GLASS IN ARCHITECTURE

กังวานสิริ เตชะวณิช จากสตูดิโอ pbm จะมานำเสนอเรื่องราวของวัสดุอย่าง ‘กระจก’ ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่แผ่นบางๆ ที่กั้นตรงกลางเท่านั้น หากแต่เป็นวัสดุที่ทำลายทุกกรอบของความเป็นไปได้ในงานออกแบบ เพื่อแสดงออกถึงวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของงานสถาปัตยกรรม

TEXT: KUNGWANSIRI TEJAVANIJA
PHOTO COURTESY OF KUNGWANSIRI TEJAVANIJA

(For English, press here

หากเรายังมองภาพกระจก เป็นเพียงองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่ทำหน้าที่เป็นเปลือกอาคาร หรือใช้สำหรับเป็น Partition กั้นพื้นที่ภายในแต่เพียงเท่านั้น เราคงใช้คุณสมบัติของความเป็นกระจกได้เพียงแค่เศษเสี้ยวของความสามารถและความพิเศษของเจ้าวัสดุบางๆ นี้

กระจกได้ถูกผลิตขึ้นมากว่า 4,000 ปี และถูกนำมาใช้ในงานสถาปัตยกรรมมานานกว่า 2,000 ปีมาแล้วโดยเริ่มต้นจากการเป็นช่องหน้าต่างของอาคาร และได้ถูกพัฒนาบทบาทนอกเหนือจากการเป็นเพียงช่องแสง กลายเป็นองค์ประกอบในส่วนผนัง หลังคา ฝ้าเพดาน ดวงโคม พื้น ราวกันตก หรือแม้กระทั่งบันไดในอาคาร อีกทั้งยังขยายขอบเขตจากการทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม ไปยังงานตกแต่งภายใน และงานภูมิสถาปัตยกรรม ตลอดจนคลอบคลุมส่วนโครงสร้างของอาคาร ไปจนถึงหมวดงานเฟอร์นิเจอร์ และงานป้ายต่างๆ กระจกจึงเป็นหนึ่งในวัสดุไม่กี่อย่างที่สามารถใช้ได้ในทุกส่วนของอาคาร ทำตัวเป็นทั้งส่วนที่เป็น function ไปจนถึงการเป็นส่วนประดับตกแต่ง เพื่อสร้างให้เกิดภาพจำแก่โครงการ ส่งผลให้งานออกแบบสามารถถ่ายทอดเล่าเรื่องราวให้สอดประสานเป็นหนึ่งเดียวกัน

ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวในการเป็นวัสดุโปร่งใสที่สามารถเชื่อมต่อสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่ภายในกับโลกภายนอก เปิดรับแสงธรรมชาติให้เข้ามาสู่อาคาร หากแต่ยังสามารถปิดล้อมพื้นที่ให้ปลอดภัยได้ ทำให้เราแทบจะคิดหาวัสดุใดมาแทนที่การใช้กระจกไม่ได้เลย ยิ่งเมื่อผนวกกับองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้สามารถยกระดับคุณสมบัติและประสิทธิภาพของกระจกไปได้มากขึ้น อาทิเช่น กระจกถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพในการกรองความร้อนจากแสงอาทิตย์มากขึ้น ส่งผลให้กระจกสามารถเป็นตัวกรองความร้อนที่เข้าสู่อาคาร แต่ก็ยังคงให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้ามาภายในพื้นที่ได้ ทำให้สามารถประหยัดพลังงาน ลดการปริมาณใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศได้ ซึ่งประเภทกระจกสะท้อนรังสีจากดวงอาทิตย์นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับกระจกลามิเนตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในด้านความปลอดภัย รวมไปถึงคุณสมบัติด้านการลดเสียงรบกวน เพื่อควบคุมปริมาณเสียงระหว่างห้องต่างๆ ภายในอาคารได้เป็นอย่างดี

นอกเหนือจากนี้กระจกยังพาจินตนาการในงานออกแบบให้ก้าวไกลไปจากเดิม ด้วยกระบวนการดัดโค้งและการขึ้นรูปกระจก ทำให้ขีดจำกัดในการสร้างฟอร์มอาคารไม่ถูกจำกัดด้วยแค่รูปทรงเหลี่ยมหรือเส้นตรงอีกต่อไป อีกทั้งยังสามารถเพิ่มมิติให้กับอาคารด้วยการเทคนิคการกัดสี หรือการพิมพ์สี ภาพ ลวดลาย รวมไปถึงการอีนาเมลขอบ เพื่อเพิ่มลูกเล่นและความสวยงามในการสร้างสรรค์งานให้มีเอกลักษณ์มากยิ่งขึ้น

จากการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ นี้เอง ทำให้กระจกนั้น ถูกนิยามให้เป็นตัวแทนของวัสดุที่สื่อนัยยะสำคัญของความนำสมัยอยู่เสมอ ซึ่งคำว่า “นำสมัย” นี้เอง ที่ทำให้สถาปนิกต้องคอยติดตามอัพเดทความรู้ของกระจกอยู่เสมอ เพื่อสามารถเลือกและประยุกต์ใช้กระจกประเภทต่างๆ ให้ใช้งานได้อย่างเหมาะสม เพราะในหลายๆ ครั้งที่เราคิดว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ แต่ด้วยการวิจัยค้นคว้าจากผู้ผลิตกระจก ก็ทำให้จินตนาการถูกขยายขอบเขตออกไปให้ก้าวข้ามขีดจำกัดในการออกแบบสถาปัตยกรรม

เมื่อได้ศึกษาแนวโน้มและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในโลกของกระจกแล้ว ทำให้เราได้เรียนรู้ว่า กระจกไม่ได้เป็นเพียงแค่แผ่นบางๆ ที่กั้นตรงกลางเท่านั้น หากแต่เป็นวัสดุที่ทำลายทุกกรอบของความเป็นไปได้ในงานออกแบบ เพื่อแสดงออกถึงวิสัยทัศน์แห่งอนาคตของงานสถาปัตยกรรม

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *