200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าวิวัฒนาการของศิลปะไทยในช่วงกว่าสองศตวรรษที่ผ่านมา พร้อมบทความมุมมองจากสี่ผู้เชี่ยวชาญที่มาช่วยร้อยเรียงงานต่างๆ ภายในเล่มเข้าด้วยกัน

TEXT: SURAWIT BOONJOO

(For English, press here)

200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY
The Art Auction Center, 2024
Design by Hof Art
360 pages
ISBN 978-616-7815-03-9

‘200 YEARS JOURNEY THROUGH THAI MODERN ART HISTORY’ เป็นนิทรรศการที่ส่องสะท้อนผืนภาพประวัติศาสตร์ศิลปะไทยซึ่งร้อยเรียงเรื่องราวกว่า 2 ศตวรรษ จากขรัวอินโข่ง จิตรกรไทยในสมัยรัชกาลที่ 4 จนถึงศิลปินอาร์ตทอยที่กำลังเป็นกระแสนิยมในยุคปัจจุบัน นิทรรศการนี้เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) และ The Art Auction Center คัดสรรจัดแสดงผลงานในคอลเล็กชันสะสมส่วนบุคคลของ กรกมล และ พิริยะ วัชจิตพันธ์ ที่ใช้เวลาเก็บรวบรวมกว่าสิบปีและหาชมได้ยากจำนวนกว่า 100 ชิ้น ด้วยแนวคิด ‘พิพิธภัณฑ์ศิลปะเพื่อสาธารณะ’ นิทรรศการจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลปเจ้าฟ้า) ระหว่างวันที่ 13 กรกฎาคม – 31 สิงหาคม 2567

สูจิบัตรเนื่องในนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะเผยแพร่ในฉบับตีพิมพ์แล้ว ยังมีให้อ่านบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยรูปแบบอีบุ๊กอีกด้วย เนื้อหากว่า 360 หน้า ในหนังสือรวบรวมข้อมูลของผลงานหลากหลายชิ้นที่จัดแสดงอันควรค่าแก่การบันทึกและสืบค้น อาทิ จิตรกรรมของขรัวอินโข่ง ผลงานหลากหลายชิ้นงานของกาลิเลโอ คินี (Galileo Chini) ผลงานสีน้ำมันที่เป็นไฮไลต์ขนาดใหญ่ของศิลปินรุ่นบุกเบิกอย่างถวัลย์ ดัชนี ผลงานสีน้ำมันชุดนางละครในตำนานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต รวมไปถึงประติมากรรมสถูปของมณเฑียร บุญมา และภาพวาดธงชาติของนที อุตฤทธิ์ นอกจากนี้ ยังมีผลงานชิ้นสำคัญของศิลปินรุ่นใหม่ อย่าง Alex Face, Suntur, Gongkan และ Crybaby อีกด้วย โดยบอกเล่าและตีแผ่เรื่องราวประวัติของศิลปิน ข้อมูลที่มาที่ไป อีกทั้งเกร็ดข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับผลงานชิ้นนั้นๆ ซึ่งชวนติดตาม

ภายในเล่มยังนำเสนอบทความสำคัญจากสี่ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ ที่คั่นแยกหมุดหมายชุดภาพและข้อมูลอันเกี่ยวเนื่องกับผลงานออกตามการจัดจำแนกยุคสมัย นับตั้งแต่การปูพื้นฐานความเข้าใจศิลปะทั้งในประเทศและต่างประเทศช่วงการล่าอาณานิคมและยุคก่อนโพสต์โมเดิร์น โดยศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ จนถึงการเคลื่อนไหว และกระบวนการทางศิลปะรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งบริบทที่โต้ตอบต่อศิลปะด้วยกัน หรือศิลปะกับการเมือง อันต่อเนื่องให้เห็นการพัฒนาต่อยอดของประเด็นและรูปลักษณ์ที่สืบเนื่อง พร้อมทั้งขบถตลอดช่วงเวลาสมัยใหม่ หลังสมัยใหม่ และร่วมสมัย ในบทความโดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วิชญ มุกดามณี

ทั้งสี่บทความนี้ มีบทบาทในการเรียงร้อยงานต่างๆ ในหนังสือเข้าด้วยกัน และเข้ามาช่วยขยายความ ประกอบกับฉายแสดงทิวทัศน์และบรรยากาศสร้างองค์ความรู้พื้นฐานให้สามารถเข้าใจและตระหนักได้ถึงสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และความคิด ก่อนการเสพและเรียนรู้จากผลงานชิ้นสำคัญอันทำงานเป็นภาพแทนของศิลปินในแต่ละยุคสมัยที่จัดเรียบเรียงไว้ในลำดับถัดมา อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะช่วยขยับขยายมุมมองการพินิจภาพกว้างของทิวทัศน์ศิลปะไทยในช่วงสองศตวรรษมากเพียงใด แต่สิ่งหนึ่งที่จะต้องตระหนักไปพร้อมๆ กันนั้นคือ ภาพภายใต้กรอบทัศนะนี้เป็นเพียงอีกมุมหนึ่งที่ช่วยขยายหลากหลายมุมมองที่มีอยู่ให้สมบูรณ์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นบทสรุปที่เบ็ดเสร็จและเสร็จสิ้นโดยตัวของมันเอง

paperturn-view.com/?pid=ODg8817626
facebook.com/TheNationalGalleryThailand
facebook.com/theartauctioncenter

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *