RQ BITE

RQ BITE

Community space ในแนวคิด ‘สถาปัตยกรรมพันธุ์ผสม’ โดย CHAT architects นำเสนอที่ว่างและร่มเงาภายนอกอาคาร ที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้คนสามารถทำกิจกรรมได้อย่างอิสระ

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: W WORKSAPCE

(For English, press here) 

หากถามว่าเนื้อหาของสถาปัตยกรรมประเภท community space นั้นคืออะไร คำตอบนั้นค่อนข้างชัดเจนว่าสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การเอื้ออำนวยการเกิดขึ้นของ ‘ชุมชน’ ของผู้คนที่มีจุดร่วมกันบางอย่าง บ้างอาจอยู่ใกล้เคียงกัน บ้างอาจมีความสนใจร่วมกัน แล้วสถาปัตยกรรมแบบไหนหรือที่เอื้อให้ผู้คน (โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ) สามารถทำกิจกรรมและมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ โครงการ community space แห่งใหม่ในย่านสุขุมวิทอย่าง RQ BITE โดย CHAT architects เป็นอีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจและพยายามตอบคำถามนี้ นอกเหนือจากจะคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของความเป็นอาคารเก่าในอดีตแล้ว โครงการนี้ยังนำเสนอที่ว่างและร่มเงาภายนอกอาคาร อันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้คนสามารถทำกิจกรรมได้อย่างอิสระมากกว่าการพยายามกำหนดการใช้งานของผู้คนให้อยู่แต่เพียงในอาคาร

RQ BITE

จุดเริ่มต้นของโครงการ RQ BITE นั้นเกิดขึ้นความตั้งใจของเจ้าของโครงการ The Racquet Club อันเป็นสโมสรกีฬาครบวงจรในซอยสุขุมวิท 49 ที่เล็งเห็นว่าผู้ใช้งานส่วนมากนั้นมีลักษณะเป็นครอบครัว จึงต้องการสร้างพื้นที่ community space ขึ้นในพื้นที่ฝั่งตรงข้ามเพื่อรองรับกับกิจกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากกีฬา โดยประกอบไปด้วยร้านอาหาร บาร์ และสนามเด็กเล่น โดยในพื้นที่นี้ประกอบไปด้วยบ้านเก่าสองหลังหน้าโครงการที่ถูกทิ้งร้างไว้พร้อมกับต้นมะม่วงหลากหลายต้นบริเวณด้านหลังของพื้นที่ CHAT architects จึงได้เริ่มการออกแบบภาพรวมของโครงการออกเป็นสองพื้นที่หลักๆ หนึ่งคือพื้นที่ด้านหน้าสำหรับให้คนทั่วไปหรือผู้ปกครองสามารถนั่งเล่นหรือทานอาหารได้อย่างอิสระ และอีกส่วนคือคอร์ทต้นมะม่วงด้านหลังที่ถูกออกแบบให้เป็นที่เล่นสำหรับเด็กๆ รวมถึงรองรับกิจกรรมกลางแจ้งได้ พื้นที่ทั้งสองส่วนที่เชื่อมต่อถึงกันนี้ได้เปิดโอกาสให้พ่อแม่ที่อาจกำลังนั่งพูดคุยสังสรรค์หรือทานอาหารกัน สามารถเห็นความเป็นไปของเด็กได้อย่างไม่คลาดสายตาพร้อมทั้งปล่อยให้ผู้ใช้งานแต่ละกลุ่มได้ใช้เวลาในแบบของตัวเอง

RQ BITERQ BITERQ BITERQ BITERQ BITERQ BITE

ในส่วนแรกสถาปนิกได้ปรับเปลี่ยนบ้านเก่าสไตล์บังกะโลอายุกว่าครึ่งศตวรรษทั้งสองหลังให้กลายเป็นพื้นที่ที่สำหรับร้านอาหารทั้งสองร้านอย่าง Birdhouse Cafe & Bar และ FEAW BKK ทั้งการทุบพื้นชั้นสองและเปลี่ยนให้กลายเป็นชั้นลอยเพื่อทำให้พื้นที่ภายในอาคารมีความโล่งขึ้น รวมถึงการทุบผนังในชั้นสองออกบางส่วนและแทนที่ด้วยกระจกและหน้าต่างเพื่อเพิ่มการนำแสงธรรมชาติเข้าสู่อาคาร โดยในการปรับปรุงสถาปนิกยังคงหยิบเอาองค์ประกอบที่เป็นเอกลักษณ์ของอาคารบังกะโลในอดีตมาใช้ในรูปแบบใหม่ ทั้งประตูหน้าต่างบานกรอบสีฟ้าที่ถูกนำมาใช้ทั้งโครงการหรือแม้แต่การเลือกใช้วัสดุกระเบื้องสีส้มสดในส่วนพื้นด้านหน้าโครงการเพื่อให้ล้อไปกับกระเบื้องดินเผาสีเดียวกันในส่วนผนังของอาคารเดิม

RQ BITE

ซึ่งสถาปนิกยังได้เชื่อมหลังคาของอาคารทั้งสองเข้าด้วยกัน ก่อให้เกิดเป็นหลังคาใหม่ที่ครอบคลุมส่วนด้านหน้าของโครงการทั้งหมด รวมถึงทำให้พื้นที่ใต้ชายคาระหว่างอาคารทั้งสองกลายเป็นพื้นที่ semi-outdoor ขนาดใหญ่ที่มีอิสระในการใช้งานในทุกสภาพอากาศ พื้นที่นี้ยังถูกล้อมรอบด้วยขื่อที่ถูกยกระดับขึ้นป้องกันน้ำท่วมที่เกิดขึ้นบ่อย โดยที่ขื่อเหล่านี้ยังควบหน้าที่ทั้งเป็นทางเดิน บันได ที่นั่ง ที่ช่วยเพิ่มพลวัตในการใช้งานให้กับพื้นที่อีกด้วย และในการใช้งานจริงอาคารทั้งสองที่ตั้งอยู่ในระนาบเดียวกันยังกลายเป็นเหมือนช่องลมที่ช่วยบีบให้เกิดลมพัดผ่านในพื้นที่นี้ตลอดเวลา ด้วยเหตุนี้เอง หากได้เข้าไปดูที่โครงการจริง ภาพที่เราได้เห็นคือการที่ผู้ใช้งานต่างพบปะพูดคุย ทำงาน ทานอาหารในพื้นที่ด้านนอกเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นวันที่แดดจัดหรือฝนพรำก็ตาม

RQ BITE

RQ BITE

เมื่อเข้ามาด้านใน เราจะพบกับกลุ่มอาคารเล็กๆ ที่ถูกจัดเรียงกระจายตัวกันเพื่อล้อมคอร์ทต้นมะม่วงขนาดใหญ่ไว้ทั้งสามด้าน โดยที่อาคารทั้งหมดนั้นเป็นการผนวกรูปแบบของสนามเด็กเล่นให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของอาคารไปในตัว อาคารเหล่านี้ล้วนเป็นอาคารสองชั้นที่ด้านล่างเป็นร้านรวงต่างๆ และมีด้านบนคือพื้นที่วิ่งเล่นสำหรับเด็กๆ พื้นที่ในชั้นสองจึงมีสเกลที่ค่อนข้างเล็กกว่าปกติเพื่อให้สอดคล้องกับสรีระของเด็กๆ กลุ่มอาคารเหล่านี้ยังถูกเชื่อมต่อกันด้วยของเล่นต่างๆ อาทิ สะพาน สไลเดอร์ บันไดขึ้นลง ซึ่งแม้ว่าอาคารในส่วนด้านหลังนี้จะยังคงมีรูปลักษณ์ที่ล้อมาจากอาคารเก่าด้านหน้าทั้งการใช้สีฟ้ารวมถึงกระเบื้องสีส้มสด แต่วัสดุต่างๆ นั้นก็ได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นมิตรกับการเล่นของเด็กๆ อาทิ การใช้ราวกันตกเชือก พื้นฟองน้ำ ที่สำคัญพื้นที่นี้ก็ยังเปิดโอกาสให้กับความอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ ผ่านการเจาะช่องเปิดกระจกในส่วนทางเดินชั้นสอง เพื่อให้เด็กที่วิ่งเล่นกันอยู่ด้านบนได้แอบมองดูการทำงานของพี่ๆ ที่ทำงานอยู่ในครัวด้านล่างอีกด้วย

RQ BITERQ BITERQ BITERQ BITE

CHAT architects เองยังคงนำเสนอความคิดของ ‘สถาปัตยกรรมพันธุ์ผสม’ ที่ก่อร่างขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ผ่านทั้งในเชิงวัสดุ ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงโปรแกรมของอาคาร ตั้งแต่การหยิบยกองค์ประกอบของอาคารเดิมในพื้นที่มาใช้งาน โครงสร้างหลังคาที่มีความซับซ้อนหากแต่เป็นไปตามการรับแรงที่พยายามเชื่อมต่อหลังคาเดิมที่หันคนละทิศเข้าด้วยกัน การควบรวมโปรแกรมของร้านอาหารและสนามเด็กเล่นเข้าด้วยกันและนำเสนอความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในสถาปัตยกรรม ไปจนถึงการมองเห็นถึงธรรมชาติของชุมชนและกิจกรรมที่มักเกิดขึ้นในพื้นที่ว่างนอกอาคารมากกว่าในอาคารโดยไม่บังคับ แม้นิยามของคำว่า ‘ชุมชน’ นั้นโดยเนื้อหาเองอาจต้องการองค์ประกอบหลากหลายส่วนมากกว่าเพียงแค่เรื่องของสถาปัตยกรรม ในกรณีนี้ สถาปัตยกรรมนั้นทำหน้าที่ได้เพียงแค่การจัดเตรียมพื้นที่ให้เหมาะสมกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นของผู้คนภายใต้บริบทของภูมิอากาศและที่เหลือก็ทำได้เพียงปล่อยให้ผู้คนได้ใช้งานอย่างอิสระและสร้างชีวิตชีวาของพื้นที่ขึ้นมาด้วยตัวของพวกเขาเอง

RQ BITE

facebook.com/chatarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *