CREATIVE ECONOMY AGENCY (CEA) INITIATED THE PROJECT WHICH RECRUITS DESIGNERS FROM VARIOUS FIELDS TO COLLABORATE WITH LAST GENERATION LOCAL BUSINESS OWNERS DURING BANGKOK DESIGN WEEK 2021 AND DEVELOP THEIR BUSINESSES AND SERVICES TO BE MORE APPEALING TO THE CURRENT CONSUMER INTERESTS
TEXT: PITI AMRARANGA
PHOTO COURTESY OF MADE IN CHAROENKRUNG 2 EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
ปีนี้เป็นปีที่พังสำหรับการจัดกิจกรรมของทุกวงการ กลุ่มคนทำงานออกแบบในบางกอกดีไซน์วีค 2021 พูดตรงกันว่าเป็นปีที่ทุลักทุเลมากที่สุด การเลื่อนวันจัดงาน เปลี่ยนโปรแกรมบางส่วนให้เป็นกิจกรรมออนไลน์ หรือการจัดคิวเข้าชมนิทรรศการเพื่อป้องกันการติดเชื้อไวรัส COVID -19 รวมถึงเสียงสะท้อนของคนในพื้นที่ถึงความอึดอัดใจที่เกิดจากการจัดกิจกรรมและพฤติกรรมของผู้เข้าชมงานบางส่วนในพื้นที่ย่านเจริญกรุง ล้วนเป็นวิกฤตแบบใหม่ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องเรียนรู้และรับผิตชอบต่อปัญหาต่างๆ ไปพร้อมกัน
ท่ามกลางกิจกรรมที่ถูกมองว่าจัดขึ้นเพื่อสนองความฟินของคนนอกพื้นที่ ยังมีโครงการที่ชื่อว่า Made in Charoenkrung โปรเจ็คต์เชิงรุก พัฒนาย่านสร้างสรรค์โดย CEA สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่เป็นงานบริการแก่ธุรกิจรายย่อยย่านเจริญกรุงโดยเฉพาะ ทำงานต่อเนื่องเป็นปีที่สอง โดยความตั้งใจที่จะค้นหาของดี ชี้เป้าให้เป็นที่รู้จัก ร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีอยู่ให้ดูสดใหม่มากยิ่งขึ้น นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจต่างๆ เช่น สินค้าขายดีขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มมากขึ้น ขยายโอกาสต่อยอดไปสู่การค้าขายรูปแบบใหม่ๆ โดยไม่จำกัดรูปแบบ ด้วยวิธีการจับคู่นักออกแบบกับร้านค้าย่านเจริญกรุงที่ผ่านการคัดเลือกแล้ว ซึ่งแม้ปลายทางจะเป็นการจัดเป็นนิทรรศการแต่ตัวผลงานก็ต้องขายได้จริงด้วย
รายชื่อของร้านค้ากับนักออกแบบทั้ง 8 ทีมและผลงานทั้งหมดที่ทำออกมามีดังนี้ ก้วงเส็งล้ง x o-d-a ร้านขายถังไม้สักเก่าแก่ ทำถังใส่ข้าวสารตอบสนองวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ / หว่าโถ่ว x NOSH NOSH x เชฟโอ๊ต ร่วมกันปรุงสูตรชาไข่มุกน้ำขมเมนูทันสมัยน่าลิ้มลอง / Eastern Antiques x Ek Thongprasert ต่อยอดเครื่องประดับจากถ้วยลายครามโบราณให้ออกมาดูเก๋ / บ้านรักครุฑ x Atelier Rudee สานต่อตราตั้งครุฑให้เป็นเครื่องประดับที่ใครก็เข้าถึงได้ / ซินตู อาภรณ์ x VL BY VEE คิดค้นส่วนผสมใหม่ให้กับเสื้อสูทของร้านสูทแห่งแรกในย่านเจริญกรุง / สุวรรณเครื่องเทศ x PARADAi ภราดัย ใส่ความหอมของเครื่องเทศในช็อกโกแลตแท่ง / เตียง้วนเฮียง x Sauce Studio ผลิตภัณฑ์หมูแผ่นในซองใหม่ถูกใจทั้งคนซื้อและคนรับฝาก / จิรวัฒน์ x Lohameka Studio ต่อยอดภูมิปัญญาของการฉลุโลหะสู่เครื่องประดับแบบใหม่ไม่เหมือนใคร
ดูเผินๆ จะเป็นโปรเจ็คต์เล็กๆ แต่เมื่อเขียนรายชื่อออกมาทั้งหมดก็ยาวหลายบรรทัดอยู่เหมือนกัน เกณฑ์ในการคัดเลือกร้านค้าของทีมงาน CEA มีหลักสี่ข้อ คือต้องเป็นร้านค้าที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของย่านเด่นชัด มีเทคนิคเฉพาะลอกเลียนแบบไม่ได้ เป็นของหายากระดับแรร์ไอเทม และที่สำคัญคือต้องอยู่ในภาวะวิกฤตของการเป็นผู้สืบทอดรุ่นสุดท้าย โดยมีอีกส่วนที่ขาดไม่ได้เลยคือต้องเป็นร้านค้าที่เปิดใจทำงานร่วมกับโครงการไปได้ตลอดรอดฝั่งด้วย ในส่วนของนักออกแบบก็จะเลือกที่มีส่วนคล้ายหรือมีความสนใจในกิจกรรมของร้านค้าเหล่านี้อยู่แล้วมาจับคู่กัน
ขอลงรายละเอียดขั้นตอนการทำงานของ ก้วงเส็งล้ง x o-d-a ที่เราได้มีส่วนในการทำงานออกแบบด้วยเพื่อให้เห็นภาพรวมของการทำงานร่วมกันระหว่างนักออกแบบและร้านค้าในโครงการ เริ่มต้นที่ทีมงาน Made in Charoenkrung ติดต่อพวกเราให้ไปลองคุยกับ ก้วงเส็งล้ง เพื่อเยี่ยมชมทำความรู้จักกับสินค้า การค้าขาย และกลุ่มเป้าหมายของทางร้าน สอบถามถึงกระบวนการผลิตข้อจำกัดต่างๆ แล้วกลับไปทำการบ้านมาว่าเราอยากทำอะไร เราได้ฟังเรื่องเล่าว่าคนสมัยก่อนนิยมใช้ถังไม้สักก่อนที่ถังพลาสติกจะเป็นที่รู้จัก และถ้าอยากซื้อถังไม้สักใบเราไปที่เจริญกรุงจะมีร้านขายถังไม้ให้เลือกซื้อมากมาย ซึ่งตอนนี้ร้านเหล่านั้นได้ปิดตัวไปจนเกือบหมดแล้ว ก้วงเส็งล้ง เป็นหนึ่งร้านขายถังไม้สักเก่าแก่ที่เหลือเพียงสองร้านในย่านนี้
เสน่ห์ของงานถังไม้ลักษณะนี้คือเป็นของใช้ไม่ใช่ของโชว์ ผลิตด้วยขั้นตอนเหมาะสม ไม่ได้วิจิตรบรรจงมากเกินจำเป็น ที่สำคัญคือมีความแข็งแรงทนทาน การซื้อถังไม้สักใส่ข้าวสารหนึ่งใบเราสามารถใช้งานไปได้ตลอดชีวิต ซึ่งคุ้มค่ามากในการจ่ายเงินประมาณหนึ่งถึงสองพันบาท แต่ความนิยมในการใช้ถังใส่ข้าวแบบนี้ลดน้อยลงไปมากเนื่องจากวิถีชีวิตของผู้คนสมัยใหม่เปลี่ยนไป เราจึงสนใจที่จะทดลองพัฒนารูปแบบของผลิตภัณฑ์เดิมนี้ให้มีความสัมพันธ์กับผู้ใช้เจเนอเรชั่นใหม่ๆ โดยเก็บคุณค่าทางจิตวิญญาณแบบเดิมของผลิตภัณฑ์เอาไว้ และเติมรายละเอียดใหม่ๆ เข้าไปให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยเริ่มจากปรับถังไม้ใบเดิมให้แบ่งพื้นที่บรรจุออกเป็นสองช่องเพื่อตอบสนองการใส่ข้าวสารได้สองชนิด สามารถบรรจุข้าวขาวและข้าวกล้องไว้ในถังเดียวกัน ซึ่งเรามองว่าเป็นพฤติกรรมของผู้รักสุขภาพยุคใหม่ที่ไม่ได้บริโภคข้าวสารชนิดเดียว ออกแบบฝาถังให้สามารถเกี่ยวพักไว้กับขอบถังเพื่อความสะดวกในการตักข้าวสาร รวมถึงเปลี่ยนวัสดุสายรัดถังที่เป็นเหล็กให้เป็นทองเหลือง กระบวนการทั้งหมดนี้เราตรวจสอบร่วมกับทางร้านถึงกระบวนการผลิตที่สามารถทำได้และไม่เพิ่มภาระให้กับฝ่ายผลิตของทางร้าน ในส่วนของการขายเราคาดหวังว่าผลิตภัณฑ์ใหม่นี้จะกลมกลืนไปกับการขายสินค้าแบบเดิมของทางร้าน แต่เปิดโอกาสให้มีลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามาสนใจเพิ่มมากขึ้น
Made in Charoenkrung เป็นโครงการนำร่องของ CEA ที่มาถูกทาง จากแผนการขยายการทำงานไปสู่พื้นที่อื่นๆ เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา ตามสาขาพื้นที่ของ TCDC ด้วยแล้วยิ่งน่าสนใจ ยิ่งยืนยันการทำงานแบบละเอียดโดยเน้นคุณภาพไม่เน้นปริมาณไปอย่างต่อเนื่อง เราเชื่อว่าในไม่ช้าก็จะเห็นผลและสามารถกลบเสียงบ่นจากอดีตของผู้ประกอบการที่เข็ดหลาบจากการทำโครงการร่วมกับภาครัฐส่วนใหญ่ที่ขาดความรับผิดชอบไปได้
เมื่อคนเราเจอกับภาวะวิกฤต เราคิดหาทางแก้ปัญหาด้วยอาวุธที่มนุษย์อย่างเรามีนั่นคือความคิด เรื่องเล่าในการเผชิญหน้ากับความทุกข์ยากของพวกเราจึงมักจะเต็มไปด้วยรายละเอียดในความสัมพันธ์ของวิกฤตกับความคิดสร้างสรรค์ เป้าหมายในขณะนี้อาจไม่ใช่การสร้างสุดยอดงานออกแบบ แต่เป็นงานออกแบบที่ถูกต้องเหมาะสมกับสถานการณ์ ขอฝากไปถึงท่านผู้นำประเทศ ขอให้ท่านมีความคิดสร้างสรรค์เพียงพอต่อการทำงานและแก้ไขข้อผิดพลาด และขอให้เพื่อนร่วมชาติทุกคนอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้
ติดตามอ่านแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทั้ง 8 เพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ค Charoenkrung Creative District