WAITE YUTTHACHAISANTI

Photo: Sukit Sudnan

พูดคุยกับ เวฐน์ ยุทธชัยสันติ ผู้ก่อตั้ง Fengshuiplusdesign ซึ่งใช้ศาสตร์ฮวงจุ้ยมาผสานกับความรู้ด้านงานออกแบบเพื่อช่วยให้เจ้าของและดีไซเนอร์สามารถสร้างสรรค์พื้นที่ได้ตามที่มุ่งหวัง

TEXT: CHIWIN LAOKETKIT
IMAGE & PHOTO COURTESY OF WAITE YUTTHACHAISANTI EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

คงจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า ‘ฮวงจุ้ย’ เป็นความรู้ความเชื่อโบราณที่มีส่วนช่วยในการสร้างบ้านหรืออาคารให้เหมาะสมสำหรับการเป็นที่พักอาศัยและทำเลค้าขายที่ดี หลายครั้งศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยก็ไม่เข้ากันกับความตั้งใจในงานของนักออกแบบ จนทำให้สเปซเหล่านั้นที่กำลังก่อสร้างต้องหยุดชะงักลง แต่ทว่าปัญหาเหล่านี้ art4d มีโอกาสได้สนทนากับต้นเล็ก – เวฐน์ ยุทธชัยสันติ บัณฑิตด้านการออกแบบจากรั้วมหาวิทยาลัยศิลปากรที่เห็นปัญหาของศาสตร์ฮวงจุ้ยกับนักออกแบบ ด้วยประสบการณ์การทำงานออกแบบภายใน ซึ่งทำให้พบเจอสถานที่รอบตัวที่สัมพันธ์กับศาสตร์ฮวงจุ้ยอยู่บ่อยครั้ง จึงเริ่มต้น Fengshuiplusdesign เพื่ออธิบายวิธีการแก้ปัญหาในการออกแบบบ้าน ร้านค้า และพื้นที่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบอื่นๆ ด้วยความรู้ศาสตร์ฮวงจุ้ยให้กับผู้ที่สนใจเพื่อนำไปใช้ในงานออกแบบมากขึ้น Fengshuiplusdesign ได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทออกแบบชั้นนำ PIA Interior, VAIR, ATOM Design รวมถึงนักออกแบบอย่าง Pomme Chan และ Saran Yen Panya

เวฐน์ ยุทธชัยสันติ ผู้ก่อตั้ง Fengshuiplusdesign | Photo: Sukit Sudnan

art4d: คุณเริ่มสนใจศาสตร์ฮวงจุ้ยในงานออกแบบได้อย่างไร

Waite Yutthachaisanti: บ้านผมเคยเป็นร้านขายหนังสือ นิตยสาร ทำให้มีโอกาสได้อ่านเนื้อหาหลากหลายประกอบกับสนใจงานออกแบบและแฟชั่น ก็เลยขอเรียนเขียนรูปทัศนียภาพครั้งแรกตอนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 และพัฒนาฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง จนสอบเข้าเรียนสาขาวิชาการออกแบบภายใน คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ พอเรียนจบมีญาติแนะนำว่าให้ไปเรียนศาสตร์ฮวงจุ้ยไว้จะมีประโยชน์มาก ก็เลยไปเรียนอยู่หลายปี จากนั้นก็มีโอกาสได้ออกแบบอาคารประเภทบ้าน คอนโด ตึกแถว หมู่บ้านจัดสรร ไปจนถึงอาคารเชิงพาณิชย์ในห้างอีกหลายแห่ง ค้นพบว่าศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยมีความสอดคล้องกับงานออกแบบและการใช้งาน

art4d: สำหรับการทำงานที่ผ่านมา คุณได้นำศาสตร์ด้านฮวงจุ้ยมาผสมผสานกับการออกแบบอย่างไรบ้าง

