NOT ONLY IS IT A FLEXIBLE PLACE THAT ALLOWS A VARIETY OF EVENTS TO OCCUR, BUT THE RECENT UTCC CO-WORKING SPACE ALSO ACTS AS A NEW CONNECTION POINT FOR THE EXISTING CLUSTER OF BUILDINGS
TEXT: PONGPON YUTTHARAT
PHOTO: KETSIREE WONGWAN
(For English, press here)
มีหลายคนตั้งคำถามว่าระบบการศึกษาไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไรในเมื่อเครื่องมือสำหรับเข้าถึงองค์ความรู้มันเปลี่ยนไปมากแล้ว เราคงจะไม่พูดถึงซอฟต์แวร์ที่เป็นกระบวนการจัดการเรียนการสอน แต่ในที่นี้เราจะให้ความสำคัญกับฮาร์ดแวร์ หรือการออกแบบเชิงกายภาพของ “พื้นที่เรียนรู้” ที่เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งความรู้และทำหน้าที่กระตุ้นความอยากรู้ของผู้เรียนยุคใหม่ที่ถูกนิยามว่า Generation Z และจะทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการกับนักจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษาต่อไป
บนพื้นที่ชั้น 1 ของอาคาร 10 ในมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ซึ่งเดิมเคยเป็นที่ตั้งของฝ่ายสื่อสารองค์กรและการเงินของมหาวิทยาลัย ถูกวางแผนใหม่ให้เป็นพื้นที่เรียนรู้ของสถานศึกษา และเพื่อให้ตอบโจทย์กับโลกที่เปลี่ยนไป ทางมหาวิทยาลัยจึงอยากสร้างพื้นที่ที่ดูผ่อนคลายเหมือนเป็น living room ของสถาบันขึ้น โปรแกรมของพื้นที่นี้จึงกลายเป็น UTCC Co-Working Space ซึ่งเป็นงานรีโนเวทพื้นที่ขนาดประมาณ 600 ตารางเมตร ที่บรรจุไปด้วยห้องสมุด ห้องประชุมขนาดเล็กที่สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลายรูปแบบ พื้นที่อเนกประสงค์สำหรับจัดงานอีเวนต์ งานสัมมนา และใช้นั่งทำงานได้เกือบตลอดทั้งวัน ซึ่งนั่นทำให้พื้นที่นี้มีความยืดหยุ่นในการใช้งานมากกว่าการเป็นห้องเรียนที่ดูเฉพาะเจาะจง
CLICK ON IMAGE TO VIEW FULL SIZE
เนื่องจากไฮไลท์ของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยคือ อาคารรูปใบเรือ (ซึ่งตีความและออกแบบขึ้นจากโลโก้ของมหาวิทยาลัย) สถาปนิกผู้รับหน้าที่ในการออกแบบ UTCC Co-Working Space ครั้งนี้อย่าง M Space จึงตีความต่อเนื่องและให้ความหมายของพื้นที่ใหม่นี้ให้เป็นเหมือนลำเรือ แปลนรูปวงรีทำให้ห้องมีสเปซที่ดูเหมือนอยู่ในท้องเรือ โดยมีผนังที่ทำจากวัสดุไม้อัดตีซ้อนเกล็ดทับกันเป็นชั้นๆ และไม้อัดทั้งหมดนี้ยังถูกนำมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ด้วย บรรยากาศของพื้นที่จึงเหมือนกับกำลังนั่งอยู่ในห้องเก็บสัมภาระใต้ท้องเรือ เพียงแต่มีสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐานในการเรียนรู้อย่าง คอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต Wi-Fi เครื่องปริ้นเตอร์ เตรียมพร้อมไว้ให้อย่างครบครันจนทำให้เกิด “สภาวะน่าเรียน” ได้ไม่ยาก
คีย์เวิร์ดที่สำคัญอีกอย่างของงานนี้คือคำว่า “linkage” เพราะต้องการแก้ปัญหาเดิมของพื้นที่ที่อาคารแต่ละหลังถูกแยกจากกัน UTCC Co-Working Space แห่งนี้จึงถูกออกแบบมาเป็นตัวเชื่อมแต่ละพื้นที่เข้าหากันอีกครั้ง พื้นที่ที่เคยเป็นบันไดก็ถูกออกแบบใหม่เป็นทางลาดเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการเข้าถึงอาคารต่างๆ และการเชื่อมโยงนี้เองยังทำให้เกิดทางสัญจรที่เอื้อให้ความสัมพันธ์ของผู้คนมีมากขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงของลักษณะผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 หรือที่เรียกว่าเด็ก Generation Z นั้นมีความแตกต่างกับผู้เรียนในยุคก่อนๆ คือส่วนใหญ่จะเบื่อง่าย ทุกอย่างอยู่บนโลกออนไลน์ มีการตัดสินใจทำอะไรอย่างรวดเร็วและสามารถทำงานหลายๆ อย่างได้พร้อมกัน การออกแบบสภาวะน่าเรียนโดยสร้างโปรแกรมเป็น UTCC Co-Working Space ที่สามารถใช้งานพื้นที่ได้อย่างยืดหยุ่น มีบรรยากาศที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์สามารถรับมือกับองค์ความรู้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ถือเป็นงานออกแบบที่มาช่วยให้สภาวะน่าเรียนมีความสมบูรณ์ขึ้นในสถาปัตยกรรมสถานศึกษาปัจจุบัน
ส่วนอนาคตที่กำลังท้าทายสถาปนิกหลังจากนี้คือการออกแบบพื้นที่เรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่ได้จำกัดแค่อยู่ในชั้นเรียน โรงเรียน มหาวิทยาลัย และอาจจะรวมไปถึงพื้นที่ UTCC Co-Working Space แห่งนี้ โลกที่ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว digital disruption อาจจะไม่ใช่ปัญหาหลักอีกต่อไปหลังจากที่เราเจอเรื่องใหญ่กว่านั้นอย่างโรคระบาดที่มีผลต่อการปฏิสัมพันธ์ของผู้เรียนและพื้นที่กายภาพของสถานศึกษาโดยตรง ซึ่งก็คาดเดาได้ยากมากว่าสถาปัตยกรรมสถานศึกษาในอนาคตจะออกมาในรูปแบบไหน สุดท้ายแล้วพื้นที่ในอุดมคติที่เป็นโลกเสมือนอาจจะกลายเป็นคำตอบก็ได้ และถ้าถึงเวลานั้นจริงคงไม่ใช่แค่เรื่องของผู้เรียนที่เปลี่ยนไป แต่หมายถึงวิชาชีพอื่นๆ รวมทั้งสถาปนิกที่อาจจะต้องรีโนเวทเนื้อหาของโรงเรียนสถาปัตยกรรมเพื่อเรียนรู้และออกแบบให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ของเราไปด้วย