพื้นฐานมาจากทั้งครอบครัวที่เป็นนักออกแบบสิ่งทอ และค้าขายอัญมณี การศึกษาด้าน 3-Dimensional Design และ Furniture Design ในมหาวิทยาลัย ที่ต่อยอดกลายมาเป็นความสนใจในการทดลองและศึกษาเอกลักษณ์และขีดจำกัดของวัสดุต่างๆ โดยเล่าผ่านชิ้นส่วน mock-up คอลเล็คชั่นของสะสม และภาพสเก็ตช์ที่หลายๆ ชิ้นเป็นจุดตั้งต้นที่นำไปสู่ชิ้นงาน iconic งานต่างๆในปัจจุบันที่มีขอบเขตกว้างตั้งแต่โปรดักท์ชิ้นเล็ก เฟอร์นิเจอร์ รถยนต์ ไปจนถึงงานสถาปัตยกรรม

เนื้อหาภายในนิทรรศการต่อมาเป็นการจัดแสดงโปรเจ็คต์เด่นของ Heatherwick studio ทั้งหมด 22 โครงการ แบ่งเป็น 6 session ตาม topic ที่สื่อสารแนวคิดด้าน ‘จิตวิญญาณและความเป็นมนุษย์’ ที่ถ่ายทอดออกมาในมิติที่แตกต่างกันออกไป

เริ่มด้วย ‘Coming Together’ งานที่ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์ของการสร้างภาพใหญ่ที่เป็นหนึ่งเดียว จากการรวมและสร้างปฏิสัมพันธ์องค์ประกอบหน่วยเล็กต่างๆ เข้าด้วยกัน เช่นงานสร้างชื่ออย่าง UK Pavillion, World Expo 2010 ที่สร้างอิมแพคอย่างมากให้กับงานในปีนั้นและคว้ารางวัล Expo’s Top prize ด้วย façade แท่งอะคริลิกใสที่บรรจุเมล็ดพันธุ์ต่างๆ สื่อถึงประเทศอังกฤษที่เป็นผู้บุกเบิกแนวคิดเรื่อง Urban Parks and Garden และงานออกแบบคบเพลิงโอลิมปิคที่กรุงลอนดอนปี 2012 ที่มีลักษณะเป็นกลีบดอกไม้สลักชื่อทั้ง 204 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลกเอาไว้

‘Connecting with Everyone’ งานที่พูดความสัมพันธ์ของมนุษย์ กับ สถานที่และเมือง เช่น งานออกแบบ City’s public bus ในกรุงลอนดอน ที่ไม่ใช่แค่การออกแบบรูปลักษณ์หน้าตาเท่านั้น แต่ยังเป็นการปรับปรุง layout ใหม่ โดยคำนึงถึง traffic และฟังก์ชันของการเป็น city bus ด้วย

‘Experiencing Sculptural Space’ งานที่มุ่งเน้นในการสร้างประติมากรรมที่ถือได้ว่าน่าจะเป็นภาพเด่นที่ทำให้คนจดจำ Heatherwick Studio ซึ่งงานในหมวดนี้ที่เป็นรู้จักกันดีก็คือ Vessel ที่แมนฮัตตัน ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจของฟอร์มอาคารมาจากบ่อน้ำขั้นบันไดในอินเดีย และ Paternoster Vents งานออกแบบช่องระบายอากาศจากใต้ดิน ข้างวิหาร Saint Paul ที่ถูกดีไซน์ให้กลายมาเป็น design sculpture ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก origami

‘Feeling Nature in Urban Space’ งานที่พูดถึงความสัมพันธ์ในสเกลเมือง คน และธรรมชาติ เช่น Little Island ในแมนฮัตตันที่เพิ่งสร้างเสร็จในปี 2021 หรืองานที่กำลังจะสร้างเสร็จในปีนี้ที่โตเกียวอย่าง Azadudai Hills / Lower Levels อาคาร Mixed-use 3 อาคารที่เชื่อมต่อกับเมืองควบคู่ไปกับการสร้างพื้นที่สีเขียวโดยใช้ประโยชน์จากบริบทพื้นที่ที่มีความเป็นเนิน

‘Bringing Memories to Future’ ความเคารพในจิตวิญญาณและเรื่องราวที่อยู่ในสถาปัตยกรรมยุคก่อน และความตั้งใจที่จะนำเรื่องราวนั้นกลับมาแสดงใหม่ในภาษาและและการตีความของปัจจุบัน เช่น Bombay Sapphire Distillery หรืองานรีโนเวทอาคาร Historical สำคัญของเมือง Cape Town ให้กลายเป็น The Zeitz Museum of Contemporary Art Africa ด้วยการเก็บหน้าตาและโครงสร้างดั้งเดิมของอาคารไว้เกือบทั้งหมด และเลือกที่จะเจาะ Open Space ใหญ่ภายในอาคารเพื่อแสดงให้เห็นความสวยงามและเอกลักษณ์ของโครงสร้างของอาคารให้เด่นชัดมากขึ้น

และสุดท้าย ‘Playing and Using’ งานออกแบบ Product design และ Furniture design ซึ่งไฮไลท์ก็น่าจะอยู่ที่งานที่เป็นชิ้น Iconic 2 ชิ้นของสตูดิโออย่าง Friction Table โต๊ะกลมที่ปรับยืดรูปทรงให้กลายเป็นวงรีได้อย่างอิสระ และเก้าอี้ Span เก้าอี้ที่ออกแบบมาโดยใช้หลักสรีระร่างกายมนุษย์ ทำให้เก้าอี้หมุนได้ 360 องศา ซึ่งในนิทรรศการก็ได้มีเก้าอี้นี้ให้ได้ลองนั่งกันด้วย

ถึงแม้จะมีการแยกงานออกเป็น 6 หมวดดังกล่าว แต่จะรู้สึกได้ว่าในหนึ่งชิ้นงานนั้นมีแนวคิดในหลายมิติที่เชื่อมโยงกับหมวดอื่นๆ ด้วยได้อยู่ตลอดเวลา แต่การแบ่งหมวดเป็นวิธีการที่จะทำให้เราเข้าใจภาพกว้างของแนวคิดการออกแบบ ในแต่ละมิติได้ง่ายขึ้น ซึ่งสิ่งที่นำมาจัดแสดงนั้นเรียกได้ว่าขนมาแบบจัดเต็ม ทั้ง video presentation และ study model  mock-up model ใน กระบวนการต่างๆ เป็นหนึ่งในนิทรรศการที่เนื้อหา ข้อมูล และชิ้นงานจัดแสดงครบถ้วนเต็มอิ่ม

สำหรับเราแล้วนิทรรศการนี้เหมือนเป็นการพาเราไปทำความรู้จัก side-story ของ Heatherwick studio จากที่ปกติอาจจะได้เห็นผลงานสตูดิโอนี้ผ่านสื่อต่างๆที่มักจะนำเสนอแต่ความตื่นตาตื่นใจในแง่ของภาพลักษณ์หน้าตาอาคาร เทคโนโลยีการก่อสร้างและวัสดุเป็นหลัก แต่นิทรรศการนี้กลับเลือกที่จะเล่าเรื่องในฝั่งที่ละเอียดอ่อนในเชิงปรัชญาและความตั้งใจที่จะสร้าง ‘อาคารที่มีชีวิต’ มาเป็นบทนำในการเล่าชิ้นงานต่างๆ ซึ่งเราคิดว่าเป็นการตีโจทย์ได้ตรงจริตของคนญี่ปุ่น ที่มักเล่าเรื่องงานออกแบบผ่านมิติความสัมพันธ์ของชีวิต คน และท้องถิ่น เชื่อว่าคนที่ได้มาดูนิทรรศการนี้จะรู้สึกสนุกกับมิติในงานของ Heatherwick Studio มากขึ้น และตั้งหน้าตั้งตารอผลงานใหม่ในโตเกียวที่จะเปิดตัวในเร็วๆนี้

Heatherwick Studio: Building Soulfulness จัดแสดงที่ Mori Art Museum ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม – 4 มิถุนายน 2565

mori.art.museum

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *