นิทรรศการโดย SingaporeDesign Council (Dsg) ที่พาชมผลงานของ 6 ทีมนักออกแบบชาวสิงคโปร์ที่ผนวกนวัตกรรมตอบโจทย์ความยั่งยืน และความสุนทรีย์เข้าด้วยกัน
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
สิงคโปร์คือประเทศที่เลื่องชื่อจากการเป็นศูนย์กลางด้านการเงินอันดับต้นๆ ของโลก เป็นที่รวมตัวของบริษัทเทคโนโลยีล้ำหน้า แถมยังมีความระเบียบเรียบร้อยจนหลายๆ ประเทศอิจฉา แต่ดินแดนเกาะปลายคาบสมุทรมลายูไม่ได้มีดีเพียงแค่นี้ เพราะที่นี่ยังเป็นแหล่งรวมนักออกแบบที่เปี่ยมด้วยฝีมือและความคิดสร้างสรรค์อีกด้วย
Future Impact คือนิทรรศการที่ DesignSingapore Council (Dsg) หรือสภาการออกแบบสิงคโปร์ จัดขึ้นมาเพื่อเผยความสามารถและไอเดียอันสดใหม่ของนักออกแบบสิงคโปร์ให้ชาวโลกได้ชื่นชม นิทรรศการเชื้อเชิญ 6 ทีมนักออกแบบมากความสามารถ ได้แก่ Gabriel Tan, Nathan Yong, Studio Juju, Tiffany Loy, Viewport Studio และ Forest & Whale มาสร้างผลงานใหม่ ภายใต้ธีม Future Impact ที่เสาะหาส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความสุนทรีย์ และการผนวกนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน หลังจากนิทรรศการเคยนำผลงานไปอวดโฉมให้ชาวโลกได้ดูในงาน Milan Design Week ในเดือนเมษายน 2023 ที่ผ่านมา คราวนี้ก็ถึงเวลานำผลงานกลับบ้านเกิดให้คนสิงคโปร์และคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ยล ในโอกาสเทศกาล Singapore Design Week 2023 ที่จัดขึ้นพอดี
หนึ่งในหัวหอกคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังงานนี้คือ Tony Chambers คิวเรเตอร์ประจำนิทรรศการที่ผ่านประสบการณ์มาแล้วโชกโชน ทั้งการเป็นบรรณาธิการให้กับนิตยสาร Wallpeper, เป็น art director ให้กับ British GQ และการออกมาตั้ง creative agency ของตัวเองในชื่อ TC & Friends
“นิทรรศการนี้เป็นแนวคิดริเริ่มจาก DesignSingapore Council ที่อยากสื่อสารความสามารถของนักออกแบบสิงคโปร์ให้คนได้รับรู้” Tony บอกเล่าแนวคิดและเบื้องหลังการทำนิทรรศการ “ผมและ Maria Cristina Didero คิวเรเตอร์ร่วมอีกท่านเลือกธีม Future Impact เพราะการมองไปยังเทคโนโลยีและอนาคตข้างหน้า และการตระหนักถึงผลกระทบที่เรามีต่อโลก คือสองสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกับเป้าหมายและวิสัยทัศน์ของสิงคโปร์ ผมยังคิดว่ามันเป็นสองสิ่งที่ทุกคนกำลังพูดถึงในตอนนี้ โดยเฉพาะดีไซเนอร์ เรากำลังตั้งคำถามกันว่าจะรับมือกับเทคโนโลยีอย่างไร และจะใช้เทคโนโลยีอย่างไรให้มีประโยชน์กับสังคมมากที่สุด”
ชมภาพผลงานและไอเดียของดีไซเนอร์แต่ละคนเรียกน้ำย่อยสักหน่อย ก่อนที่จะไปชมนิทรรศการจริง
Gabriel Tan – Aiming for Peace: The Carnation Lamp
Flower Power คือชื่อเรียกขบวนการเคลื่อนไหวช่วงทศวรรศ 1960s ถึง 70s ที่ผู้คนออกมาเรียกร้องถึงสันติภาพโดยใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์ของความสงบสุข Gabriel Tan นำแรงบันดาลใจจากการเคลื่อนไหวนี้ มาออกแบบดวงโคมตั้งพื้นหน้าตาคล้ายดอกไม้ที่ทอแสงแห่งความหวัง ผลงานตอกย้ำความเป็นมิตรสิ่งแวดล้อมด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ ขาตั้งโคมไฟทำจากไม้แอชเศษเหลือจากการผลิตเฟอร์นิเจอร์ ท่อตั้งโคมเป็นเหล็กรีไซเคิล ส่วนโป๊ะโคมไฟคือพลาสติกรีไซเคิลที่ขึ้นรูปด้วยเทคโนโลยี 3D Print
Nathan Yong – Bent Onyx
Onyx หรือหินนิลดำ เป็นหินที่อ่อนแอและเปราะบางมากเมื่อเทียบกับหินหลายชนิด Nathan Yong นำหินชนิดนี้มาผ่านกระบวนการฝานแร่หินเป็นแผ่น จากนั้นก็นำมาประกอบติดกันเป็นประติมากรรมรูปทรงดึงดูดตา เทคโนโลยีการผลิตพิเศษที่ Yong ใช้ยังช่วยลดเศษขยะที่ระหว่างการสร้างผลงาน เป็นแนวทางใหม่ที่ช่วยรักษาทรัพยากรหินในการผลิต
Studio Juju – OO Collection
ผลงานประติมากรรมกลม 5 ชิ้นใน OO Collection ไม่ได้บ่งบอกเฉพาะเจาะจงว่าเอาไว้ใช้งานอะไร เพราะ Studio Juju ตั้งใจให้ผู้ชมนึกวิธีการใช้งานกันเอาเอง ประติมากรรมงามตาเจาะรูกลมเหล่านี้ทำจากแผ่นหินที่ผ่านนวัตกรรมการผลิตที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน
Tiffany Loy – Building Futures Line by Line
งานออกแบบสิ่งทออยู่คู่กับมนุษย์มาช้านาน แล้วในอนาคต งานออกแบบสิ่งทอจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรกัน Tiffany Loy นักออกแบบสิ่งทอร่วมมือกับหน่วยวิจัย DManD (Digital Manufacturing and Design Center) ของ Singapore University of Technology and Design พัฒนาเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการสร้างผลงานถักทอแบบสามมิติ ที่สามารถใช้วัสดุหลายอย่างและยังคงคุณสมบัติดั้งเดิมของวัสดุไว้ได้ อุดรูรั่วเทคโนโลยี 3D Print ที่มีข้อจำกัดเรื่องวัสดุขึ้นแบบ
Viewport Studio – Rinnovare
เทคโนโลยี AI ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วจนมีความสามารถเก่งกาจ ทำเอาดีไซเนอร์หลายคนอดใจไม่ได้ที่จะกระโจนลงไปทดลองกับมัน Viewport Studio ก็หนึ่งในนั้นเหมือนกัน สตูดิโอหยิบเอาโลหะเศษเหลือมาออกแบบเป็นแผงกั้นห้อง ความสนุกก็คือ Viewport Studio ออกแบบลวดลายแผงหนึ่งผ่านการพูดคุยกับผู้ผลิตวัสดุโลหะ แต่อีกแผงหนึ่งผ่านการแชทกับ ChatGPT คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ชมแล้วว่าจะชอบผลงานแบบไหน จากการคุยกับคน หรือจากการคุยกับ AI เป็นการเปิดประเด็นน่าสนใจว่า AI จะส่งผลกับมนุษย์อย่างไรบ้างในอนาคต
Forest & Whale – Wallflower
จากความสนใจเรื่องการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน สตูดิโอ Forest & Whale จึงออกแบบโปสเตอร์ติดผนังที่ประกอบขึ้นจากแผ่นสี่เหลี่ยมเล็กๆ แผ่นเหล่านี้มีเมล็ดพืชฝังอยู่ข้างใน เมื่อแกะแผ่นกระดาษออกมา ก็สามารถนำกระดาษไปปลูกเป็นพืชได้ ถือเป็นการปลูกฝังแนวคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าในตัว พืชพันธุ์ที่งอกงามเป็นสวน ก็ช่วยยึดโยงเราเข้ากับธรรมชาติอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนั้นแล้ว สตูดิโอยังร่วมมือกับ Fab.Pub ออกแบบแจกันที่ใช้ดินมาขึ้นรูปด้วยวิธี 3D Print รูปร่างของแจกันที่นูนต่ำดั่งเกลียวคลื่น ดึงดูดให้คนหันมาเพาะปลูกพืชพันธุ์ได้เป็นอย่างดี
“สิงคโปร์เป็นประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่ เมื่อก่อนประเทศไม่ได้โฟกัสกับความคิดสร้างสรรค์ แต่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาในภาคปฏิบัติ ตอนนี้พวกเขาเริ่มสนใจความสุนทรีย์ ความเป็นกวี และความคิดสร้างสรรค์” Tony ตอบ คำถามที่ว่านักออกแบบสิงคโปร์มีความโดดเด่นแตกต่างอย่างไร “นักออกแบบรุ่นใหม่เติบโตในสภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์กว่าเมื่อก่อน แต่ถึงอย่างนั้นการให้ความสำคัญเรื่องความมีประสิทธิภาพและการคิดเป็นกลยุทธ์ยังฝังแน่นในระบบการศึกษาและการเลี้ยงดูผู้คนในสิงคโปร์ นักออกแบบสิงคโปร์เลยมีส่วนผสมที่ทรงพลังระหว่างการคิดแบบมีตรรกะ มียุทธศาสตร์ และความคิดสร้างสรรค์ สิ่งนี้ทำให้พวกเขามีรสชาติที่แตกต่างออกไป”
นิทรรศการ Future Impact เปิดให้เข้าชมฟรีที่ National Design Centre ประเทศสิงคโปร์ นิทรรศการจัดถึงวันที่ 31 ตุลาคมนี้ อย่าลืมไปชื่นชมฝีไม้ลายมือนักออกแบบชาวสิงคโปร์ และไปดูกันว่าพวกเขาวาดภาพโลกอนาคตเอาไว้อย่างไรกันบ้าง