ทำความรู้จักภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับวงการสะสมหนังสือหายากในนิวยอร์ค ที่บอกเล่าถึงเรื่องราวการสะสมและแง่มุมทางสังคมที่มีผลต่อความหายาก รวมถึงความน่าสนใจของหนังสือเหล่านั้นในประเด็นต่างๆ
TEXT: SIRAPHOP SUPAVITA
PHOTO COURTESY OF GREENWICH ENTERTAINMENT
(For English, press here)
The Booksellers คือภาพยนตร์สารคดีความยาว 95 นาทีโดย D.W. Young ที่บอกเล่าเรื่องราวของวงการสะสมหนังสือหายากในมหานครนิวยอร์ค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่าของนักจัดหาหนังสือคนสำคัญ A. S. W. Rosenbach ผู้จัดประมูลหนังสือหายากเล่มสำคัญหลากหลายเล่มตั้งแต่ยุค 1920s หรือสองสาวคู่หู Rostenberg และ Stern ที่ท่องไปตามยุโรป งานนิยายระทึกขวัญด้วยนามแฝงของ Louisa May Alcott เจ้าของผลงาน Little Women รวมไปถึงบทสนทนาและบทสัมภาษณ์เจ้าของร้านหนังสือ ทั้งหน้าเก่าที่ยืนหยัดตั้งมาตั้งแต่ยุคที่ถนนทั้งเส้นเต็มไปด้วยร้านหนังสือหลายร้อยร้าน และหน้าใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในวงการ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของนักสะสมอย่าง Jay Walker ที่หลงใหลไปกับบันทึกและเรื่องราวจินตนาการของผู้คนในแต่ละยุคสมัย จนสร้างห้องสมุดส่วนตัวรวบรวมหนังสือเหล่านั้นไว้ ศิลปินและเหล่าผู้หลงรักในหนังสือหายากอีกหลากหลายคนที่พาเราไปเรียนรู้ความเป็นมาแห่งโลกของหนังสือหายาก สลับไปกับเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของผู้คนเหล่านั้นอันแสดงออกถึงมุมมองที่มีต่อยุคสมัย ประวัติศาสตร์ของสิ่งพิมพ์ที่ถูกนิยามว่า ‘หายาก’ หรือแม้แต่มุมมองทางสังคมที่ซ่อนอยู่ในนั้น
นอกจาก The Booksellers จะพาเราเข้าไปทำความรู้จักกับโลกแห่งหนังสือหายากแล้ว ผู้กำกับยังพาเราไปชวนคิดกับคำถาม และพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับโลกของสื่อสิ่งพิมพ์ในประเด็นต่างๆ จากทั้งการมาถึงของอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การค้นหาหนังสือบางเล่มจากเคยกินเวลายาวนานนับปีกลายเป็นเรื่องชั่วพริบตาอันเป็นทั้งสิ่งสนับสนุนอาชีพและทำลายในเวลาเดียว การมาถึงของร้านหนังสือแฟรนไชน์ หรือการปรับตัวของร้านหนังสือในยุคออนไลน์ที่เปลี่ยนผ่านจากอนาล็อกไปสู่ดิจิทัล รวมไปถึงวัฒนธรรมการอ่านหนังสือของคนในยุคปัจจุบันที่แตกต่างจากเมื่อก่อน
เสน่ห์อีกอย่างที่น่าสนใจไม่ต่างกับผู้คนภายในสารคดีเรื่องนี้ ก็คือเรื่องราวของตัวหนังสือหายากเอง สารคดีพาเราไปรู้จักกับทั้งหนังสือที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก หนังสือที่เย็บและเข้าปกด้วยอัญมณี หรืออะไรที่เราไม่คิดว่าจะได้เห็นอย่างหนังสือที่ห่อปกด้วยหนังมนุษย์ ซึ่งก็รวมไปถึงคอลเล็กชันของหนังสือที่ถูกรวบรวมขึ้นด้วยความตั้งใจบางอย่างของนักสะสมที่ปฏิบัติกับหนังสือเหล่านั้น ที่จงใจบันทึกและก่อร่างประวัติศาสตร์เฉพาะทางของสิ่งที่ตนสนใจ ตัวอย่างคือ นิตยสารที่บันทึกเรื่องราวของต้นกำเนิดวัฒนธรรม Hip-Hop จากคนผิวดำ หรือนักเคลื่อนไหวในด้านเฟมินิสต์ที่พยายามฉายภาพตัวตนของนักเขียนหญิงให้แจ่มชัดในประวัติศาสตร์อีกครั้ง ทำให้หนังสือทุกเล่มเหล่านั้นไม่ใช่เพียงส่วนประกอบของหมึก กระดาษ ฝ้าย หากแต่ยังหมายความถึงการเป็นประวัติศาสตร์ในประเด็นต่างๆ ด้วยตัวของมันเอง
นอกจากสารคดีเรื่องนี้จะพาเราไปดูหนึ่งใน sub-culture ที่ทุกคนมีจุดร่วมกันคือความรักในสิ่งที่พวกเขาทำ บทสนทนาบางอย่างยังลึกซึ้งและพาให้เราคิดถึงความสัมพันธ์ของความหลงใหล ชีวิต และผู้คนในบริบทของมหานครนิวยอร์ค มีคำถามที่โดดเด่นอันหนึ่งในสารคดีระหว่างสัมภาษณ์เหล่านักสะสมว่า ถ้าต้องจากโลกนี้ไป คิดว่าอยากจะทำอย่างไรกับหนังสือที่มี คำตอบล้วนต่างกันไป ทั้งอยากปล่อยมันกลับสู่ตลาดแล้วรอให้นักสะสมคนต่อๆไปได้ตามหา ส่งมอบมันให้กับคนที่เขาเหล่านั้นเชื่อใจ ทำสำเนาออนไลน์เก็บความน่าหลงใหลให้กับคนรุ่นหลัง หรือปล่อยให้เป็นเรื่องของเวลาในการตัดสินใจ เรื่องเหล่านี้ก็ชวนให้เราเห็นถึงทัศนคติและมุมมองต่ออนาคตที่แตกต่างกันไปแต่ละบุคคล
ท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่ The Booksellers ให้เราในฐานะผู้ชมนั้น คือขยายมุมมองในโลกของสิ่งพิมพ์ให้กว้างมากยิ่งขึ้น ชวนให้เราสังเกตและให้คุณค่ากับร่องรอย เรื่องราว มุมมองความคิด ความเชื่อมโยงต่างๆ ที่หนังสือสามารถเป็นสื่อกลางในการส่งผ่านได้ ไม่เพียงเฉพาะกับหนังสือหายากแต่เพียงเท่านั้น ทั้งหมดนี้ทำให้ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหากคุณเป็นคนที่รัก หรือ สนใจในหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์อยู่แล้ว The Booksellers ควรค่าแก่การรับชม และน่าจะทำให้คุณผูกพันกับคอลเล็กชันหนังสือบนชั้นหนังสือของคุณมากขึ้นแน่นอน