พาชมผลงานบางส่วน ที่ได้รับเลือกเป็นผู้ชนะในรอบ Best Design ของ Golden Pin Design Award 2023 ที่เปิดโอกาสให้เราเห็นถึงความเป็นไปได้ในแวดวงออกแบบทั้งในเอเชียและไต้หวัน
TEXT: KITA THAPANAPHANNITKUL
PHOTO COURTESY OF GOLDEN PIN DESIGN AWARD 2023
(For English, press here)
ในปีนี้ Golden Pin Design Award เวทีประกวดระดับนานาชาติจากไต้หวันที่จัดขึ้นโดย Industrial Development Bureau, Ministry of Economic Affairs ร่วมกับ Taiwan Design Research Institute ได้กลับมาอีกครั้งอย่างยิ่งใหญ่ภายใต้ธีมหลักอย่าง ‘Superload’ ที่พาเราสำรวจผลงานต่างๆ ที่ทลายข้อจำกัดของงานออกแบบเดิมๆ เพื่อเสาะแสวงหาตัวตนที่แตกต่างของตัวนักออกแบบเอง
ผลงานกว่า 8,000 ชิ้น จาก 23 ประเทศทั่วโลกในประเภท Golden Pin Design Award 2023 ได้ถูกเลือกอย่างเข้มข้นถึงสามรอบจนมาถึงผลงาน 25 ชิ้นสุดท้ายที่ได้รับรางวัล Best Design โดยแบ่งเป็นหมวด Product Design 9 ชิ้น Communication Design 8 ชิ้น Spatial Design 5 ชิ้น และ Integration Design 3 ชิ้น รวมถึงในการประกวดอีกประเภทอย่าง Golden Pin Concept Design Award รางวัลสำหรับผลงานออกแบบเชิงแนวคิดที่ได้ Best Design จำนวน 3 ชิ้นและ Special Annual Award of Golden Pin Concept Design Award 1 ชิ้น ในโอกาสนี้ art4d ขอพาไปดูบางส่วนของผลงานที่ได้รับรางวัล
ในหมวดแรก Integration Design ประกอบด้วยผลงานแรก Taiwan Pavilion: Visible Shop จาก Serendipity Studio อันจัดแสดง ณ London Design Biennale 2023 ที่ว่าด้วยการบอกเล่าเรื่องราวของไต้หวันผ่านพาวิลเลียนที่เกิดจากการประกอบชิ้นส่วนเครื่องจักรชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่สื่อถึงการทำงานร่วมกันของธุรกิจรายย่อยที่ช่วยผลักดันประเทศ ต่อด้วย Shibuya Font โปรเจ็กต์ที่เปลี่ยนภาพวาดและลายมือของผู้พิการให้กลายเป็น typeface และ pattern ที่สามารถพัฒนาต่อไปเป็นงานศิลปะและงานออกแบบอื่นๆ ได้อย่างเปิดกว้าง ซึ่งก็ยังเป็นการสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันระหว่างแวดวงงานออกแบบ ผู้พิการ และ ภาครัฐอีกด้วย สำหรับตัว typeface ใครสนใจก็สามารถโหลดไปใช้กันได้ฟรีเลย (ลองดูได้ที่ SHIBUYA FONT)
สำหรับหมวด Product Design ผลงานชิ้นต่างๆ ยังเป็นงานออกแบบที่ล้ำสมัยในเชิงความคิดแต่ยังมีศักยภาพในการปรับใช้ได้ใช้ชีวิตประจำวัน อาทิ 3D Vein Viewer Locator โดย Megaforce Company Limited อุปกรณ์ส่องหลอดเลือดแบบพกพาที่ช่วยเพิ่มความสำเร็จในการให้ยาทางหลอดเลือดเวลาเกิดอุบัติเหตุ Morus Capsule 2 จาก Morus Technology (Shenzhen) Co., Ltd. เครื่องอบผ้าขนาดจิ๋วแต่แจ๋วประสิทธิภาพสูงที่มาพร้อมดีไซน์ร่วมสมัยและสามารถตั้งอยู่ในบ้านในฐานะของแต่งบ้านได้อย่างลงตัว รวมถึง pidan Wheeled Pet Carrier โดย Danke Co., Ltd. กระเป๋าล้อลากสัตว์เลี้ยงไฟฟ้าที่มีดีไซน์สุดเท่และมาพร้อมกับฟังก์ชันการระบายอากาศที่ให้สัตว์เลี้ยงสามารถเดินทางกับเราได้อย่างสบายใจ รับรองว่าถูกใจทั้งทาสหมาและทาสแมวแน่นอน
ในหมวด Spatial Design เริ่มต้นจากโปรเจ็กต์ The Recycling Center in Kaohsiung Municipal Guang Wu Primary School จาก Meta House ที่ได้ออกแบบพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เต็มไปด้วยชีวิตชีวาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการรีไซเคิลขยะสำหรับเด็กๆ ต่อด้วย Rongjin Gorgeous Time Park—Renovation of the Former Official Dormitories of Taihoku Prison จาก Atelier TimeScape ที่เป็นโปรเจ็กต์ชุบชีวิตอาคารเก่าผ่านการสอดแทรกการใช้งานแบบร่วมสมัยโดยยังคำนึงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวอาคารและบริบทของชุมชนรอบข้าง
ปีนี้เรายังมีผลงานจากไทยถึงสองผลงานด้วยกันคือ NANA Coffee Roasters Bangna จาก IDIN architects ร้านกาแฟที่กลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ และ Angsila Oyster Scaffolding Pavillion จาก CHAT architects อันเป็น pavilion จากกระชังหอยที่บอกเล่าถึงความสัมพันธ์ระหว่าง สถาปัตยกรรม การท่องเที่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม
และในหมวดสุดท้าย Communication Design เราสนใจผลงานสิ่งพิมพ์ทั้งสองชิ้นเป็นพิเศษเริ่มจาก นิตยสาร 1611 Magazine ที่ออกแบบโดยนักออกแบบชาวฮ่องกง Toby Ng Design ที่มาพร้อมกับการฉีกขนบเดิมๆ ของนิตยสารด้านการเงินทั่วไปด้วยการใช้งานออกแบบที่ให้ความสำคัญกับ layout ที่สร้างความรู้สึกว่าเรื่องการเงินเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ และโลโก้ที่เป็นการนำเลข 1611 (อันเป็นปีแรกที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งแรก Dutch East India Company ได้ถือกำเนิดขึ้น) มาดัดรูปทรงให้คล้ายกับเรือสำเภาอันสื่อถึงการเดินทางเพื่อค้าขายได้อย่างกลมกลืน
อีกผลงานที่น่าสนใจคือ Fieldoffice Incomplete Works, 1994 หนังสือ monograph ของสตูดิโอสถาปัตยกรรม Fieldoffice Architects อันถ่ายทอดความรู้สึกในการอ่านไม่ต่างจาก ‘บทกวี’ ผ่านทั้งการจัดวาง layout ที่ให้ความสำคัญกับที่ว่าง การเข้าเล่มแบบเย็บกี่ ที่สร้างความรู้สึกเอนเอียงไปทางงานศิลปะแม้เนื้อหาภายในจะเกี่ยวกับสถาปัตยกรรม
ความพิเศษของปีนี้คืองานประกาศรางวัล Golden Pin Design Award 2023 ยังจัดขึ้น ณ Taipei Performing Arts Center (TPAC) อันเป็นสถาปัตยกรรมแลนด์มาร์กของไทเปที่ออกแบบโดย OMA อีกด้วย สิ่งนี้ยังแสดงถึงแวดวงงานออกแบบในภาคพิ้นเอเชียและไต้หวันที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมากมาย
ทั้งหมดนี้ยังเป็นแค่ส่วนหนึ่งของผลงานทั้งหมดที่น่าสนใจอีกหลากหลายชิ้น สำหรับใครที่สนใจลองไปดูเพิ่มเติมกันได้ที่ https://www.goldenpin.org.tw/en/news/56 art4d ขอแสดงความยินดีกับผู้ได้รับรางวัลทุกท่านมา ณ ที่นี้