WY: บางงานคนที่เข้ามาขอคำปรึกษาเรื่องฮวงจุ้ยเป็นเจ้าของคอนโด 1 ห้อง หรือบ้านเดี่ยว คุยเสร็จเขาก็ไปหาผู้รับเหมาหรือนักออกแบบ ระหว่างนั้นก็ต้องแนะนำเรื่องการใช้งานวัสดุที่สอดคล้องกับพลังงานเเละทิศทางตามศาสตร์ฮวงจุ้ยด้วย หรือบางครั้งก็มีข้อจำกัดของเวลาในงานออกแบบพื้นที่เชิงพาณิชย์อย่าง Clothier and Sons เอ็มควอเทียร์ สุขุมวิท ที่มี Bellman Design Studio เป็นผู้ออกแบบ ผมแนะนำให้ใช้การออกแบบแสง (lighting design) มาช่วยแก้ปัญหา บางงานกำหนดว่าดีไซน์ต้องใช้สีเพื่อแก้ไข บางครั้งแค่กรอบรูปหรือสินค้าที่มีอยู่แล้วก็ได้ ใช้ความรู้ด้านการตกแต่งภายในมาช่วย คีย์เวิร์ดของฮวงจุ้ยพื้นฐานต้องโล่ง โปร่ง สะอาด สว่าง ถ้าอยู่ในพลังงานอย่างนี้ได้มีพลังงานกว่าเดิม ทำงานได้คล่องแคล่วกว่าเดิม เอาเข้าจริงหลักการของฮวงจุ้ยกับการออกแบบสถาปัตยกรรมก็มีความสอดคล้องกัน

รูปแบบการจัดแสงของร้าน Clothier and Sons ที่ได้รับคำแนะนำตามศาสตร์ฮวงจุ้ย

รูปแบบการจัดแสงของร้าน Clothier and Sons ที่ได้รับคำแนะนำตามศาสตร์ฮวงจุ้ย

art4d: เห็นว่าคุณมีเพจใน Facebook ที่ชื่อ Fengshuiplusdesign จุดเริ่มต้นและหลักการทำงานของคุณกับเพจนี้เป็นอย่างไร

WY: ‘FengShui’ มาจาก ‘ฮวงจุ้ย’ หมายถึงเรื่องของสมดุลชีวิตระหว่างลมกับน้ำ พอได้ทำงานให้คำปรึกษาด้านการออกแบบมาระยะหนึ่งผมก็เปิดเพจนี้ขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นบันทึกการทำงานและอยากให้นักศึกษาคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งผมไปสอนรายวิชาเกี่ยวกับศาสตร์ฮวงจุ้ยไว้ทบทวน ซึ่งในห้องเรียนผมพยายามเสนอแนวทางว่า ศาสตร์ฮวงจุ้ยไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดนะ โดยแนะนำวิธีปรับใช้กับงานออกแบบให้ฟัง โดยการเอาแปลนบ้านจริงมาดู มีการปักหมุดดาวเทียมในแผนที่ เมื่อรู้ทิศทางก็นำมาเทียบกับดวงเจ้าของบ้าน แล้วบอกฟังก์ชันและข้อควรระวังสำหรับบ้านหลังนั้น หรือยกตัวอย่างสยามพารากอนที่นักศึกษาเดินบ่อยๆ ผมนำศาสตร์ฮวงจุ้ยมาวิเคราะห์ตามจุดต่างๆ ให้เขาเห็น ในอนาคตถ้าเขาต้องไปเจอโจทย์ในการออกแบบก็จะทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ผังอาคารของร้านกาแฟ Norma

มุมมองไปยังบริเวณประตูทางเข้าของร้านกาแฟ Norma

art4d: มีโจทย์ในการออกแบบที่คิดว่ายากบ้างไหม

WY: โจทย์เป็นงาน ในงานออกแบบไม่มีคำว่าอะไรก็ได้ ในบริเวณที่เรานั่งคุยกันอยู่ตอนนี้ก็ยากเหมือนกัน ร้านกาแฟ Norma อยู่ในตึกเก่าที่มีความแปลกมาก พื้นที่เป็นรูปสามเหลี่ยมหรือพื้นที่ชายธง สมมติถ้าเป็นบ้านคนเขาจะไม่ค่อยให้อยู่กัน พื้นที่รูปแบบนี้ยังเป็นตัวแทนของธาตุไฟ ส่วนใหญ่เหมาะกับการทำธุรกิจด้านอาหาร และการใช้ความคิดไปจนถึงจินตนาการ ด้านบนนี้จึงเป็นสตูดิโอด้วย

ช่วงเริ่มต้นทำงานกับเจ้าของและนักออกแบบจาก Vessu Collaboration เขาก็ส่งแปลนมาให้ดู ฟังก์ชันหลายอย่างค่อนข้างเหมาะสม แต่มีปัญหาอยู่ที่เสาทรงเหลี่ยมตรงกลางอาคาร ตามกรณีศึกษาที่เจอมา เสาแบบนี้จะทำให้ผู้ใช้งานเป็นประจำมีอาการปวดในช่องท้อง ก็เลยแก้ปัญหาด้วยการเอาปูนพอกซ้ายขวาจนเสาเปลี่ยนแปลงลดความคมลง ส่วนอีกเรื่องที่ค่อนข้างยากคือประตู กำหนดให้ได้ตำแหน่งพลังงานดีของอาคาร เมื่อเดินเข้ามาภายในสองสามก้าวเเรกพื้นที่ภายในจะบีบ แต่พอเดินเข้าไปจะพบว่าพื้นที่กว้าง ส่วนนี้ผมใช้เวลาคุยระหว่างเจ้าของกับสถาปนิกอยู่พักใหญ่เลย เพราะประตูมีส่วนในการเข้ามาของลูกค้าในร้าน

เสากลางอาคารร้านกาแฟ Norma ที่ได้รับการปรับเปลี่ยนจากเสาเหลี่ยมตามศาสตร์ฮวงจุ้ยให้มีความคมลดลง

เสาและพื้นที่ภายในร้านกาแฟ Norma

art4d: ทิศทางการปรับเปลี่ยนที่ผ่านมา มักมาจากความต้องการของเจ้าของ หรือพิจารณาจากความเข้ากันกับงานดีไซน์ของนักออกแบบมากกว่ากัน

WY: ต้องปรึกษาทั้งสถาปนิก นักออกแบบ และเจ้าของ หรือกรณีบ้านก็เอาดวงของเจ้าของมาดูก่อนเพื่อหาพลังงานและทิศทางที่เหมาะสม รวมถึงแนวทางที่ทำร่วมกันได้ บางคนบอกว่าบ้านอยู่บนทางสามแพร่งไม่ดีแต่บางบ้านเป็นทำเลทองเข้ากับดวงก็รวยได้ โดยกายภาพทางสามแพร่งมันใกล้กับถนนซึ่งอาจจะทำให้ไฟจากรถส่องเข้าบ้าน องค์ประกอบอย่างหน้าต่างมีผลมาก ถ้าอยู่จุดที่สูงไม่มากพอไม่มีรั้วหรือพุ่มไม้บัง ไฟจากถนนจะสาดเข้ามา บางแห่งแค่ติดผ้าม่านเพื่อช่วยแก้ปัญหาแสงกวนตาได้แล้ว

พื้นที่ภายในร้านกาแฟ Norma

art4d: ศาสตร์ฮวงจุ้ยมีความหลากหลายมาก คุณมีวิธีเลือกใช้อย่างไรให้เหมาะสม

WY: สถานที่เเต่ละแห่งมีบริบทและเงื่อนไขที่ต่างกัน กรณีการก่อสร้างบนที่ดินเปล่า เราสามารถกำหนดองค์ประกอบได้ครอบคลุมตั้งเเต่องศาอาคาร ตำแหน่งประตู ห้องที่ใช้งาน รวมไปถึงตำแหน่งงานระบบ บางบ้านเราต้องเข้าไปรีโนเวทบนโครงสร้างผนังพรีแคส ซึ่งมีข้อจำกัดของการปรับโครงสร้างและการใช้งาน ก็ต้องใช้สีและวัสดุเข้ามาช่วย โดยเฉพาะห้องที่มีระบบน้ำ ระบบท่อเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นการยากที่จะย้ายตำแหน่ง ข้อแนะนำในมุมมองของศาสตร์ฮวงจุ้ย ก็ต้องสอดคล้องกับงานออกแบบและการใช้งานไปจนถึงรสนิยมผู้ใช้งาน คนรุ่นใหม่ชอบดีไซน์พื้นที่สวยๆ และอยากมีเรื่องความเชื่อไว้ให้อุ่นใจ ก็ต้องเสนอแนวทางแก้ปัญหาตามข้อจำกัด ฮวงจุ้ยเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาอี้จิงว่าด้วยสมดุลของชีวิต สำหรับงานออกแบบก็ต้องทำให้ใช้งานได้จริง บางอย่างตำราโบราณก็ไม่เหมาะกับยุคสมัยก็ต้องปรับให้เข้ากัน

facebook.com/fengshuiplusdesign

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *