AMY JAKUBOWSKI

Amy Jakubowski

art4d ชวน Amy Jakubowski มาสนทนาเกี่ยวกับอุตสาหกรรม hospitality ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF PIERRE-YVES ROCHON (PYR) EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ความเชี่ยวชาญของ Amy Jakubowski ในสายงานออกแบบโรงแรมนั้นเด็ดขาดแน่นอนในแบบที่ไม่มีใครต้องสงสัย ด้วยประสบการณ์กว่า 28 ปี เธอฝากผลงานครอบคลุมการสร้างและปรับปรุงแบรนด์โรงแรมหลายที่ และเคยผ่านโปรเจ็กต์อีกหลายรูปแบบทั้งโครงการ mixed-use ร้านค้าปลีก บ้านพักอาศัย ไปจนถึงโครงการในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและอาหาร โปรเจ็กต์ที่เธอทำกับแบรนด์มีชื่อเสียงกระจายตัวอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก  ซึ่งหลายโปรเจ็กต์ก็โด่งดังและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ นับตั้งแต่ The Waldorf Astoria ในนิวยอร์ค Local Hotel Porto Rotondo ในซาร์ดิเนีย อิตาลี The Peninsula Shanghai รวมไป ถึง The St. Regis Bangkok

ปัจจุบัน Amy ดำรงตำแหน่งหัวหน้าและกรรมการผู้จัดการของ Pierre-Yves Rochon (PYR) สตูดิโอออกแบบมือรางวัลที่เชี่ยวชาญงานออกแบบภายในมีระดับซึ่งมีออฟฟิศอยู่ในปารีสและชิคาโก้ และเป็นที่รู้จักกันดีกับผลงานออกแบบภายในโรงแรมและที่พักอาศัยระดับหรู ในการทำงาน หน้าที่ของ Amy ครอบคลุมตั้งแต่เริ่มต้นโครงการไปจนถึงการตรวจสอบการก่อสร้างขั้นสุดท้ายเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการสามารถสะท้อนจิตวิญญาณและอัตลักษณ์งานออกแบบของ PYR นั่นคือความสวยงามหรูหราที่เหนือกาลเวลา

ระหว่างช่วงเวลาสั้นๆ ที่เธอแวะเวียนมาที่กรุงเทพฯ art4d มีโอกาสได้พูดคุยกับ Amy เกี่ยวกับสตูดิโอ และมุมมองของเธอเกี่ยวกับสถานการณ์ต่างๆ ในอุตสาหกรรมโรงแรมระดับหรูในปัจจุบัน

Amy Jakubowski

Amy Jakubowski หัวหน้าและกรรมการผู้จัดการของ Pierre-Yves Rochon (PYR) | Photo: Don Amatayakul

art4d: สวัสดี Amy เราดีใจมากที่จะได้คุยกับคุณวันนี้ เรารู้ว่าคุณมีประสบการณ์หลายปีในการทำงานงานในอุตสาหกรรม hospitality และตอนนี้คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของ Pierre-Yves Rochon ที่เชี่ยวชาญในงานออกแบบแนว luxury เราเลยอยากจะถามคุณว่า อะไรคือคำนิยามความหรูหราของคุณ อะไรคือสิ่งที่ทำให้โปรเจ็กต์มีความหรูหราและมีระดับ

Amy Jakubowski: งานออกแบบ luxury นั้นมีอะไรมากมายกว่าเรื่องของสุนทรียภาพ มันเป็นการสร้างอารมณ์ความรู้สึก และการมัดรวมความสัมพันธ์อันไหลลื่นของภาพ เสียง กลิ่น และพื้นผิว เพื่อให้เกิดความรู้สึกสบายและเป็นมิตร เราร้อยเรียงเอาแก่นแท้ของพื้นที่หรือท้องถิ่นเข้ามาในงานออกแบบ สร้างงานที่เป็นของขวัญหรือการแสดงความเคารพแก่สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมที่รายล้อมตัวงาน

ลองนึกภาพงานอย่าง Four Seasons George V Paris ดูสิ มันไม่ได้เป็นแค่โรงแรม แต่เป็นตัวแทนของปารีส กลิ่นหอมของดอกกุหลาบ สัมผัสของกำมะหยี่หนานุ่ม บรรยากาศผ่อนคลายที่รังสรรค์ขึ้นผ่านการออกแบบแสงที่พิถีพิถัน สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่องค์ประกอบ แต่เป็นการร้อยเรียงประสบการณ์แห่งความหรูหรา

แต่คุณรู้อะไรไหม ความหรูหรามันไม่ได้จบที่ประสบการณ์ของผู้ใช้อย่างเดียว ส่วนหนึ่งของการออกแบบที่เราเห็นว่าสำคัญมาก และมักถูกมองว่ามีความสำคัญน้อยกว่าความเป็นจริง คือการสร้างพื้นที่ที่เอื้อให้พนักงานสามารถมอบการบริการได้อย่างไม่มีที่ติ ฉันเชื่อว่าพื้นที่สำหรับคนทำงาน ต้องไม่เพียงเหมาะสมกับการใช้งาน แต่ต้องมอบความสบาย สร้างแรงบันดาลใจ แม้กระทั่งให้ความเพลิดเพลินกับคนทำงานด้วย พลังงานบวกที่ส่งออกไปจากพื้นที่เหล่านี้สามารถส่งผ่านไปถึงคนทำงาน และพื้นที่เหล่านี้เป็นกระจกสะท้อนระดับการบริการลูกค้าของแต่ละโรงแรม

Four Seasons George V ParisFour Seasons George V ParisFour Seasons George V ParisFour Seasons George V Paris

งานออกแบบสไตล์ luxury สำหรับอุตสาหกรรมโรงแรมนั้นเป็นเรื่องของการสร้างความสอดคล้องหนึ่งเดียวระหว่างงานออกแบบ การบริการ และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ การรังสรรค์ความสบาย มีระดับ และหรูหรา มันครอบคลุมตั้งแต่คนทำงานไปจนถึงแขกผู้มาเยือน แนวทางที่ผ่านการคิดและบูรณาการมาอย่างดีอย่างนี้ สำหรับฉันแล้ว คือแก่นแท้ของการออกแบบแนว luxury design ในแง่มุมของสาขาวิชาของเรา

Four Seasons George V Paris

Four Seasons George V Paris

art4d: นั่นน่าสนใจมากเพราะส่วนใหญ่เวลาเราพูดถึงการสร้างความหรูหรา เรามักจะพูดถึงแง่มุมที่ว่าทุกอย่างจะออกมาหน้าตาอย่างไร แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของประสบการณ์และการออกแบบที่เอื้อให้เกิดการบริการที่ดีด้วย

AJ: ใช่ นั่นก็มาจากการออกแบบเหมือนกัน เพราะถ้าเราไม่ออกแบบพื้นที่ให้พนักงานทำงานได้ดี เหล่าพนักงานก็จะไม่สามารถให้บริการตามความคาดหวังของแขกระดับหรูได้

art4d: แล้วงานออกแบบจะอยู่เหนือกาลเวลาได้อย่างไร ยิ่งในตอนนี้ทุกอย่างดำเนินและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

AJ: ฉันคิดว่ากุญแจสำคัญต่อการสร้างงานออกแบบที่อยู่เหนือกาลเวลาอยู่ในเรื่องพื้นฐานทั้งนั้น เช่น กฎระเบียบการออกแบบแนวคลาสสิกเกี่ยวกับสัดส่วน ความสมดุล ความกลมกลืน และจังหวะ หลักเกณฑ์เหล่านี้คือเครื่องมือพื้นฐานในงานออกแบบที่ถูกใช้มายาวนาน แม้ว่าจะมีความเรียบง่าย แต่ก็มีอิทธิพลลึกซึ้ง และสามารถเชื่อมโยงผู้คนจากหลากหลายวัฒนธรรมและยุคสมัยเข้าด้วยกันได้ พื้นฐานเหล่านี้เป็นแก่นอันสง่างามที่ผู้คนสามารถนำเอาเทรนด์ หรือความเป็นตัวตนเข้าไปทับซ้อนเพิ่มภายหลังได้ ในขณะเดียวกันมันก็ช่วยให้องค์ประกอบสำคัญต่างๆ ยังคงอยู่อย่างมีความหมายและงดงาม แม้ว่าเทรนด์จะผ่านมาและผ่านไปอย่างไรก็ตาม

ในโลกของการออกแบบโครงการ hospitality ระดับหรูหรา นี่หมายความถึงการสร้างสมดุลระหว่างความยิ่งใหญ่และความมีระดับของอดีต และการใช้งานและสุนทรียะของปัจจุบัน มันคือการเคารพสถาปัตยกรรมเดิม พร้อมๆ กับการผนวกสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างพิถีพิถัน

งานออกแบบที่อยู่เหนือกาลเวลายังหมายความตีวงกว้างไปถึงวงจรชีวิตของวัสดุด้วย การเลือกใช้วัสดุที่ยิ่งเก่ายิ่งดูดีจะช่วยสร้างคาแร็กเตอร์ให้กับพื้นที่เมื่อเวลาผ่านไป วัสดุธรรมชาติเช่นหิน ไม้ และขนสัตว์ มีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และแข็งแรงคงทนในแบบที่วัสดุสังเคราะห์ไม่มี ร่องรอยของวัสดุเหล่านี้ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวช่วยเติมเต็มความลึกซึ้ง และสร้างเรื่องราวที่รุ่มรวยให้กับพื้นที่

Photo: Don Amatayakul

art4d: อุตสาหกรรม hospitality นั้นเป็นที่รู้กันว่ามีการแข่งขันที่สูงมาก เราได้เห็นโรงแรมบูทีคโฮเทล รวมไปถึงบริการอย่าง Airbnb เติบโตขึ้นอย่างมาในช่วงปีหลายที่ผ่านมา แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้โปรเจ็กต์หนึ่งประสบความสำเร็จได้ในอุตสาหกรรมนี้

AJ: เราเริ่มที่การทำความเข้าใจวิสัยทัศน์ กลุ่มผู้ใช้งาน ไปจนถึงประวัติศาสตร์ของแบรนด์และวัฒนธรรม เราผสานสิ่งเหล่านี้เข้ากับความต้องการของผู้ใช้งานเพื่อสร้างพื้นที่ที่โดนใจ ตอบโจทย์ผู้ใช้งานในระดับลึกซึ้งและเกี่ยวพันไปถึงอารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา

ถ้าคุณลองดูงานของเราอย่าง Jade Signature Condominiums แนวทางที่เราใช้พัฒนาโครงการนี้ประกอบไปด้วยหลายแง่มุมมาก เพื่อตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายในระดับหรู ที่มีความทันสมัย และไม่ได้นิยมความโฉ่งฉ่าง เรานำเอาปรัชญาการออกแบบที่สะท้อนความสงบของภูมิทัศน์ริมมหาสมุทรและความทันสมัยของเมือง สิ่งที่ฉันชอบมากที่สุดเกี่ยวกับโครงการนี้คือการที่แต่ละพื้นที่มีเรื่องเล่าของมันเอง เหมือนกับคลื่นแต่ละลูกที่ถูกสร้างขึ้นในมหาสมุทร แต่ในขณะเดียวกันมันก็ผสมผสานกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่สอดประสานเป็นหนึ่งเดียว

นั่นแตกต่างอย่างมากกับ The Dorchester ที่ลอนดอน​ โรงแรมประวัติศาสตร์นี้ต้องการแนวทางการออกแบบที่แตกต่างไปอย่างสิ้นเชิง จุดมุ่งหมายของเราคือการรักษาและขับเน้นตำนานของ The Dorchester โดยไม่เปลี่ยนโรงแรมให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ของโรงแรมออกมาเป็นเรื่องเล่าที่ดึงดูดกลุ่มผู้ใช้งานปัจจุบัน เราซ่อมแซมและอนุรักษ์องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ และนำเอาเฟอร์นิเจอร์ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากยุคสมัยก่อน ผสานกับงานศิลปะร่วมสมัย เพื่อเราสร้างแรงดึงดูดให้แขกกลับมาที่โรงแรมนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

The Dorchester

art4d: คุณทำอย่างไรให้งานออกแบบยังทันสมัย เป็นสิ่งที่คนตื่นเต้นและให้ความสนใจ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงเอาไว้ซึ่งแก่นและปรัชญาการออกแบบของตัวเองไว้อยู่

AJ: มันเป็นเรื่องสำคัญมากที่เราจะต้องพัฒนาตัวเองต่อไปเรื่อยๆ โดยคำนึงถึงความต้องการของเหล่านักเดินทาง ในตอนนี้ โลกให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสุขภาวะกันมาก แบรนด์ต่างๆ กำลังปรับแนวทางการทำงานที่มีความยั่งยืนในแง่มุมที่ครอบคลุมมากกว่าเดิม รวมไปถึงการลด carbon footprint ดังนั้นเวลาที่ฉันพูดถึงการตามเทรนด์ให้ทัน มันควรเป็นเทรนด์ที่คงอยู่ต่อไปในระยะยาวมากกว่าเทรนด์ที่ดูน่าตื่นเต้น แต่เข้ามาแป๊บเดียวแล้วจากไป

ความสัมพันธ์กับธรรมชาติเป็นอีกเรื่องที่ได้รับความสำคัญมาพักหนึ่งแล้ว และจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต ธรรมชาติสัมพันธ์ลึกซึ้งกับการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมทั้งร่างกาย จิตใจ และความยั่งยืน และสิ่งนี้จะยังคงวิวัฒนาการต่อไปอย่างต่อเนื่อง เรานำเทรนด์ที่มีความหมายมาปรับใช้กับงานออกแบบ ในขณะเดียวกันก็ปล่อยให้งานออกแบบนำทาง ไม่ปล่อยให้เทรนด์กลายเป็นจุดสนใจ แต่เป็นตัวสนับสนุนงานออกแบบมากกว่า

art4d: โรคระบาดที่เกิดขึ้นทั่วโลกอย่างที่เพิ่งผ่านมา มีผลกระทบกับอุตสาหกรรม hospitality อย่างไรบ้าง?

AJ: โรคระบาดได้เปิด segment ใหม่ให้กับอุตสาหกรรม hospitality เลยก็ว่าได้ ในอเมริกาเราเรียก segment นี้ว่า ‘Bleisure’ ที่เป็นการผสมกันระหว่างธุรกิจ (business) และการพักผ่อนหย่อนใจ (leisure) เราเห็นแนวโน้มที่ผู้คนจะเข้าพักในโรงแรมที่พวกเขาสามารถทำงานและพักผ่อนได้ในเวลาเดียวกัน วันหนึ่งคุณอาจจะประชุมในห้อง แล้วก็ออกมาทานอาหารกลางวันกับครอบครัว ก่อนจะกลับไปทำงานบนคอมพิวเตอร์โดยที่ตัวคุณนอนอยู่ข้างสระน้ำ และจบวันทำงานด้วยการว่ายน้ำเล่นในสระ เหมือนกับพวกเขาสามารถสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวและบรรยากาศรอบตัวได้ แม้ว่าพวกเขาจะทำงานอยู่ก็ตาม

คนรุ่นใหม่เขาอยากจะเดินทางไปเจอไปสัมผัสอะไรใหม่ๆ ถ้าหากว่าคุณมีความจำเป็นต้องเปิดคอมพิวเตอร์เพื่อทำงาน ทำไมไม่ไปนั่งทำริมสระแทนที่จะมานั่งอยู่ในออฟฟิศล่ะ เราทำงานจากที่ไหนก็ได้แล้วตอนนี้ มันเปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ มากมายเลยทีเดียว

art4d: อุตสาหกรรม hospitality ได้รับผลกระทบจากโรคระบาดเยอะมาก แต่ดูเหมือนว่าจะปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ใหม่ได้เร็วมากเหมือนกัน

AJ:  ใช่เลย แน่นอนว่าโรคระบาดได้สร้างความท้าทายใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรม hospitality แต่มันแสดงความสามารถในการฟื้นตัวและปรับตัวของภาคส่วนนี้ด้วย ในตอนแรก ผู้คนรีบร้อนปรับดีไซน์ให้มีการเว้นระยะห่างทางสังคม การปรับดีไซน์อาจจะช่วยเสริมสร้างสุขอนามัยได้จริง แต่ฉันเชื่อว่ามันไม่ใช่แนวทางที่จะเปลี่ยนวิธีที่เราออกแบบไปตลอดกาล

โดยสัญชาตญาณแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์สังคม เราล้วนต้องการความสัมพันธ์ ปฏิสัมพันธ์ และแบ่งปันประสบการณ์กับคนอื่น อุตสาหกรรม hospitality ถูกสร้างขึ้นบนสิ่งเหล่านี้เลยก็ว่าได้ มันเป็นสิ่งพื้นฐานที่จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์ชั่วคราวอะไรมากระทบก็ตาม แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่โควิดกำลังอยู่ในจุดวิกฤติสูงสุด สิ่งที่คนคิดถึงมากที่สุดไม่ใช่แค่การเดินทาง แต่เป็นความสัมพันธ์และประสบการณ์ที่เราจะสัมผัสได้ผ่านการเดินทาง บทสนทนาที่มีชีวิตชีวา ล็อบบี้โรงแรมที่คึกคัก ความรู้สึกเกรงขามที่ผู้คนมีร่วมกันเวลาพวกเขาไปยืนอยู่หน้าสิ่งก่อสร้างประวัติศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่สักชิ้น ความสุขง่ายๆ ของการได้ลองชิมอาหารในร้านที่ไม่เคยกิน ช่วงเวลาแห่งความสัมพันธ์พวกนี้คือประสบการณ์ที่มีความเป็นมนุษย์อย่างลึกซึ้ง

Amy Jakubowski

Photo: Don Amatayakul

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าโรคระบาดใหญ่ครั้งล่าสุดนี้ ทำให้คนหันมาใส่ใจในประเด็นเรื่องของสุขภาพ สุขภาวะ และความสะอาดเป็นอย่างมาก ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันมีผลต่อแนวทางการออกแบบโรงแรมในอนาคต เราเริ่มเห็นการให้ความสำคัญกับพื้นที่ภายนอกมากขึ้นเรื่อยๆ การออกแบบผังให้มีความยืดหยุ่นและตอบสนองความต้องการที่หลากหลายมากขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีไร้สัมผัสที่หยิบยื่นทั้งความสะดวกสบายและปลอดภัยให้ผู้ใช้ในคราวเดียวกัน

ถึงอย่างนั้น ภารกิจที่เป็นหัวใจของโรงแรมก็ยังคงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างพื้นที่สำหรับการพักผ่อน และการสร้างความสัมพันธ์ ล็อบบี้ยังคงเป็นศูนย์กลางของการพบปะ เช่นเดียวกับร้านอาหาร บาร์ พื้นที่ที่ทำให้แขกสนุกและได้พบเจอพูดคุยกัน อาจจะมีวิวัฒนาการบางอย่างเกิดขึ้นกับบางองค์ประกอบ เช่นผังพื้น เทคโนโลยี ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ซึ่งจะช่วยนำทางการออกแบบพื้นที่ที่ทั้งสวยงาม สะดวกสบาย ปรับตัวได้ และกลับคืนสู่สภาพเดิมได้ พร้อมสำหรับการรับมือสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

The Dorchester – Artist’s Bar

art4d: มาพูดถึง Pierre-Yves Rochon กันบ้าง คุณนิยามสตูดิโอ Pierre-Yves Rochonว่าอย่างไร?

AJ: ฉันทำงานออกแบบให้อุตสาหกรรม hospitality มา 30 ปีกว่า และฉันก็รู้จัก PYR มาได้เกือบ 20 ปีแล้ว มันเป็นช่วงที่ฉันเริ่มเปลี่ยนจุดสนใจจากการออกแบบพื้นที่ค้าปลีกระดับบนไปสู่โรงแรม PYR คือภาพแทนของความมีระดับเหนือกาลเวลา ความใส่ใจรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน และการค้นหาความหรูหราอันสมบูรณ์แบบอย่างแท้จริง เรามองงานออกแบบเป็นสิ่งที่มากกว่าการให้บริการ แต่เป็นงานศิลปะที่เฉลิมฉลองความสุขและประสบการณ์ของชีวิต

ที่ PYR เราเชื่อว่างานออกแบบมีพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง เรามุ่งมั่นสร้างพื้นที่ที่ไม่ได้เป็นแค่ที่นอน แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความรู้สึกสบายใจ และความสุข งานออกแบบของเราเป็นเหมือนการเฉลิมฉลองการมีชีวิตอยู่ เหมือนสำนวนฝรั่งเศส Joie de Vivre หรือความสุขของการมีชีวิตอยู่ ปรัชญานี้ฝังรากหยั่งลึกในผลงานของเรา และผลักดันให้เราสร้างสรรค์พื้นที่ที่ไม่เพียงแต่จะมีสุนทรียะเท่านั้น หากแต่ยังเติมเต็มทางอารมณ์ความรู้สึกด้วย

เรามองทุกโปรเจ็กต์ที่เราทำเป็นเหมือนโอกาสบอกเล่าเรื่องราวสักเรื่องที่จะสร้างประสบการณ์แบบไม่เหมือนใครและเป็นที่จดจำ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมในปารีส หรือบูทีคโฮเทลใจกลางเมืองโตเกียว หรือโรงแรมแบบรีทรีท (retreat) หน้าตาโมเดิร์นในนิวยอร์ค งานออกแบบของเราจะจับเอาแก่นของพื้นที่ที่มันตั้งอยู่ ของแบรนด์ และของกลุ่มลูกค้าที่โรงแรมนั้นให้บริการ แต่ละงานของเรามีความโดดเด่นแต่ก็ผสมกลมกลืน หรูหราแต่ก็เป็นมิตร ทันสมัยแต่ก็เหนือกาลเวลา

แต่ยิ่งไปกว่าอะไร เราคือทีมที่เต็มไปด้วยนักออกแบบที่เต็มไปด้วยพลัง เรารักในสิ่งที่เราทำและเราก็ทุ่มเทกายใจของเราให้กับงานทุกโปรเจ็กต์ที่เราทำ นับตั้งแต่การพัฒนาคอนเซ็ปต์ ไปจนถึงรายละเอียดจบงานยิบย่อย แรงขับและแรงบันดาลใจที่เรามีต่องานออกแบบและการสร้างความหรูหราเหนือระดับนั้นปรากฏให้เห็นในทุกแง่มุมของผลงานแต่ละชิ้นของเรา

เพราะฉะนั้น โดยแก่นแล้ว PYR เป็นสตูดิโอที่ผสมผสานสุนทรียภาพเชิงศิลป์เข้ากับความแม่นยำในรายละเอียด ความหรูหรา ความสะดวกสบาย ประวัติศาสตร์ และความเป็นสมัยใหม่ เราเป็นผู้สร้างงานออกแบบที่อยู่เหนือกาลเวลา ที่เฉลิมฉลองการมีอยู่ของชีวิต และโอบอุ้มความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ทำให้ทุกช่วงเวลาที่ผู้คนใช้ในพื้นที่ที่เราสร้างขึ้นเป็นช่วงเวลาแห่งความหรูหราเหนือระดับอย่างแท้จริง

art4d: หลังจากที่ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสตูดิโอ คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้ PYR ต่างจากที่อื่น

AJ: แง่มุมที่ทำให้ PYR ไม่เหมือนใคร คือแนวทางการทำงานที่หยั่งรากลึกในความเข้าใจและความชื่นชอบในสุนทรียภาพแบบสมัยใหม่และคลาสสิก ความเชี่ยวชาญของเราในทั้งสองขั้ว ช่วยให้เราผสานร้อยเรียงองค์ประกอบต่างๆ จากทั้งสองสไตล์และยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน และสร้างงานออกแบบที่ทั้งรุ่มรวย มีหลายมิติ และอยู่เหนือกาลเวลา

ความเข้าใจพื้นฐานที่มีต่อหลักการออกแบบแนวคลาสสิก ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง สัดส่วน รายละเอียด ทำหน้าที่เป็นเหมือนเข็มทิศให้เรา มันช่วยนำทางการตัดสินใจต่างๆ ของเราเกี่ยวกับงานที่เราออกแบบ ไม่ว่างานที่เราทำจะเป็นงานสไตล์ไหนก็ตามแต่ ไม่ว่าเราจะออกแบบโรงแรมหรูหราที่ยิ่งใหญ่ราวกับพระราชวัง หรือบูทีคโฮเทลเรียบเท่แบบมินิมอล เราจะยึดโยงอยู่กับหลักการเหล่านี้เสมอ เพื่อให้แน่ใจว่างานออกแบบของเรามีความสมดุล สอดประสาน และมีรายละเอียดที่ผ่านการคิดมาอย่างดี

เรามีความหลงใหลและสนใจในงานออกแบบตกแต่ง และคำนึงถึงมันในฐานะของส่วนหนึ่งของการร้อยเรียงงานออกแบบ ความหลงใหลนี้แสดงให้เห็นไม่เพียงแต่ในเฟอร์นิเจอร์หรือวัตถุตกแต่งต่างๆ ที่เราเลือกใช้ หากแต่ยังอยู่ในชิ้นงานที่เราออกแบบและทำขึ้นเป็นพิเศษในแต่ละโปรเจ็กต์ ความสามารถของเราในการออกแบบและรังสรรค์เครื่องเรือนพิเศษสำหรับแต่ละโปรเจ็กต์คือสิ่งที่ทำให้เราโดดเด่น เพราะมันช่วยให้เราใส่ความรู้สึกและสัมผัสที่เป็นเอกลักษณ์ และได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเข้ากับพื้นที่แต่ละพื้นที่ นับตั้งแต่แชนเดอเลียร์รูปทรงเหมือนงานประติมากรรมที่กลายมาเป็นจุดเด่นของล็อบบี้ ไปจนถึงโคมไฟข้างเตียงที่หน้าตาไม่เหมือนใคร ที่ขับเน้นประสบการณ์การใช้งานพื้นที่ของลูกค้า งานที่เราสร้างขึ้นเป็นพิเศษแต่ละชิ้นแสดงถึงความมุ่งมั่นที่เรามีต่อคุณภาพ ชั้นเชิงงานช่าง และความเป็นเอกลักษณ์

ยิ่งไปกว่านั้น เรายังเชื่อในพลังของศิลปะที่จะยกระดับและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับพื้นที่ เราเลือกงานศิลปะที่จะใช้ในแต่ละโปรเจ็กต์อย่างตั้งใจ โดยเลือกงานที่ส่งเสริมงานออกแบบและสะท้อนตัวตนของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นภาพวาดร่วมสมัยสำหรับโรงแรมดีไซน์โมเดิร์น หรือประติมากรรมคลาสสิกในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน งานศิลปะที่เราเลือกนั้นจะเพิ่มมิติของความล้ำลึกให้กับงานออกแบบของเราเสมอ

art4d: การที่ Pierre-Yves Rochon เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริษัทออกแบบที่มีชื่อเสียงอย่าง Perkins&Will มีข้อดีอย่างไร?

AJ: Perkins&Will เป็นทั้งบริษัทสถาปนิกที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับมายาวนาน พวกเขาให้ความสำคัญกับ PYR เป็นอย่างมาก Perkins&Will มีออฟฟิศอยู่ทั่วโลก และเราก็เป็นแบรนด์ระดับโลกด้วยเช่นกัน เราเลยสามารถแบ่งปันทรัพยากรกันได้ และนั่นช่วยให้เราบริการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เราทำงานเป็นเหมือนบูทีคหนึ่งภายใต้บริษัทที่ใหญ่กว่าอีกที ลูกค้าของเราเลยได้รับประสบการณ์ที่มีความบูทีคในแบบของ PYR ในขณะเดียวกันก็ได้ประโยชน์จากการเข้าถึงทรัพยากรในระดับของบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก

art4d: มีโปรเจ็กต์อะไรที่คุณและสตูดิโออยากทำเป็นพิเศษไหม?

AJ: เราเป็นนักออกแบบ เราก็ออกแบบได้หมดไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ร้านอาหาร บ้าน หรือเฟอร์นิเจอร์ที่มีเอกลักษณ์พิเศษไม่เหมือนใคร สำหรับฉันแล้ว ฉันชอบรีสอร์ทเป็นพิเศษ แล้วก็เรื่องของความยั่งยืน และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ฉันมองเห็นที่ทางในตลาดและปัจจัยต่างๆ ที่อาจจะเปิดทางให้เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรม ฉันก็ยังอยากจะทำในสิ่งที่ทำให้เราเป็นที่รู้จักต่อไป แต่ในขณะเดียวกันก็อยากจะขยับขยายขอบเขตของเราให้ไกลออกไปและได้ทำงานในแบบที่เราไม่เคยทำมาก่อน อาจจะเป็นโรงแรมบนดวงจันทร์หรืออะไรแบบนั้นก็ได้นะ!

Photo: Don Amatayakul

art4d: คุณเห็นโอกาสอะไรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือในประเทศไทยบ้างไหม?

AJ: แน่นอน ดูรอบๆตัวเราสิ มันมีอะไรถูกพัฒนาอยู่เต็มไปหมดเลยนะ ทั้งกรุงเทพฯและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีโอกาสมหาศาลรออยู่ ฉันชอบการทำงานในกรุงเทพฯนะ มันมีมุมมอง ความสนใจ และทัศนคติต่องานออกแบบที่ดีมากๆ และก็มีความปรารถนาทิศทางงานออกแบบที่ตรงกับปรัชญาการทำงานของเรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดที่มีความเข้มแข็งและศักยภาพต่อการเติบโต และนั่นก็น่าตื่นเต้นมากๆ

pyr-design.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *