สัมผัสความเงียบสงบของ Glass Pavilion สถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยจาก M Space ที่สร้างพื้นที่แห่งความสงบในเมืองที่วุ่นวาย
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
มีเพียงเสียงเครื่องปรับอากาศหึ่งเบาๆ แสงอาทิตย์อันอ่อนโยน และความนิ่งงันเท่านั้นที่แวดล้อม ห่างไปร้อยกว่าเมตรคือถนนสุขุมวิทที่เบียดเสียดด้วยรถยนต์ซึ่งผลัดเปลี่ยนเปล่งเสียงคำรามไม่หยุดหย่อน แต่ในอาคาร ‘Glass Pavilion’ บรรยากาศกลับเงียบงัน จังหวะของโลกกลับคืบช้า ไม่ใช่โลกรอบตัวอีกต่อไปที่ใจอยากจะจดจ่อ แต่เป็นโลกภายในที่ใจอยากกลับไปพักพิง
‘Glass Pavilion’ เป็นส่วนหนึ่งอันเล็กจ้อยของ True Digital Park โครงการ mixed-use ขนาดใหญ่ประจำย่านปุณณวิถี ด้วยพื้นที่กว่าสองแสนตารางเมตร โครงการประกอบด้วยอาคารขนาดใหญ่สองฝั่ง East กับ West และคลาคล่ำด้วยร้านอาหาร สำนักงาน พื้นที่ออกกำลังกาย และกิจกรรมพร้อมสรรพที่คอยขับชีพจรให้ไม่หยุดนิ่ง แม้จะเปี่ยมด้วยพื้นที่ให้ชีวิตโลดแล่น แต่ชีวิตคนไม่ได้มีแค่การวิ่งไปข้างหน้า โครงการมองว่าการสร้างพื้นที่ให้ผู้ใช้งานผ่อนคลาย ปลดเปลื้องความเครียด และหยุดนิ่งเสียบ้างก็เป็นเรื่องสำคัญ บนสวนภายนอกชั้น 4 ของอาคาร True Digital Park West จึงเกิดอาคาร ‘Glass Pavilion’ ขึ้น เพื่อถอนคันเร่งไลฟ์สไตล์คนสมัยใหม่ให้ช้าลง มีสติ มีสมาธิ เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ
แม้จะสร้างมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่แปลกใจที่ ‘Glass Pavilion’ จะพึ่งถูกพูดถึงเป็นวงกว้างในโลกอินเทอร์เน็ต เพราะอาคารไม่ได้เรียกร้องความสนใจ จนใครๆ อาจลืมไปก็ได้ว่ามีอาคารนี้อยู่ เมื่อมองจากระยะไกล ‘Glass Pavilion’ ปรากฏตัวเป็นแค่แนวกรอบกระจกสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่กลืนหายไปกับอาคารอันใหญ่โตเบื้องหลัง ต้องค่อยๆ เข้าไปใกล้ๆ ถึงเริ่มเห็นว่าอาคารที่ดูแบนราบนั้น แท้จริงเป็นกล่องกระจกหลายใบที่วางซ้อนชั้นกัน และลดระยะเข้าไปด้านในเรื่อยๆ ที่ส่วนยอด เมื่อเดินเลียบสระน้ำตื้นที่รายล้อมไปยังทางเข้าด้านหน้า เมื่อนั้นจะได้เห็นโฉมหน้าที่แท้จริงของอาคาร
ด้านหน้าอาคารเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมที่มีแผ่นบางซ้อนเว้นระยะเป็นชั้นๆ มีซุ้มประตูทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ยอดค่อยๆ เอียงโน้มมาบรรจบกันตรงกลาง ใบหน้าผ่องใสมองทะลุเห็นกรอบสเปซภายในที่ซ้อนกันและมีรูปทรงคล้ายกลีบดอกบัว แม้จะเป็นภาษาร่วมสมัย แต่ก็ได้กลิ่นอายบางอย่างที่บ่งบอกถึงความไทยเดิม ภากร มหพันธ์ สถาปนิกจากสตูดิโอ M Space ผู้ออกแบบอาคารเล่าว่า รูปทรงและองค์ประกอบต่างๆ ของอาคารอ้างอิงมาจากมรดกสถาปัตยกรรมไทยและได้แรงบันดาลใจจากอาคารทางศาสนาหลายแห่งในประเทศไทย เพื่อสอดแทรกเอกลักษณ์ไทยภายใต้โฉมหน้าอันร่วมสมัยและสากลที่มีความเป็นกลางและเรียบง่าย
ทรงหลังคาสามเหลี่ยมได้จากสัดส่วนหน้าจั่วของวัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ส่วนซุ้มประตูถอดหน้าตามาจากซุ้มทางเข้าหน้าวัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย สร้างความรู้สึกบีบรัดตอนเดินเข้า ก่อนจะพบกับความโอ่โถงของพื้นที่ด้านใน อาคารที่ดูเป็นกล่องกระจกซ้อนชั้น คลับคล้ายกับเจดีย์ทรงเหลี่ยม วัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ที่มีการซ่อนชั้นและร่นระยะเข้าสู่ศูนย์กลางบริเวณยอด สถาปนิกยังสอดแทรกสัญลักษณ์ ‘ดอกบัว’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความบริสุทธิ์ในสถาปัตยกรรมไทย ด้วยการทำให้อาคารส่วนฐานสอบเข้า เพื่อให้อาคารดูมีรูปทรงคล้ายดอกบัวตูม
น่าสงสัยว่าเปลือกอาคารที่บางเบายึดโยงอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ภากรเฉลยว่าโครงสร้างอาคารเป็นโครงรูปบันไดที่ช่วยยึดกระจกและครีบบางเข้าด้วยกัน โดยโครงสร้างถูกซ่อนไว้ในแผ่นไม้ขั้นบันได เปลือกอาคารหน้าตาโดดเด่นไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงสัญลักษณ์ของการหลอมรวมความเป็นไทยและความสากลเข้าด้วยกัน เพราะยังช่วยสร้างสภาวะที่เหมาะสมกับการทำสมาธิในพื้นที่ภายใน แผ่นกระจกด้านทิศใต้เป็นกระจก reflective ติดฟิล์มกันความร้อนที่ช่วยสะท้อนแสงอาทิตย์ออกไป กระจกใสเปิดมุมมองออกไปยังพื้นที่สีเขียวที่อยู่ด้านนอก สร้างความปลอดโปร่งให้พื้นที่ภายใน ในวันที่อากาศภายนอกเย็นสบาย บานหน้าต่างกระทุ้งที่ติดโดยรอบสามารถเปิดออกได้ เพื่อรับลมให้พัดพาเข้ามา
แนวครีบแผ่นเหล็กบางที่แทรกกระจกแต่ละชั้นยื่นยาวต่อจากโครงสร้างบันไดเข้ามาสู่ด้านใน เกิดเป็นลักษณะเหมือนชั้นวางของ แผ่นเหล่านี้ทำหน้าที่สะท้อนแสงที่ส่องจากด้านนอกให้กระเจิงเข้าภายในอย่างทั่วถึง เมื่อแสงไม่ได้ส่องเข้าภายในอย่างโดยตรง แต่ตกกระทบชั้นรับแสงก่อน แสงธรรมชาติด้านในจึงนุ่มนวล สีขาวกึ่งเงาที่ฉาบทาอยู่บนแผ่นเหล็กยังช่วยให้แสงสะท้อนได้ดียิ่งขึ้น ไม้ที่ห่อหุ้มพื้นที่ภายในทั้งพื้นและโครงสร้างเปลือกอาคารเป็นไม้สักสีเหลืองนวล นอกจากจะแต่งเติมบรรยากาศอันเป็นมิตรแล้ว ยังช่วยให้แสงธรรมชาติดูอบอุ่นขึ้นมาเช่นกัน
อาคารที่หุ้มกระจกมักมีปัญหาเสียงก้องกังวานตามมา แต่แผ่นเหล็กบางยื่นยาวและช่องกรอบกระจกก็ช่วยทำหน้าที่สะท้อนเสียง และลดความก้องของเสียงด้านในอาคาร เนื่องจากพื้นที่ภายในไม่ได้ตั้งใจออกแบบเป็นเพียงที่นั่งเงียบๆ อย่างเดียว แต่เป็นพื้นที่อเนกประสงค์ที่ใช้จัดกิจกรรมอื่นๆ เช่นการบรรยายด้านการปฏิบัติธรรม นอกจากนั้นแล้ว สถาปนิกยังออกแบบม้านั่งไม้สักมาเพื่อรองรับการใช้งานในกิจกรรมต่างๆ โดยม้านั่งนี้มีความกว้างพอให้นั่งขัดสมาธิด้านบนได้ และความสูงของม้านั่ง เอื้อให้เวลานั่งแล้วระดับสายตาตรงกับช่องหน้าต่าง ทำให้ผู้นั่งไม่รู้สึกอยู่ด้านในโดยอึดอัดคุดคู้
ทั้งภายนอกที่กลืนหายและภายในที่ตระการตา ทั้งความร่วมสมัยและการคงไว้ซึ่งสัญลักษณ์ไทย นอกจากรูปโฉมทางสถาปัตยกรรม พื้นที่ภายในยังผ่านการคิดมาอย่างหลักแหลมเพื่อให้จังหวะชีวิตที่รวดเร็วได้เชื่องช้าลง และเมื่อไหร่ที่หัวใจกลัดกลุ้ม เมื่อนั้นก็ลองเข้าไปใน ‘Glass Pavilion’ เผื่อจะได้ปล่อยใจให้สงบเงียบ