NAKORNSANG STUDIO

โฮมสตูดิโอซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากบ้านธรรมดา สู่บ้านของ ‘ช่างไม้’ ที่มีความใส่ใจในพื้นที่ การใช้สอย และดีเทลของชิ้นงานไม้ตามฉบับ custom-made

TEXT & PHOTO COURTESY OF NAKORNSANG STUDIO

(For English, press here)

WHO
Nakornsang Studio โฮมสตูดิโอของ ‘ช่างไม้’ ชานนท์ นครสังข์

WHAT
เป็นสตูดิโอที่รับสร้างเครื่องเรือนไม้แบบ custom-made และเปิดถ่ายทอดความรู้เรื่อง Fine woodworking ผ่าน private workshop course

WHEN
เริ่มจากสร้างของชิ้นแรกเมื่อปี 2013 และติดใจในกระบวนการ รวมถึงผลลัพธ์ที่ได้ซึ่งต่างจากสิ่งที่เคยเห็นในท้องตลาด เลยตัดสินใจค่อยๆ เปลี่ยนบ้านเป็นสตูดิโอ เพื่อสะสมชั่วโมงการทำงานและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ผ่านการลงมือทำ พอผ่านไปซักระยะก็เริ่มมีคนติดต่อซื้องาน ในราคาและกรอบเวลาที่เราลงรายละเอียดกับงานได้เต็มที่ จึงวางแผนและออกมารันสตูดิโอเต็มตัวในปี 2020 และมีสอนเวิร์กช็อปให้คนได้สัมผัสงานไม้ในรูปแบบ fine woodworking และแบ่งปันช่วงเวลาของการได้สร้างสรรค์ชิ้นงานผ่านสองมือ

WHERE
หลักสี่ กรุงเทพฯ

WHY
ประเทศเรามีงานจากระบบอุตสาหกรรมเต็มไปหมดในท้องตลาด ไม่ใช่เรื่องของสวย/ไม่สวยนะ แต่ตอนเริ่มแต่งบ้านคือเรามองหาอะไรที่มันมีเอกลักษณ์มีขนาดที่เฉพาะเจาะจงกับพื้นที่ที่เรามี ซึ่งไม่ง่ายเลยที่จะหาของแบบที่ถูกใจเราทั้งหมด จะสั่งทำก็มีประสบการณ์กับช่างหลายสาขาตอนทำบ้าน ซึ่งเรามีคำถามเรื่องความเรียบร้อย ไม่เรียบร้อยอยู่ตลอด กับดีเทลเล็กๆ ที่เห็นแล้วเล่าถึงความใส่ใจ การเจอช่างในอุดมคติแบบนี้ไม่ต่างจากงมเข็มในมหาสมุทร ก็เลยตัดสินใจตอนนั้นว่าพื้นที่บ้านเราก็ไม่เยอะ ทำเครื่องเรือนของใช้เองทั้งหมดแล้วกัน แถมได้เก็บประสบการณ์จริงไปในตัวด้วย

ความสนุกอีกอย่างของการได้ทำงาน custom คือโจทย์ของเราไม่ใช่อะไรลอยๆ แต่เป็นข้อมูลของพื้นที่ตรงนั้น และรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้ใช้โดยตรง มาเป็นโครงของชิ้นงาน และนำรูปแบบ ทักษะ กับดีเทลงานไม้ของเราไปใส่ เกิดเป็นเรื่องใหม่และความตื่นเต้นอยากเห็นทุกครั้ง ทั้งคนสร้างและคนใช้งาน

เทคนิคงานไม้แบบไทย (Thai Woodcraft techniques) มีความพิเศษต่างจากเทคนิคงานไม้ทั่วไปยังไงสำหรับคุณ
การเข้าไม้เป็นภาษาค่อนข้างสากล ถ่ายทอดกันมาเป็นพันๆ ปีแล้ว เรื่องหลักการพื้นฐานดูจะคล้ายๆ กัน น่าจะเป็นรูปแบบที่หยิบนำมาใช้ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ภูมิประเทศนั้นๆ มากกว่า ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ในเรื่องเทคนิคการใช้

อะไรคือแรงบันดาลใจและหลักการในการทำงานแต่ละครั้งของคุณ
พยายามใช้เหตุผลเชิงโครงสร้าง สัดส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ มาเป็นดีเทลของชิ้นงาน จะเลี่ยงการใช้ฟอร์มสร้างสรรค์เพียงเพราะเห็นว่าสวยดี เพราะในงานไม้บรรจุความงามอยู่หลายภาษา อย่างความงามของตัวไม้ที่เลือก ภูมิปัญญาการเข้าไม้ ประโยชน์ใช้สอย ความสัมพันธ์กับพื้นที่ เหล่านี้จะแสดงให้เห็นชัดขึ้นเมื่อไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งดึงดูดอย่างจงใจมากเกินไป

โปรเจ็กต์ไหนที่คุณชอบมากที่สุด เพราะอะไร?
ชอบทุกโปรเจ็กต์ ชอบทำ ชอบเดินไปเดินมาในสตูฯเรียนรู้และได้เติบโตขึ้นผ่านทุกๆ โปรเจ็กต์ แต่ละชิ้นก็มีโมเม้นพิเศษต่างกัน

เนื้อไม้โทนสี / ผิวสัมผัสไหนที่คุณชอบที่สุด เพราะอะไร?
ชอบไม้เนื้อละเอียด เนื้อแข็งกลางที่ทำงานแฮนทูลด้วยสนุก ไม่แกร่งสะท้านมือ และน้ำหนักไม่มากเกินสำหรับใช้เป็นเครื่องเรือน ส่วนสีชอบโทนเข้มและโทนกลาง การหยิบใช้ขึ้นอยู่กับโทนโดยรวมของพื้นที่นั้นๆ

คุณชอบขั้นตอนไหนระหว่างสร้างชิ้นงานมากที่สุด?
น่าจะตอนลงน้ำมันที่ได้เห็นสีจริงของไม้ เห็นภาพเสร็จของทั้งชิ้นงาน เป็นขั้นตอนที่ได้หายเหนื่อยทุกครั้ง

ถ้าคุณสามารถเชิญ ‘ครีเอทีฟ’ สักคนไปดื่มกาแฟด้วยกันได้ คุณจะเลือกใครและทำไม
ชอบ creative director ชาวอิตาลีท่านหนึ่ง ชื่อคุณ Albano Daminato ชื่นชมในสายตาที่มองเห็นและถ่ายทอดความงามของวัสดุต่างๆ เป็นนักจัดวางพื้นที่ประเภทที่เราต้องใช้เวลาหยุดเพื่อดู เพื่อเรียนรู้กระบวนการคิด

facebook.com/nakornsangstudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *