บ้านที่เปลี่ยนให้ต้นไม้กลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเพื่อตอบคำถามว่า ‘สถาปัตยกรรมจะอยู่ร่วมกับธรรมชาติในบริบทเดิมได้อย่างไร’
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF K59 ATELIER
(For English, press here)
ในอดีต จังหวัด Binh Duong ที่ตั้งอยู่ทางเหนือของนครโฮจิมินห์นั้นเป็นหนึ่งในเมืองชนบทที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ ทั้งจากแม่น้ำลำคลอง ป่าไม้ที่เติบโตอย่างอิสระ และพืชสวนไร่นาของภาคเกษตรกรรม แต่เมื่อการมาของสังคมเมืองได้แพร่ขยายมาถึงอย่างรวดเร็ว สภาพแวดล้อมที่แตกต่างทั้งสองเข้าปะทะกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เรือกสวนไร่นาถูกแทนที่ด้วยถนนและอาคารตึกแถว ท่ามกลางอาคารมากมายที่ผุดขึ้นกลบทับพื้นที่บริบทเดิม บ้าน Binh Duong House โดย k59 Atelier กลับมองหาจุดร่วมของธรรมชาติในบริบทเดิมและอาคารใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้นมา
ด้วยโจทย์สำคัญอย่างการเปลี่ยนพื้นที่ส่วนหนึ่งในสวนอาหารของครอบครัวผู้ว่าจ้างในจังหวัด Binh Duong ให้กลายเป็นบ้านเดี่ยวสำหรับพักอาศัย สถาปนิกได้เลือกพื้นที่รกร้างไร้การดูแลด้านในสุดของที่ดินสำหรับการเป็นที่ตั้งอาคารเนื่องด้วยเหตุผลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความเงียบสงบ ภายใต้กองขยะและเศษซากจากพื้นที่รกร้างหลังร้านอาหารนั้น สถาปนิกได้ค้นพบสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างต้นไม้ทั้ง 12 ต้นที่เติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่จากการที่เจ้าของที่ดินได้ปลูกไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว สถาปนิกจึงได้เริ่มต้นการออกแบบบ้านที่ให้ความสำคัญกับต้นไม้ในฐานะเจ้าของสถานที่เดิมเป็นหลัก และให้บ้านที่จะเกิดขึ้นใหม่นั้นแทรกตัวลงไปในพื้นที่อย่างเป็นมิตร
การออกแบบที่ให้ความสำคัญกับการอยู่ร่วมกับต้นไม้ในพื้นที่เดิมนั้นสะท้อนออกมาตั้งแต่สัดส่วนของบ้านที่มีความสูงเพียงหนึ่งชั้นและมีเพียงพื้นที่ Workshop ห้องเดียวที่ตั้งอยู่ในชั้นลอย ทั้งนี้ก็เพื่อให้ต้นไทรย้อยที่มีความสูงกว่า 11 เมตรได้ทำหน้าที่เป็นหลังคาตามธรรมชาติ ทั้งเมื่อพิจารณาที่ภาพรวมของการวางผัง บ้านทั้งหลังนั้นหลีกทางให้กับต้นไม้เดิมและให้อาคารล้อมรอบต้นไม้เหล่านั้นแทน พื้นที่รอบต้นไม้จึงไม่ใช่เป็นเพียงแต่กระบะปลูกหากแต่เป็นเหมือนสวนหย่อมตามจุดต่างๆ ของตัวบ้านที่สถาปนิกตั้งใจให้ผู้คนได้มีปฏิสัมพันธ์ด้วยอย่างกลมกลืน ผ่านการใช้ช่องเปิดกระจกจำนวนมากที่เปิดให้มองเห็นต้นไม้จากแทบทุกมุมของบ้านและนำแสงธรรมชาติเข้ามาในตอนกลางวันในขณะที่ปล่อยให้อากาศไหลเวียนได้สะดวก จุดสังเกตที่น่าสนใจอีกอย่างนั้นคือบ้าน Binh Duong House คล้ายกับจะเปลี่ยนพื้นที่ใช้สอยทั้งบ้านให้กลายเป็นพื้นที่แบบ semi-outdoor ด้วยผนังรอบตัวบ้านที่มีความสูงไม่เกินเข่าที่จะเดินข้ามก็สามารถทำได้ รวมถึงการใช้วัสดุปูพื้นชนิดเดียวที่ไหลไปทั่วทั้งบ้าน ทำให้ความเป็นภายในบ้านและภายนอกบ้านนั้นหายไปและเหลือเพียงแต่ผู้ใช้งานที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืน
งานสถาปัตยกรรมของบ้านหลังนี้มิได้จบอยู่แค่บนผิวดิน แต่สถาปนิกยังใส่ใจถึงบริบทของสภาพแวดล้อมที่ทำให้ต้นไม้อันเป็นสิ่งสำคัญของบ้านนั้นดำรงอยู่ต่อได้ ทั้งการใช้ฐานรากเสาเข็มที่มีขนาดเล็กเพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายระบบรากของต้นไม้ การวางงานระบบบ่อบำบัดใต้ดินเพื่อบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคูคลองรอบอาคาร รวมถึงการมีบ่อเก็บน้ำที่ต่อตรงกับรางน้ำฝนกระจายอยู่รอบตัวบ้านสำหรับใช้งานทั่วไปและรดน้ำต้นไม้ บ่งชี้ว่าสถาปัตยกรรมไม่ได้เป็นเพียงแค่เรื่องของอาคารบนดินเท่านั้น หากแต่รวมไปถึงสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเรื่องของระบบนิเวศที่อยู่ใต้ดินอีกด้วย
สิ่งที่มองไม่เห็นอีกอย่างของพื้นที่แห่งนี้นั้นคือประวัติศาสตร์และผู้คนที่อยู่รายล้อม ประตูหน้าต่างของบ้านหลังนี้ทุกบานนั้นถูกสร้างขึ้นด้วยฝีมือของช่างในท้องที่ที่มีความชำนาญ ทำให้บ้านเต็มไปด้วยประเภทช่องเปิดที่หลากหลายซึ่งตอบรับกับการใช้งานแน่แต่ละพื้นที่ของบ้านไม่ว่าจะเป็นบานหมุน บานสไลด์ บานเฟี้ยม รวมถึงการใช้วัสดุอย่างกระเบื้องดินเผาทั้งในส่วนพื้นและส่วนหลังคาที่บอกเล่าเรื่องราวของจังหวัด Binh Duong อันครั้งหนึ่งเคยได้รับสมญานามว่า ‘เมืองหลวงแห่งแผ่นกระเบื้องและก้อนอิฐ’ จากการเป็นจังหวัดที่ส่งออกกระเบื้องและอิฐให้ทั่วทั้งตอนใต้ของเวียดนาม
Binh Duong House เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการหาจุดร่วมระหว่างเมืองที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วและธรรมชาติที่ดำรงที่อยู่ในพื้นที่เดิม ด้วยการเริ่มต้นงานออกแบบจากธรรมชาติและให้สถาปัตยกรรมยึดโยงเข้ากับธรรมชาติเหล่านั้นแทนที่จะเริ่มต้นจากตัวอาคารก่อน ทั้งยังชี้ให้เห็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญอย่างการอยู่ร่วมกับธรรมชาติในงานสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของการปลูกต้นไม้ไว้ในบริเวณบ้าน หากแค่เป็นการคิดต่อว่าต้นไม้เหล่านั้นจะสามารถดำรงอยู่และสัมพันธ์กับสิ่งรอบข้างได้อย่างไร เพราะต้นไม้นั้นก็ไม่ต่างอะไรจากผู้คน เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการสภาพแวดล้อมที่ดีในการมีชีวิต เพื่อการเติบโตไปได้อย่างยั่งยืนเช่นเดียวกัน