NAT OFFICE สตูดิโอออกแบบจากอิตาลี ออกแบบสตูดิโอประติมากรรมของ Michelangelo Galliani ให้มีการกำหนด space หลวมๆ เพื่อตอบโจทย์ฟังก์ชั่นที่หลากหลาย และมอบอิสระในการทำงานประติมากรรม
TEXT: BHUMIBHAT PROMBOOT
PHOTO: FILIPPO POLI
(For English, press here)
สตูดิโองานประติมากรรมของ Michelangelo Galliani ประติมากรและอาจารย์ที่สถาบัน Academy of fine arts in Urbino ชาวอิตาลีแห่งนี้ ได้รับการออกแบบให้ลักษณะพื้นที่เปิดโล่ง รับลมธรรมชาติและแสงแดด สามารถทำงานประติมากรรมได้ทั้งภายในและภายนอกของตัวอาคาร รวมทั้งเป็นพื้นที่ทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่นๆ สตูดิโอแห่งนี้ตั้งอยู่ภายในพื้นที่บ้านพักอาศัยของ Galliani เองที่เมือง Montecchio Emilia ทางตอนเหนือของประเทศอิตาลี ออกแบบโดย NAT OFFICE สำนักงานออกแบบสัญชาติอิตาลี ที่มีสำนักงานออกแบบทั้งในเมือง Milan และเมือง Reggio Emilia ซึ่งเป็นเมืองที่อยู่ในแคว้นเดียวกันกับที่ตั้งของโครงการนี้นั่นเอง
สตูดิโอลักษณะหน้าตาเหมือนอาคารโรงเรือนแห่งนี้ มีแนวคิดการวางผังและรูปแบบอาคารเริ่มต้นจากการที่สถาปนิกต้องการประสานและเชื่อมต่อพื้นที่ชีวิตการทำงานในฐานะประติมากรและชีวิตส่วนตัวของ Galliani เข้าไว้ด้วยกันในหลากหลายบริบท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสัดส่วนและขนาดของบ้านพักอาศัยและตัวสตูดิโอที่อยู่ในสเกลใกล้เคียงกัน พื้นที่ทำงานภายนอกที่เชื่อมต่อไปยังฝั่งบ้านพักอาศัย ไปจนถึงการวางแนวตัวอาคารสตูดิโอที่ขนานไปกับสวนภายในพื้นที่ เพื่อรับลมและแสงธรรมชาติได้อย่างเต็มที่
พื้นที่ของสตูดิโอแห่งนี้ ถูกแบ่งออกเป็นสามส่วนใหญ่ๆ ที่เชื่อมต่อกันผ่านประตูเหล็กบานเลื่อน ส่วนแรกคือ พื้นที่ปิดล้อมภายในที่มีลักษณะเป็นโถงสูง มีทั้งส่วนผนังที่ปิดทึบและผนังกระจกสำหรับรับแสงธรรมชาติ ส่วนถัดมาคือ พื้นที่ทำงานภายนอกที่เปิดโล่งด้านข้าง สำหรับกระบวนการการปั้นและแกะสลักตัวชิ้นงานประติมากรรม และส่วนสุดท้ายคือ พื้นที่เปิดโล่งที่ถูกกำหนดด้วยมีเฟรมหลวมๆ ที่อยู่บริเวณด้านหน้าติดทางเข้า สำหรับเป็นจุดรับหรือส่งตัวชิ้นงานไปจัดแสดงยังที่ต่างๆ หรือไว้เป็นจุดสำหรับรับส่งสิ่งของหรือวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานประติมากรรม
พื้นที่ส่วนทำงานภายในมีลักษณะเป็นเป็นทางเดินยาวตรงกลาง มีลักษณะสเปซเป็นโถงสูงที่ถูกประกบด้วยผนังทึบในท่อนล่าง เป็นพื้นที่สำหรับเก็บวัสดุอุปกรณ์และเป็นพื้นที่ทำงานหลักของศิลปิน และมีผนังกระจกท่อนบนที่เปิดรับแสงธรรมชาติเข้ามาภายใน อาคารทั้งหมดใช้โครงสร้างไม้ที่มีหน้าตัดเป้นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสซึ่งถูกจัดวางอย่างต่อเนื่องในระยะห่างที่เท่าๆกัน ทั้งส่วนเสาซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นรูปด้านของอาคารสตูดิโอ และส่วนจันทันที่รับตัวโครงสร้างหลังคา สร้างความต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขององค์อาคารทั้งหมด ในเชิงจังหวะ ระยะ ขนาดและวัสดุ รวมทั้งมีโครงสร้างค้ำยันแนวเฉียงทั้งบนระนาบผนังและระนาบฝ้าเพดาน ซึ่งนอกจากโครงสร้างค้ำยันนี้จะช่วยเสริมความแข็งแรงเพื่อรับแรงลมให้กับโครงสร้างอาคารแล้ว โครงสร้างค้ำยันหลังคายังทำหน้าที่เป็นเฟรมรับกระจกที่รับแสงในมุมสูงอีกด้วย
อาคารสตูดิโอหลังนี้เปรียบเสมือนการประสานรอยต่อของชีวิตของการทำงานและชีวิตส่วนตัวของศิลปินเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการออกแบบอาคารที่ต่อเนื่องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งเรื่องของ ขนาด รูปทรง วัสดุและพื้นที่ใช้สอย ที่ก็ยังสามารถจัดแบ่งและจัดวางกระบวนการการทำงานทางประติมากรรมที่มีความหลากหลายไปได้ด้วยในเวลาเดียวกัน