ถอดรหัส ‘Pattani Decoded 2022’ ในที่เกิดเหตุ อัพเดตใหม่ปัตตานี จากนาเกลือถึงโพสต์ร็อก / ได้ความรู้ ดูงานศิลป์ กินเชฟส์เทเบิ้ล
TEXT: PITI AMRARANGA
PHOTO: PITI AMRARANGA AND JUTAMAS BURANAJADE
(For English, press here)
การประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ซึ่งมีผลในวันที่ 1 ตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายนี้นับรวมได้ 2 ปี 6 เดือน หลายคนดูจะอึดอัดในช่วงแรกแต่นานวันเข้ากลายเป็นความเคยชิน แต่สองปีครึ่งดูจะนานไม่พอเมื่อเทียบกับจังหวัดปัตตานี หนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศใช้กฎหมายพิเศษนี้มาเกือบ 18 ปีแล้ว และยังคงไว้ต่อไปไม่ยกเลิกเหมือนพื้นที่อื่นแม้จะพ้นช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปแล้วก็ตาม 18 ปีเป็นเวลายาวนานที่ทำให้เราขาดความสัมพันธ์จนกลายเป็นคนแปลกหน้าต่อกันอย่างที่ทุกคนก็รู้ และดูเหมือนว่าเราจะไม่เคยได้ยินข่าวดีจากแถวนี้สักเท่าไหร่ ด้วยเหตุนี้การจัดงานที่เสริมสร้างพลังบวกอย่างเทศกาลงานออกแบบจึงมีแรงดึงดูดให้คนข้างนอกรู้สึกอยากรู้อยากเห็นมากเป็นพิเศษ Pattani Decoded หรือ ‘ปัตตานีดีโคตร’ ที่ถูกจัดขึ้นจึงถือเป็นข่าวดีสมกับชื่องาน
เทศกาล Pattani Decoded 2022 ในช่วงเวลา 2-4 กันยายน ถูกจัดโดย Melayu Living กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ในจังหวัดปัตตานี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดขึ้นเป็นครั้งที่สองหลังจากประสบความสำเร็จด้วยดีในครั้งแรกเมื่อปี 2019 แต่ต้องหยุดพักไปเนื่องจากสถานะการณ์โรคระบาด โปรแกรมของปีนี้มีความหลากหลายน่าสนใจขึ้นกว่าครั้งก่อน เมื่อดูจากชื่อหน่วยงานที่สนับสนุนก็พอจะเข้าใจผลที่อยากให้เกิดขึ้นจากการจัดงานได้
ในการรับรู้เกี่ยวกับปัตตานีของคนทั่วไปนั้นดูไม่ค่อยดี สังเกตจากการที่ผมบอกคนที่บ้านว่าจะไปเที่ยวงานดีไซน์วีคที่นั่น หลายคนทักท้วงเพราะเป็นห่วงในความปลอดภัยที่เขาก็ไม่รู้เหมือนกันว่าอันตรายของที่นั่นมันคืออะไร ซึ่งแน่นอนว่าผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่มีความมั่นใจอย่างหนึ่งก็คือถ้าคนในพื้นที่ไหนมีความรื่นรมย์ในจิตใจมากพอที่จะจัดเทศกาลงานออกแบบได้ก็แปลว่าที่นั่นมีความปลอดภัยมากพอ ระยะทาง 770 กิโลเมตร กับการเดินทางกว่า 19 ชั่วโมงโดยรถไฟ ช่วยให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากกรุงเทพฯ สู่ปัตตานีอย่างค่อยเป็นค่อยไปในตัวผู้คน และวัฒนธรรมที่แตกต่าง จากสถานีปลายทางเดินทางต่อด้วยรถสองแถวเข้าสู่ตัวเมืองอีก 29 กิโลเมตร ผ่านจุดตรวจของทหารให้พอได้รู้สึกตื่นเต้นเป็นระยะแต่ก็ไม่รู้สึกถึงความอันตราย ซึ่งสิ่งที่มากไปกว่าเรื่องการเที่ยวชมงานออกแบบก็คือการได้มาถึงที่นี่ก็เป็นประสบการณ์หนึ่งในฐานะนักเดินทางที่อยากมาเพื่อซึมซับบรรยากาศ ถือเป็นการอัปเดตข้อมูลเก่าในหัวสมองให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดด้วยตัวเอง แต่เบื้องต้นดูแล้วปัตตานีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด
หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเรียกแกร็บแท็กซี่ เราจึงใช้วิธีเดินเท้าไปตามจุดต่างๆ พื้นที่จัดงานอยู่ในตัวเมืองบนถนนสามเส้นคือ อาเนาะรู, ฤาดี และ ปัตตานีภิรมย์ สามารถเดินถึงกันได้ทั่วทั้ง 22 จุดจัดงาน ภายในระยะทางประมาณหนึ่งกิโลเมตร ช่วงสามวันที่เดินลัดเลาะย่านชุมชนเพื่อดูงาน เรารู้สึกตัวว่าอยู่ในสายตาของคนท้องถิ่นโดยตลอด หลายคนที่เราคุยด้วยบอกว่าเห็นเราเดินอยู่ตรงจุดนั้นจุดนี้เมื่อเวลานั้นเวลานี้ คงเป็นเพราะเมืองที่มีขนาดเล็ก หรือความเป็นคนแปลกหน้าทำให้เราเป็นที่สังเกตเห็นได้โดยง่าย ทุกคนที่เรามีโอกาสได้คุยด้วยมีคำถามเหมือนกันสามข้อคือ มาจากไหน? มาทำอะไร? และ ไม่กลัวเหรอ? ซึ่งพวกเขาสนใจในทุกคำตอบของเรา ทำให้รู้ว่าไม่ใช่แค่เราที่อยากมาทำความรู้จักกับปัตตานี แต่ปัตตานีก็อยากรู้จักเราด้วยเหมือนกัน
คำว่า Deep Salt ที่เราเห็นอยู่บนโปสเตอร์ คือธีมหลักของเทศกาลที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก วัตถุดิบอย่าง ‘เกลือหวาน’ หรือ ‘การัม มานิส’ ในภาษามลายูเป็นเกลือที่ทำจากน้ำทะเลผสมกับน้ำกร่อยที่มาจากอ่าวปัตตานีทำให้มีรสกลมกล่อมเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่บริเวณนี้ มีบทบาทสำคัญอยู่ในประวัติศาสตร์มาต่อเนื่องยาวนาน แต่ถึงเกลือจะหวานแต่ก็เจือด้วยเรื่องราวขมๆ ปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ไม่ทำนาเกลือจะเหลือก็แต่ผู้สูงอายุที่มีความรู้ทำเป็นอยู่ไม่กี่คน ดังนั้นการโยนโจทย์เรื่องเกลือหวานให้เหล่านักสร้างสรรค์ช่วยกันถอดรหัสดูจะมีเดิมพันที่สูง และท้าทายว่าปัญหาสำคัญที่สลับซับซ้อนแบบนี้จะถูกแก้ไขด้วยกระบวนการทางความคิดสร้างสรรค์ได้จริง หรือเป็นแค่ลูกเล่นในการประชาสัมพันธ์
หัวค่ำของวันศุกร์ที่ 2 กันยายน ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาล ข่าวของงานเริ่มทยอยเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียของสื่อชื่อดังเกือบทุกสำนัก ปัตตานีทำสำเร็จอย่างน้อยก็ในก้าวแรก จากความเป็นเมืองที่เวอร์จิ้นสดใหม่กับรูปแบบงานที่ดูมีรสนิยม ดึงดูดใจเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ที่มองหาคอนเทนต์ที่แตกต่างให้มารวมตัวกันที่นี่ บรรยากาศที่เป็นมิตรน่าท่องเที่ยวถูกนำเสนอเป็นซอฟท์พาวเวอร์แบบเบาๆ เราไม่แน่ใจว่าจะมีคนจับเครื่องบินมาลงหาดใหญ่แล้วต่อรถตู้เพื่อมาเที่ยวที่นี่ในวันเสาร์อาทิตย์ที่ 3-4 หลังจากเห็นภาพงานตามสื่อหรือเปล่า แต่เราก็ได้เห็นภาพรถติดยาวสองข้างทางเลียบนาเกลือ ของนักท่องเที่ยวที่มาจอดรถเพื่อลงไปถ่ายรูปกับผลงานแลนด์อาร์ตที่ชื่อ ‘Field Work’ ออกแบบโดย Thingsmatter ซึ่งถือเป็นไฮไลท์ และเป็นไอคอนของเทศกาลในปีนี้ โดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตามงานชิ้นนี้ก็ทำให้คนเดินลงไปในนาเกลือได้ ตอกย้ำให้จำได้ไม่ลืมว่าที่นี่มีเกลือหวาน
โปรแกรมสุดท้ายในคืนวันแรกเขียนไว้สั้นๆ ในเฟสบุ๊คเพจของงานว่า ‘21.00 – 22.30 คอนเสิร์ตพิเศษจากวง INSPIRATIVE เข้ามาร่วมสร้างสีสันภายในงาน ณ TK Park’ เหมือนเป็นกิจกรรมลับแบบอาฟเตอร์ปาร์ตี้ สามทุ่มของที่นี่ท้องถนนเริ่มเงียบแล้ว เราไปถึงที่งานเป็นคนแรกๆ และสงสัยว่ามันจะมีคอนเสิร์ตบนตึกนี้ได้จริงเหรอ ซึ่งเป็นความผิดของเราเองที่ไม่รู้จักวงโพสต์ร็อกที่ดีที่สุดวงหนึ่งของประเทศไทยวงนี้มาก่อน เมื่อวงเริ่มเล่นเพลงแรกเราหันไปมองหน้าคนข้างๆ แล้วถามว่าคนที่นี่เขาฟังเพลงแบบนี้กันเลยเหรอครับ? บรรยากาศดูผ่อนคลาย การได้ชมคอนเสิร์ตดีๆ ร่วมกัน กลายเป็นกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ที่ทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่งไปกับวัยรุ่นปัตตานี ที่กำลังเพลิดเพลินไปกับเสียงดนตรีของพวกเขาได้เป็นอย่างดี ในแบบที่ปราศจากแอลกอฮอล์เสียด้วย
วันที่สองของเทศกาลเราเดินทางไปกับ Special Trip: เกลือหวาน วันวาน เป็นลักษณะกิจกรรมเดย์ทริปแบบ ‘ให้ความรู้ เสพงานศิลป์ กินขนมหวาน’ ชมบ้านสระมาลาบ้านไม้เก่าแก่อายุร่วมร้อยปี ดูการทำขนมโบราณในหมู่บ้านตันหยงลุโล๊ะ ล่องเรือเรียนรู้เส้นทางวัฒนธรรมสัมผัสธรรมชาติอ่าวปัตตานี ซึ่งเราเริ่มต้นการเดินทางกันที่บ้านหะยีสุหลง สถานที่ที่เป็นจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ปัตตานียุคใหม่ โดยปัจจุบันเปิดเป็นศูนย์การเรียนรู้ ข้อมูลที่พี่บอยซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลเล่าให้เล่าคณะทัวร์ฟัง ทำให้เราเริ่มปะติดปะต่อปัญหาเรื้อรังของพื้นที่ได้ในเวลาอันสั้น รวมถึงการได้แวะเยี่ยมชมมัสยิดกรือเซะ และฟังเรื่องเล่าจากเยาวชนในพื้นที่ที่อยู่ในเหตุการณ์วันนั้นด้วย เมื่อเอ่ยปากถามทุกคนก็พร้อมที่จะเล่า มีเรื่องราวของความไม่ยุติธรรมกระจายอยู่ในหลายจุดที่เดินทางไป เป็นชิ้นส่วนของจิ๊กซอว์ให้เราเก็บสะสมไว้เพื่อเข้าใจภาพใหญ่ได้ในสักวันหนึ่ง
สิ่งน่าสนใจที่เจอในปัตตานีเวลาเดินตลาด คือขนมพื้นถิ่นโบราณของชาวมุสลิม หลายแบบไม่เคยเห็นจนต้องถามวิธีกินจากแม่ค้า ในทริปนี้เราได้ดูการสาธิตทำขนม ‘เวาะห์ฮูลู’ ซึ่งเป็นขนมไข่แบบเฉพาะของที่นี่ ส่วนผสมเรียบง่าย มีแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลโตนด ไข่ และเกลือ เป็นขนมไข่เนื้อแน่นไม่ฟูเบาเหมือนที่เราคุ้นเคย อบด้วยเตาถ่านแบบโบราณ มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ของยีสต์ตามธรรมชาติที่เกิดจากการหมักแป้ง รสชาติหวานแต่จะลงตัวเมื่อกินกับชาร้อน เป็นขนมกินง่ายที่น่าจะแมสได้ไม่ยาก และขนมอีกชนิดหนึ่งที่พิเศษมากคือ ‘อาซูรอ’ ที่เราบังเอิญถูกชวนให้เข้าร่วมกิจกรรมการกวนด้วย อาซูรอไม่ใช่ขนมที่ทำเพื่อขาย แต่เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนาที่ในหนึ่งปีจะมีแค่ครั้งเดียว เป็นการร่วมแรงร่วมใจของผู้คน กับส่วนผสมที่หลากหลายกว่า 25 ชนิด ส่วนใหญ่เป็นธัญพืชและสมุนไพรแต่บางสูตรก็ใส่เนื้อสัตว์ด้วย ใช้เวลากวนไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง เมื่อทำเสร็จก็แจกจ่ายแบ่งกินให้ทั่วกัน เนื้อสัมผัสเข้มข้นรสชาติหวานๆ เค็มๆ เหมือนอาหารมากกว่าที่จะเป็นขนม เป็นประสบการณ์ในการกินแบบที่ไม่เคยเจอมาก่อน และพบได้ในจังหวัดชายแดนใต้นี้เท่านั้น
วันสุดท้ายกับกิจกรรมสุดท้ายของเทศกาลคือ ‘Chef’s Table’ ที่ทุกรายการอาหารสร้างสรรค์จากของที่หาได้ในปัตตานีและมีเกลือหวานเป็นส่วนประกอบโดยเชฟโน้ต อธิป สโมสร ทดลองทำเมนูที่ปรุงเอาวัฒนธรรม วัตถุดิบ และวิถีชีวิต เข้ามารวมกันไว้ในหนึ่งคำ เป็นการนำอาหารทะเล ผักพื้นบ้าน เมนูท้องถิ่น มาตีความใหม่ให้เราได้ลองชิม พร้อมบทสนทนาจากอาจารย์ต้น อนุสรณ์ ติปยานนท์ ที่ช่วยขยายความที่มาที่ไปว่าทำไมนี่จึงเป็นมื้ออาหารแห่งความหวังของเกลือหวานปัตตานีที่ใกล้จะสาบสูญ เสริมด้วยชาเบลนด์ของคุณปุ๊ก กาญจนา นักออกแบบที่มาช่วยปรุงชาให้สัมพันธ์ไปกับมื้ออาหารได้อย่างกลมกล่อม
ตลอด 3 วัน เราได้เห็นนักสร้างสรรค์หลากสาขาใช้เครื่องมือของเขาจัดการกับปัญหาอย่างสุดความสามารถ ในรูปแบบของนิทรรศการ เวิร์คช็อป การสนทนา และการออกร้านต่างๆ ดังเช่นผลงาน The Memoirs of Taning ของ เอิ้น-ศริญญา ลิมป์ทองทิพย์ ที่อ่านปัตตานีด้วยความรักและเคารพ จนสะท้อนออกมาเป็นพลังบวกได้อย่างน่าชื่นชม ปัจจุบันนักสร้างสรรค์ไม่ใช้แค่มีหน้าที่ทำให้สิ่งต่างๆ ดูดีและทันสมัยเพียงเท่านั้น แต่เรายังเผชิญกับโจทย์ที่ยุ่งยากซับซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อคนในวงกว้าง เราถามอาจารย์ติ๊ก สันติ ลอรัชวี จาก PRACTICAL school of design ที่ลงมาทำงานในพื้นที่ด้วยคำถามว่า เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะแก้ไขเรื่องใหญ่ระดับจังหวัดอย่างนี้ได้ คำตอบก็คือเราไม่มีทางรู้ และไม่สามารถรับประกันว่าจะจัดการกับปัญหาทุกอย่างได้ ในเวิร์คช็อปของอาจารย์จึงเลือกที่จะทิ้งรูปแบบการทำงานเอาไว้ให้กับเยาวชนในพื้นที่ เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์สามารถหยิบใช้ได้ทุกเมื่อในวันที่พวกเขาต้องการ
ในหนังสือ ‘เราต่างเป็นนักออกแบบ’ ที่เขียนโดย เอซิโอ มานซินี่ พวกเราทั้งหมดล้วนเป็นนักออกแบบ ทั้งหมดที่เขาหมายถึงคือเราทุกคนจริงๆ ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นองค์กร ธุรกิจ หน่วยงานรัฐ เมือง ภูมิภาค และรัฐ ในหนังสือพูดถึงโลกที่นักออกแบบเข้าไปมีบทบาทส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมการดำเนินชีวิต และการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่โครงการออกแบบต่างๆ ได้ทำให้เกิดขึ้น ซึ่งเราเห็นกระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นที่ปัตตานี เห็นกระบวนการร่วมออกแบบ-ร่วมสร้างสรรค์ เราพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนเครื่องมือ เรียนรู้รูปแบบการทำงานของกันและกัน หลังจากนั้นเราก็แยกย้ายกันกลับบ้านไปพร้อมกับกล่องเครื่องมือทางความคิดที่ใหญ่โตและหลากหลายขึ้นกว่าเดิม ด้วยความหวังที่จะรับมือกับปัญหาที่สลับซับซ้อนได้ดียิ่งขึ้นในภายภาคหน้า แล้วพบกันใหม่ปัตตานี ยินดีที่ได้รู้จัก
facebook.com/pattanidecoded