PAVILION TOKYO 2021

Global Bowl by Akihisa Hirata | Photo: ToLoLo studio

COMPLIMENTING THE TOKYO OLYMPICS 2020, PAVILION TOKYO 2021 IS THE PUBLIC INSTALLATION ARTS AND EXHIBITIONS PROGRAM INITIATED BY THE CITY OF TOKYO TO BE THE INSPIRATION AND THE MOTIVATION FOR THE PEOPLE TO CARRY ON AMID THE EPIDEMIC ERA.

TEXT: PRATARN TEERATADA
PHOTO COURTESY OF PAVILION TOKYO 2021, CREDIT AS NOTED

(For English, press here)

เก็บตกควันหลงของโตเกียวเกมส์กันต่อหลังจากทัวร์ห้องน้ำ โดยเหล่าสถาปนิก ศิลปิน นักออกแบบที่ระดมมาสร้างพื้นที่สาธารณะ ต้อนรับการกลับมาเยือนโตเกียวอีกครั้งของมหกรรมกีฬาโอลิมปิกแม้ว่าจะเจออุปสรรคใหญ่หลวงคือ ไวรัสโควิด-19 ที่ตอนแรกทำท่าว่าจะคุมอยู่ แต่กลับเป็นคุมได้ยากทำให้ไม่อาจเปิดเมืองเต็มที่ได้ อย่างไรก็ดี โตเกียวโอลิมปิก 2020 ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น น่าชื่นชมในสปิริตและความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นผู้รับบทเจ้าภาพ

Tokyo Castle by Makoto Aida © AIDA Makoto | Photo: ToLoLo studio

นอกจากงานดีไซน์ต่างๆ ที่ทยอยปล่อยออกมาตลอดงานแล้ว ผู้บริหารเมืองโตเกียวยังมีโปรแกรมทางวัฒนธรรมในชื่อ Pavilion Tokyo 2021 ประกอบไปด้วยงาน installtion art 8 ชิ้น กับอีก 1 นิทรรศการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ Tokyo Tokyo FESTIVAL ที่รวมกิจกรรมพิเศษ 13 รายการเข้าด้วยกัน งาน Pavilion Tokyo ยังคงจัดแสดงต่อไปจนถึงวันที่ 5 กันยายนนี้ เผื่อใครมีโอกาสได้ไปเยือนโตเกียวหลังจากนี้ได้ไปเยี่ยมชมกัน 

พื้นที่แสดงงาน Pavilion Tokyo 2021 กระจายอยู่ตามย่านท่องเที่ยว อย่าง Aoyama Yoyogi และ Shibuya ตลอดจนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์บางแห่ง ในบรรดาผู้ร่วมแสดงงานนี้มีศิลปินอยู่สองราย รายแรก Makoto Aida ซึ่งทำปราสาทญี่ปุ่นสองหลัง หลังหนึ่งทำจากกระดาษแข็ง อีกหลังทำจากผืนผ้าใบสีน้ำเงิน ศิลปินแอบเสียดสีการให้ความสำคัญกับการสร้างสนามกีฬาราคาหลายล้านเยน ในขณะที่ปราสาทของเขาใช้วัสดุราคาถูกๆ แต่ก็ยังใช้บังแดดบังฝนได้เช่นกัน ศิลปินอีกรายเป็นเบอร์ใหญ่ระดับโลก คุณป้า Yayoi Kusama กับงานรีเมค The Obliteration ที่ป้าเคยทำเอาไว้ในยุค 1960s ซึ่งโตเกียวโอลิมปิกจัดขึ้นเป็นครั้งแรก งานนี้เป็นงานติดตั้งห้องสีขาว ชวนให้ผู้ชมมาแปะลาย polka dots ให้ทั่วห้องตามใจชอบ 

Tea House “Go-an” by Terunobu Fujimori | Photo: ToLoLo studio

Tea House “Go-an” by Terunobu Fujimori | Photo: ToLoLo studio

ห้องชงชา “Go-an ของสถาปนิกและนักประวัติศาสตร์ Terunobu Fujimori เป็นกระท่อมเล็กๆ ตั้งอยู่บนยอดเนินเขาขนาดย่อมๆ มีหญ้าปกคลุม ผู้ชมต้องมุดเข้าไปจากช่องกลมๆ ด้านล่าง แล้วไต่บันไดแคบๆ ขึ้นไปทานชาและชมวิวสนามกีฬาแห่งชาติที่ด้านบน ส่วนงาน Global Bowl ของ Akihisa Hirata เป็นโครงสร้างรูปทรงชามที่สร้างขึ้นจากเทคนิคการตัดไม้ด้วยเครื่อง CNC Machine สื่อถึงการเชื่อมโยงถึงกันและกัน บริเวณใกล้ๆ กันนี้มีงานชื่อ STREET GARDEN THEATER ของ Teppei Fujiwara ชอบความเป็นกวีของงานนี้ตรงความเป็นศาลาไม้ที่มีสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนเมืองกับกระถางผักและผลไม้ในตัวศาลา นี่ล่ะความสุขที่สถาปนิกตั้งใจมอบให้ผู้ชม

Cloud pavilion by Sou Fujimoto | Photo: Keizo Kioku

ถาปนิกคนดังอีกราย Sou Fujimoto ทำพาวิลเลียนรูปทรงก้อนเมฆมาติดตั้งไว้ที่ Yoyogi Park สถานที่ที่เคยเป็นหมู่บ้านโอลิมปิกในปี 1964 บอลลูนก้อนเมฆของเขาเปรียบเสมือนหลังคาที่เชื่อมโลกทั้งใบไว้ด้วยกัน ทางด้าน Junya Ishigami เลือกติดตั้งพาวิลเลียนของเขาบริเวณ Kudan House ซึ่งเคยเป็นบ้านนักธุรกิจที่สร้างในปี 1927 เขาใช้โครงสร้างไม้เผาไฟที่เรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า “ยาคิสุกิ” กับพาวิลเลียน Kokage-gumo ที่แปลตรงตัวได้ว่า “ก้อนเมฆที่ทำจากไม้” ให้ความรู้สึกเหมือนกับว่ามันตั้งอยู่ที่นี่มาแล้วเป็นร้อยๆ ปี ส่วน Kazuyo Sejima สถาปนิกหญิงเจ้าของรางวัล Pritzker Prize ทำงาน installation รูปทรงคล้ายลำธารคดเคี้ยวด้วยโลหะบางเบาที่เป็นลายเซ็นของเธอมาจัดวางในสวนฮามะริเคียว เพื่อรำลึกถึงลำธารในสวนของไดเมียวสมัยเอโดะ Sejima ตั้งใจให้กระแสน้ำแทนความเป็นเมืองโตเกียวที่ไหลต่อเนื่องไม่มีวันหยุดนิ่ง 

Suimei by Kazuyo Sejima | Photo: Kazuyo Sejima & Associates

Suimei by Kazuyo Sejima | Photo: Kazuyo Sejima & Associates

ปิดท้ายด้วย The Installation 2020-2021 โดยศิลปิน Daito Manabe และกลุ่มศิลปิน Rhizomatiks จัดที่ฝั่งตรงข้าม WATARI-UM, The Watari Museum of Contemporary Art ที่นี่ยังจัดแสดงงาน The Pavilion Tokyo 2021 ที่รวมทั้งภาพสเก็ตช์ แปลน โมเดล และวัสดุ ของแต่ละพาวิลเลียนให้ชมอีกด้วย

“2020-2021” by Daito Manabe + Rhizomatiks | Photo: Keizo Kioku

ถ้าไม่ติดโควิด-19 โอลิมปิกเที่ยวนี้น่าจะคึกคักกว่านี้ ทั้งที่เป็นทางการและบรรยากาศรายล้อม ญี่ปุ่นยังคงแน่นอนเรื่องความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความร่วมแรงร่วมใจระหว่างประชาชน เอกชน ภาครัฐ สามารถสร้างพลังบวกดีๆ ให้กับชาวโลกได้เสมอ

paviliontokyo.jp

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *