UNMUTED PROJECT

TWO HUNDRED ARTWORKS WERE SENT IN AND EXHIBITED OUTDOORS AS A PART OF AN EXHIBITION, ORGANIZED BY THE UNMUTED PROJECT, AS AN ANTI-DICTATORSHIP MOB

TEXT: WEE VIRAPORN
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ตั้งแต่วันหนึ่งในเดือนกรกฎาคมที่เราเห็นเพจ Facebook ของ “Unmuted Project” เปิดตัวพร้อมประกาศเปิดรับงานศิลปะทุกแขนงที่เคยถูกจำกัดเสรีภาพการแสดงออก เพื่อรวมกันไปจัดนิทรรศการในฐานะ “ม็อบ” ต่อต้านเผด็จการ เราก็อดไม่ได้ที่จะติดตามความเคลื่อนไหวของเพจนี้ด้วยความสนใจ จนได้ไปชมและเฝ้าสังเกตการณ์นิทรรศการดังกล่าว ที่สวนครูองุ่น ซอยทองหล่อ ระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม – 5 กันยายนที่ผ่านมา

ไม่ใช่ว่าในกรุงเทพฯ จะไม่เคยมีนิทรรศการศิลปะที่พูดเรื่องการเมืองเลยนับตั้งแต่การรัฐประหารโดย คสช. เมื่อปี 2557 แต่ที่ผ่านมาไม่ว่าจะนิทรรศการเดี่ยวหรือกลุ่ม เรามักจะได้ข่าวว่ามีทหารไปเยี่ยมชม หรือเพื่อนศิลปินแอบมาซุบซิบให้ฟังว่าโดนทางเจ้าภาพ หรือเจ้าของสถานที่ขอให้ทบทวนหรือเซ็นเซอร์ผลงานบางชิ้น ภายใต้บรรยากาศอึมครึมเช่นนี้ ทำให้เรายิ่งตื่นเต้นกับนิทรรศการที่เปิดกว้างให้ผู้ส่งผลงานซึ่งจะเป็นใครก็ได้ นำมาจัดแสดงร่วมกันกว่า 200 ชิ้น โดยไม่มีการติดคำอธิบาย ไม่ได้จัดหมวดหมู่ และไม่มีเครดิตผู้สร้างงาน บนพื้นที่กลางแจ้งที่ไม่ใช่หอศิลป์หรือแกลเลอรี่

ถ้าสถานการณ์บ้านเมืองที่กำลังน่าติดตามในช่วงนี้เกิดจากความเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะนักเรียน นักศึกษา และการขับเคลื่อนประเด็นของการชุมนุมถูกเริ่มบนโลกออนไลน์ก่อนจะลงมาปรากฎในการชุมนุมแบบออฟไลน์ ผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้ก็เช่นกัน เราได้เห็นผลงานบางชิ้นที่คุ้นตาจากนักวาดภาพประกอบรุ่นใหม่ในโลกโซเชียล มีหลายชิ้นที่พูดเรื่องประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา การถูกกดขี่โดยอำนาจนิยมที่พบเห็นได้ในสังคมโรงเรียน รวมถึงการชี้ประเด็นปัญหาที่เราอาจไม่กล้าคุยกันตรงๆ ในที่แจ้ง จากการพูดคุยกับคณะผู้จัดงาน ทำให้ทราบว่าเราเข้าใจไม่ผิดว่านี่คือนิทรรศการของคนรุ่นใหม่อย่างแท้จริง ตั้งแต่ทีมงานที่มีอายุไม่เกิน 25 อาสาสมัครจำนวนมากยังเป็นนักเรียนมัธยม และผู้ส่งผลงานมาจัดแสดงบางคนยังใช้คำนำหน้าว่า “ด.ช.”

หากตัดความอึดอัดที่รู้สึกได้จากการมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยช่วยดูแลความปลอดภัย บรรยากาศในงานเป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ผู้ชมมีความหลากหลาย มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ครอบครัว รวมถึงคนต่างชาติ เดินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง การได้เห็นหลายประเด็นที่ขับเคลื่อนกันบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการถูกบังคับสูญหาย ความไม่ชอบมาพากลของนักการเมืองที่คุ้นชื่อ ความไม่เป็นกลางของกระบวนการยุติธรรม และปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ที่ถูกตีความออกมาเป็นงานทัศนศิลป์ บทกวี การแสดงละคร และดนตรี จำนวนมากในพื้นที่เดียวกัน แสดงให้เห็นว่าภายใต้ความสงบเรียบร้อยที่เป็น “ข้ออ้าง” ของภาครัฐตลอดมานั้น มีเสียงของประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการแสดงออก และศิลปะควรจะเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสะท้อนความต้องการของประชาชน

ไม่ว่าจะด้วยเพราะความสนใจทางการเมืองที่มากขึ้นในสังคม ความกังวลต่อสภาพเศรษฐกิจ และต่อความสามารถของรัฐบาล ความไม่มีพิธีรีตองของสถานที่และรูปแบบการจัดงาน หรือทุกอย่างประกอบกัน ณ เวลานี้ Unmuted Project ได้เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ เปิดพื้นที่และขยับเพดานการรับรู้ของสังคมไปอีกขั้นหนึ่งว่า “อะไรก็เป็นศิลปะได้ และในศิลปะมีการเมืองอยู่ในนั้นเสมอ” เชื่อว่ากิจกรรมครั้งต่อๆ ไปจะได้รับความสนใจเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน

สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสชมนิทรรศการ Unmuted Project ผู้จัดแจ้งเราว่าจะมีการนำผลงานบางส่วนไปจัดแสดงอีกครั้งที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ในวันที่ 12 กันยายนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม Act สิ Art และขณะนี้ยังมีผู้จัดที่สนใจติดต่อมาอีกหลายราย

fb.com/unmutedTHproject

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *