DISCOVERED BY AHEC

ART4D SPEAKS WITH KAMONWAN MUNGATEE AND KORNPETCH CHOTIPATOOMWAN, TWO RISING THAI DESIGNERS WHOSE PROJECTS ARE SHOWCASED AT THE DESIGN MUSEUM, LONDON AS A PART OF AHEC’S ‘DISCOVERED’ PLATFORM

TEXT: PRATARN TEERATADA

PHOTO COURTESY OF AHEC EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

The Smile, collaborative project between London Design Festival, Alison Brooks Architects, AHEC and Arup as an exhibition space inside London Design Festival 2016 | Photo courtesy of Dav Stewart and Jon Cardwell

American Hardwood Export Council (AHEC) องค์กรด้านการตลาดที่มีบทบาทอย่างสูงในการสนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมไม้เนื้อแข็งอย่างแข็งขัน ตลอดหลายปีมานี้ AHEC มักจะชวนนักออกแบบทั้งหน้าใหม่และระดับโลกมาร่วมทำงานสนุกๆ กระตุ้นต่อมความคิดกันเป็นประจำ โดยเฉพาะการร่วมกับ London Design Festival นำเสนอผลงานดีๆ อย่างเช่น Sclera ศาลาไม้ทรงกลมที่ทำร่วมกับ David Adjaye ในปี 2008 The Wish List ในปี 2014 ที่รวบรวมนักออกแบบระดับตำนานจับคู่กับดาวรุ่งรุ่นใหม่ 10 คู่ ร่วมกันออกแบบผลิตภัณฑ์ล้ำๆ The Smile ในปี 2016 ที่ร่วมกับสถาปนิก Alison Brooks และ ทีมวิศวกรจาก Arup สร้างโครงสร้างไม้รูปทรงเป็นท่อโค้งขนาดยักษ์ แต่ละโครงการล้วนเป็นที่จดจำและสร้างแรงบันดาลใจตลอดจนชื่อเสียงระบือไกลไปทั่วโลกมาแล้วทั้งสิ้น

ล่าสุดนี้ AHEC ร่วมกับนิตยสาร Wallpaper* สร้าง platform สำหรับนักออกแบบรุ่นใหม่ของโลกในชื่อโครงการว่า “Discovered” โดยคัดเลือกนักออกแบบดาวรุ่ง 20 คน จาก 16 ประเทศ มาร่วมสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากการทดลองใช้ไม้ 3 ประเภท เรดโอ๊ค เมเปิ้ล และเชอรี่ โดยใช้ประสบการณ์ในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ปัญหาไวรัสระบาด โดยผลงานทั้งหมดมีกำหนดจัดแสดงที่ Design Museum ลอนดอนในปีนี้ และเป็นเรื่องน่ายินดีที่ในบรรดานักออกแบบ 20 คนที่ถูกเลือกในโครงการนี้มีนักออกแบบชาวไทยอยู่ 2 คน ที่ติดอยู่ในกลุ่มนี้ด้วยนั่นก็คือ กมลวรรณ มุ่งหน้าที่ (หมิว) และ กรเพชร โชติปทุมวรรณ (หน่อง) 

Kamonwan Mungnatee (Mew)

กมลวรรณ มุ่งหน้าที่ (หมิว) ก่อตั้ง Budd Design Studio ที่กรุงเทพฯ ในปี 2019 หมิวจบการศึกษาจาก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาการออกแบบอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังในปีเดียวกัน งานออกแบบของหมิวมีตั้งแต่ของชิ้นเล็กๆ ของแต่งบ้าน ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์ ที่มีแรงบันดาลใจมาจากความคิดเกี่ยวกับบริบทของผู้ใช้ และของใช้ประจำวัน งานของหมิวมีกระบวนคิดและให้ความสำคัญต่อความคิดสร้างสรรค์ในแง่มุมของ วัสดุ เทคนิค และรูปทรง ในโครงการ Discovered นี้ หมิวออกแบบ Corners Lamp มีแรงบันดาลใจมาจากเจดีย์โบราณของไทย โดยใส่อารมณ์ส่วนตัวที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่าง รูปทรง แสง และเงา เข้าไปในผลงานชิ้นนี้

Kornpetch Chotipatoomwan (Nong)

กรเพชร โชติปทุมวรรณ (หน่อง) นักออกแบบจากประเทศไทยในโครงการ Discovered อีกคน เป็นนักออกแบบที่มีความตั้งใจในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ต่อของใช้ประจำวันให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น วิธีทำงานออกแบบของหน่อง คือการสะท้อนรูปทรงที่มีความแตกต่าง ประสบการณ์ และวิถีชีวิตร่วมสมัยออกมาเป็นชิ้นงานผลิตภัณฑ์ หน่องจบการศึกษาจาก RISD (Rhode Island School of Design) สหรัฐอเมริกา และ RCA (Royal College of Art) ประเทศอังกฤษ ความสนใจของหน่องอยู่ที่การผสมผสานงานออกแบบแฟชั่น เฟอร์นิเจอร์ แสงไฟ และสเปซมาไว้ด้วยกัน โปรเจ็คต์จบการศึกษาของหน่องคือ “Landing Space” ติด longlist ของ Dezeen Awards ปี 2018 ติด shortlist ของ Robin and Lucienne Day Foundation Award ปี 2017 และยังติดอยู่ในกลุ่ม Talents to Watch ในปี 2017 ของ Sight Unseen อีกด้วย

Thought Bubble ผลงานของหน่องในโครงการ Discovered เกิดจากความคุ้นเคยในอดีตเกี่ยวกับการเดินทางและพฤติกรรมสังคม ที่ตีความออกมาเป็นเก้าอี้โยกที่ให้ความผ่อนคลาย และการเคลื่อนไหวซ้ำๆ ยังช่วยให้เกิดผลทางด้านสมาธิภาวนาอีกด้วย

art4d มีบทสนทนาสั้นๆ กับสองสาวนักออกแบบรุ่นใหม่เกี่ยวกับความคิดของพวกเธอมาให้ติดตามกันในโอกาสนี้ 

art4d: รู้สึกอย่างไรบ้าง ที่ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในนักออกแบบเพียง20คนจากทั่วโลกให้มาร่วมโปรเจ็คต์นี้

Kamolwan Mungnatee: เราตื่นเต้นกับโปรเจ็คต์นี้มาก และคิดว่ามันเป็นโปรเจ็คต์ที่น่าสนใจทันทีที่เรารู้ข่าวและรายละเอียดว่างานที่ได้รับเลือกจะได้ถูกนำไปจัดแสดงที่ London Design Museum และการได้ร่วมงานกับ Wallpaper* ก็เป็นเหมือนอีกหนึ่งความฝันของนักออกแบบไทยอย่างเรา ที่จะได้ออกแบบและแสดงผลงานที่นั่น มันเป็นเหมือนสถานที่ที่เป็นที่รู้จักและยอมรับในอุตสาหกรรมออกแบบระดับโลก ในฐานะของนักออกแบบไทยคนหนึ่ง การได้เป็นส่วนหนึ่งของงานนี้เป็นเหมือนการตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับการทำงานของเราเลย แล้วมันก็เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้พิสูจน์ตัวเองในบริบทนานาชาติที่กว้างใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

Kornpetch Chotipatoomwan: รู้สึกโชคดีมากๆ ที่ได้รับเลือก โปรเจ็คต์นี้ให้โอกาสที่ไม่ได้มีมาง่ายๆ ให้เราได้ร่วมทำงานกับผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก และได้ทำงานกับทีมงานจากสำนักพิมพ์และบริษัทระดับโลกอย่าง Wallpaper* และ AHEC อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่เราคิดว่ามีค่าอย่างมากเลยก็คือโอกาสในการได้แสดงงานที่ Design Museum ที่ลอนดอน ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความหมายสำหรับเรามาก พิพิธภัณฑ์นั้นเป็นเหมือนบ้านผลงานของเหล่านักออกแบบที่เราชื่นชมและเป็นแรงบันดาลใจให้เรา เราเลยรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่งานของเราจะได้ไปจัดแสดงที่นั่นด้วย เพราะมันเป็นที่ๆ สร้างแรงบันดาลใจมากมายให้เรา

art4d: แรงบันดาลใจและแนวความคิดหลักเบื้องหลังงานออกแบบของคุณคืออะไร ?

KM: แรงบันดาลใจจากการสังเกตดีเทลในงานสถาปัตยกรรมไทย “การย่อมุม” เป็นรายละเอียดที่แฝงอยู่ในสถาปัตยกรรมไทย เป็นเทคนิคโดยช่างฝีมือในการลดมุมจากโครงสร้างสี่เหลี่ยม เป็นเทคนิคในการลดมุมของสี่เหลี่ยมด้านนอกเพื่อเพิ่มมุมด้านใน ให้แตกออกมาเป็นหลายๆ มุม เรียงไล่ระดับต่อกันเป็นชั้นแนวตั้งให้เกิดแพทเทิร์นสามมิติขึ้นมา 

เราอยากสะท้อนความเป็นเอกลักษณ์ของโครงสร้างผ่านการสังเกตการย่อมุมแบบดั้งเดิม มาตีความใหม่เพื่อให้เกิดมุมมองที่ต่างจากเดิมเข้าไปในชิ้นงาน เมื่อแสงตกกระทบบนเจดีย์เกิดเป็นเงาที่ทอดผ่านมุมต่างๆ เรามองว่าจุดนี้น่าสนใจ เราคิดหาวิธีที่จะทำให้เห็นภาพใหม่ๆ (re-visualize) ผ่านมุมมองจากแสงเงาต่างๆ สร้างสรรค์เป็นโคมไฟ lighting collections โดยตั้งใจให้แสงตกกระทบลงมาที่พื้นจะเกิดเป็นภาพจากการย่อมุมที่ถูกตีความใหม่ สร้างบรรยากาศและทำงานร่วมกับพื้นที่ว่างโดยรอบ

KC: งานออกแบบคือการตอบสนองเส้นแบ่งที่พร่าเลือนระหว่างชีวิตส่วนตัวกับงาน ซึ่งวิกฤตการณ์โรคระบาดครั้งนี้นำมาสู่เรา แนวคิดในการออกแบบของเราคือการหาทางทำให้สิ่งของธรรมดาๆ ที่เราสัมผัสสามารถสะท้อนตัวตนของเราออกมาและช่วยสร้างรากฐานความเติบโตจากภายใน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรากำลังค้นคว้าเกี่ยวกับผลของความสงบอันเกิดจากการเคลื่อนไหว ซึ่งช่วยกระตุ้นความสามารถในการตื่นรู้ภายในและช่วยให้ค้นพบความคิดที่แจ่มชัดได้ท่ามกลางชีวิตประจำวันอันแสนจะสับสนวุ่นวาย

ในช่วงระหว่างที่ไวรัสระบาด พวกเรามีเวลาอยู่บ้านมากกว่าเดิม เราทานอาหาร พักผ่อนนอนหลับ แล้วยังทำงาน ออกกำลังกาย สอนหนังสือที่บ้าน กิจวัตรประจำวันเหล่านี้สร้างความเครียดลึกๆ ให้กับทุกคนพี่ยังโหยหาความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างที่เคยเป็น ในการหาทางเชื่อมต่อกับสังคมนั้น หลายคนหันไปพึ่งโซเชียลมีเดียหรือไม่ก็หางานอดิเรกทำ แต่เราคิดว่าพฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงทางแก้ปัญหาชั่วคราวจากอาการเบื่อเวลาต้องติดอยู่กับบ้านนานๆ ในขณะที่พวกเรามักจะมองออกไปด้านนอกเพื่อหาทางเยียวยาจิตใจและอารมณ์ภายใน ฉันเชื่อว่าการตื่นรู้ด้วยการมองเข้าไปด้านในจึงจะเป็นรากฐานอันแท้จริงของชีวิตที่อยู่เย็นเป็นสุข

art4d: คุณเรียนรู้อะไรบ้างจาก Nathan Yong Mentor ของโครงการนี้ 

KM: การทำงานร่วมกันกับ Nathan Yong ที่เป็นดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์ที่มากประสบการณ์นั้นเป็นประสบการณ์ที่ดี Nathan เป็นคนที่ค่อนข้างเปิดกว้างในการนำเสนอแนวคิด เขามักจะตั้งคำถามในแต่ละส่วนของงานออกแบบเสมอ ไม่ขัดแนวคิดของเราแต่เป็นการเสริมแนวคิดนั้นมากกว่า ซึ่งค่อนข้างดีมากเพราะช่วยให้เราสะท้อนความคิดที่อยู่ในหัว ได้ประมวลหาวิธีการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมา รวมไปถึงการเชื่อมโยงระหว่างแนวคิด วัสดุ การผลิตต่างๆ ให้สอดคล้องและทำให้ภาพที่คิดไว้ออกมาให้ได้มากที่สุด

KC: ในระหว่างขั้นตอนการออกแบบ Nathan จะเป็นคนที่คอยช่วยให้โครงการนี้ดำเนินไปอย่างราบรื่น รวมทั้งขั้นตอนการผลิตในโรงงาน เขามักจะให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ในการจัดการกับข้อจำกัดของวัสดุ

art4d: คุณได้เรียนรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับวัสดุที่เป็นแก่นของโปรเจ็คต์นี้

KM: เราตื่นเต้นเหมือนกันตอนที่ได้รับตัวอย่างไม้เยอะมาก ซึ่งในนั้นก็มีไม้เชอรี่อเมริกัน ไม้เมเปิ้ลทั้งเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน และโอ๊คแดง เราเห็นว่าไม้สามสายพันธุ์นี้มีคุณลักษณะต่างกันไป ซึ่งแต่ละอันก็น่าทึ่งในแบบของมัน เรารู้สึกมาตลอดว่าไม้เป็นวัสดุที่น่าสนใจ เพราะมันดูมีชีวิต มีคุณสมบัติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว แล้วก็มีคุณค่าที่เหนือกาลเวลา มันเลยเป็นวัสดุที่ควรค่าแก่การเรียนรู้และทำงานด้วย ไม้เป็นวัสดุที่ยอดเยี่ยมสำหรับงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์และออกแบบผลิตภัณฑ์ ไม้เนื้อแข็งเองก็มีหลากหลายพันธุ์ ลายของไม้แต่ละชนิดก็มีลักษณะเฉพาะของมัน เหมือนลายนิ้วมือที่จะไม่มีวันซ้ำกัน จากแนวคิดนั้น เราเลยอยากจะสร้างสิ่งที่เกี่ยวพันกับภาพทัศนะของแสงและเงา ตอนที่เราสัมผัสตัวอย่างไม้แต่ละชนิด เราก็คิดพิจารณาอะไรหลายๆ อย่าง และก็พบกว่าสำหรับไม้เชอรี่และไม้เมเปิ้ลเนื้ออ่อนมีความพิเศษเวลาที่มันถูกกระทบด้วยแสง เราก็เลยเลือกไม้สองชนิดนี้เพราะคุณสมบัติของมันเหมาะกับขั้นตอนการสร้างและผลิตของงานออกแบบของเรา

KC: เรามีความเข้าใจและเห็นคุณค่าของไม้เนื้อแข็งในระดับที่ลึกซึ้งกว่าเดิมมากผ่านการทำงานครั้งนี้  นับตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของโปรเจ็คต์ ทางผู้จัดได้ส่งตัวอย่างไม้หลายประเภทมาให้ดู ไม่ว่าจะเป็นไม้เชอรี่อเมริกัน ไม้เมเปิ้ลทั้งเนื้อแข็งและเนื้ออ่อน และโอ๊คแดง เราได้เรียนรู้ถึงความสามารถของไม้แต่ละประเภท ไปจนถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของมัน ไม้ที่เราเลือกเป็นไม้โอ๊คแดงอเมริกัน ซึ่งมีลายไม้ที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ ที่เหมาะกับเทคนิคการดัดด้วยไอน้ำ พอแห้งแล้วตัวไม้จะมีความแข็งและทนทาน ซึ่งความแข็งแรงเป็นพิเศษนี้เหมาะกับรายละเอียดของความโค้งงอในงานออกแบบของเรา นอกจากนี้ ความโปร่งของเนื้อไม้ที่เป็นตัวสร้างร่องรอยต่างๆ ในลายไม้ และเกิดเป็นลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ของไม้พันธุ์โอ๊คแดง ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามองว่าน่ามหัศจรรย์

การเป็นนักออกแบบที่โตมาในเมืองแบบกรุงเทพฯ ที่มลภาวะทางอากาศเป็นหนึ่งในปัญหา เราเห็นคุณค่าของข้อมูลที่ AHEC ทำเอาไว้มาก เพราะมันช่วยสร้างความตระหนักรู้ให้นักออกแบบในปัจจุบันให้เห็นความสำคัญของประเด็นเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากวัสดุที่เราเลือกใช้ ที่ไปไกลและมีอะไรมากกว่าคุณสมบัติทางกายภาพ ข้อมูลจาก Forest Inventory and Analysis (FIA) ชี้ว่าอัตราการเจริญเติบโตของไม้โอ๊คแดงอเมริกันนั้นเกินกว่าจำนวนที่ถูกตัดมาใช้แล้ว นั่นหมายความว่าไม้ชนิดนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 28.7 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ทำให้มันเป็นวัสดุทางเลือกที่มีความยั่งยืนมากชนิดหนึ่ง

art4d: อะไรคือความท้าทายที่คุณเผชิญในการได้เข้าร่วมโครงการนี้

KM: เราพยายามคิดไปถึงผลลัพธ์ปลายทางที่ต้องการและเทคนิคที่จะใช้กับไม้ของ AHEC เพราะงานของเราต้องส่งต่อให้ช่างฝีมือ การออกแบบเป็นเรื่องของความลงตัว แต่ก็เป็นเรื่องของความถูกต้องแม่นยำด้วยเพราะในการผลิตบางอย่างมีความซับซ้อน ความถนัดในการผลิตแต่ละโรงงานไม่เหมือนกัน จึงต้องสื่อสารในเรื่องแบบให้ลงตัวที่สุดแต่ยังคงอยู่ในผลลัพธ์ที่เราต้องการ

KC: ความท้าทายที่ยากที่สุดที่ฉันเผชิญในการเข้าร่วมกับโครงการนี้ คือระยะทางที่ห่างไกลและไม่ได้เป็นคนติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตโดยตรง ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างยากลำบากในการทดสอบเทคนิคการก่อสร้างให้เป็นไปตามที่ต้องการ

art4d: คุณมีแผนจะทำอะไรต่อหลังจาก “Discovered”

KM: จากการทำงานในครั้งนี้ทำให้เราได้มองเห็นการปรับตัวของวิธีการทำงานออกแบบที่เข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี ไม่ใช่เพียงการปรับตัวเท่านั้น แต่เรายังต้องใช้โอกาสนี้ในการทดลองทำอะไรใหม่ๆ หลังงานนี้จบลงเราก็ตั้งใจว่าอยากทำงานออกแบบ ค้นหาโอกาสและความเป็นไปได้ในการสร้างสรรค์งานออกแบบ ท่ามกลางความท้าทายต่างๆ เพื่อพัฒนางานออกแบบของเราให้เติบโตต่อไปได้ในอนาคต

KC: สิ้นปีที่ผ่านมาเราย้ายกลับมาที่กรุงเทพฯ หลังจากทำงานออกแบบมาได้สองปีครึ่ง ปีนี้เรากลับมาทำงานให้กับธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของครอบครัว เรายังทำโครงการส่วนตัวซึ่งจะเปิดเผยในปีหน้า กรุณาติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ Instagram: nong_kornpetch

discovered.global

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *