THE WOOD LAND

THE WOOD LAND คาเฟ่ใหม่กลางสุขุมวิทตอบสนองความโหยหาธรรมชาติของคนเมืองผ่านการออกแบบโครงการภายใต้แนวคิด ‘ป่าในเมือง’ ที่ทำให้พื้นที่ทั้งโครงการมีความเปิดโล่ง

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: THANAWATCHU

(For English, press here

คงเป็นเพราะการล็อกดาวน์กรุงเทพฯ และสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาทำให้ผู้คนหิวโหยการสัมผัสอากาศธรรมชาติ และการนั่งเล่นในพื้นที่กึ่ง outdoor จริงๆ ที่ไม่ใช่ห้องแอร์ เห็นได้จาก THE WOOD LAND คาเฟ่น้องใหม่ในซอยสุขุมวิท 52 ที่มีคนแวะเวียนเข้ามาทั้งวัน แม้ว่าคาเฟ่แห่งนี้จะไม่มีพื้นที่ปิดที่ปรับอากาศเลยก็ตาม

เราคิดว่าคนกรุงเทพฯ ยังต้องการพื้นที่อย่างนี้อยู่เพลินพิมสิริ นาคสวัสดิ์ เจ้าของคาเฟ่แห่งนี้ บอกกับเราคนยังอยากสัมผัสธรรมชาติ และในเมื่อคนอยากสัมผัสธรรมชาติ เราก็เลยออกแบบพื้นที่ให้เปิดโล่ง ไม่ได้เป็นพื้นที่ปิด

THE WOOD LAND คือคาเฟ่ล่าสุดของพิมสิริ ผู้คลุกคลีกับการทำธุรกิจกาแฟและเปิดร้านกาแฟทั้ง Coffeeology ร้านกาแฟใน Central Embassy ที่เจาะกลุ่มคนที่พิถีพิถันกับการดื่มกาแฟ หรือร้าน Coffee101 ร้านกาแฟแบบ grab & go ที่ตอบโจทย์มนุษย์วัยทำงาน (และเจ้าของบ้าน ploendochome ที่ลงใน art4d เมื่อปีที่แล้ว) หลังจากคุ้นเคยกับการทำร้านกาแฟที่ตั้งอยู่ในห้างหรือในออฟฟิศมาพอสมควร พิมสิริก็สนใจปลุกปั้นคาเฟ่ที่ผู้คนสามารถดื่มด่ำกับบรรยากาศธรรมชาติ พร้อมๆ กับการนั่งจิบกาแฟ เมื่อเธอเจอที่ดินเปล่าให้เช่าในซอยสุขุมวิท 52 ที่โดดเด่นด้วยโลเคชั่นที่ใกล้กับ BTS อ่อนนุช และมีต้นไม้ใหญ่อันสวยงามภายใน เธอจึงไม่ลังเลที่จะเนรมิตที่ดินแห่งนี้ให้กลายเป็นคาเฟ่ในบรรยากาศธรรมชาติอย่างที่หวัง

พิมสิริออกแบบคาเฟ่ภายใต้คอนเซ็ปต์ป่าในเมืองสอดคล้องกับชื่อร้าน THE WOOD LAND ก่อนจะได้เข้าไปสัมผัสกับบรรยากาศด้านใน เราจะเจอกับรั้วอิฐบล็อกกับการเรียงแพทเทิร์นที่ช่วยเพิ่มมิติเวลามีแสงเงาตกกระทบ และช่วยสร้างความกลมกลืนของโครงการกับตัวเมือง นอกจากนี้รั้วยังมีบทบาทเป็นพื้นที่เปลี่ยนผ่านระหว่างภายในและภายนอกเช่นกัน

เมื่อผ่านคอร์ทเล็กๆ พร้อมต้นไม้ใหญ่หนึ่งต้นที่บอกใบ้ถึงบรรยากาศด้านใน ก็จะพบกับพื้นที่คาเฟ่ที่ร่มรื่นด้วยต้นจามจุรีขนาดใหญ่และสนามหญ้าสีเขียวชอุ่ม ภายในมีการเล่นกับระดับของพื้นดิน พร้อมการจัดวางกลุ่มอาคารที่ช่วยสร้างความรู้สึกเหมือนเป็นหมู่บ้านขนาดย่อม สองอาคารด้านหน้าสุดเป็นอาคารไม้ขนาดเล็กสำหรับขายเครื่องดื่มและขายอาหารกับขนม ทางฝั่งตรงข้ามบริเวณต้นจามจุรีมีบาร์ขนาดยาวตั้งล้อมรอบ เปิดโอกาสให้ผู้คนได้ดื่มด่ำกับอาหารและเครื่องดื่มภายใต้ร่มไม้ ถ้าใครอยากได้ที่นั่งที่ร่มขึ้นมาหน่อยก็สามารถไปนั่งได้ที่พาวิลเลียนด้านในที่มาพร้อมครัวแบบเปิดและบันไดสำหรับปีนไปชมทิวทัศน์เมือง ส่วนคนที่อยากได้ความเป็นส่วนตัวก็ออกมานั่งบริเวณด้านหลังสุดได้เช่นกัน และแน่นอนว่า ไม่มีพื้นที่ไหนเลยในโครงการที่เป็นพื้นที่ปิด ถึงบางพื้นที่จะมีการปรับอากาศก็ตาม แต่ก็ยังเป็นพื้นที่เปิดโล่ง

สังเกตได้ว่าวัสดุที่ใช้ในโครงการนี้ส่วนมากจะเป็นวัสดุอันเรียบง่ายหรือวัสดุที่มาจากการรีไซเคิล อย่างเช่นกำแพงด้านหน้าที่ทำจากอิฐบล็อก รั้วด้านข้างที่ทำมาจากไม้ของอาคารเรือนไทยเก่าและมาพร้อมการจัดเรียงแพทเทิร์นให้ล้อไปกับแนวอาคารสูงด้านนอก หรือเคาน์เตอร์ส่วนครัวที่ทำมาจากไม้หมอนรางรถไฟเก่า เป็นต้น นอกจากวัสดุเหล่านี้จะดูเป็นธรรมชาติแล้ว อีกสาเหตุที่พิมสิริเลือกใช้วัสดุดังกล่าวก็คือ เป็นวัสดุที่มีราคาถูก และบางส่วนก็สามารถนำไปใช้งานใหม่ได้หลังรื้อถอน

จากความตั้งใจแรกของพิมสิริที่จะเปิด THE WOOD LAND ชั่วคราวเพียงแค่สามเดือน ก่อนจะเปลี่ยนพื้นที่เป็นลานให้เช่าจัดกิจกรรม แต่พอได้คำตอบรับที่ดีจากผู้เยี่ยมเยือนและสายคาเฟ่ทั้งหลาย เธอจึงตัดสินใจเปิดร้านในระยะยาวตอนแรกก็กังวลมากว่าคนจะกลัวร้อนแล้วไม่ชอบ แต่ท้ายที่สุด มันก็พิสูจน์ความเชื่อของเราว่าคนยังต้องการพื้นที่อย่างนี้อยู่และความท้าทายต่อไปของ THE WOOD LAND คือการรับมือกับอุปสรรคชิ้นใหญ่ อย่างเช่นสภาพอากาศของกรุงเทพฯ ในฤดูร้อนและฤดูฝน ที่อาจจะไม่สบายเหมือนช่วงต้นปีที่ร้านเปิด แต่ขณะเดียวกันมันก็อาจเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆเราก็ต้องคิดว่าถ้าเข้าหน้าร้อน หน้าฝน จะทำอย่างไร อาจอัพหน้าตาให้เป็นอีกฟีลหนึ่ง อาจใส่หลังคาเพิ่มเพื่อหลบแดดหลบฝน มันก็เป็นความท้าทายใหม่ เป็นพื้นที่ที่ไม่เหมือนเดิม เป็น seasonal café หรือเราอาจเอา kiosk บ้านไม้ยกไปตั้งในที่อื่นๆ ที่มีบรรยากาศตาม site ที่ตั้งก็อาจเป็นไปได้ อาจจะกลายเป็น…LAND อื่นๆ ต่อไปซึ่งจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นคงต้องติดตามกันต่อไป

facebook.com/thewoodlandofficial

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *