IN RECOGNITION OF THE EUROPEAN AND WORLD DAY AGAINST DEATH PENALTY, OCTOBER 10, THE EU DELEGATION TO THAILAND INVITES US TO WATCH A NEW DOCUMENTARY “HAKAMADA” SHOWING HOW A FAULTED JUSTICE SYSTEM HAD PUT IWAO HAKAMADA IN PRISON FOR 47 YEARS, 33 OF WHICH ON DEATH ROW
TEXT: PAWIT MAHASARINAND
PHOTO: COURTESY OF DELEGATION OF THE EUROPEAN UNION TO THAILAND
(For English, press here)
ในฉากเปิดของภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “Hakamada” (2562) ผลงานของหลุยส์ ได ผู้กำกับจากนครเมลเบิร์น มีภาพถ่ายระยะไกลของมหานครคุ้นตาของประเทศที่ลือเลื่องเรื่องความเงียบสงบและระเบียบวินัย เสียงชายสูงวัยชาวญี่ปุ่นบรรยายภาพยามเช้าในของวันประหารชีวิตนักโทษ เสียงฝีเท้าของผู้คุมดังขึ้นเรื่อย ๆ จนหยุดลงที่ห้องขังหนึ่ง ถึงตรงนี้หลาย ๆ คนอาจจะนึกถึงภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดอย่าง “Dead Man Walking” (2538) หรือ “The Green Mile” (2542) แล้วชื่อสารคดีเรื่องนี้ก็ปรากฏบนจอ แบบนี้เราก็ต้องคิดว่าเสียงที่เพิ่งได้ยินคืออิวาโอะ ฮาขะมะดะ อดีตนักมวยอาชีพที่ Guinness World Records บันทึกว่าเป็นนักโทษผู้อยู่ในแดนประหารนานที่สุดในโลก แต่สักพักเราก็พบว่าคิดผิด ภาพยนตร์ “Hakamada” นี้มิได้เป็นเพียงเรื่องของผู้ต้องหาคดีเขย่าขวัญฆาตกรรม 4 ราย ปล้นทรัพย์ และวางเพลิงที่เมืองฮามะมัตสึ เมืองเล็กๆ ในเขตชิสึโอกะทางตอนกลางประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่เมื่อปี 2509
สารคดีที่น่าติดตามตลอดความยาว 72 นาทีเรื่องนี้ลำดับเหตุการณ์ของคดีผ่านกระบวนการ (ที่ไม่ค่อย) ยุติธรรมซึ่งดูเหมือนจะตัดสินว่าผิดเสียก่อนแล้วค่อยหาหลักฐานมาสนับสนุน ระบบจารีตที่ให้อำนาจตำรวจและอัยการคุมตัวผู้ต้องสงสัยไว้สอบสวนได้นานกว่าสามสัปดาห์โดยไม่ต้องมีทนายจำเลย ระบบที่อนุญาตให้ตำรวจและอัยการไม่ต้องแสดงหลักฐานที่สืบหามาได้กับทนายจำเลย และด้วยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างพวกอัยการกับผู้พิพากษานี้ อัตราการตัดสินคดีว่าผิดตามข้อกล่าวหาที่สูงมากของญี่ปุ่นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ แต่น่าตกใจมากกว่าที่สูงเกือบเท่าจีน
ด้วยความที่ไดเองเป็นคนนอกที่เพิ่งทราบและสนใจเรื่องฮาขะมะดะตอนที่เขาย้ายไปญี่ปุ่น และสาธารณชนเริ่มรณรงค์ให้ทางการปล่อยตัวฮาขะมะดะและตัดสินคดีใหม่ การเล่าเรื่องของไดจึงชัดถ้อยตรงความ เหมาะกับผู้ชมต่างชาติอย่างเราๆ ที่ยังไม่รู้ที่มาที่ไปของคดีนี้มากนักหรือบางคนยังไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ ถึงแม้ว่าไดจะพยายามเป็นกลางโดยการไม่เปรียบเทียบกับมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมของประเทศอื่น ๆ แต่ถ้าตำรวจและอัยการที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ได้มาแสดงตนมากกว่านี้ เราก็น่าจะได้ฟังความครบทั้งสองข้าง ตอนนี้มีแต่เสียงบางตอนจากเทปบันทึกการสอบสวนที่ตำรวจไม่ให้ฮาขะมะดะพักเข้าห้องน้ำและผู้พิพากษาที่มาหลั่งน้ำตาสารภาพว่ารู้สึกผิดที่ตัดสินลงโทษประหารหลังจากผ่านไปหลายทศวรรษแล้ว
เราไม่ได้เห็นภาพฮาขะมะดะในเรือนจำ แต่ได้ฟังเรื่องสภาพจิตใจเขาที่แย่ลงเรื่อยๆ จากฮิเดโกะ พี่สาวที่เชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของน้องชายและทุ่มเทเวลาเกือบครึ่งศตวรรษต่อสู้เพื่อให้เขาได้รับความยุติธรรม แรก ๆ ก็สู้อยู่คนเดียว ต่อมาก็ได้แนวร่วมมากขึ้นรวมทั้งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่น พอเราได้เห็นภาพฮาขะมะดะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำที่กรุงโตเกียวและในฉากต่อมาก็ได้เห็นเขาเดินไปเดินมาอย่างไม่เป็นสุขและได้ยินเขาพูดรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง คำพูดของพี่สาวก็กลับมากระตุ้นจินตนาการเราให้นึกไปถึงสภาพห้องขังในแดนประหาร ไม่นานหลังจากที่เราคิดสรุปไปว่าเขาได้รับความยุติธรรมแล้ว สารคดีก็เตือนเราว่านี่ยังไม่ใช่ชัยชนะ คดีนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่ยังคงค้างอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกา และเราก็ไม่รู้เลยว่าชายชราวัย 84 ผู้นี้จะมีโอกาสพิสูจน์ความบริสุทธิ์ในระหว่างที่เขายังมีลมหายใจหรือไม่ หรือจะได้รับเงินชดเชยเวลาและอิสรภาพค่อนชีวิตที่เขาสูญเสียไปหรือเปล่า
ย้อนคิดใกล้ตัวกันบ้าง กรมราชทัณฑ์ไทยประหารชีวิตนักโทษรายสุดท้ายเมื่อปี 2561 หลังจากที่ไม่ได้ประหารชีวิตใครมา 9 ปี ดูเหมือนว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่มีคดีข่มขืนหรือสังหารหมู่ เราก็จะเริ่มถกเถียงกันอีกครั้งด้วยเหตุผลร้อยแปดว่าตาต้องแลกด้วยตา ฟันต้องต่อฟัน ชีวิตต้องแลกด้วยชีวิตหรือไม่ ถึงแม้ว่าประเทศส่วนใหญ่ที่ไม่ได้เป็นเมืองพุทธแบบเราจะยกเลิกโทษประหารชีวิตกันไปแล้ว และน่าสังเกตว่าคำว่า “corrections” ในภาษาอังกฤษนั้นแสดงนัยการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากกว่าคำว่า “ราชทัณฑ์” ในภาษาไทย
ในวันยุติโทษประหารชีวิตสากลและยุโรป 10 ตุลาคมนี้ จึงนับว่าเหมาะเจาะลงตัวที่ในประเทศที่เลื่องลือมานานว่า “คุกมีไว้ขังคนจนเท่านั้น” หรือเพิ่งกระฉ่อนฉาวไปทั่วโลกว่าคนรวยสามารถเมาเหล้าเมายาขับรถชนตำรวจเสียชีวิตแล้วหนีไปต่างประเทศจนความเร็วรถเปลี่ยนได้และคดีหมดอายุความนั้น เราจะได้มีโอกาสชมภาพยนตร์ “Hakamada” บนจอใหญ่ ด้วยความร่วมมือของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย สมาคมฝรั่งเศสกรุงเทพฯ และ Documentary Club หลังจบภาพยนตร์ยังมีการเสวนาหัวข้อ “โทษประหาร: ยุติธรรมหรือความผิดพลาด” โดยวิทยากรจากหลายภาคส่วน อาทิ ท่านเจ้าคุณมีชัยแห่งวัดหงส์รัตนาราม คุณปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ต่อด้วย
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: European Union in Thailand