วสุ วิรัชศิลป์ สถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ VasLab ถ่ายทอดตัวตนออกมาผ่านดีไซน์ของคาเฟ่ Slabtitude ที่มีทั้งเส้นสายของอาคารอันโฉบเฉี่ยว การผสมผสานระหว่างวัสดุไม้และคอนกรีต และโต๊ะไม้ขนาดใหญ่กลางอาคารอันโดดเด่น ที่ดูราวกับกำลังลอยอยู่กลางอากาศได้อย่างมหัศจรรย์
TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: WORARAT PATUMNAKUL
(For English, press here)
วสุ วิรัชศิลป์ (Vasu Virajsilp) สถาปนิกผู้ก่อตั้งสตูดิโอ VasLab เป็นสถาปนิกที่มีลายเซ็นการออกแบบอันโดดเด่นและเฉพาะตัว รูปแบบที่เห็นได้ชัดเจนในผลงานของวสุก็คือ การใช้เส้นสายของอาคารอันโฉบเฉี่ยว ผสมผสานการใช้วัสดุอันหนักแน่นเช่นคอนกรีต พร้อมสอดแทรกด้วยไม้ วัสดุโทนอบอุ่นที่ช่วยลดความแข็งกร้าวของดีไซน์ นอกจากอาคารออฟฟิศ VasLab จะเป็นผลงานที่แสดงตัวตนของวสุได้ดีที่สุดงานหนึ่งแล้ว Slabtitude คาเฟ่ที่เขาเปิดใหม่บริเวณด้านหน้าออฟฟิศ ยังเป็นอีกสถานที่ที่บ่งบอกตัวตนของเขาออกมาได้ดีเช่นกัน
Slabtitude เกิดขึ้นจากไอเดียของวสุที่อยากปรับเปลี่ยนพื้นที่ว่างด้านหน้าออฟฟิศ หลังจากตกตะกอนสักพักว่าจะทำให้พื้นที่นี้เป็นอะไร ก็มาลงเอยที่คาเฟ่ เพราะนอกจากคาเฟ่จะเป็นพื้นที่ให้คนในออฟฟิศได้มาคุยงานหรือนั่งเล่นแบบสบายอารมณ์แล้ว มันยังตอบไลฟ์สไตล์ของวสุที่ชอบดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจอีกด้วย
สำหรับต้นกำเนิดของชื่อ ‘Slabtitude’ วสุบอกว่ามีที่มาจากคอมเมนต์ช่างภาพชาวต่างชาติบนโพสต์ภาพถ่ายออฟฟิศของเขาใน instagram จาก caption เดิมของวสุที่เขียนต้อนรับวันใหม่ว่า ‘start off the day with gratitude’ ช่างภาพท่านนี้ก็พลิกแพลงเป็น ‘start off the day with slabtitude’ เมื่อวสุเห็นก็รู้สึกถูกใจในทันที และมองว่า ‘slabtitude’ เป็นคำที่บ่งบอกตัวตนของเขา “ผมว่าคำที่เขาเปลี่ยนมามันเท่มาก เพราะเราชอบงานที่เป็น slab ไม่ได้มีหลังคา และได้ความรู้สึกที่หนักแน่น เลยเอาคำนี้มาตั้งชื่อคาเฟ่”
ความเป็น ‘slabtitude’ ถูกถ่ายทอดลงในงานดีไซน์คาเฟ่ผ่านการเปลือยผิวคอนกรีต รวมไปถึงโต๊ะไม้ขนาดยาวตรงกลางที่มีรูปทรงฉวัดเฉวียน และดูเหมือนกำลังลอยอยู่กลางอากาศได้อย่างมหัศจรรย์ โดยโต๊ะไม้ตัวนี้เป็นผลผลิตจากการร่วมมือกันระหว่าง สตูดิโอ VasLab และ Thick and Thin Studio สตูดิโอผู้เชี่ยวชาญงานไม้
โต๊ะทำมาจากไม้เต็งบาเลา (Balau) ยาวขนาด 7 เมตร ที่ Thick and Thin นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย วสุนำไม้ยาว 7 เมตร นี้มาเหลาจนได้รูปทรงไดนามิกตามสไตล์ของ VasLab และนำไม้นี้มาวางยื่นออกจากเคาน์เตอร์ 5 เมตร โดยใช้โครงสร้างเหล็กมาช่วยรับน้ำหนักของตัวไม้ และยึดไม้ส่วนที่เหลือเข้ากับโครงสร้างที่ซ่อนด้านในเคาน์เตอร์ แม้โต๊ะไม้ยาว 7 เมตร จะขับเน้นความเป็นแผ่นไม้ออกมาชัดเจนอยู่แล้ว แต่การยื่นไม้ให้ยาวลอยออกมาก็ยิ่งทำให้ตัวตนของแผ่นไม้ดูชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก ในแง่ของฟังก์ชัน วสุตั้งใจให้โต๊ะไม้เป็นโต๊ะบาร์ที่มีความสูงพอดีกับการนั่งและยืนจิบกาแฟ โดยวสุได้แรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการดื่มกาแฟในอิตาลี ที่คนมักจะยืนดื่มกาแฟที่เคาน์เตอร์
ไม่ได้มีเพียงโต๊ะไม้เท่านั้นที่เป็นจุดเด่นของ Slabtitude เพราะแพทเพิร์นที่อยู่มุมผนังคาเฟ่ก็น่าสนใจไม่แพ้กัน แพทเทิร์นเหล่านี้ เกิดจากการนำไฟเบอร์ซีเมนต์ C-channel ของ SCG D’COR คละขนาดมาหมุนพลิกและเรียงสลับกัน วัสดุไฟเบอร์ซีเมนต์ยังถูกนำมาเรียงต่อกันจนเกิดเป็นลวดลายยาวต่อเนื่องบริเวณฝ้า และนำมาดัดแปลงเป็นชั้นวางของบริเวณข้างเคาน์เตอร์ ซึ่งสีของไฟเบอร์ซีเมนต์ก็เข้ากันอย่างเรียบเนียนกับสีพื้นผิวคอนกรีตเปลือย
นอกจากตัวตนของวสุจะแสดงออกมาผ่านดีไซน์ของ Slabtitude แล้ว วสุก็แสดงตัวตนของเขาออกมาผ่านสิ่งต่างๆ ในร้านเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นบทเพลงที่ได้รับการคัดสรรให้ร้านโดยเฉพาะ หรือผลงานศิลปะและเฟอร์นิเจอร์ตัวพิเศษที่เขาโปรดปราน ไปสัมผัสกับตัวตนของวสุได้ที่ร้าน Slabtitude ซอยสุขุมวิท 101 ร้านเปิดทุกวัน ตั้งแต่ 7 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น