ART4D SPEAKS WITH DR. KAJORNSAK NAKPAN ABOUT THE PROJECT “INNOVATIVE SYNTHESIZED MELANIN FROM SOIL AS TEXTILE SUBSTITUTE TO CREATE GARMENTS FOR THE FUTURE” THAT LEADS TO THE DISCOVERY OF BACTERIA IN SOIL THAT SHARES SOME PROPERTIES WITH MELANIN AND COULD BE DEVELOPED AS ALTERNATIVE TEXTILES
TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF KHAJORNSAK NAKPAN
(For English, press here)
ในยุคที่โลกกำลังค้นหานวัตกรรมในการผลิตวัสดุจากธรรมชาติ โดยประยุกต์สหวิทยาการด้านต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ชีวภาพ สุนทรียศาสตร์ และการออกแบบเข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในอนาคต art4d สนทนากับ ดร.ขจรศักต์ นาคปาน จากหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาการออกแบบ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ “นวัตกรรมการใช้ดินสังเคราะห์เมลานินในฐานะวัสดุสิ่งทอทดแทนเพื่อสร้างสรรค์เครื่องนุ่งห่มแห่งอนาคต”
art4d: ทำไมถึงสนใจในการพัฒนาโปรเจ็คต์ต์นี้
Khajornsak Nakpan: เริ่มต้นจากความสงสัย การชอบเอาชนะ ต้องการแปลกเพื่อแตกต่าง ผมชอบมอง สังเกตผู้คนเวลาแต่งตัว มองดูพฤติกรรมการซื้อสินค้า ทั้งของตัวเอง ของคู่แข่ง และเทรนด์แฟชั่นต่างๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ในเรื่องของสีและรูปแบบในแต่ละฤดูกาล ชอบมองดูเวลาลูกค้าเลือกซื้อหรือนำไปลองว่าจะเลือกตัวไหน เพราะอะไร บางทียังนึกขำว่าทำไมสีเดิม แบรนด์เดิม ที่ลูกค้าใส่ประจำ ทำไมยังต้องลองสวมใส่ ทำไมถึงไม่มั่นใจ ผมเลยมุ่งมาที่สีของผิวพรรณของมนุษย์นอกเหนือจากเรื่องแพทเทิร์นของเสื้อผ้า คิดว่าเรื่องสีผิวนี่แหละคือคำตอบที่เราจะเอาชนะใจลูกค้าได้
จุดเริ่มต้นอีกอย่างคือ Fast Fashion ที่เข้ามามีบทบาทต่อพฤติกรรมของผู้ซื้อที่รวดเร็ว เลือกซื้อง่าย มีรูปแบบใหม่ๆ มาสนับสนุนความอยากได้ตลอดเวลาจนผมรู้สึกว่า คนที่ซื้อจริงๆ แล้วไม่รู้อยากได้จริงๆ หรือเปล่า แล้วพอมันมาไวไปไว มันก็ไร้ค่าไปไว คือสินค้าที่ผลิตจากระบบอุตสาหกรรมหลายอย่างเนี่ย เริ่มผลิตก็ทำลายแล้ว สุดท้ายก็กลายเป็นขยะ ผมมีความปรารถนาที่จะให้ปัญหาของขยะแฟชั่นหมดไป หรือลดน้อยลงให้มากที่สุด บวกกับวัสดุที่คิดค้นขึ้นมาต้องเป็นการตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่แท้จริง จึงเป็นที่มาของโปรเจ็คต์นี้
art4d: ได้ติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับ bio material ในโลกนี้บ้างไหมโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับแฟชั่น
KN: ศึกษาและติดตามตามโดยตลอด เพื่อพยายามทำสื่งที่แตกต่างออกไปด้วย จริงๆ การใช้สิ่งมีชีวิต แบคทีเรีย จุลินทรีย์ มาก่อกำเนิดให้เป็นนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ทดแทนมีมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายแบรนด์ระดับโลกให้ความสนใจ
ตัวอย่างผลงานวิจัยที่ผมสนใจและเป็นแนวทางการทำโปรเจ็คต์ของผม คือ ผลงานวิจัยของ Suzanne Lee เป็นการเพาะเลี้ยงวัสดุด้วยหลักการทางชีววิทยา ใช้แบคทีเรียจากน้ำชามาสร้างวัสดุใหม่เพื่อนำมาใช้ทดแทนวัสดุเส้นใยและสิ่งทอ และอีกชิ้นหนึ่งที่ขาดไม่ได้คืองานวิจัยของ Tina Gorjanc ที่นำดีเอ็นเอจากเส้นผมของ Alexander McQueen มาสร้างเป็นเนื้อเยื่อและพัฒนาคุณสมบัติให้มีลักษณะเสมือนผิวหนัง นำมาตัดเย็บเป็นเสื้อแจ็คเก็ตหนัง กระเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ
art4d: ช่วยพูดถึงขั้นตอนในการทำงานวิจัยของโปรเจ็คต์นี้ของคุณ
KN: ก่อนจะมาเป็นดิน ผมอยากทำเรื่องเซลล์ของมนุษย์ แต่มีคนทำไปแล้ว ผมเลยหันมาสนใจเรื่องสีผิวพรรณของมนุษย์โดยพบว่าเมลานินเป็นเม็ดสีที่กำหนดระดับความเป็นสีของสีผิวพรรณของมนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 ระดับ จากผิวขาวที่สุด จนไปถึงผิวเข้มมาก ต่อมาก็ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างอายุประมาณ 20-25 ปี ของคนในแต่ละภูมิภาคของประเทศ ซึ่งผลสำรวจปรากฏสีผิวพรรณของมนุษย์ในราชอาณาจักรไทยอยู่ที่ระดับ 3-4 จากทั้งหมด 6 ระดับ
ต่อมาในเรื่องของนวัตกรรมวัสดุทดแทน ผมได้ทำการทดลองมาหลายอย่าง ทั้งทดลองนำชาแต่ละประเภทมาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ต่อมาก็นำน้ำหมึกในตัวปลาหมึกมาทำการทดลอง เพื่อให้ได้เม็ดสีเมลานิน จนท้ายสุดได้ค้นพบว่าในดินซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่มากมายมหาศาลนั้นมีแบคทีเรียชั้นดี (Streptomyces) ที่มีคุณสมบัติคล้ายคลึงกับเม็ดสีเมลานิน โดยผมได้ทำการทดลองด้วยการนำดินมาใส่ผ้ากรอง แช่ในน้ำต้มสุกที่ผสมกับสารให้ความหวาน แช่ลงลงไป 30-40 นาที และนำดินออก เติมกรดอะซิติก และสารเพาะเลี้ยงแบคทีเรีย ทิ้งไว้ประมาณ 14-21 วัน จะได้วัสดุลอยอยู่บนผิวน้ำ และนำมาตากแดด ได้ผลลัพธิ์เป็นวัสดุสิ่งทอทดแทนออกมา
art4d: ผลลัพธ์สามารถนำไปต่อยอดทางไหนได้บ้าง
KN: ถ้ามองทางวัตถุ โดยตรงเลยก็คือ นวัตกรรมวัสดุสิ่งทอทดแทนที่มีการผลิตเซลลูโลสและเม็ดสีเมลานินจากแบคทีเรียชั้นดีในดินนี้ เป็นการแสดงประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่มากมายมหาศาลให้เป็นประโยชน์ การจัดการลดปริมาณของเสียจากการผลิตและบริโภคหรือ Zero-Waste และเป็นสิ่งที่สูญสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติได้ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ในเชิงธุรกิจ จุดเด่นของวัสดุนี้ก็คือมีความเป็นสีเทียบเคียงกับสีผิวพรรณมนุษย์ สามารถเทียบเท่า เทียบเคียงกับสีผิวของผู้สวมใส่ที่ต่างกันออกไปได้ อีกอย่างคือดินหาง่าย และในแต่ละภูมิภาคมีความเป็นเอกลักษณ์ มีสีสันต่างกัน ซึ่งถ้าเรานำดินมาสร้างวัสดุทดแทนในแต่ละพื้นถิ่นได้ ก็จะสะท้อนวัฒนธรรมพื้นถิ่นนั้นๆ ออกมาได้ด้วย และยังเป็นสิ่งที่สามารถผลิตได้เองในชุมชน สร้างรายได้ในขณะที่ไม่ก่อให้เกิดการเดินทาง สร้าง Carbon Footprint ที่ต่ำมากๆ ไปด้วยในตัว
ส่วนทางด้านจิตใจ ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องตระหนักในเรื่องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำลายทรัพยากรธรรมชาติกันอย่างจริงจัง
art4d: ช่วงนี้สนใจเทคโนโลยีใหม่ใหม่ในอุตสาหกรรมออกแบบอะไรบ้าง
KN: Sun-Powered Chemistry คือ การใช้พลังงานแสงอาทิตย์เปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ไม่เป็นที่ต้องการให้กลับมาเป็นวัตถุดิบด้วยวิธีการใช้เร่งปฏิกิริยาทางเคมี นับเป็นนวัตกรรมที่สามารถลดประมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และเรือนกระจก ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในทางการแพทย์และนวัตกรรมสิ่งทอ
art4d: ก้าวต่อไปของคุณคือ
KN: ในช่วงที่เรียนปริญญาเอก ผมมีโอกาสได้เผยแพร่องค์ความรู้และผลงานศิลปะสร้างสรรค์ในระดับนานาชาติ และได้รับรางวัลมาหลายสถาบัน ก้าวต่อไปก็คือการเผยแพร่องค์ความรู้นี้ต่อไปและทำงานออกแบบด้วย และอยากให้การได้รับการยอมรับนี้กลับมาสะท้อนถึงประเทศเราให้เกิดความตระหนักในเรื่องการให้ความสำคัญกับวัสดุทดแทน
ส่วนตัววัสดุแน่นอนว่าต้องการพัฒนาให้มีความศักยภาพสูงขึ้น โดยค้นหาพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดรูปแบบในเชิงพาณิชย์ และเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น ผมอยากให้ในที่สุดการพัฒนาวัสดุนี้จากดินกลายเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นได้ในที่สุด