KAOMAI TEA BARN

ร้านชาภาคต่อจากโครงการ Kaomai Estate 1955 โดย PAVA architects ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ ‘Reconstruction’ ซึ่งพาเราหวนย้อนไปยังบรรยากาศเดิมของโรงบ่มยาสูบเมื่อ 70 ปีที่แล้ว

TEXT: PICHAPOHN SINGNIMITTRAKUL
PHOTO: SPACESHIFT STUDIO

(For English, press here

ระหว่างเส้นทางเชื่อมต่อตัวเมืองเชียงใหม่สู่ดอยอินทนนท์ ‘เก๊าไม้ล้านนารีสอร์ท’ ที่ตั้งอยู่อำเภอสันป่าตอง คือรีสอร์ทที่คนเมืองเหนือ รวมถึงนักท่องเที่ยว เล่าลือเป็นเสียงเดียวกันว่า รีสอร์ทแห่งนี้คือป่าขนาดย่อมที่อุดมไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่ และที่มาอันยาวนานของอาคารห้องพักที่ดัดแปลงมาจากโรงบ่มยาสูบเก่า ปกคลุมอย่างเขียวขจีด้วยต้นตีนตุ๊กแกที่เกาะบนผนัง คำเล่าขานของผู้เคยไปเยือนได้เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยพร้อมใจกันเดินทางออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 1 ชม. เพื่อมาเสพบรรยากาศและเรื่องราวความเป็นมาของโครงการเจ้าของรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม สาขาการออกแบบใหม่ในบริบทมรดกทางวัฒนธรรมเดิม จาก UNESCO แห่งนี้

เก๊าไม้ล้านนารีสอร์ท หรือในชื่อโครงการ Kaomai Estate 1955 ในปัจจุบัน จึงได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์และโซนภายในโครงการขึ้นใหม่เพื่อสร้างกิจกรรมที่รองรับความต้องการของนักท่องเที่ยวมากขึ้น ประกอบด้วย โซนอนุรักษ์ พิพิธภัณฑ์ ร้านชา ไปจนถึงลานอเนกประสงค์กลางแจ้งสำหรับจัดกิจกรรม โดยได้สถาปนิกจาก PAVA architects พร้อมกับที่ปรึกษาด้านการอนุรักษ์อาคารและต้นไม้ใหญ่ มาช่วยออกแบบผังแม่บท และออกแบบอนุรักษ์อาคารด้วยการศึกษาโครงสร้างอาคารและต้นไม้เดิม เพื่อสงวนรักษาให้คงไว้ซึ่งต้นฉบับให้มากที่สุด และได้ภูมิสถาปนิกจาก Shma SoEn มาเป็นผู้ออกแบบภูมิทัศน์โครงการ

ด้วยความที่อาคารเกือบทุกหลังภายในโครงการเป็นอาคารที่ถูกดัดแปลงมาจากโรงบ่มยาสูบเก่าอายุเกือบ 70 ปี นอกจากการซ่อมแซมอาคารที่ผุพังไปตามกาลเวลาแล้ว โครงสร้างเดิมที่ถูกออกแบบเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก (ค.ส.ล.) บางๆ เพื่อใช้รองรับเพียงน้ำหนักของราวไม้ไผ่ที่วางพาดจากผนังอีกฝั่งไปยังผนังอีกฝั่ง จึงไม่เพียงพอสำหรับอาคารบางหลังที่จะต้องถูกปรับฟังก์ชันให้เป็นพื้นที่ใช้งานอื่น ซึ่งอาคารที่มีรายละเอียดในการออกแบบและก่อสร้างมากที่สุด เนื่องจากมีความทรุดโทรมมากกว่าอาคารหลังอื่นๆ คือ อาคาร Kaomai Tea Barn หรือในชื่อ Tao Cha โรงบ่มยาสูบเก่าที่ถูกปรับให้เป็นร้านชาในโซน Kaomai Estate 1955 ของโครงการ ที่เพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อไม่นานนี้

PAVA architects ได้เลือกใช้วิธีการก่อสร้างแบบ Reconstruction หรือการรื้อถอนแล้วสร้างขึ้นใหม่ให้กลับมาเป็นเหมือนเดิม ทั้งขนาดและความสูงอาคาร วัสดุของอาคาร ขนาดของช่องแสง ไปจนถึงอิฐทุกก้อนที่เป็นอิฐก้อนเดิมทั้งหมดจากอาคารเก่า ก็ยังถูกนำมาใช้ก่อเรียงในอาคารหลังใหม่เพื่อคงไว้ซึ่งบรรยากาศเดิมและโทนสีของอิฐที่กลมกลืนไปกับอาคารหลังอื่นๆ พชรพรรณ รัตนานคร (Pacharapan Ratananakorn) สถาปนิกจาก PAVA architects เล่าว่าในการออกแบบครั้งนี้ เรื่องของ sense of place และการสะท้อนเอกลักษณ์ของโรงบ่มยาสูบเดิมคือสิ่งที่สำคัญที่สุด อิฐทุกก้อนที่ถูกรื้อถอนออกไปจึงถูกนำกลับมาใช้อย่างมีคุณค่า นอกจากสถาปนิกจะออกแบบให้นำอิฐเดิมมาใช้ก่อสร้างกับอาคารทั้งหลังแล้ว ก็ยังเหลืออิฐจำนวนหนึ่งจากการรื้อถอนผนังส่วนทางเข้าด้านหน้าและหลังอาคารที่ถูกปรับให้เป็นกระจกบานใหญ่ นำมาใช้กับฐานของเคาน์เตอร์ชงชา ซึ่งทำให้ภาพรวมทั้งภายในและภายนอกอาคารมีความกลมกลืนและสื่อสารออกมาเป็นภาษาเดียวกัน

ในแง่ของการ Reconstruction นั้น โจทย์คือไม่ใช่แค่การสร้างอย่างไรให้มีรูปลักษณ์กลับมาเหมือนเดิม แต่ต้องมีคุณสมบัติในการรับน้ำหนักและแทรกฟังก์ชันการใช้งานสำหรับดื่มและชงชาได้ด้วย สถาปนิกได้ออกแบบเสริมโครงสร้างเหล็กเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของอาคารทั้งหลัง และออกแบบพื้นที่ชั้น 1 เป็น Sunken Space ที่มีกำแพงกันดินเป็นที่นั่งในตัว เพื่อให้ผู้ใช้งานได้อยู่ใกล้กับระดับดินมากกว่าปกติ ทำให้รู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้น ส่วนพื้นที่ชั้น 2 สถาปนิกออกแบบโครงสร้างเหล็กเป็นชานยื่นออกไปทั้ง 2 ฝั่งของอาคาร เพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานและทำหน้าที่เป็นหลังคาให้กับ Sunken Space ในเวลาเดียวกัน

สถาปนิกได้นำแรงบันดาลใจจากความประทับใจที่มีต่อแสงสลัวที่เกิดจากช่องเสียบราวไม้ไผ่สำหรับบ่มใบยาสูบ มาใช้ในการออกแบบแสงสว่างภายในอาคารให้มีความสลัวคล้ายกับบรรยากาศภายในโรงบ่ม และหากมองจากภายนอกในเวลาที่แสงอาทิตย์เริ่มรำไร ตัวอาคารจะเรืองแสงขึ้นมา เหมือนภายในอาคารกำลังจุดเตาบ่มยาสูบเหมือนอย่างการใช้งานอาคารในอดีต ซึ่งเป็นการขับเน้น sense of place ของสถานที่แห่งนี้ให้ผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมสัมผัสได้อย่างชัดเจน และอาจถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่อาคารหลังนี้ได้กลับมามีชีวิตของมันแล้วโดยสมบูรณ์

fb.com/PAVAarchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *