‘มัสยิดมิตรภาพไทย-ปากีสตาน’ เป็นอาคาร 5 ชั้นโดย Teechalit Architect ที่นำเสนอความเรียบง่าย ทว่ายังคงคาแร็กเตอร์ของสถาปัตยกรรมอิสลามเอาไว้
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUK
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
บทความนี้ถูกเขียนขึ้นโดยผมซึ่งเป็นชาวไทยพุทธ เวลามีใครพูดถึง ‘มัสยิด’ แน่นอนว่าผมนึกถึงอาคารทรงโดมคล้ายครึ่งทรงกลมองค์ประกอบเป็นเรขาคณิต สี่ด้านล้อมรอบไปด้วยหอคอยสุเหร่า และโดดเด่นด้วยการประดับแผ่นโมเสกด้วยลวดลายที่งดงามและละเอียดละออ อาจไม่ใช่มัสยิดทั้งหมดที่เป็นแบบนี้ แต่ผมก็ไม่ค่อยเห็นมัสยิดที่ผิดไปจากนี้เท่าไหร่
เรื่องของเรื่องคือ มีมัสยิดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ที่ออกจะแปลกตาไปจากภาพจำของใครหลายคน หลักๆ แล้วด้วยเหตุผลสองข้อ ข้อแรกคือที่แห่งนี้เป็นมัสยิดในรูปแบบตึก 5 ชั้น ข้อสอง แทนที่จะเป็นมัสยิดในรูปแบบสถาปัตยกรรมประเพณีที่ประดับประดาในทุกรายละเอียด มัสยิดแห่งนี้กลับมีแนวทางในแบบ minimal ที่เน้นความเรียบน้อยและคุณภาพของ space แทน
บ่ายแก่ๆ วันหนึ่ง ณ ใจกลางย่านธุรกิจอย่างถนนมหาเศรษฐ์ แขวงสี่พระยา ผมได้มีโอกาสแวะเวียนไปเยี่ยมชมมัสยิดมิตรภาพไทย-ปากิสตานที่ได้ถูกออกแบบขึ้นโดย Teechalit Architect ตัวอาคารนำเสนอภาพจำของศาสนสถานที่เรียกว่าสุเหร่าหรือมัสยิด ในรูปแบบที่แปลกใหม่ออกไปทั้งในด้านรูปทรง พื้นที่ หากแต่ยังคงอัตลักษณ์และฟังก์ชันในฐานะศาสนสถานไว้อย่างครบถ้วน เราอาจเคยเห็นสิ่งนี้กันในต่างประเทศ แต่พอเป็นในไทย สิ่งนี้เป็นอะไรที่แปลกใหม่สำหรับผมทันที ซึ่งก็ไม่ใช่แค่มัสยิด ผมไม่ค่อยได้เห็นวัดไทยที่มีความพยายามปรับเปลี่ยนการออกแบบเข้าสู่แนวทางร่วมสมัยในแบบที่ศาสนาอื่นๆ พยายามทำนัก (แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องไม่ดีแต่อย่างใด เพราะบ่อยครั้ง ความสากลมักถูกผนวกเข้ากับความเป็นโลกตะวันตกเสียร่ำไป)
ก่อนที่ผมจะได้คุยกับสถาปนิกผู้ออกแบบมัสยิดแห่งนี้ ผมคิดไวๆว่า ‘บ้านของพระเจ้า’ จะมีหน้าตาแบบไหนในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายกว่าครั้งใดๆ ที่เคยมีมา
อาคารอายุ 60 ปีเพื่อพี่น้องชาวปาทานในกรุงเทพฯ
จุดเริ่มต้นของมัสยิดแห่งนี้นั้นย้อนกลับไปเมื่อ 60 ปี ในยุคสมัยที่มัสยิดในกรุงเทพฯ นั้นยังมีจำนวนไม่มากนัก บรรพบุรุษของกลุ่มมุสลิมเชื้อสายปาทาน (Pashtuns) ในกรุงเทพฯ ได้รวมตัวกันและลงขันเพื่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ขึ้นเพื่อให้ศาสนิกชนในพื้นที่ได้มีสถานที่สำหรับการละหมาดและการทำกิจกรรมอื่นๆ ร่วมกัน เกิดเป็นมัสยิดมิตรภาพไทย-ปากิสตาน อันเป็นมัสยิดปากีสถานแห่งแรกและแห่งเดียวในกรุงเทพฯ นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เดิมที มัสยิดมิตรภาพไทย-ปากิสตาน นั้นมีลักษณะเป็นอาคารไม้ชั้นเดียว ก่อนที่ 20 ปีถัดมาจะมีการปรับปรุงครั้งแรกและต่อเติมให้กลายเป็นอาคารครึ่งปูนครึ่งไม้สองชั้นเพื่อยืดอายุการใช้งานและรองรับแก่ผู้คนที่แวะเวียนมามากขึ้น จนมาถึงในปี 2562 ที่อาคารเริ่มมีสภาพทรุดโทรมอย่างหนักจนยากที่จะปรับปรุง พี่น้องชาวปาทานในกรุงเทพฯ จึงได้มีฉันทามติในการรื้อถอนอาคารหลังเก่าพร้อมทั้งสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด โดยมี ทีป์ชลิต จุฬารัตน์ จาก Teechalit Architect มาเป็นสถาปนิกของโครงการนี้
มัสยิดบนพื้นที่ 100 ตารางวา ที่หลุดออกจากขนบในการออกแบบเดิมๆ
ถ้าดูกันในภาพรวม มัสยิดหลังใหม่แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นให้มีรูปทรง การจัดสรรพื้นที่ และการวางแกนอาคารในรูปแบบที่เรียบง่ายเพื่อให้สามารถดึงประสิทธิภาพของที่ดิน 100 ตารางวา มาใช้งานให้ได้มากที่สุด ตัวอาคารจึงมีลักษณะเป็นตึกสี่เหลี่ยม 5 ชั้น ที่ด้านหลังเป็นแกนอาคาร (ลิฟท์และบันได) ซึ่งมีการแบ่งพื้นที่ใช้สอยภายในอาคารอย่างชัดเจนตามแต่ละชั้น โดยมีชั้นหนึ่งเป็นส่วน service และที่จอดรถ ชั้นสองเป็นโถงอเนกประสงค์ ชั้นสามเป็นโถงละหมาดหลัก ชั้นสี่เป็นพื้นที่สำนักงานสมาคมมิตรภาพไทย-ปากีสถาน และชั้นห้าเป็นโดมอเนกประสงค์อันทำหน้าที่เป็นหอเกียรติยศและพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมให้แก่ผู้มาเยี่ยมเยือน
แม้อาคารจะดูมีการใช้งานที่ลงตัวแล้ว โจทย์ต่อไปคือ ‘จะทำอย่างไรให้อาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมนี้ ดูไม่อึดอัด แสดงออกถึงสถาปัตยกรรมอิสลามและเอกลักษณ์พื้นถิ่นของปากีสถาน และที่สำคัญ จำเป็นต้องใช้ประกอบพิธีตามศาสนาอิสลามได้จริง (นี่ไม่นับว่าต้องมีโดมด้านบนสุดอันเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของสถาปัตยกรรมอิสลาม พร้อมต้องสอดแทรกความสนใจในสถาปัตยกรรมแนว Minimalism ของสถาปนิกไปด้วย)’ เรามาไล่กันทีละข้อดีกว่า
เริ่มต้นจากคุณภาพของพื้นที่ เพื่อแก้ปัญหาเรื่องความอึดอัดของความเป็นอาคารสี่เหลี่ยมตัน สถาปนิกจึงจัดวางช่องเปิดหน้าต่างกระจกทุกชั้นเพื่อเปิดรับแสงและลม พร้อมทั้งมีการย่นระยะพื้นที่บางส่วนในชั้นหนึ่งเข้ามาเพื่อทำเป็นโถงบันไดขนาดใหญ่ด้านหน้าอาคาร นอกเหนือจากจะเป็นการเน้นพื้นที่ทางเข้า โถงบันไดนี้ยังทำให้อาคารดูไม่อึดอัดจากการมีที่ว่างขนาดใหญ่เป็น transition space ก่อนเข้าสู่ภายในอาคาร รวมถึงการคำนึงเรื่องที่ว่างจากภายในสู่ภายนอก เพื่อสร้างกรอบภาพให้เห็นบริบทด้านนอกเมื่อมองจากด้านในอาคารออกไป
ในด้านการแสดงออกถึงความเป็นสถาปัตยกรรมจากปากีสถาน สถาปนิกได้นำเสนอผ่านการใช้อิฐสีส้มที่เป็นองค์ประกอบวัสดุจากสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของปากีสถาน ที่มีมาตั้งแต่สมัยสถาปัตยกรรมโมกุล (Mughal Architecture) มาใช้เป็นวัสดุหลักของตัวสถาปัตยกรรม รวมถึงยังมีการย่อมุมทั้งในส่วนขอบหน้าต่าง ขอบซุ้มทางเข้า รวมถึงผนังภายนอกของอาคาร ให้เกิดมิติทางอาคารลดทอนความหนาของรูปทรง และสร้างแสงเงาให้กับตัวอาคาร
ส่วนที่ยากที่สุดของมัสยิดแห่งนี้คงเป็นเรื่องการใช้งานจริงจากสาเหตุหลักอย่าง ‘ทิศ’ ที่โดยทั่วไปแล้ว ตัวมัสยิดส่วนใหญ่นั้น จำเป็นจะต้องหันมิหร็อบ (Mihrab) (ส่วนที่เป็นมุขยื่นออกจากตัวอาคาร ให้อิหม่ามทำการนำละหมาด) ไปยังทิศกิบลัต (Qibla) (ทิศที่หันไปยังกะอ์บะฮ์ในนครมักกะฮ์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย) สำหรับการละหมาด ปัญหาก็คือ ถ้าต้องบิดผังอาคารทั้งหมดในขนาดที่ดินเท่านี้ย่อมเปลืองพื้นที่ใช้สอยมากโข สถาปนิกจึงเลือกที่จะบิดแกนขององค์ประกอบอื่นแทน ในกรณีนี้คือ แถวละหมาด ‘saf’ ในพื้นที่ที่ใช้ละหมาดชั้นสองและชั้นสาม โดยใช้กระเบื้องลายไม้และหินอ่อนตามลำดับ ซึ่งถูกปูในทิศทางที่ตั้งฉากกับทิศกิบลัต ทำให้แม้ว่าตัวพื้นจะดูเฉียงแปลกตาเล็กน้อย แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาเพื่อให้อาคารสามารถใช้งานได้จริงในการประกอบศาสนกิจ
ทั้งนี้ พื้นทั้งสองชั้นนี้ยังมีการใช้วัสดุให้มีความแตกต่างทุกๆ 1.20 เมตร (เช่นการฝังเส้นโลหะ สำหรับพื้นกระเบื้องลายไม้ชั้นสองและการใช้สีหินอ่อนที่แตกต่างในชั้นสามให้ดูตัดกัน) เพื่อสร้างเส้นหรือแนวของแถวละหมาดได้ชัดเจนช่วยในการจัดสรรพื้นที่ให้ผู้ละหมาดได้ยืนตรงแถวเรียบร้อยเมื่อถึงเวลาละหมาด อีกทั้งหากขึ้นมาในชั้นสาม เราจะได้พบกับพื้นที่หลักของอาคารหลังนี้ อันเป็นโถงละหมาดใหญ่ โดยมีความสูงกว่า 5 เมตร ที่มีหน้าที่หลักคือรองรับการละหมาดในมัสยิดประจำวันศุกร์ซึ่งจำนวนคนจะมาละหมาดเต็มพื้นที่ชั้นสาม พื้นที่ชั้นนี้โดดเด่นด้วยผนังในทิศกิบลัตที่เป็นหินแกรนิตสีดำด้านลดเงาสะท้อน ตัดกับวัสดุที่เป็นหินอ่อนสีสว่างรอบด้านเพื่อสร้างการโฟกัส และให้ความรู้สึกสงบนิ่งกับผู้ละหมาด
ส่วนสุดท้ายคือการเพิ่มองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมอิสลามเข้าไปในอาคาร ผ่านการใช้ arch โค้งแบบเรียบง่าย ทั้งในส่วนหน้าต่างและซุ้มทางเข้า รวมถึงการเพิ่มโดมในพื้นที่ชั้นห้า ทีป์ชลิตเล่าให้เราฟังว่า ความท้าทายในส่วนนี้คือการหาวิธีการจัดการรูปทรงโดมที่ต้องประกบลงบนฐานสี่เหลี่ยมได้อย่างลงตัว ทีป์ชลิตได้ศึกษาจนไปพบเข้ากับมัสยิดสุเลย์มานิเย ในเมืองอิสตันบูล ที่มีรูปแบบฐานโดมเป็นฐานสี่เหลี่ยมและย่อมุมเป็นแปดเหลี่ยมก่อนจะขึ้นไปเป็นโดม และได้ประยุกต์วิธีดังกล่าวมาใช้ในมัสยิดแห่งนี้ ในชั้นเดียวกัน สถาปนิกยังได้เพิ่มหออะซาน (หอประกาศเมื่อถึงเวลาละหมาด) ที่เป็นโครงสร้างเหล็กหุ้ม aluminium composite เพื่อให้ตัวอาคารนั้นมีองค์ประกอบของสถาปัตยกรรมมัสยิดที่ครบถ้วนรวมถึงให้ผู้คนสามารถรับรู้ได้ว่าที่แห่งนี้คือมัสยิดเมื่อมองมาจากที่ไกลๆ
หากสังเกตดูให้ดี มัสยิดไทย-ปากิสตานแห่งนี้ มาพร้อมกับรายละเอียดที่เต็มไปด้วย ‘ความเรียบง่าย’ ทั้ง มิมบัร (Mimbar) (แท่นธรรมมาส) สีขาวที่มีรูปทรงเรียบง่าย อักษรคูฟิกฮ์ในด้านหน้าอาคารที่เกิดจากการเรียงอิฐ ซุ้มขอบประตูไม้สักที่แกะถ้อยคำในกรุอานแบบคูฟิกฮ์ บานประตูลวดลายเรขาคณิตแทนที่จะเป็นลายเถาต่างๆ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากความหลงใหลในสถาปัตยกรรมแบบ minimalism ของตัวสถาปนิกเอง
สถาปัตยกรรมแนวทาง Minimalism ที่ช่วยลดความ ‘เป็นอื่น’ ของอาคาร
“เราออกแบบมัสยิดแห่งนี้โดยคำนึงถึงบริบทของย่านบางรัก ซึ่งจำเป็นต้องเคารพถึงพหุวัฒนธรรมอื่นๆ ที่อยู่ในพื้นที่นี้ไม่แพ้กัน เราเลยให้น้ำหนักกับการออกแบบในรูปแบบที่เรียบง่ายมากกว่าการเป็นสถาปัตยกรรมอิสลามตามขนบเพื่อให้อาคารไม่แปลกแยกออกจากชุมชนมากเกินไป” ทีป์ชลิตกล่าว
ถ้าจะว่าย่านไหนมีความหลากหลายทางศาสนามากที่สุด บางรักคือหนึ่งในนั้น เห็นได้จากทั้ง มัสยิด วัด โบสถ์ ที่กระจายตัวอยู่ปนเปกันไป การออกแบบที่เกิดขึ้นจึงให้ความสำคัญกับการประณีประนอมในบริบทของสังคมโดยรอบ ซึ่งนอกเหนือจากความสนใจส่วนตัวของสถาปนิก องค์ประกอบที่ดูเป็นเรขาคณิตแบบสมบูรณ์ในรูปแบบ minimalism ยังทำหน้าที่ในฐานะสถาปัตยกรรมที่มีความเป็น ‘สากล’ ที่ลดทอนความเป็นอื่นของตัวอาคารลง แน่นอนว่าอัตลักษณ์ของตัวสถาปัตยกรรมอิสลามและปากีสถานที่เกิดขึ้นนั้นเป็นสิ่งสำคัญในฐานะรูปธรรมของวัฒนธรรมย่อยในพื้นที่ (ในกรณีนี้คือเชื้อชาติและศาสนา) แต่ในขณะเดียวกัน ข้อเท็จจริงก็คือสถาปัตยกรรมคือสิ่งที่เกิดขึ้นและเป็นส่วนหนึ่งของสาธารณะโดยอัตโนมัติ (อย่างน้อยสุดคือทุกคนสามารถมองเห็นได้)
ในบทสนทนาของวัน ทีป์ชลิตบอกกับผมว่า ‘มัสยิดคือบ้านของพระเจ้าสำหรับทุกคน’ นอกเหนือจากเรื่องที่ว่ามัสยิดแห่งนี้รองรับทั้งมุสลิมปาทาน แอฟริกา บังกลาเทศ อินเดีย พม่า แต่ผมกลับคิดว่าสิ่งยืนยันของคำกล่าวนี้ได้ดีอีกหนึ่งอย่างคือการที่สถาปนิกตั้งใจออกแบบให้ตัวสถาปัตยกรรมนั้นเป็นมิตรต่อชุมชนและให้เกียรติบริบทที่เต็มไปด้วยผู้คนต่างเชื้อชาติต่างศาสนาผ่านรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เน้นการเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ มากกว่า ‘แปลกแยก’ ออกมาจากพื้นที่
ประตูบานใหม่ของอาชีพสถาปนิกใต้ร่มศาสนาอิสลาม
ไม่เพียงแต่ตัวอาคารจะสร้างจินตนาการของศาสนสถานแบบใหม่ขึ้น แนวทางการทำงานที่ไม่ติดอยู่กับรูปแบบของสถาปัตยกรรมประเพณียังเป็นเหมือนการเปิดประตูความเป็นไปได้ของอาชีพสถาปนิกภายใต้ร่มเงาของศาสนาอิสลามกว้างขวางขึ้นไปจากเดิม
ทีป์ชลิต เล่าให้เราฟังว่า ในช่วงมัธยมต้น ส่วนนึงที่ได้รับแรงบันดาลใจในการเป็นสถาปนิกนั้นเกิดจากการได้ไปละหมาดที่มัสยิดศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ที่โดดเด่นด้วยโครงสร้างหลังคาคอนกรีตเปลือกบางในรูปแบบของสถาปัตยกรรม modern หลังจากนั้นพอได้มีโอกาสมาทำงานออกแบบมัสยิด จึงเห็นถึงความเป็นไปได้ของการออกแบบมัสยิดในแนวทางที่แตกต่างออกไป เลยคิดว่า “น่าจะมีคนที่คล้ายเราตอนเด็ก ที่ได้มาเห็นผลงานของเรา และได้แรงบันดาลใจเหมือนที่เราเคยได้มา เป็นประโยชน์กับสังคมต่อไป” ทีป์ชลิตบอกเล่าให้เราฟังเมื่อเราถามถึงแรงบันดาลใจในการทำมัสยิดแห่งนี้ที่แตกต่าง
แรงบันดาลใจส่งต่อจากมัสยิดศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย ส่งมายังมัสยิดมิตรภาพไทย-ปากิสตาน อดคิดไม่ได้ว่ามัสยิดหลังถัดไปโดยคนรุ่นใหม่จะมีหน้าตาแบบไหนกัน
การเดินทางของศรัทธา สู่การเป็นส่วนหนึ่งของพหุวัฒนธรรม
ก่อนจากกัน ทีป์ชลิตบอกกับเราว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นศาสนสถาน แต่เขาเองก็หวังไว้ว่าที่แห่งนี้อาจเป็นแลนด์มาร์กสำหรับการมาประกอบศาสนกิจ และเยี่ยมชม สำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมชาวต่างชาติรวมถึงคนไทย หรือคณะบุคคลที่สนใจในสถาปัตยกรรมมัสยิด ในอนาคตอีกด้วย
มัสยิดมิตรภาพไทย-ปากิสตานแห่งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการแสดงให้เราเห็นรูปแบบใหม่ๆ ของศาสนสถานผ่านตัวสถาปัตยกรรมที่มีความเป็นสากลที่อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน มุมหนึ่งที่แห่งนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความหลากหลายที่ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของเราแม้เราเองอาจไม่รู้ตัว ในเรื่องราวของศาสนาอิสลาม วัฒนธรรมและศรัทธาใช้เวลาหลายชั่วอายุคน เดินทางจากเรื่องราวปฐมบท ใช้เวลานับพันปีจากซาอุดิอาระเบียสู่ประเทศไทย คล้ายตะกอนแม่น้ำ การเดินทางที่ยาวนานพัดพาผู้คนที่หลากหลายมาอยู่รวมกันในที่ไหนสักแห่ง ผู้คนในเรือนร่าง เชื้อชาติ วัฒนธรรมที่หลากหลายต่างแบ่งปันพื้นที่ทางกายภาพและเศษเสี้ยวของวัฒนธรรมและหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ‘บ้านของพระเจ้า’ เป็นส่วนหนึ่งในนั้น ท่ามกลางบ้านอีกมากมายที่บรรจุเรื่องราวอันล้วนแตกต่างกันที่รอให้สักวันหนึ่งเราได้ออกสำรวจดู
ขอให้อัลลอฮคุ้มครอง / อัสลามมุอะลัยกุม
1 Comment