คุยกับ Lyndon Neri จาก Neri&Hu Design and Research Office ถึงแง่มุมทางสถาปัตยกรรมที่เขาเชื่อมั่น เมื่ออาคารที่เวิร์ก อาจไม่ใช่อาคารที่ใช้งานได้สะดวกสบายที่สุดเสมอไป
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ในจำกัดความของใครหลายคน การทำงานสถาปัตยกรรมคือการมองไปยังอนาคต เพื่อสร้างอาคารหน้าตาสุดล้ำ กระแทกใจ มอบวิถีชีวิตสมบูรณ์แบบอันสะดวกสบาย และสร้างผลกำไรสูงสุดให้นักลงทุน ถึงจะเป็นแนวคิดที่ฟังดูดี แต่นี่ไม่ใช่นิยามการทำงานออกแบบของ Lyndon Neri
Lyndon Neri เป็นสถาปนิกผู้ก่อตั้งออฟฟิศ Neri&Hu Design and Research Office ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ร่วมกับคู่ชีวิต Rossana Hu ใบ CV ของเขาที่ยาวเหยียดเป็นสิบหน้า (แม้จะจั่วหัวว่าเป็นเวอร์ชั่นย่อ) ยืนยันความช่ำชองในการทำงานด้วยรางวัลสั่งสมมากมาย อย่างเช่น Dezeen Awards Architecture Studio of the Year 2021, Lifetime Achievement Awards จาก Frame ในปี 2021 หรือ Design for Asia Grand Award จาก Hong Kong Design Center ปี 2020 และบ่งบอกถึงความสนใจในการทำงานออกแบบที่หลากหลายตั้งแต่สถาปัตยกรรม product design และการทำงานศิลปะ
จุดร่วมที่มีอยู่ในผลงานของ Neri&Hu Design and Research Office คือการย้อนกลับไปหาภูมิปัญญาที่สั่งสมจากอดีต การย้อนกลับที่ว่า ไม่ใช่การลอกหน้าตาตึกเก่ามาสร้างใหม่ดื้อๆ แต่คือการดำดิ่งไปในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความทรงจำของพื้นที่อย่างลึกซึ้ง แล้วถอดรหัสมันออกมา ที่น่าสนใจคือเมื่อองค์ความรู้จากอดีตถูก Neri&Hu Design and Research Office นำมาใช้ใหม่ ผลงานที่ได้กลับท้าทายแนวคิดการออกแบบในปัจจุบัน อย่างเช่นขอบเขตความ public private ที่พร่ามัว และการให้ความสำคัญกับมิติสุนทรียะ ไม่ใช่แค่การตอบโจทย์เรื่องเงิน และการใช้งาน
อะไรคือความคิดที่อยู่เบื้องหลัง Lyndon Neri ในโอกาสที่เขาบินลัดฟ้ามากรุงเทพฯ เพื่อบรรยายในงาน Creativities Unfold 2023 เราเลยชวนเขาย้อนกลับไปหาต้นตอความคิด และย้อนภาพชีวิตการเป็นสถาปนิก หวังว่ามันจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นวัตถุดิบในการสร้างสรรค์ให้ใครอีกหลายคน
art4d: คุณเริ่มสนใจสถาปัตยกรรมตั้งแต่เมื่อไหร่?
Lyndon Neri: คือผมเป็นคนชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก เป็นเด็กที่ชอบคิดฝันจินตนาการอะไรไปเรื่อย ผมอยากเป็นศิลปินมาตลอด แต่การเติบโตมาในครอบครัวคนจีน ความฝันแบบนั้นมันก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ผมมองว่าเป็นเรื่องดีอะไร ผมก็เลยต้องค่อนข้างดิ้นรนของผมมาเรื่อย ตอนที่ผมไปเรียนต่อที่ UC Berkeley ผมเรียนจิตรกรรมเป็นวิชาเอกอยู่ปีครึ่งโดยที่ไม่ได้บอกพ่อแม่เลย (หัวเราะ)
art4d: พวกเขาไม่รู้เลยเหรอว่าคุณเรียนจิตรกรรมเป็นวิชาเอก?
LN: ไม่เลย พ่อคิดว่าผมเรียนวิศวกรรม เพราะภาควิชาวิศวกรรมของ UC Berkeley มันติดอันดับต้นๆของโลก วันหนึ่งพ่อผมบอกว่าเขาอยากจะมาใช้เวลาที่อเมริกาให้มากกว่านี้เพื่อจะได้มีเวลาเจอผมกับน้องชายมากขึ้น ผมก็ลนลานเลย เพราะว่าผมก็โกหกเขามาตลอด ผมก็พยายามคิดว่าจะทำยังไงดี การที่ผมจะย้ายหน่วยกิตไปเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะมันเป็นคณะที่เข้ายากมาก ผมก็เลยไปทำการค้นคว้าศึกษามา แล้วก็มาจบที่สถาปัตยกรรมที่น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด ผมย้ายมาเรียนสถาปัตย์ตอนปีสอง ตอนที่พ่อผมมาถึงอเมริกาแล้วก็มาเยี่ยมผม เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาคิดว่าสถาปัตย์เป็นการเรียนเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และก็นึกว่าผมกำลังเรียนหรือกำลังทำอะไรเกี่ยวกับด้านธุรกิจที่จะทำเงินได้มากกว่าการทำงานในสายวิศวะ
art4d: ประสบการณ์การเรียนสถาปัตยกรรมในช่วงปริญญาตรีของคุณเป็นอย่างไรบ้าง?
LN: ผมตื่นเต้นมากเพราะผมได้เรียนรู้ว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้มีแค่แง่มุมทางเทคนิคของการสร้างบ้านพักอาศัยหรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แค่อย่างเดียว ผมได้เรียนรู้ว่าสถาปัตยกรรมคือการสร้างสรรค์พื้นที่เพื่อเปลี่ยนแปลงมนุษยชาติได้ด้วย ผมได้รู้เรื่องความรับผิดชอบของสถาปนิกในฐานะคนสร้างที่พักพิงหรือโครงสร้างต่างๆ บนโลกใบนี้ มันเป็นเครื่องมือที่มีพลังมาก และมันก็เป็นสิ่งที่สร้างพลังให้กับผมได้ด้วยเช่นกัน
art4d: หลังเรียนจบแล้วคุณไปทำอะไรต่อ?
LN: หลังเรียนจบปริญญาตรี ผมก็ไปเรียนต่อที่ Harvard Graduate School of Design แล้วพอจบจาก GSD ผมก็แต่งงานกับ Rossana ก่อนจะไปทำงานให้บริษัทออกแบบเล็กๆ อยู่สองสามแห่ง จนได้มาทำงานกับ Micheal Graves อยู่สิบปี ผมกับ Rossana ถูก Micheal ส่งไปประจำที่เซี่ยงไฮ้เพื่อไปดูแลโปรเจ็กต์หนึ่งที่นั่น เราควรจะอยู่ที่นั่นแค่หกเดือน แต่ตอนนั้นก็พอดีว่ามีโรค SARS ระบาด เราก็เลยอยู่ที่นั่นยาวไปจนครบปี ผมเสนอ Micheal ว่าให้เขาเปิดออฟฟิศสาขาเซี่ยงไฮ้ แต่พาร์ทเนอร์บางคนก็ไม่ค่อยแน่ใจกับไอเดียนี้เท่าไหร่ ผมกับ Rossana ก็เลยคิดกันว่า ทำไมเราไม่เปดบริษัทของเราเองกันดูล่ะ ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของการก่อตั้งสตูดิโอของเรา
art4d: Michael Graves นั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไอคอนของแนวคิด Postmodern คุณได้เรียนรู้อะไรจากเขาบ้าง?
LN: ผมได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการทำงานที่มีความเป็นสหวิทยาการ Michael Graves บอกว่ามันเป็นเรื่องจำเป็นที่คุณจะต้องเป็นให้ได้มากกว่าสถาปนิก คุณต้องเข้าใจในพื้นที่ภายในอาคาร และเข้าใจว่ามันเกี่ยวข้องสัมพันธ์ยังไงกับภายนอก ในขณะเดียวกัน เขาก็เชื่อว่าวัตถุและเฟอร์นิเจอร์ในอาคารควรจะมีปฏิสัมพันธ์และมีบทสนทนากับพื้นที่ต่างๆ ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ความไม่ต่อเนื่องจะเกิดขึ้น ไม่ใช่แค่ในงานออกแบบอย่างเดียว แต่กับตัวผู้ออกแบบเองด้วย สถาปนิกจะชอบมีเรื่องให้หงุดหงิดกับนักออกแบบภายใน ส่วนนักออกแบบภายในก็ชอบมีเรื่องให้ต้องหงุดหงิดกับช่างเฟอร์นิเจอร์ เพราะฉะนั้นแล้วเนี่ย ความคิดเรื่องการทำงานแบบสหวิทยาการเลยกลายเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับทุกคน ในยุคสมัย Renaissance คนจะมีความคิดความเชื่อแบบนี้ นักออกแบบหลายคนอย่างปรมาจารย์อิตาเลียน Magiarotti, Castiglioni ไปจนถึง Le Corbusier, Mies van der Rohe, Aldo Rossi หรือแม้กระทั่ง Paul Rudolph ก็ล้วนแล้วแต่มีความคิดว่าการออกแบบแบบองค์รวมนั้นมีความสำคัญ
art4d: นี่เป็นแนวคิดที่คุณนำมาใช้ต่อตอนคุณเปิดออฟฟิศตัวเองที่ประเทศจีนด้วยไหม?
LN: แน่นอน เรานำเอาแนวคิดนี้มาใช้กับงานออกเราตอนที่เราย้ายไปจีนในช่วงต้นทศวรรษ 2000s มันเป็นช่วงเวลาที่จีนยังไม่มีเฟอร์นิเจอร์นำเข้าให้ใช้งานได้เลย มันยังไม่มีอาชีพที่เรียกว่านักออกแบบภายในด้วยซ้ำ คนยังเรียกอาชีพนี้ว่านักตกแต่งพื้นที่ ไม่มีใครเข้าใจว่านักออกแบบภายในหรือการออกแบบภายในคืออะไร ตอนนั้นจีนมีสถาปนิกอิสระอยู่คนเดียวคือ Yung Ho Chang มันเป็นสถานการณ์ที่ลำบากกับเรามากเหมือนกัน ตอนที่เราเริ่มทำออฟฟิศเราเลยต้องทำกันเองทุกอย่าง และแน่นอนว่าเราก็สนใจที่จะทำทุกอย่างเหมือนกัน
art4d: หลายๆ โปรเจ็กต์ของคุณมีแก่นที่โยงใยอยู่กับอดีต และจากบทสัมภาษณ์ก่อนๆ ของคุณ คุณเองก็มักจะพูดถึงเรื่องของ การถวิลหาอดีตแบบสะท้อนตัวตน (reflective nostalgia) คุณมองว่าคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร และทำไมคุณถึงสนใจในคำนี้นัก?
LN: คำนี้เป็นคำที่ Svetlana Boym นักคิดทฤษฎีเชิงวิพากษ์จาก Harvard เป็นผู้คิดขึ้นมา เธอบอกว่าความรู้สึกถวิลหาอดีตนั้น จริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่จะมาช่วยเราได้ในอนาคต มันมีความแตกต่างระหว่างการถวิลหาอดีตแบบสะท้อนตัวตน กับการถวิลหาอดีตแบบถูกจำกัด (restrictive nostalgia) แบบหลังนั้นเป็นเพียงแค่การลอกเลียนแบบอดีต การถวิลหาอดีตแบบสะท้อนตัวตนนั้นไม่ได้มีลักษณะของความเป็นเส้นตรงขนาดนั้น มันอาจจะลัดเลาะถนนหนทางซอกซอยและเส้นทางต่างๆ มันอาจจะมีการทดลองและความไม่แน่นอนเกิดขึ้น แต่จุดหมายของมันก็ยังเป็นการกลับบ้าน แนวความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่เรามองว่าน่าสนใจ เพราะผมเองมีความเชื่ออย่างแรงกล้าว่าถ้าเราเข้าใจแก่นแท้ของประวัติศาสตร์ โดยไม่ไปเดินซ้ำรอยมัน ประวัติศาสตร์จะช่วยให้เราเดินไปข้างหน้าได้
เราก่อตั้งบริษัทขึ้นในเซียงไฮ้ ซึ่งเป็นเมืองที่ผ่านกระบวนการของการพัฒนาซ้ำๆ อยู่เสมอ เราเจอกับประเด็นปัญหาของการที่คนต่างสร้างตึกรามบ้านช่องขึ้นมาใหม่ หรือซ่อมแซมบ้านติดถนนแบบ Lane house หรือบ้านแบบ Courtyard house ดั้งเดิมของเซี่ยงไฮ้โดยไม่ทำความเข้าใจแก่นของมันเลย ในขณะที่ในความเป็นจริงแล้ว อาคารพวกนี้ก็มีความหมายต่างๆ มากมายของมันอยู่ ถ้าคุณเข้าใจการก่อร่างสร้างตัวของพื้นที่ และเข้าใจว่าชุมชนท้องถิ่นถูกสร้างผ่านสถาปัตยกรรมและพื้นที่สถาปัตยกรรมภายในอย่างไร คุณก็จะรู้ว่าคุณควรจะพัฒนาโครงการในลักษณะนี้อย่างไร
art4d: คุณประยุกต์เอาภูมิปัญญาจากอดีตเข้ามาใช้กับงานออกแบบของคุณอย่างไรบ้าง?
LN: ผมอาจจะขอยกตัวอย่างงาน Waterhouse at South Bund ที่เป็นโครงการออกแบบบูทีคโฮเทลในเซียงไฮ้ คนเดินทางมาที่เซียงไฮ้ส่วนใหญ่จะมีลักษณะของนักท่องเที่ยวมากกว่านักเดินทาง พวกเขามาตามรอยสถานที่ต่างๆ โดยมีลิสต์สถานที่ที่พวกเขาอยากไป เช่นไปดูแม่น้ำ ไปดูตึกที่สูงที่สุด แล้วก็ไปช็อปปิ้ง เท่านั้นเลย ซึ่งผมเองก็รู้สึกไม่ชอบใจกับสิ่งที่เป็นอยู่เท่าไหร่ ถ้าคุณอยากจะเข้าใจเซียงไฮ้ คุณต้องเข้าใจแก่นของเมืองนี้ และความจริงที่ว่าเมืองนี้ไม่มีความเป็นส่วนตัว บ้านติดถนนหรือ Lane house ในเซียงไฮ้นั้นเรียกได้ว่าไม่มีความเป็นส่วนตัวเลย ถ้าผมเดินลงมาจากบ้าน คุณป้าที่อยู่บ้านตรงข้ามก็จะรู้ทันที แล้วป้าๆ ข้างบ้านนี่ก็ช่างเม้ากัน เพราะฉะนั้นในงานออกแบบของผม ผมก็จะอนุญาตให้ผู้คนที่อยู่ในพื้นที่สาธารณะได้เห็นด้านในของห้องหรือพื้นที่ส่วนตัว ในขณะเดียวกัน ในพื้นที่ส่วนตัวเองก็เชื้อเชิญให้ผู้อยู่อาศัยมองออกไปยังพื้นที่สาธารณะภายนอก ข้อโต้แย้งของผมก็คือในฐานะของนักเดินทาง คุณต้องเดินทางเข้ามาในเมืองเพื่อสัมผัสทำความรู้จักกับเมืองจริงๆ ไม่ใช่แค่เพียงตามภาพสวยๆ ที่คุณเห็นบนปกนิตยสาร
Jean Baudrillard เขียนหนังสือ ‘The Ecstasy of Communication’ ที่ทรงพลังมาก เพราะเขาพูดถึงความจริงที่ว่าเราสนใจสื่อลามก (pornography) มากกว่าเพศวิถี (sexuality) บางครั้งเราไม่ได้สนใจในการมีความสัมพันธ์กับคู่ของเรา แต่เราสนใจในการมองเห็นกายภาพและรูปร่าง เราสนใจในข้อมูลมากกว่าความรู้ ในโลกอินเตอร์เน็ตที่มีแพลตฟอร์มอย่าง Instagram หรือ TikTok ครองพื้นที่อยู่ เราสนใจกับความพอใจแบบปัจจุบันทันด่วน เราสร้างภาพลักษณ์ให้ชีวิต แต่เราไม่ได้ใช้ชีวิตของเราจริงๆ มันเป็นเรื่องที่อันตรายมาก
art4d: การลดความชัดเจนของเส้นแบ่งระหว่างพื้นที่สาธารณะและห้องหรือพื้นที่ส่วนตัวฟังดูเป็นไอเดียที่ค่อนข้างโลดโผนพอสมควร คุณโน้มน้าวลูกค้าของคุณอย่างไร?
LN: เวลาที่ลูกค้าไม่ชอบไอเดียที่เราเสนอไปแล้วอยากจะเปลี่ยน ผมก็มักจะบอกว่า ขอผมคิดดูก่อนนะ ซึ่งเวลาที่ผมพูดว่าผมขอคิดดูก่อนเนี่ย มันหมายความว่า ผมอาจจะไม่ได้เห็นด้วยกับทุกอย่างที่คุณว่ามา แต่ผมจะกลับมาหาคุณพร้อมไอเดียใหม่ๆ มากมาย แต่สุดท้ายแล้ว ผมก็แค่ทำงานในแบบที่ผมทำและเป็นคนในแบบที่ผมเป็น ผมไม่พยายามที่จะแสร้งทำหรือโน้มน้าวให้ใครเชื่อผม ผมคิดว่าถ้าความคิดของคุณไม่ได้มีอะไรที่มาจากความเป็นตัวคุณหรืออัตตาของคุณเองจริงๆ มันจะมีพลังที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดเอง หรือมีการก้าวข้ามผ่านอะไรที่จะนำมาซึ่งสังคมและตัวงานที่ดีขึ้นกว่าที่เป็น ผมคิดว่าถ้าลูกค้ามีความจริงใจ พวกเขาก็จะเห็นสิ่งนี้
art4d: คุณบอกว่าคุณให้ความสำคัญกับแง่มุมความเป็นบทกวีของงานสถาปัตยกรรมพอๆ กับแง่มุมของการใช้งาน ทำไมคุณถึงมีความเชื่อเช่นนั้น?
LN: ก่อนอื่นเลย คุณต้องเข้าใจก่อนว่าการใช้งานมันมีความหมายจริงๆ ว่าอย่างไร เวลาที่ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูงเนี่ย มันสบายเหรอ? ใส่แล้วมันไม่สบายถูกไหมครับ แต่มันก็มีเหตุผลว่าทำไมคนถึงยังใส่รองเท้าส้นสูงอยู่ จริงไหม? บางทีเพราะรองเท้าทำให้คุณดูสูงขึ้น หรือทำให้รูปร่างหรือท่าทางของคุณดูดีขึ้น สิ่งที่ผมพยายามจะบอกก็คือ การใส่รองเท้าส้นสูงมันมีความหมายอยู่ มีเหตุผลรองรับมันอยู่ ผมก็เลยมองว่าสิ่งเหล่านี้มันก็สำคัญพอๆ กับการใช้งาน เพราะว่าโดยเนื้อแท้ของมัน คุณสมบัติเหล่านี้มันก็มีการใช้งานของมันอยู่ ถ้าผู้หญิงใส่ส้นสูง แล้วพวกเธอรู้สึกว่ามันใส่ไม่ค่อยสบายหรอก แต่มันอาจจะมีผลต่อการที่เธอจะได้ตำแหน่งงานที่เธออยากได้ ความสวยงามมันก็ถือว่าเป็นฟังก์ชันอย่างหนึ่งเหมือนกัน
art4d: นั่นแสดงว่าการใช้งานได้ไม่ได้หมายถึงความสะดวกหรือสบายเสมอไป?
LN: ใช่ มันไม่ได้หมายถึงความสบายหรือความสามารถในการทำเงินมากขึ้น พวกเราน่ะรู้สึกท่วมท้นกับความเป็นไปของโลกที่การใช้งานถูกนำไปเกี่ยวโยงกับคุณสมบัติที่ให้ประสิทธิภาพสูงสุด หรือเร็วที่สุด หรือทำงานได้มากที่สุด แต่การใช้งานน่ะมันเป็นอะไรได้อีกมากมายหลายอย่าง คุณต้องตั้งคำถามถึงสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดหรือมองว่าเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ
สิ่งที่ผมหวังก็คือ เวลาคนเดินเข้ามาในอาคารที่เราออกแบบ จุดมุ่งหมายของผมไม่ได้อยู่ที่การทำให้คุณคิดว่าคุณจะทำอะไรให้เร็วขึ้นได้อย่างไร แต่ผมหวังว่าอาคารที่เราออกแบบจะช่วยให้คุณหยุดได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง มันช่วยให้คุณรู้สึกได้ถึงความสงบที่เราทุกคนต่างโหยหา เพื่อคิดทบทวนชีวิตของเรา มวลพลังของพื้นที่อาจทำให้คุณรู้สึกว่าคุณเปราะบางกว่าปกติ คุณพอนึกออกใช่ไหม เวลาที่มีคนพูดว่า พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้เราเข้าใจและเข้าถึงพระเจ้า มันช่วยให้คุณตระหนักและยอมรับถึงความเปราะบางของมนุษย์เรา บางทีเราอาจทำอะไรเพื่อสร้างความหมายและจุดหมายบางอย่าง คุณนึกออกไหม? นั่นคือองค์ประกอบและแง่มุมของความเป็นกวีของอาคารของสถาปัตยกรรม
art4d: มันมีประเด็นถกเถียงกันอยู่เกี่ยวกับกรุงเทพฯ ว่าเราควรจะทุบตึกเก่าทิ้งเพื่อกรุยทางให้การพัฒนาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นดีไหม หรือมันดีกว่าถ้าเราจะเก็บมันไว้ให้อยู่ในสภาพแบบที่มันเป็น คุณมีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้?
LN: คือผมไม่คิดว่าการอนุรักษ์ที่เป็นไปเพื่อการอนุรักษ์จริงๆ จะเป็นข้อโต้แย้งที่มีน้ำหนักเสมอไป การพัฒนาใหม่ๆ เพื่อจุดประสงค์เชิงพานิชย์ก็เป็นข้อโต้แย้งที่ไม่มีน้ำหนักขนาดนั้นเหมือนกัน ผมว่ามันน่าจะเป็นการผสมผสานกันของทั้งสองแนวทางที่จะช่วยสร้างทางออกที่ดีมากกว่า ถ้าอาคารมันมีโครงสร้างที่แข็งแรง การเปลี่ยนการใช้งานมันแทนการทำลายมันลงน่าจะเป็นแนวทางที่ยั่งยืนกว่า
art4d: อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คุณได้เรียนรู้จากการทำงานสถาปัตยกรรมมายาวนาน?
LN: ผมคิดว่า ถึงที่สุดแล้ว ผมยังรู้สึกว่าตัวเองมีความเป็นศิลปินอยู่มากกว่า ความเป็นศิลปินที่ว่าจะเป็นในแง่ของการตั้งคำถามกับคนอื่น กับตัวเอง กับสังคม และผมใช้สถาปัตยกรรมเป็นเหมือนยานพาหนะในการขับเคลื่อน ผมคิดว่าไอเดียของการสร้างที่พักพิงและที่อยู่อาศัยนั้นเป็นหนึ่งในความพยายามสำคัญเหมือนกัน ถ้างานมันสร้างแรงบันดาลใจและทำให้คนรู้สึกสัมผัสได้ถึงความสงบ ผมคิดว่ามันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคน
art4d: คำถามสุดท้าย คุณมีคำแนะนำอะไรให้นักออกแบบหรือสถาปนิกรุ่นใหม่บ้าง?
LN: ผมคิดว่าน่าจะเป็นการซื่อตรงกับตนเอง ผมบอกนักออกแบบเด็กๆ เสมอว่าให้เดินทางให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไปเห็นไปดูงานในโลกนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่สิ่งสำคัญเหนืออื่นใดก็คือ เท้าคุณยังต้องติดบนพื้น คุณต้องมีความถ่อมตัว และเข้าใจจุดมุ่งหมายของชีวิตตนอย่างแท้จริง หลายคนยังชอบเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เพื่อนๆฉันทำอันนี้ ทำอันนั้น ฉันคิดได้ช้าไปรึเปล่า ฉันแก่ไปรึเปล่า ทำไมฉันยังไม่เปิดบริษัทของตัวเองสักที คือผมกับ Rossana เนี่ย เราไม่ได้มีขั้นตอนที่ชัดเจนอะไรในชีวิตขนาดนั้น เราคิดว่าเราก็คงมีความสุขดีถ้ายังทำงานกับ Michael Graves ไปเรื่อยๆ จนแก่ แต่แน่นอนว่าแผนการของเราเปลี่ยน บางทีคุณก็ไม่ต้องบีบบังคับให้ชีวิตตัวเองเป็นแบบนั้นแบบนี้มากก็ได้ ปล่อยให้ชีวิตมันดำเนินไป เหมือนสายน้ำนั่นแหละ
neriandhu.com
academy.cea.or.th
facebook.com/CreativitiesUnfold