BAAN SAILOM

IN THEIR LATEST PROJECT, ANONYM DRAWS THE CHEERFULNESS
OF THE WIND IN AND DRAWS THE RIGIDNESS OF THE DESIGN OUT
BY USING BREEZE

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

สำหรับ พงศ์ภัทร เอื้อสังคมเศรษฐ์ สถาปนิกผู้ก่อร่วมตั้งออฟฟิศ Anonym บ้านแต่ละหลังที่เขาออกแบบต่างก็มีความพิเศษในแบบของตัวเอง ไม่ว่าจะจากบริบท ลักษณะการใช้งาน หรือคาแรกเตอร์ของผู้อาศัยที่แตกต่างกันก็ตาม ในบ้านหลังล่าสุดที่เขาทำ ความพิเศษที่พงศ์ภัทรสัมผัสได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ามาสำรวจไซต์คือสายลมที่พัดโชยเข้ามามากเป็นพิเศษ จนทำให้เขาตัดสินใจหยิบสายลมที่ว่ามาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการออกแบบ พร้อมกับแทรกซึมตัวตนของมันผ่านรายละเอียดต่างๆ ในบ้าน ให้สมกับชื่อของบ้านที่ถูกตั้งไว้ว่าบ้านสายลม

บ้านสายลมเป็นบ้านขนาด 4 ชั้น ที่รองรับชีวิตคนมากกว่า 3 ครอบครัว Anonym ออกแบบด้านในให้เป็นเสมือน service apartment ที่แต่ละครอบครัวสามารถแยกกันใช้งานภายในชั้นของตัวเองได้อิสระ โดยชั้นแรกประกอบด้วยพื้นที่ส่วนกลางอย่าง ห้องนั่งเล่น และห้องครัว ส่วนแต่ละชั้นถัดๆ ไปนั้น จะประกอบด้วยห้องนอน ห้องนั่งเล่น และพื้นที่ pantry เล็กๆ ขณะเดียวกัน ทุกชั้นก็สามารถเชื่อมต่อกันด้วยพื้นที่คอร์ท 2 คอร์ท ที่เจาะทะลุไปตั้งแต่ชั้นแรกถึงชั้นบนสุด

คอร์ทแรกเป็นพื้นที่ภายนอกสำหรับปีนเขา เกิดจากความต้องการของเจ้าของบ้านที่ชอบปีนเขาเป็นงานอดิเรก ส่วนอีกคอร์ทเป็นพื้นที่ทางเดินของแต่ละชั้น โดยทางเดินนั้นถูกจัดวางเหลื่อมกันไปมาเพื่อสร้างความหลากหลายให้กับสเปซ ด้านบนของคอร์ทมีการยกระยะหลังคาขึ้นเพื่อเจาะช่องให้ลมไหลเวียน ใช้วัสดุใสกับหลังคาเพื่อเปิดรับแสงธรรมชาติ และแม้คอร์ทที่ว่านี้จะตั้งอยู่ภายในตัวบ้าน แต่การเปิดช่องรับลมและแสงนั้นได้สร้างความคลุมเครือให้กับพื้นที่ได้อย่างน่าสนใจ จนเหมือนว่ามันเป็นพื้นที่ภายนอก



หากเราถอยกลับมามองที่ด้านนอกของบ้านสายลม
ก็จะพบกับตัวชูโรงของผลงานชิ้นนี้ นั่นคือ façade อิฐช่องลมที่ถูกเรียบเรียงอย่างสนุกสนานด้วยแพทเทิร์นหลากหลาย เหตุผลที่สถาปนิกเลือกใช้อิฐช่องลมไม่ได้มาจากเรื่องของการเปิดรับลมเข้ามาภายในบ้านเพียงอย่างเดียว แต่มันยังเป็นวัสดุที่ปลอดภัย ราคาไม่แพง กำหนดแพทเทิร์นได้ แถมสร้างความเป็นส่วนตัวให้กับบ้านได้เช่นกัน


Anonym ออกแบบให้ façade โอบล้อมตัวบ้านโดยเฉพาะบริเวณที่มีแสงแดดเข้ามามาก กับบริเวณที่ต้องการสร้างความเป็นส่วนตัวขึ้นมาหน่อย เลือกใช้แพทเทิร์นอิฐที่มีช่องเปิดน้อยในชั้นล่างเพื่อความเป็นส่วนตัว ก่อนจะค่อยๆ ไล่เรียงไปจนถึงชั้นบนที่แพทเทิร์นอิฐนั้นมีช่องเปิดมากที่สุด สอดรับกับมุมมองภายนอกที่ปลอดโปร่งมากกว่าเดิม นอกจากนี้ สถาปนิกยังออกแบบให้พื้นที่ที่เกิดขึ้นระหว่าง façade กับตัวบ้านกลายเป็นชานภายนอกพร้อมกระถางปลูกต้นไม้ สร้างความร่มรื่นให้บ้านได้อีกทาง ซึ่งลักษณะการเปิดปิดมุมมองที่แตกต่างกันไปนี้ ก็ส่งผลให้ผังพื้นและสเปซของแต่ละชั้นมีความหลากหลาย ลดทอนความแข็งเกร็งของบ้านที่สูงถึง 4 ชั้น ได้อย่างน่าสนใจไปในตัวด้วย

ยังมีรายละเอียดสนุกๆ เพิ่มเติมในการออกแบบ façade ของบ้านหลังนี้ อย่างการที่สถาปนิกต้องการให้อิฐช่องลมถูกวางจบเป็นก้อนโดยไม่มีการตัดตรงกลาง การกะระยะของอิฐ คาน ทับหลัง จึงกลายเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งนั่นทำให้การออกแบบไม่ได้จบลงอยู่แค่บนแผ่นกระดาษ แต่ต้องมาขยับปรับเปลี่ยนกันหน้างานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการเป็นดีไซน์ที่มีความคราฟต์เหมือนกันพงศ์ภัทรกล่าว

Photo: Napat Charitbutra

จะว่าไปแล้ว การสลายความแข็งเกร็งของการออกแบบลงก็เป็นอีกประเด็นสำคัญของงาน ไม่ว่าจะจากการเจาะช่องเปิด การสร้างพื้นที่คอร์ทภายใน หรือการเล่นกับ texture บนวัสดุต่างๆ อย่างอิฐช่องลม หรือผนังคอนกรีตที่มี texture เส้นตั้งจากการนำเกรียงสำเร็จรูปมากรีดทีละแถวเพื่อให้เกิดลวดลาย พงศ์ภัทรบอกกับเราว่าในตอนแรกเขาเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะสร้างให้เกิด texture นั้นได้อย่างไร จนกระทั่งให้ช่างได้ทดลองทำหน้างาน ผลที่ได้คือลวดลายบนผิวผนังที่ช่วยสร้างมิติและลดความทึบตันของระนาบได้เป็นอย่างดี

ไม่เพียงความแข็งเกร็งของตัวอาคารจะถูกลดทอนลง ความแข็งเกร็งในการออกแบบของสถาปนิกก็ถูกสลายลงไปเช่นกัน โดยปกติ Anonym จะขึ้นชื่อเรื่องการออกแบบทุกรายละเอียดของงานให้ออกมาเรียบเนี้ยบที่สุด แต่ในบ้านหลังนี้ เขาเลือกปล่อยให้เห็นคานบน façade อิฐช่องลม หรือเปิดฝ้าให้เห็นท่อแอร์อย่างอล่างฉ่างในห้องนั่งเล่นอย่างตั้งใจ ซึ่งนี่ถือเป็นการผ่อนคลายตัวตนลงจนพาลทำให้หลายคนคิดว่าบ้านสายลมเป็นงานออกแบบจากสถาปนิกคนละคน “เราชอบบ้านหลังนี้ตรงที่มันไม่ได้เรียบร้อย จบตรงไหนก็จบตรงนั้น เหมือนเราไม่ได้ซีเรียสและไม่ได้ประดิดประดอยมากเกินไป เราชอบงานนี้ตรงที่มันเป็นอย่างนั้นพงศ์ภัทรเสริม

ดูเหมือนว่าในงานนี้ สายลมจะไม่ได้เพียงพัดพาความเย็นสบายมาให้กับบ้าน แต่ยังพัดพาตัวตนใหม่ๆ มาให้กับสถาปนิกด้วย น่าติดตามเหมือนกันว่าในก้าวต่อๆ ไปของ Anonym เราจะได้เห็นอะไรที่เปลี่ยนไปในการออกแบบของพวกเขาอีกบ้าง

anonymstudio.com
fb.com/anonymstudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *