PHETKASEM ARTIST STUDIO

THE COLLABORATIVE PROCESS BETWEEN THE MANUFACTURER AND HAS DESIGN AND RESEARCH RESULTS IN THIS PROJECT’S UNEXPECTED AND DISTINCTIVE DESIGN OUTCOME

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

Photo courtesy of HAS design and research

หลังจากทำงานเป็นสถาปนิกในต่างประเทศมาหลายปีและได้ก่อตั้งสตูดิโอ HAS design and research ร่วมกันที่เซี่ยงไฮ้ กุลธิดา ทรงกิตติภักดี และ Jenchieh Hung ก็จับพลัดจับผลูได้กลับมาใช้ชีวิตที่เมืองไทยอีกครั้งหลังเกิดโรคระบาดช่วงต้นปี 2020 ที่ผ่านมา พร้อมกับการรีโนเวททาวน์เฮาส์ข้างบ้านเก่าของกุลธิดาในซอยเพชรเกษม 92/1 ให้เป็นทั้ง HAS design and research สาขากรุงเทพฯ และบ้านของพวกเขาเอง ในชื่อ Phetkasem Artist Studio

ในบริบทของการทำงานที่เปลี่ยนจากแบบ International มาเป็นแบบ Local แบบก่อสร้างที่ลงลึกในรายละเอียดทุกๆ ส่วนที่ทั้งคู่ปลุกปั้นกันตั้งแต่สมัยยังอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ เป็นแบบที่ผู้รับเหมาก่อสร้างไทยหลายต่อหลายเจ้าปฏิเสธที่จะทำ ด้วยมองว่าดีเทลเหล่านี้ทำออกมาให้เป็นจริงได้ยาก กุลธิดาแย้งกับเราว่าที่จริงแล้วดีเทลเหล่านี้ไม่น่าจะก่อสร้างยากแต่อย่างใด แต่อาจจะเป็นเพราะการลงรายละเอียดในแบบที่ละเอียดและครบถ้วนจนอาจดูเยอะเกินแบบปกติสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างเพียงเท่านั้น การที่ผู้รับเหมาหลักไม่สามารถครอบคลุมรายละเอียดการก่อสร้างทั้งหมดของโครงการทำให้ทั้งคู่หันไปหาทางออกที่ตรงไปตรงมาก็คือการนำรายละเอียดงานออกแบบไปหาผู้ผลิตโดยตรงเสียเลย ซึ่งก็ได้ให้ผลลัพธ์ที่คาดไม่ถึงทั้งในเชิงกระบวนการและตัวชิ้นงาน โดยองค์ประกอบที่โดดเด่นที่สุดที่เกิดจากกระบวนการทำงานร่วมกันระหว่างสถาปนิกกับผู้ผลิตโดยตรงก็คือส่วนรั้วนั่นเอง

Photo courtesy of HAS design and research

สถาปนิกตั้งต้นออกแบบให้รั้วนี้สามารถเปิดรับลมและแสงธรรมชาติให้เข้ามาผ่านตัวบ้านได้ และพยายามออกแบบให้เป็นรั้วที่เปลี่ยนภาพจำเดิมๆ ของรั้วที่เราเห็นอยู่ทั่วไป จากแบบรายละเอียดที่มี แรกเริ่มทั้งคู่ทดลองใช้ดินมาบดอัดขึ้นรูป แต่ดินไม่ให้ผลลัพธ์อย่างที่คาดหวัง ทั้งในเชิงสเกลที่มีขอบและร่องต่างจากที่ออกแบบไว้ และในเชิงการก่อสร้างที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของแบบซึ่งต่างไปจากเดิม ประจวบกับการศึกษาวัสดุของรั้วในหมู่บ้าน และได้พบว่ารั้วของบ้านในละแวกเดียวกัน หรือรั้วที่เราเห็นทั่วไปในกรุงเทพฯ นั้นทำด้วยเหล็กเป็นส่วนใหญ่ จึงเริ่มนำแบบรั้วที่ออกแบบไว้มาทดลองกับท่อเหล็กเป็นลำดับต่อมา ซึ่งทั้งคู่ก็ได้ลงมือทำงานร่วมกับช่างและทีมงานจากบริษัทท่อเหล็กซึ่งก็ได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำในชีวิตประจำวันเช่นเดียวกัน โดยหลังจากพัฒนาแบบกับทีมวิศวกรผู้ผลิตก็ได้ยูนิตต้นแบบขนาดจริงในลักษณะ modular system ที่นำมาเรียงสลับกันไป สร้างแพทเทิร์นได้หลากหลายจากจุดตั้งต้นเดียวกัน ได้ผลลัพธ์เป็นรั้วที่แปลกตาออกไปจากรั้วทั่วไปและเป็นการพลิกโฉมวิธีการใช้วัสดุอย่างท่อเหล็กไปอย่างสิ้นเชิง และยังมีสิ่งที่ทั้งคู่คาดไม่ถึงก็คือรั้วฝั่งหลังบ้านได้สร้างคุณค่าใหม่ ด้วยการเป็นฉากหลังที่สวยงามของต้นไม้ของคุณยายเพื่อนบ้านที่ปลูกไว้เป็นตัวแทนของคุณพ่อที่ล่วงลับไปแล้วอีกด้วย

นอกจากรั้วแล้ว ยังมีส่วนประกอบอื่นๆ ที่สถาปนิกทำงานโดยตรงกับผู้ผลิตเช่นเดียวกัน อย่างเช่นงานประตู-หน้าต่างอะลูมิเนียมทั้งหมด ซึ่งสถาปนิกร่วมกับผู้ผลิตออกแบบดีเทลของบาน รวมทั้งรูปแบบบานพับและมือจับขึ้นใหม่เพื่อให้มีรูปลักษณ์ที่ดูบาง และเก็บรายละเอียดต่างๆ อย่างเรียบร้อยที่สุด ซึ่งมีชิ้นที่พิเศษคือบานประตูอะลูมิเนียมคอมโพสิตที่ติดตั้งบริเวณทางขึ้น-ลงบันได ซึ่งทำหน้าที่แยกฟังก์ชั่นและชีวิตประจำวันของทั้งคู่ โดยประตูบานนี้หากปิดส่วนบ้านชั้น 2 ในเวลาทำงาน ก็จะทำให้พื้นที่สตูดิโอและพื้นที่รับประทานอาหารหลังบ้านเชื่อมกัน แต่หากปิดมาอีกทางเพื่อปิดสตูดิโอ ก็เปรียบเสมือนเวลาเลิกงาน ที่พื้นที่บ้านชั้น 2 จะเชื่อมกับพื้นที่ส่วนหลังบ้านแทน นอกจากนี้ ทั้งคู่ยังตั้งใจออกแบบพื้นที่สตูดิโอให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ โดยการออกแบบช่องลมที่ยาวตลอดแนวสตูดิโอ ดึงเอาลมให้ผ่านไปมาตลอดแนวยาวของตัวอาคาร บนความตั้งใจแรกในการออกแบบรั้วทั้งด้านหน้าและหลังบ้านอันเป็นเอกลักษณ์นั่นเอง

CLICK IMAGE TO VIEW IN FULL SIZE

hasdesignandresearch.com
facebook.com/hasdesignandresearch

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *