REINCARNATIONS III – ECOLOGIES OF LIFE

WELCOMING A NEW ART SPACE ‘WARIN LAB CONTEMPORARY’ WITH THIS FIRST EXHIBITION BY RUENGSAK ANUWATWIMON FEATURING THE NARRATIVE AROUND THE LOSS AND DISAPPEARANCE OF SPECIES FROM NATURE

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN

(For English, press here)

พื้นที่ศิลปะในกรุงเทพฯ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ล่าสุดบริเวณวงศิลปะของ O.P. GARDEN ที่เดิมเคยเป็นที่ตั้งของแกลเลอรี่ชั้นนำ อาทิ Serindia Gallery และ ATTA Gallery ในวันนี้มีการขยับปรับเปลี่ยนไปตามกาลเวลา

การเคลื่อนไหวครั้งนี้เกิดจาก สุคนธ์ทิพย์ ประหารภาพ เจ้าของละลานตาแกลเลอรี่ ได้พูดคุยหารือกับภัณฑารักษ์ Loredana Pazzini-Paracciani เกี่ยวกับความร่วมมือกันทำพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ในชื่อว่า “Warin Lab Contemporary” (วาริน แล็บ คอนเทมโพรารี่) ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ที่เน้นเนื้อหาในการให้องค์ความรู้ต่อสังคม โดยในปีแรกจะเน้นไปที่ประเด็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก และนั่นคือที่มาของโปรเจ็คต์แรกที่ชื่อ “Swamped” หรือ “ท่วม” โดย ทวีศักดิ์ มูลสวัสดิ์ ซึ่งจัดแสดงไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ก่อนจะมาถึง “Reincarnations III – Ecologies of Life” โดยที่ Loredana รับหน้าที่เป็นภัณฑารักษ์ของงาน อันเกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้ชมงานของศิลปิน เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล ที่มิวเซียมสยาม อันเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลศิลปะ BAB เมื่อปีที่ผ่านมา บวกกับความประทับใจก่อนหน้านี้ที่เธอมีกับงาน Reincarnations II ของเรืองศักดิ์จาก Singapore Biennale 2019 จากวันนั้นถึงวันนี้ Loredana เริ่มเก็บข้อมูลและเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์และพืชชนิดต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวเชิงนิเวศวิทยา และค่อยๆ ประกอบร่างกลายมาเป็นการทำงานร่วมกับเรืองศักดิ์ใน Reincarnations III – Ecologies of Life ในครั้งนี้ 

นิทรรศการ Reincarnations III – Ecologies of Life มีเนื้อหาเกี่ยวกับวงจรชีวิตของสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์หรือสูญพันธุ์ไปแล้วจากการกระทำของมนุษย์ เช่น เนื้อสมัน สัตว์พื้นเมืองของไทย มีแหล่งอาศัยอยู่แถบทุ่งรังสิต ถูกพบครั้งสุดท้ายในปี 1932 และได้รับการประกาศว่าเป็นสัตว์สูญพันธุ์อย่างเป็นทางการในปี 1938 (อนึ่ง เนื้อสมัน จัดเป็นกวางสายพันธุ์หนึ่งที่ทางพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในปารีสได้ตั้งชื่อว่า Schomburgk เพื่อเป็นเกียรติแก่ Sir Robert Schomburgk ผู้เคยดำรงตำแหน่งเป็นกงสุลให้กับสหราชอาณาจักรประจำกรุงเทพฯ ในระหว่างปี 1857 ถึง 1864) และการที่ Warin Lab จับเอาประเด็นนี้มาทำเป็นเนื้อหาในนิทรรศการครั้งนี้ ก็เพื่อตั้งใจจะยกย่องเจ้าของบ้านเดิมที่ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของแกลเลอรี่แห่งนี้ นั่นคือ นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล ผู้บุกเบิกอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่าของประเทศไทยนั่นเอง

สำหรับเรืองศักดิ์แล้ว ความสนใจเกี่ยวกับ พรรณพืช สัตว์ สิ่งแวดล้อม และตำนานเล่าขานโบราณ ล้วนเริ่มต้นมาตั้งแต่เขาอยู่ในวัยเยาว์ “ตอนเด็กๆ อยู่แถวดอนเมืองก็เริ่มเล่นเก็บตัวหนอนแดงที่ว่ายในคลองเปรมประชากร แล้วก็เริ่มเรียนรู้ ได้เห็นความแตกต่างว่าหนอนแต่ละชนิด แต่ละสายพันธุ์แตกต่างกันแบบไหน พอเข้ามาสายศิลปะจึงเริ่มเห็นรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ ในส่วนของเรื่องเล่า ความเชื่อ ตำนาน ก่อนหน้านี้จะไม่ค่อยเอามายุ่งด้วยสักเท่าไหร่ เพราะส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่ยังไม่นิ่ง มีการค้นพบอะไรใหม่ๆ ตลอด ที่สามารถหักล้างความเชื่อเดิมๆ ได้ แต่พอได้มาเริ่มทำโปรเจ็คต์ Reincarnations I ตอนไป Residency ที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 61 ซึ่งเกี่ยวข้องกับความเชื่อและข้อเท็จจริงที่ยังคัดง้างกัน ผสมผสานกับความเชื่อของคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่น มันเลยมีส่วนผสมที่ลงตัวมากขึ้น และยังคงความลึกลับต่อได้อยู่ ยิ่งพอมาทำโปรเจ็คต์ Pollination ที่แสดงที่ MAIIAM Contemporary Art Museum เกี่ยวกับแม่น้ำโขง มันยิ่งกระทบมาก ความรู้สึกที่งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ถูกใช้ในอีกทางจนทำลายสภาวะแวดล้อมอย่างสาหัส จนอาจจะกลับคืนไม่ได้อีก มันทำลายความคิดว่าความจริงจะสามารถช่วยสิ่งต่างๆ ได้ แต่ถ้าความจริงอยู่ในมือคนที่บิดเบือนมีแต่จะสร้างหายนะ” เรืองศักดิ์เล่าถึงความต่อเนื่องของความสนใจ

โดยพื้นฐาน Reincarnations ทั้ง 3 ภาคของเรืองศักดิ์ ล้วนเกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ หรือการสูญหายของสายพันธุ์นั้นๆ จากธรรมชาติที่เคยมี แต่ศิลปินจะเลือกเฉพาะเคสที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ เพื่อทำหน้าที่บันทึกบทเรียนที่เกิดขึ้นมาแล้ว ให้เป็นเสมือนการเตือนภัย และชี้ให้เห็นถึงวิกฤติที่อาจจะนำไปสู่เรื่องที่ใหญ่กว่า แม้ว่าบางเรื่องอาจดูไม่เกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม การหาข้อมูลจึงสำคัญในการทำงานของศิลปิน

“เราไม่มีทางที่จะเอาสายพันธุ์ต่างๆ กลับคืนมาได้ การเอาประวัติศาสตร์ที่หายไป หรือแทบจะหลงลืมกันแล้วมาทำงานศิลปะน่าจะช่วยย้ำถึงประวัติศาสตร์ปัจจุบันที่ไม่ควรปล่อยให้สูญหาย และยิ่งต้องตรวจสอบถึงข้อเท็จจริงตามศักยภาพที่มีในทุกๆ ด้าน การตระหนักร่วมกันว่า ทุกอย่างมีความสำคัญ และสามารถตรวจสอบค้นหาได้ น่าจะทำให้ระบบวิธีคิดเปลี่ยนไปได้ โดยไม่ต้องเชื่อแนวคิดเดียวที่เคยสอนสั่งกันมา ซึ่งจะส่งผลต่อการให้คุณค่าของทั้งคนด้วยกัน และสิ่งแวดล้อม” เรืองศักดิ์กล่าวทิ้งท้าย

ผีเสื้อสมิงเชียงดาวทำจากกระดาษพิมพ์ลวดลาย เนื้อสมันปูนปั้นมีเขาเป็นกิ่งไม้ หมาป่าญี่ปุ่นทำจากเปเปอร์มาเช่ และงาน documentary บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและตำนานเล่าขาน จากพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และที่อื่นๆ ใน Reincarnations III เป็นเรื่องราวต่อเนื่องกับเวอร์ชั่น I และ II การคาบเกี่ยวระหว่าง ศิลปะกับสังคม สิ่งแวดล้อม และอารยธรรมของงานชุดนี้ มีความพิเศษตรงที่มีความเชื่อมโยงกับโลกในรูปแบบของงานเชิงสารคดี ที่ตั้งใจให้ความรู้ต่อสังคมในวงกว้างออกไป

Reincarnations III – Ecologies of Life โดย เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม – 10 กรกฎาคม 2564

warinlab.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *