ART-THAI-TIME

‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ รวบรวมผลงานนับตั้งแต่หอศิลป พีระศรี เปิดดำเนินการ บอกเล่าถึงการเติบโตของศิลปะร่วมสมัยในยุคที่ ‘ความเป็นไทย’ กลายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้แย่งชิงอุดมการณ์ทางการเมือง

TEXT: VICHAYA MUKDAMANEE
PHOTO: KETSIREE WONGWAN 

(For English, press here)

นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ รวบรวมผลงานศิลปะ และข้อมูลจดหมายเหตุ (Archive) เกี่ยวกับ หอศิลป พีระศรี หอศิลป์สาธารณชนแห่งแรกของประเทศไทย จัดแสดงระหว่างวันที่ 9 พฤษภาคม – 20 สิงหาคม พ.ศ. 2566 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดโดย หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับ มูลนิธิหอศิลป พีระศรี และ มหาวิทยาลัยศิลปากร มีฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เป็นหัวหน้าทีมภัณฑารักษ์ และนำทอง แซ่ตั้ง, ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร, สิทธิธรรม โรหิตะสุข และ ณรงค์ศักดิ์ นิลเขต เป็นทีมภัณฑารักษ์  นิทรรศการนี้จัดแสดงทั้งผลงานในการดูแลของมูลนิธิหอศิลป พีระศรี และผลงานในการสะสมของหน่วยงานราชการและเอกชน ข้อมูลงานดนตรี ภาพยนตร์ ละคร และการแสดงอื่นๆ เพื่อสะท้อนฉากทัศน์ของวงการศิลปะร่วมสมัยในช่วงต้นศตวรรษที่ 2500 จวบจนถึงปี พ.ศ. 2531 เมื่อหอศิลป พีระศรีปิดตัวลง

นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์การสร้างสรรค์ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่หอศิลป พีระศรี เปิดดำเนินการและกลายเป็นอีกหนึ่งแกนกลางสำคัญในการขับเคลื่อนวงการศิลปะร่วมสมัยไทย ตอบโต้ปะทะสังสรรค์ไปกับบริบทเชิงสังคมรอบตัวที่พลิกผันและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผลงานศิลปะจำนวนหลายพันชิ้น หลายร้อยนิทรรศการ สร้างสรรค์โดยศิลปินทั้งรุ่นใหม่ รุ่นกลาง รุ่นอาวุโส ชาวไทยและชาวต่างประเทศ สะท้อนความหลากหลายและแตกต่างทั้งในเชิงรูปแบบ แนวความคิด และอุดมการณ์ของศิลปิน ทั้งที่สอดคล้องตามขนบประเพณีและที่มุ่งเน้นการทดลองล้ำสมัย ทั้งที่นำเสนอแนวคิดในเชิงอนุรักษ์ สืบสานและต่อยอด และที่มุ่งเน้นการวิพากษ์วิจารณ์ การถอดรื้อ และการตั้งคำถามกับโครงการทางสังคมในแง่มุมต่างๆ

การปะทะกันของความหลากหลายเหล่านี้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่นำไปสู่พัฒนาการของวงการศิลปะร่วมสมัยไทยอย่างก้าวกระโดด นำมาซึ่งการถกเถียง การขับเน้นอัตลักษณ์ของตนเอง และการแสวงหาทางออกใหม่ๆ ให้กับวงการศิลปะอย่างต่อเนื่อง ทุกๆ ส่วนในนิทรรศการเปรียบเสมือนบทเรียนอันทรงคุณค่า บอกเล่าความเคลื่อนไหวของศิลปะร่วมสมัยซึ่งเติบโตควบคู่ไปกับสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงของบริบทเชิงสังคม การเมือง และสิ่งแวดล้อม ในช่วงเวลาสงครามเย็น กระแสความเป็นนานาชาติ การแสวงหาเสรีภาพทางการแสดงออก การต่อสู้เพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง กระแสการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การเทิดพระเกียรติสถาบันพระมหากษัตริย์ และการพลิกฟื้นของศิลปะแนวประเพณี ฯลฯ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลสำคัญที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับการก่อตั้งหอศิลป พีระศรี คือ Professor Corrado Feroci หรือ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ประติมากรอิตาเลียนผู้เดินทางเข้ามาสู่แผ่นดินสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466 รับราชการสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมให้กับราชการของสยามและประเทศไทย ออกแบบสร้างอนุสาวรีย์มากมาย มีส่วนสำคัญในการวางรากฐานการเรียนการสอนศิลปะในแนวทางแบบตะวันตกให้กับประชาชนชาวไทย จากจุดเริ่มต้นของโรงเรียนประณีตศิลปกรรม โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง และยกระดับเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากรในปี พ.ศ. 2486 ศาสตราจารย์ศิลปเสียชีวิตในปี พ.ศ. 2505 ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามเย็นและการเมืองไทยเลือกที่จะอิงระเบียบโลกจากฝั่งสหรัฐอเมริกา นำไปสู่การแทรกแซงและการให้อิทธิพลต่อนโยบายการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของประชาชนในประเทศ

วงการศิลปะร่วมสมัยของประเทศไทยช่วงเวลาดังกล่าวกำลังก่อร่างสร้างตัว มีหอศิลป์เอกชนเกิดขึ้นบ้างประปราย เช่น บางกอกอาร์ตเซ็นเตอร์ ห้องแสดงศิลปะที่วังสวนผักกาด บางกะปิแกลเลอรี่ ฯลฯ ตลอดจนศิลปินหลายท่านที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเริ่มทยอยกลับสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการจัดแสดงนิทรรศการเกิดขึ้นบ้าง มีห้องแสดงภาพ แกลเลอรี่ และการซื้อขายผลงานศิลปะ แต่ประเทศไทยยังไม่มี ‘หอศิลป์สาธารณชน’ ที่มุ่งเน้นในการจัดนิทรรศการ การจัดกิจกรรมศิลปะ และเป็นพื้นที่ศูนย์รวมศิลปะสมัยใหม่อย่างเต็มรูปแบบ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2508 ได้มีการจัดตั้ง ‘มูลนิธิหอศิลป พีระศรี’ เพื่อสานต่อเจตนารมณ์ เป็นอนุสรณ์ให้แก่ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ระดมทุนในการสร้างหอศิลป์สาธารณชน ซึ่งความพยายามและความมุ่งมั่นของมูลนิธิได้ประสบความสำเร็จเมื่อหอศิลป พีระศรีเปิดดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. 2517 เป็นอาคารสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ออกแบบโดยหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล สร้างในที่ดินซึ่งเช่าในราคาถูกจากหม่อมราชวงศ์พันธุ์ทิพย์ บริพัตร ผู้เป็นประธานกรรมการมูลนิธิฯ ตัวอาคารเปิดบริการทั้งในลักษณะห้องนิทรรศการ ห้องโถงใหญ่สำหรับการจัดกิจกรรม ห้องสมุด พื้นที่กลางแจ้ง ฯลฯ เป็นหอศิลป์สาธารณชนที่สามารถสนับสนุนกิจกรรมศิลปะได้หลากหลายรูปแบบ

การตีความ ‘ความเป็นไทย’ ในหลากหลายมิติ คือประเด็นที่ส่งผลกระทบอย่างสูงในวงการศิลปวัฒนธรรมไทยยุคต้นศตวรรษที่ 2500 และเป็นอีกหนึ่งแรงบันดาลใจสำคัญของผลงานศิลปะจำนวนมากที่จัดแสดงในหอศิลป พีระศรี ตั้งแต่การเริ่มต้นเปิดดำเนินการ  ‘ความเป็นไทย’ กลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือเพื่อใช้แย่งชิงอุดมการณ์ทางการเมืองระหว่างความเป็นอนุรักษ์นิยมและความเป็นเสรีนิยม ระหว่างการแสดงออกความเป็นปัจเจกจากภายในของชุมชนท้องถิ่นกับมุมมองจากภายนอกที่มุ่งเน้นคุณค่าและมูลค่าโดยเฉพาะในสายตาชาวต่างชาติ ระหว่างแนวคิดโหยหาอดีตเพื่อพลิกฟื้นสถาบันหลักของชาติที่สูญหายไปนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2475 กับแนวคิดส่งเสริมความเป็นไทยเพื่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของคนในชาติ ร่วมกันต่อต้านภัยคุกคามจากนอกประเทศ

ART THAI TIME

เหตุการณ์สำคัญที่สะท้อนการตั้งคำถามถึง ‘ความเป็นไทย’ คือ การประท้วงผลการตัดสินรางวัลเหรียญทองการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2507 เพียงสองปีหลังการเสียชีวิตของศาสตราจารย์ศิลป ระหว่างกระแสศิลปะแบบนามธรรมซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ ‘ศิลปินหัวก้าวหน้า’ กับผลงานศิลปะแนวประเพณีซึ่งได้รับความนิยมในหมู่สาธารณชนและชนชั้นนำของประเทศ เป็นต้น ซึ่งผลงานจิตรกรรม ‘ชักกระดาน หมายเลข 2’ โดย ประพัฒน์ โยธาประเสริฐ อันเป็นต้นเหตุของกรณีความขัดแย้งดังกล่าว ปัจจุบันเป็นสมบัติของหอศิลป์มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ถูกยืมมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

ART THAI TIME

นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ จัดแสดงผลงานแนวนามธรรมของศิลปินไทยคนสำคัญในยุคสมัยก่อตั้งหอศิลป พีระศรี เช่น ดำรง วงศ์อุปราช, ธงชัย รักปทุม, ประเทือง เอมเจริญ, พิษณุ ศุภนิมิต, อิทธิพล ตั้งโฉลก, กัญญา เจริญศุภกุล, วิโชค มุกดามณี ฯลฯ ควบคู่กับผลงานศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีชีวิตและประเพณีไทยในหลากหลายรูปแบบการนำเสนอ โดยเฉพาะผลงานจิตรกรรมแนวไทยประเพณีรูปแบบใหม่ของเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ซึ่งตีความความเป็นไทยไปสู่การนำเสนอ ‘วิถีชีวิตท้องถิ่น’ ประเพณีและความเชื่อในชีวิตประจำวันของชาวบ้าน และบรรยากาศความเป็นชนบท และผลงานจิตรกรรมของปัญญา วิจินธนสาร ซึ่งถึงแม้จะยังคงนำเนื้อหา ลวดลาย และรูปทรงแบบประเพณีไทยตามขนบนิยมมานำเสนอ แต่ศิลปินได้สร้างสรรค์ต่อยอดด้วยการผสมผสาน ‘รูปทรงตามจินตนาการสมัยใหม่’ ของศิลปิน เกิดเป็นศิลปะไทยรูปแบบเฉพาะตัวซึ่งส่งอิทธิพลอย่างสูงแก่ศิลปินไทยรุ่นหลังจวบจนถึงปัจจุบัน

ประเด็นเกี่ยวกับการเรียกร้องประชาธิปไตย การชุมนุมของนักศึกษา การใช้กำลังเข้าปราบปรามโดยภาครัฐ และความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประชาชนที่มีความคิดทางการเมืองแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2516-2519 ซึ่งนิทรรศการนี้จัดแสดงภาพจำลองป้ายคัทเอาท์ต่อต้านเผด็จการทหารที่เคยติดตั้งจัดแสดงอยู่ริมถนนราชดำเนินออกแบบและจัดทำโดยแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย สื่อความหมายถึงเหตุการณ์สำคัญซึ่งร่วมสมัยกับห้วงเวลาการก่อตั้งหอศิลป พีระศรี และเมื่อหอศิลป์เปิดดำเนินการแล้ว ศิลปินอีกหลายท่านได้ใช้พื้นที่หอศิลป พีระศรีเพื่อจัดแสดงผลงานศิลปะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์หนึ่งคือนิทรรศการ ‘ศิลปของประชาชน’ โดยศิลปินกลุ่มธรรม จัดแสดงในช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2519 ซึ่งเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ชุมนุมและการล้อมปราบนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิทรรศการดังกล่าวถูกปิด ผลงานบางส่วนถูกทำลาย แต่กระนั้นต่อมาภายหลัง ผลงานศิลปะกับประเด็นทางการเมืองยังคงปรากฏอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในรูปแบบศิลปะเชิงทดลอง ศิลปะแสดง ศิลปะจัดวาง เป็นต้น

การสนับสนุนและเปิดโอกาสให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงานในรูปแบบที่ท้าทาย ทั้งวิดีโอ ภาพถ่าย ผลงานจัดวาง ผลงานศิลปะแสดง performance art ฯลฯ เป็นอีกหนึ่งบทบาทสำคัญของหอศิลป พีระศรี ยกตัวอย่างเช่น เวทีสมั่ย ซึ่งผลักดันโดยจุมพล อภิสุข บุกเบิกในการเปิดพื้นที่เพื่อการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะแนวทดลอง โดยเฉพาะศิลปะสื่อแสดงสด การแสดงที่ผสมผสานสื่อหลายแขนง ละคร การอ่านบทกวี การเต้น และดนตรี จุดประกายให้เกิดผลงานจำนวนมากในลักษณะที่สร้างความแปลกใหม่ และมักมีทิศทางเพื่อผลักดันและรณรงค์เกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ในสังคม และได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของเวทีการแสดง Performance Art ของประเทศไทยทั้งระดับชาติและนานาชาติอีกมากมายในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ นิทรรศการนี้ยังได้จัดแสดงข้อมูลจดหมายเหตุของผลงานศิลปะแนวทดลองอีกหลายชิ้นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในวงการศิลปะร่วมสมัยของไทย เช่น ผลงาน ‘Song for the Dead Art Exhibition’ (พ.ศ. 2528) โดยกมล เผ่าสวัสดิ์ และผลงาน ‘สอนศิลป์ให้ไก่กรุง’ (พ.ศ.2528) โดยอภินันท์ โปษยานนท์ ทั้งสองชิ้นสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อวิพากษ์วิจารณ์แนวทางการสร้างสรรค์และการสอนศิลปะแบบ Modernism ซึ่งเป็นกระแสหลักของวงการศิลปะร่วมสมัยไทยในขณะนั้น

ART THAI TIME

นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ ได้พลิกฟื้นประวัติศาสตร์ของหอศิลป พีระศรี ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหลังจากปิดตัวไปมากกว่า 30 ปี โดยวิธีการนำเสนอผ่านข้อมูลจดหมายเหตุ การเรียบเรียง Timeline รูปภาพ เอกสารเก่า สูจิบัตร ทั้งหมดถูกรวบรวมและจัดแสดงไว้อย่างชัดเจนเป็นระบบระเบียบเพื่อการสืบค้นอย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนบทบาทของหอศิลป์ระดับประเทศที่เคยโลดแล่นและผลักดันให้วงการศิลปะของไทยขับเคลื่อนอย่างมีชีวิตชีวา ศิลปินไทยจำนวนมากที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติล้วนเคยมีส่วนร่วมกับหอศิลป พีระศรี มาแล้วทั้งสิ้น นิทรรศการ ‘ศิลปะ-ไทย-เวลา’ คือการถอดบทเรียนสำคัญจากประวัติศาสตร์การบริหารจัดการศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย เพื่อให้เราได้เรียนรู้และก้าวเดินต่อไปกับยุคปัจจุบัน

bacc.or.th

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *