ทำความรู้จักกับธนาวิ โชติประดิษฐ นักเขียนผู้คร่ำหวอดวงการศิลปะร่วมไทยมากกว่า 20 ปีและยังสวมบทบาทเป็นนักประวัติศาสตร์ศิลป์ คิวเรเตอร์ และอาจารย์ ซึ่งทำหน้าที่ขยายแง่มุมของศิลปะออกไปมากกว่าแง่มุมของผู้สร้างงาน
TEXT: NAPAT CHARITBUTRA
PHOTO CREDIT AS NOTED
(For English, press here)
ธนาวิ โชติประดิษฐ เป็นชื่อที่ลอยวนเวียนอยู่ในวงการศิลปะกว่า 20 ปี ชื่อของเธอโผล่มาตาม newsfeed บทความใน The 101 World / ฟ้าเดียวกัน วารสารอ่าน ใบปิดนิทรรศการศิลปะและงานเสวนา หรือที่ดังเปรี้ยงปร้างคือตรงหัวจดหมายเปิดผนึกถึงคิวเรเตอร์นิทรรศการ ‘The Truth_ to Turn It Over’ ประเทศเกาหลีใต้ (2016) กรณีที่จัดแสดงผลงาน ‘Thai Uprising/มวลมหาประชาชน’ ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ทั้งในฐานะนักประวัติศาสตร์ศิลป์ นักเขียน อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร กองบรรณาธิการวารสารวิชาการ Southeast of Now: Directions in Contemporary and Modern Art in Asia ล่าสุดคือในฐานะทีมคิวเรเตอร์ Phantasmapolis 2021 Asian Art Biennial ที่เมืองไถจง ประเทศไต้หวัน
ธนาวิจบการศึกษาจากภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เธอมุ่งความสนใจไปที่ศิลปะร่วมสมัยตั้งแต่ช่วงต้นปี 2000 ยุคที่อะไรๆ ยังไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ศิลปะแขนงนี้เท่าปัจจุบัน “ตั้งแต่สมัยเรียนก็รู้ตัวแล้วว่าชอบศิลปะร่วมสมัย เราจึงพยายามมากที่จะเขียนบทความและได้ตีพิมพ์” บทความแรกๆ ของธนาวิ ตีพิมพ์อยู่ในนิตยสาร Art Record เธอบอกกับ art4d ว่า เธอเริ่มจากเข้าไปเป็นกองบรรณาธิการอาสาสมัคร พิสูจน์อักษร ก่อนจะขยับมาเขียนข่าวเล็กๆ และบทสัมภาษณ์
“มีความอยากจะเขียนหนังสือมาก ระหว่างนั้นก็เลยพยายามส่งบทความไปที่หนังสือพิมพ์ต่างๆ ด้วย ที่จำได้ดีคือได้ไปร่วมโครงการวิจัย “การวิจารณ์ในฐานะพลังทางปัญญาของสังคมร่วมสมัย” ที่ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. เจตนา นาควัชระ จัดเวิร์คช็อปกับนักศึกษาที่อยากจะเขียนบทวิจารณ์ศิลปะ จังหวะนั้นมีนิทรรศการ Brand New ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ครั้งแรก (ปี 2003) พอดี เราเลยเขียนถึงงาน 2 ชิ้น คือของ ยุรี เกนสาคู และอริญชย์ รุ่งแจ้ง ลงในนิตยสารขวัญเรือน กับกรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์จุดประกาย ตอนนั้นเราเรียนอยู่ปี 4”
หลังเรียนจบ ธนาวิใช้เวลาเกือบๆ 5 ปี ค้นหาตัวเอง “ปัญหาคือรู้ว่าชอบศิลปะร่วมสมัยแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะทำอะไรกับมันดี” นอกจากเขียนบทความ เธอร่วมงานกับ เกล้ามาศ ยิบอินซอย ที่องค์กรด้านศิลปะที่ไม่หวังผลกำไรชื่อ About Art Related Activities (AARA) ซึ่งมีพื้นที่ทางศิลปะคือ About Studio / About Café โดยอยู่ในส่วนงาน curatorial “เราทำหน้าที่เป็นคนทำข้อเขียนให้กับนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้นในสเปซ แต่ไม่ได้เป็นคนเลือกศิลปินด้วยตัวเอง”
ท้ายที่สุด ทางเลือกอื่นๆ อย่าง ด้านการบริหารจัดการศิลปะ (art management) หรือ คิวเรเตอร์ ก็ถูกตัดทิ้งไป (แต่แล้วบทบาทคิวเรเตอร์จะกลับมาอยู่ดี) ธนาวิเลือกเดินทางสายวิชาการไปเรียนต่อปริญญาโทด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่ Leiden University ประเทศเนเธอร์แลนด์ และปริญญาเอกในสาขาเดียวกันที่ Birkbeck, University of London โดยจบด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อ ‘Revolution versus Counter-Revolution: The People’s Party and the Royalist(s) in Visual Dialogue’ ซึ่งเกี่ยวกับพลังทางการเมืองของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร หลังจากเรียนจบ เธอกลับมาเป็นอาจารย์สอนประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรจนถึงปัจจุบัน
“เผอิญว่านิทรรศการ ‘Broken Hill’ (2013) ของปรัชญา พิณทอง ที่ Chisenhale Gallery จัดขึ้นตอนเราเรียนปริญญาเอกอยู่ที่ลอนดอนพอดี เราติดตามผลงานของปรัชญามาตลอด ก็เลยอยากจะเขียนถึงแบบยาวๆ” (บทความ ‘Broken Hill: เสียงเพรียกจากแอฟริกา’ ตีพิมพ์ในวารสาร ดำรงวิชาการ, Vol 13, No. 2, 2014) ธนาวิ เล่าว่าประเด็นที่เธอเห็นในงานของปรัชญาคือ Institutional Critique ไม่ว่างานจะอยู่ในฟอร์มใด แสดงที่ไหน จะปรากฏร่องรอยนี้ในผลงานเสมอ และนี่เป็นสาเหตุที่เธอหยิบเอาประเด็นดังกล่าวมาพูดถึงใน ‘This page is intentionally left blank’ นิทรรศการซึ่งเธอคิวเรตในปี 2019 ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ที่ว่าด้วยการยกเอาส่วนหนึ่งสถาบันทางศิลปะอย่างพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป มาไว้ในบริบทของหอศิลป์เชิงพานิชย์ซึ่งมีบทบาทในการเป็นพื้นที่ทางศิลปะแบบทางเลือกด้วย
ในกรณีของ Phantasmapolis 2021 Asian Art Biennial นอกจากจะพาเอางาน ‘Gives Us A Little More Time’ (2020) ของจุฬญาณนนท์ ศิริผล ไปท้าทายสายตาคนดูไต้หวัน ด้วยเหตุผลว่ามันมีความ Sci-fi เฉพาะตัว “จุฬญาณนนท์ ทำเรื่องดาร์คๆ อย่างการเมืองไทย ที่มันเลวร้าย และยังไม่รู้ว่าจะไปจบที่ตรงไหนให้มันฮาได้ แต่ไม่ได้ลดความรุนแรงของสิ่งที่เป็นอยู่” เธอยังรับหน้าที่เป็นคิวเรเตอร์ส่วน non-exhibition ที่ประกอบไปด้วยการคิวเรตฟอรัม ‘Songs from the Moon Rabbit – Forum of 2021 Asian Art Biennial’ และหนังสือรวมบทความ ‘Midnight Sun and the Owl’ ที่จะตีพิมพ์ในปี 2022 ช่วงเวลากึ่งกลางก่อนที่จะถึง biennial ครั้งต่อไป “วิธีคิดของเราในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการทำฟอรัม การเขียนหนังสือ หรือการเลือกศิลปินสำหรับ Phantasmapolis เป็นวิธีคิดเดียวกัน นั่นก็คือว่า เรา engage กับตัวผลงานและตัวศิลปิน ให้สิ่งนั้นเป็นตัวตั้ง เพื่อพาไปสู่การสร้างความสัมพันธ์กับธีมหลักกับคีย์เวิร์ดต่างๆ เราพยายามสร้าง “สมดุล” ในความความสัมพันธ์ที่จะเกิดระหว่างบรรดาบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ศิลปินในนิทรรศการ ทีมคิวเรเตอร์ ทีมผู้จัดซึ่งก็คือทีมของพิพิธภัณฑ์ วิทยากรในฟอรัมและนักเขียนรับเชิญ” จุดประสงค์ก็คือเพื่อที่บทสนทนาจะได้แตกแขนงออกไปมากกว่าสิ่งที่เป็นอยู่ในนิทรรศการ โดยที่ทุกคนได้มีส่วนร่วมในทางใดทางหนึ่ง
สำหรับเธอ การวิจารณ์ งานวิชาการ และการเป็นคิวเรเตอร์ นั้นค่อนข้างคล้ายกันโดยมีหัวใจคือการค้นคว้า จะแตกต่างก็ตรงที่ผลลัพธ์สุดท้ายมันออกมาคนละฟอร์ม แต่เรื่องที่ยากคือ “การหาจุดสมดุล อย่างงานของพี่โต๊ะ (ปรัชญา พิณทอง) เราเห็นว่าประเด็นเรื่อง Institutional Critique คือสิ่งที่โดดเด่นในงานเขา แต่ตัวศิลปินเองอาจจะไม่ได้คิดถึงสิ่งๆ นี้ก็ได้นะ”
“เราไม่จำเป็นต้องรู้ว่าศิลปินคิดอะไร (100%) แต่เราไม่ละเลยความจริงที่ว่าเขาเป็นคนสร้างงาน และต้องไม่ทำลายผลงานบนการสร้างของเรา เพราะฉะนั้นมันต้องหาจุดนั้นให้เจอ ความยากก็คือเราไม่รู้หรอกว่าจุดๆ นั้นมันอยู่ตรงไหน” ธนาวิ ยกตัวอย่างจุดสมดุลง่ายๆ ว่าก็คือจุดที่ทุกคนที่ทำงานร่วมกันพอใจร่วมกันนั่นแหล่ะ อย่างไรก็ดี ความยากที่ยากกว่าในการเป็นนักวิจารณ์ หรือคิวเรเตอร์ คือการดีลกับความคาดหวังของศิลปิน คนดู และสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยที่เปราะบางเหลือเกินเรื่องการวิจารณ์ นักเขียน (บางครั้งเหมารวมไปถึงคิวเรเตอร์) ถูกมองว่าเป็นเพียงผู้ส่งสารที่มีหน้าที่แค่ไปเอาความคิดของศิลปินมาถ่ายทอด “ตอนเป็นนักศึกษาเราเคยถามศิลปินคนนึงว่า คิวเรเตอร์เนี่ยทำอะไร เขาตอบกลับมาว่า คิวเรเตอร์เป็นมือเท้าของศิลปิน ทำเอาเราอึ้งไปเหมือนกันนะ”
ธนาวิมองว่าปัญหาหลักในไทยคือความคิดกระแสหลักในประเทศนั่นคือ ผู้วิจารณ์ต้อง “ทำเป็น” ประมาณว่า “พูดเก่งนัก มาบริหารประเทศเองไหมล่ะ? ปัดโธ่” เช่นเดียวกันกับศิลปะ สิทธิในการวิจารณ์จึงมักตกอยู่ในมือของคนสร้าง หรือคนที่มีความสามารถในการสร้าง (เช่น ศิลปินที่ผันตัวมาทำงานเขียน) art4d ถามเธอว่า ถ้าหากความสามารถในการสร้างคือ ground ที่สร้างความชอบธรรมในการวิจารณ์ให้กับศิลปิน แล้ว ground ของนักเขียน / นักวิจารณ์ศิลปะ ในการเขียนถึงและวิจารณ์ศิลปะคืออะไร? เธอตอบกลับมาสั้นๆ ว่า “เสรีภาพในการวิจารณ์ไงล่ะ”
ground ของนักประวัติศาสตร์ศิลป์ก็คือการคิดเกี่ยวกับศิลปะ ซึ่งจะแสดงออกผ่านทั้งการเขียนและการพูด ในโลกใบนี้ มีแง่มุมอย่างอื่นๆ (ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ เทคโนโลยี ฯลฯ) นอกจากฝีแปรงและทัศนธาตุที่สามารถนำมาใช้ประกอบการวิจารณ์ “เพราะใน discipline ของตัวประวัติศาสตร์ศิลปะก็มีความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง มันมีการหยิบเอาสิ่งที่อยู่นอกขอบเขตของตัวเองมาปรับใช้ ประกอบในความคิดอยู่เสมอ” นักประวัติศาสตร์ศิลป์ไม่จำเป็นจะต้องพยายามหา ”ความจริง” ในงานศิลปะ (ซึ่งความจริงนั้นยึดโยงอย่างมากกับตัวศิลปิน) เราเพิ่มคำอธิบายให้กับงานด้วยมุมมองอื่นๆ ไม่งั้นแล้วงานศิลปะมันก็จะตาย ธนาวิ กล่าว
เช่นเดียวกันกับบทบาทคิวเรเตอร์ ธนาวิ ย้อนกลับไปในเวลาที่เธอรับหน้าที่เป็นคนนำชมในนิทรรศการ สวรรค์สุดเอื้อม: ศิลปินนอร์ดิคมุ่งสู่ตะวันออก (Beyond Paradise: Nordic Artists Travel East) ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) ในปี 2000 “นั่นเป็น moment of enlightenment ที่เราเข้าใจว่าคิวเรเตอร์ทำอะไร มันมีงาน Excerpt from Already Elsewhere, 2001 โดย Maria Friberg ศิลปินชาวสวีเดน ติดอยู่แถวประตูทางเข้าห้องนิทรรศการ แล้วก็มีแอร์ตกตรงนั้นพอดีด้วย พอคิวเรเตอร์คืออาจารย์อภินันท์ (ศาสตราจารย์ ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ เดินเข้ามา กำลังจะนำชม แกก็กอดอกทำท่าหนาว แล้วพูดว่า “ผมอยากให้คนดูรู้สึกว่าหนาว” นั่นแสดงให้เห็นว่า คิวเรเตอร์คือคนที่ทำงานกับตัวชิ้นงาน และคิดเกี่ยวกับว่าผู้ชมควรจะรับรู้งานศิลปะยังไง ทำไมงานชิ้นไหนจึงควรอยู่ตรงไหน มันไม่ใช่เรื่องของการเป็นมือเท้า”
ธนาวิ ทิ้งท้ายกับ art4d ว่า สิ่งที่คิวเรเตอร์หรือนักวิจารณ์ต้องยืนยันกับสังคมก็คือ พื้นที่ระหว่างศิลปินกับคนดูมันกว้างขวางเพียงพอสำหรับนักเขียน นักวิจารณ์ คิวเรเตอร์ ที่จะ exercise ความคิดของตัวเอง และพื้นที่ที่นั้น (ที่คนมักจะมองไม่เห็น) ก็สำคัญมากในการพาผู้ชมไปมองเห็นแง่มุมอื่นๆ ที่สำคัญต่อตัวผลงานนอกเหนือไปจากตัวตนของผู้สร้าง ที่สำคัญ พื้นที่นั้นกว้างขวางเพียงพอสำหรับผู้ชมด้วย