DOC CLUB & PUB.

เปิดเบื้องหลังทั้งที่มาที่ไปและแนวคิดในการดีไซน์ของ Doc Club & Pub. โรงหนังและสเปซพบปะของคนรักภาพยนตร์ กับ สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Documentary Club และ รชพร ชูช่วย สถาปนิกจาก all(zone)

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: KETSIREE WONGWAN 

(For English, press here)

คอหนังชาวไทยคงคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีกับชื่อของ Documentary Club ค่ายจัดจำหน่ายหนังทางเลือกที่นำหนังดีๆ มาให้คนไทยได้รับชมกัน ล่าสุดพวกเขาก็มีความเคลื่อนไหวครั้งใหม่ที่ทำเอาคนรักหนังรู้สึกตื่นเต้นกันเป็นแถวกับ Doc Club & Pub. โรงหนังและสเปซพบปะของคนรักภาพยนตร์ที่ตั้งอยู่ชั้น 2 ของอาคาร WOOF PACK ศาลาแดง 

ก่อนหน้าที่ Doc Club & Pub. จะก่อร่างขึ้น สุภาพ หริมเทพาธิป หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Documentary Club เล่าให้เราฟังว่า จริงๆ แล้ว พวกเขาก็เคยมีสเปซฉายหนังของตัวเองมาก่อนที่ Warehouse 30 ซึ่งพื้นที่นี้ก็ไม่ได้มีเพียงการฉายหนังเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีกิจกรรมเสวนาหรือการเปิดพื้นที่ให้ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันหลังหนังฉายจบ อย่างไรก็ตาม สุภาพกลับเล่าว่าสเปซฉายหนังที่ Warehouse 30 ไม่ได้เป็นสเปซในอุดมคติซักเท่าไหร่ เพราะทีมงานไม่สามารถควบคุมปัจจัยที่มีผลต่ออรรถรสการดูหนังเช่น แสง หรือ เสียง ได้เท่าที่ควร ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่

แม้ภายหลังพื้นที่ฉายหนังของ Documentary Club ที่ Warehouse 30 จะปิดตัวไป แต่พวกเขาก็ยังคงคันไม้คันมืออยากสร้างโรงหนังพร้อมพื้นที่สำหรับแลกเปลี่ยนพูดคุยอยู่ตลอด เมื่อได้โอกาส ทีม Documentary Club จึงออกตระเวนหาพื้นที่สำหรับสร้างโรงหนังแห่งใหม่ กระทั่งได้รับการติดต่อจาก BKKSR (Bangkok Screening Room) ให้ใช้พื้นที่ต่อหลังตัดสินใจเลิกกิจการ ซึ่ง Documentary Club ก็ตอบรับโดยไม่ลังเล เพราะพื้นที่นี้มีความเหมาะเจาะกับการฉายหนังอยู่แล้ว แถมยังมีอุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ที่นำมาใช้ต่อได้เลย หลังจากหาเสาะหาชื่อสำหรับโครงการมาซักพัก ทางทีมก็มาลงเอยกับชื่อ Doc Club & Pub. ซึ่งเป็นชื่อที่ all(zone) ออฟฟิศที่รับผิดชอบงานรีโนเวทโปรเจ็คต์นี้มาช่วยตั้งให้  

ในด้านการปรับปรุงสเปซ รชพร ชูช่วย สถาปนิกจาก all(zone) เล่าโจทย์ในการออกแบบไว้ว่า เป็นการทำอย่างไรก็ได้ให้ใช้เงินน้อยที่สุด ทุบน้อยที่สุด แต่สามารถพลิกบรรยากาศเดิมของ BKKSR ที่มีเคร่งขรึมและออกแบบไว้ใช้งานหลักๆ ตอนกลางคืน ให้กลายเป็นพื้นที่ที่ดูเป็นมิตร และเหมาะกับการทำกิจกรรมหลากหลาย เช่นจัดเสวนา นั่งทำงานหรือนั่ง hangout ได้ตลอดทั้งวัน ตามความต้องการของทีม Doc Club & Pub. 

ถึง layout ภายในจะคล้ายเดิม แถมข้าวของที่อยู่ข้างในส่วนใหญ่ก็เป็นของเดิม แต่สถาปนิกก็พลิกโฉมสเปซส่วนหน้าโรงหนังให้เหมาะกับการนั่งเล่นตอนกลางวันด้วยการติดตั้งเหล็กฉีกบริเวณหน้าต่างที่ช่วยทำให้แสงที่เข้ามาในสเปซนุ่มนวลมากขึ้น (ซึ่งตระแกรงเหล็กฉีกก็ใช้งานเป็นที่แขวนโปสเตอร์ได้ด้วย) และโดยรอบก็มีการตกแต่งพื้นผิวผนังด้วยวัสดุแบบ metallic ที่ลดความทะมึนของสเปซ นอกจากนั้น ก็มีการปรับความสูงของเฟอร์นิเจอร์ที่คงมาจาก BKKSR เช่นโต๊ะหินอ่อน เพื่อให้เหมาะกับการนั่งทำงาน  

ส่วนองค์ประกอบที่สะดุดตาอย่างเสาสีเขียว สถาปนิกเล่าให้ฟังว่าเป็นสีที่ทาง Documentary Club ขอให้ใส่มา เพราะถือเป็นสีนำโชคของทีม ถัดไปไม่ใกล้ไม่ไกลเป็นชั้นหนังสือโค้งที่เป็นทั้งประตูทางเข้าโรงหนังในเวลาเดียวกัน สถาปนิกเลือกให้ชั้นหนังสือมีสีฟ้า เพื่อให้เป็นสีกลางที่เชื่อมสีของวัสดุเดิมอย่างโต๊ะหินอ่อน โซฟาสีน้ำเงิน เก้าอี้ไม้ และสีใหม่อย่างสีเขียว ให้เข้ากันได้อย่างลงตัว สำหรับในโรงหนัง การรีโนเวทหลักๆ ก็มีแค่เพียงการนำเสาหลอกเดิมออกข้างหนึ่ง เพื่อให้มีความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับการหนีไฟ และทำให้สเปซดูโล่งมากขึ้น

นอกจากการคำนึงเรื่องงบประมาณ รชพรเล่าว่าเหตุผลหนึ่งที่ all(zone) เลือกออกแบบโดยใช้ของเดิมให้มากที่สุดก็คือการลดขยะที่เกิดจากการก่อสร้าง 

“การทุบสร้างขยะเยอะมาก ถ้ายังใช้ได้อยู่ก็ยังอยากใช้ ขยะจากการก่อสร้างมันมหาศาลแล้วเอาไปทิ้งที่ไหนก็ไม่รู้ ยิ่งประเทศเราไม่มีกฎหมายที่เข้มแข็งในการจัดการขยะ เราก็ไม่รู้ว่าขยะไปไหน และมันก็กำลังทำลายโลกอยู่”

หลังจากมาตรการควบคุมโรคระบาดผ่อนคลายลง โรงภาพยนตร์ก็กลับมาเปิดทำการได้อีกครั้ง เราหวังว่าจะได้เห็นภาพที่ผู้คนเข้ามาแวะเวียนสเปซแห่งนี้ พร้อมกับการดื่มด่ำภาพยนตร์ อาหาร เครื่องดื่ม และบทสทนาที่เกิดขึ้นระหว่างทาง

facebook.com/docclubandpub

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *