‘WHY’ A SOLO EXHIBITION BY ADITYA NOVALI

นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของ Aditya Novali ที่ตั้งคำถามถึง ‘ความจริง’ ในโลกดิจิทัล และความเป็นไปในโลกปัจจุบันผ่านสายตาของคน Gen-X

TEXT: TUNYAPORN HONGTONG
PHOTO COURTESY OF TUMURUN PRIVATE MUSEUM AND ADITYA NOVALI EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

Aditya Novali มักได้รับการเกริ่นนำว่าเป็นศิลปินที่มีแบ็กกราวนด์มาทางด้านสถาปัตยกรรม รวมทั้งในวัยเด็กยังเคยเป็นนักเชิดหนังตะลุงมากประสบการณ์ ข้อมูลสั้นๆ แค่นี้อธิบายได้ดีถึงรูปทรงเรขาคณิต เส้นสายกริดเนี้ยบกริบ และแสงเงาตกกระทบ ที่พบได้ในรูปลักษณ์ภายนอกของศิลปะของเขา แต่การจะเข้าใจความคิดเบื้องหลังชิ้นงานเหล่านั้น การแนะนำข้างต้นดูจะไม่เพียงพอ แต่เราอาจต้องเริ่มต้นกันที่เจเนอเรชันที่เขาสังกัดอยู่

Novali เกิดในปี 1978 จัดเป็นเจเนอเรชันเอ็กซ์รุ่นปลายๆ ที่อยู่ร่วมการเปลี่ยนผ่านระหว่างโลกสองใบที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะในทางการเมือง จากที่อินโดนีเซียเคยอยู่ใต้การปกครองแบบเผด็จการของรัฐบาลซูฮาร์โต มาสู่ยุคที่อินโดนีเซียมีบรรยากาศและอิสรภาพทางการเมืองดีกว่าใครๆ ในละแวกเพื่อนบ้านหลายเท่าตัว และในทางวัฒนธรรมร่วมของโลก จากยุคที่ข้อมูลข่าวสารยังคงมีพื้นที่จำกัดจำเขี่ย มาสู่ช่วงเวลาที่ข้อมูลมหาศาลถาโถมเดินทางถ่ายเทไปมาอย่างรวดเร็ว

ในการเป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยในอย่างที่สองนั้น แม้คนส่วนมากในเจเนอเรชันเอ็กซ์จะสามารถปรับตัวเข้ากับยุคข้อมูลข่าวสารดิจิตอลได้ไม่แพ้เจเนอเรชันวาย แต่เพราะพวกเขา (หรือพูดให้ถูกต้องตามอายุของผู้เขียนคือ “พวกเรา”) ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตอยู่ในโลกใบเก่ามาก่อน เมื่อพบเจอการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เจนเอ็กซ์จึงดูจะไม่ได้คล้อยตามโลกใบใหม่ไปทั้งหมด แต่กลับมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับสิ่งที่เปลี่ยนไปเหล่านั้น ซึ่งในกรณีของ Novali คำถามบางส่วนปรากฏให้เห็นในศิลปะของเขา

ใน ‘WHY’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของ Novali เราได้เห็นผลงานหลายชิ้นที่ตั้งคำถามถึงสิ่งที่เป็นไปในโลกปัจจุบัน เริ่มต้นจาก ‘When I Google Ahok’ (2017) อินสตอเลชันแผงอะคริลิกขนาดใหญ่ 5 ชิ้น พร้อมไฟ LED ให้ความสว่าง แต่ละชิ้นมีลวดลายกล่องสี่เหลี่ยมต่างขนาดและต่างสีสันจัดวางซ้อนทับกันเป็นจำนวนมาก Novali บอกว่าจุดกำเนิดของงานชิ้นนี้คือปี 2016 ที่อินโดนีเซียกำลังมีประเด็นร้อนแรงทางการเมืองเกี่ยวกับอดีตผู้ว่าฯ จาการ์ตา Basuki Tjahaja Purnama หรือ Ahok ที่ถูกฟ้องร้องด้วยคดีดูหมิ่นศาสนาอิสลามในระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง ในตอนนั้น ข่าวสารที่คนอินโดฯ ได้รับมีมากมายหลากหลาย และเมื่อ Novali ลองกูเกิ้ลคำว่า Ahok ภาพแรกในเว็บเพจที่เขาพบคือรูปทรงสี่เหลี่ยมหลากหลายสีสัน (ระหว่างรอรูปโหลดขึ้นมา) และภาพของ Ahok ที่แตกเป็น pixel อันเนื่องมาจากความช้าของอินเทอร์เน็ตในบ้านเกิดที่โซโล (Solo) ทางตอนกลางของเกาะชวา “คนสิงคโปร์และเกาหลีใต้จะไม่เข้าใจสิ่งนี้” เขาว่าพร้อมหัวเราะ “เพราะอินเทอร์เน็ตบ้านเขาไม่ช้า”

แต่เพราะภาพที่เกิดจากความช้าของอินเทอร์เน็ตนี่เอง Novali จึงได้ไอเดียสำหรับอินสตอเลชันชิ้นนี้ รูปทรงสี่เหลี่ยมแต่ละขนาดและแต่ละโทนสีถูกใช้เป็นตัวแทนข้อมูลความคิดเห็นมากมายในโลกออนไลน์ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ขึ้นอยู่กับว่าเจ้าของคอนเทนต์นั้นๆ สนับสนุนหรือต่อต้าน Ahok … และนี่จึงนำไปสู่คำถามถัดไป นั่นคือเราสามารถเชื่อถือข้อมูลในโลกออนไลน์ได้มากน้อยแค่ไหน หรือมีอะไรบ้างไหมในโลกเสมือนจริงแห่งนี้ที่เป็นความจริง

Structures of Representation ประกอบไปด้วยผลงานสองรูปแบบของ Novali ที่ดูจะกลายเป็นอัตลักษณ์ทางศิลปะของเขาไปแล้ว ผลงานรูปแบบแรกคือ rotatable painting หรือเพนต์ติ้งที่ประกอบขึ้นจากแท่งอลูมิเนียมสี่เหลี่ยมหุ้มด้วยผ้าใบแคนวาส จำนวน 21 แท่ง โดยแท่งสี่เหลี่ยมแต่ละแท่งจะมีลวดลายที่ศิลปินวาดไว้แตกต่างกันไปทั้ง 4 ด้าน ดังนั้นในแต่ละครั้งที่หมุนแท่งสี่เหลี่ยมสลับด้านไปมา ก็จะได้ภาพที่แตกต่างกันไปด้วย ใน ‘WHY’ ครั้งนี้ rotatable painting ที่ Novali นำมาจัดแสดงชื่อ ‘I.N.’ (2019) เป็นภาพแลนด์สเคปที่ด้านหนึ่งเป็นทิวทัศน์รูปทรงเรขาคณิต ส่วนอีกด้านเป็นภาพทิวทัศน์สไตล์ประเพณีนิยมของจีน แต่ในช่วงเวลาเดียวกันกับนิทรรศการนี้ Novali ยังนำเอา rotatable painting อีกชิ้นไปจัดแสดงที่ Art Jakarta (26-28 สิงหา) โดยชิ้นงานดังกล่าวเป็นภาพของแผนที่เมืองจาการ์ตา สถานที่สำคัญต่างๆ ในเมือง อนุสาวรีย์ และภาพเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น การประท้วงของนักศึกษาและประชาชน ตั้งแต่ช่วงปี 1965-2016 การหมุนแท่งสี่เหลี่ยมบนเพนต์ติ้งชิ้นนี้ไปมา สำหรับ Novali จึงเหมือนการเลือกรับรู้ความจริงของแต่ละปัจเจก รวมไปถึงความพยายามปกปิดหรือบิดเบือนสิ่งเลวร้ายที่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ และเลือกเสนอภาพที่สวยงามออกมาให้เห็นแทน แต่แม้ว่าภาพบนด้านของแท่งสี่เหลี่ยมจะไม่ถูกพลิกออกมาให้เห็น เราก็ปฏิเสธการมีอยู่ของมันไม่ได้ “ความจริงไม่เคยไปไหน ความจริงยังคงอยู่ตรงนั้น” เขาตบท้าย

Photo: Tunyaporn Hongtong

Novali ยังวาดภาพทิวทัศน์แบบเดียวกันกับที่วาดบน rotatable painting ลงบนงานอีกสองชิ้นที่จัดเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่โดดเด่นของเขา คือวาดลงบนแผ่นอะคริลิกใสและนำอะคริลิกแต่ละแผ่นมาจัดเรียงในโครงสร้างที่แตกต่างกัน ชิ้นหนึ่งจัดเรียงแบบวางซ้อนกันขึ้นไป (‘TH:IS, 2019’) และอีกชิ้นจัดเรียงซ้อนทับกันในด้านลึก (‘SE.NT.EN.CE, 2019’) ผลลัพธ์ที่ออกมาคือ ภาพภาพเดียวกัน เมื่อถูกนำมาจัดเรียงโครงสร้างที่ต่างกัน กลับเกิดเป็นภาพที่ต่างกันไปด้วย แถมความแตกต่างในรายละเอียดยังขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้ชม เช่น มองจากด้านหน้าตรงเข้าไป มองจากทางด้านข้าง เป็นต้น

Photo: Tunyaporn Hongtong

ใน ‘WHY’ เรายังได้เห็นดรออิ้งของ Novali บนอะคริลิกใสแผ่นเล็กๆ ในผลงานอีกชิ้นคือ ‘Conversation Unknown’ (2015)  โดยคราวนี้เขาวาด portrait ของคนในวงการศิลปะร่วมสมัยอินโดฯ ที่ถูกรวบรวมอยู่ในหนังสือ ‘Indonesian Art World’ ของ Dr.Melani Setiawan ทั้งหมด 3,500 ภาพ และนำมาจัดวางตั้งฉากกับชั้นอะคริลิกใส 91 แถว ให้เรียงกันไปเหมือนการแบ่งพื้นที่ห้องบนอาคาร ทำให้การจะชมดรออิ้งแต่ละชิ้น ผู้ชมจึงต้องมองจากมุมเฉียง แต่หากมองจากมุมตรงเข้าไปยังชิ้นงาน ภาพเหมือนบุคคลที่เปรียบเสมือนตัวตนของแต่ละคนจะเลือนหายไป และสิ่งที่ปรากฏเข้ามาแทนที่คือเงาที่ตกกระทบลงมาคล้ายบน façade ของอาคาร

งานอีกชิ้นที่ขอพูดถึงในที่นี้คือ Significant Others: Her and His World(s) ที่ประกอบไปด้วยเพนต์ติ้งรูปไอคอนแบตเตอรี่/พื้นหลังสีน้ำเงินแอ็บแสตร็ก บนแผ่นอะคริลิก ชื่อ ‘Battery icon/card (blue)’ (2018) และเมื่อเอาแอพฯ Artvive ในสมาร์ทโฟนไปแสกนแล้ว ภาพดังกล่าวจะเปลี่ยนเป็นดรออิ้งหลากหลายภาพที่มีการซ้ำกันของรูปทรงคล้ายในผลงานของ Novali แต่นี่เป็นดรออิ้งแบบเด็กๆ ฝีมือน้องสาวของเขาที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม ถึงแม้ Novali จะบอกว่าแนวคิดในงานชิ้นนี้แตะๆ ประเด็นทางสังคมอยู่บ้าง แต่เรากลับสนใจในแง่ที่มันเผยให้เห็นตัวตนอีกด้านหนึ่งของเขามากกว่า นั่นคือบทบาทของพี่ชายที่ดูแลน้องสาว เพราะมันทำให้เราฉุกคิดว่าที่ผ่านมาเราเห็นแต่ตัวตนด้านที่เป็นศิลปินของเขา เหมือนกับที่เรารู้จักแค่บางด้านบางมุมของผู้คนมากมายผ่านโซเชียลมีเดีย แต่คนเราทุกคนย่อมมีหลากหลายด้าน ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเลือกสื่อสารออกมาหรือไม่ หรือเราจะสามารถมองข้ามเปลือกนอกที่ห่อหุ้มตัวตนด้านในได้หรือเปล่า เหมือนอย่างที่ Novali ซ่อนเรื่องราวในครอบครัวของเขาไว้ภายใต้เพนต์ติ้งรูปไอคอนแบตเตอรี่ รอให้เราใช้แอพฯ มาแสกนเพื่อค้นพบความจริงอีกชั้นด้านใน

‘WHY’ ปิดฉากไปแล้วเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาที่ Tumurun Private Museum ในโซโล สำหรับ Novali นี่เป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่เมืองบ้านเกิดหลังจากที่เคยตะลอนทัวร์จัดแสดงผลงานมาแล้วในหลายเมืองหลายประเทศ ส่วนสำหรับเรา แม้จะเคยเห็นผลงานของเขามาแล้วสองสามครั้งในงานแฟร์ที่จาการ์ตา แต่ความที่เป็นนิทรรศการเดี่ยวทำให้ครั้งนี้เราได้รู้จักความคิดของเขาลึกซึ้งกว่าเดิม เหมือนที่การอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นของนักเขียนคนเดียวย่อมเต็มอิ่มกว่าการอ่านหนังสือรวมเรื่องสั้นจากนักเขียนหลายคน ซึ่งการได้รู้จักผลงานของ Novali ครั้งนี้ บอกได้เลยว่าเขาเป็นศิลปินที่น่าสนใจอีกคนหนึ่งของอินโดฯ อย่างไม่ต้องสงสัย

tumurunmuseum.org

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *