HEAR & FOUND

art4d พูดคุยกับศิรษา บุญมา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง creative agency ชื่อ Hear & Found ที่อยากพาทุกคนไปเข้าใจตัวตน ‘คนเสียงเบา’ ให้มากขึ้นผ่านเสียงดนตรี

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO COURTESY OF HEAR & FOUND

(For English, press here

แม้โลกปัจจุบันจะเปิดโอกาสให้ผู้คนเปล่งเสียงออกได้อย่างอิสระ แต่ก็มีเสียงของบางคนที่ดัง และมีเสียงของบางคนที่แผ่วเบา ถึงจะส่งเสียงขนาดไหน ก็ยากที่ใครจะได้ยิน อย่างเช่นเสียงของชาวเขา ชาวเผ่า หรือที่เรียกอีกอย่างว่ากลุ่มคนชาติพันธุ์ ที่ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนเข้าใจตัวตนของพวกเขา หลังจากถูกสังคมเหมารวมและตีตราว่าเป็นกลุ่มคนเผาป่าบ้าง หรือเป็นกลุ่มคนค้ายาบ้าง ทั้งที่จริงๆ แล้วมันอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป

เม-ศิรษา บุญมา และรักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ คือสองผู้ก่อตั้ง creative agency ชื่อ Hear & Found ที่อยากพาทุกคนไปเข้าใจตัวตน ‘คนเสียงเบา’ ให้มากขึ้น ผ่านวิธีที่พวกเธอถนัด นั่นคือเสียงดนตรี พวกเธอผ่านการจัดโปรเจ็คต์ที่ช่วยเปิดหูคนทั่วไป ให้เปิดใจรับเสียงที่ไม่ค่อยถูกรับฟังมาแล้วหลายหลาก อย่างเช่น คอนเสิร์ต World Music Series การแสดงดนตรีและการบอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มคนชาติพันธุ์ผ่านเสียงดนตรี หรือนิทรรศการ Sound of the Soul ที่ BACC ในปีที่ผ่านมา ที่พาผู้คนไปเงี่ยหูฟังเสียงจากคนชาติพันธุ์ในไทย 

อะไรคือสิ่งที่บันดาลใจให้พวกเธอลงมือเป็นเครื่องขยายเสียงของคนชายขอบ? และสิ่งที่พวกเธอทำ มันจะสร้างแรงกระเพื่อมได้จริงหรือ​? ลองเปิดหู เปิดใจ แล้วมาทำความรู้จักกับตัวตนของ Hear & Found ในบทสัมภาษณ์ระหว่าง art4d และ ศิรษา บุญมา หนึ่งในผู้ก่อตั้ง

เม-ศิรษา บุญมา (ซ้าย) และรักษ์-ปานสิตา ศศิรวุฒิ (ขวา)

art4d: อธิบายให้ฟังคร่าวๆ หน่อยว่า Hear & Found คือใคร ทำอะไร

Sirasar Boonma: เรานิยามตัวเองว่าเป็น creative cultural agency คือเราใช้ความถนัดของเราด้านดนตรี และการจัดการอีเวนท์ มาทำโปรเจ็คต์ที่ให้คนที่เราทำงานด้วยได้ประโยชน์ เช่น คนกลุ่มชาติพันธุ์ หรือคนในชุมชนต่างๆ เปิดพื้นที่ให้เกิดการได้สื่อสารปัญหา เรื่องราว และวัฒนธรรมที่เขามีให้คนภายนอกรับรู้ งานที่ผ่านมาก็เช่น คอนเสิร์ต World Music Series ที่เราชวนกลุ่มชาติพันธุ์ของไทยมาเล่นดนตรีและสื่อสารวิถีชีวิต เพื่อทำให้คนได้รับรู้ตัวตนของเขาจริงๆ ไม่ใช่จากการเหมารวม หรือใน Bangkok Design Week ปี 2022 ชุมชนตลาดน้อยเจอปัญหาขายของได้น้อยลงเพราะโควิด เราเลยเก็บเสียง ASMR จากร้านต่างๆ และทำเพลงมาจัดแสดงเพื่อช่วยโปรโมทร้าน

World Music Series โดย Hear & Found

art4d: แล้ว Hear & Found เริ่มต้นมาได้ยังไง

SB: Hear & Found เริ่มทำกันสองคนคือเรา กับ รักษ์–ปานสิตา ศศิรวุฒิ เราเจอกันที่บริษัทที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวในชุมชน มันคือการไปพัฒนาให้ชุมชนเขาได้รับผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างยุติธรรม และเขาสามารถจัดการตัวเองได้ อยู่อย่างแข็งแรงได้

ตอนทำที่นั่น เราเคยไปหมู่บ้านนึงที่เด่นเรื่องการทำผ้าทอ ผ้าย้อมสี เราก็ถามว่าเด็กรุ่นใหม่เขายังทำกันผ้าทอกันอยู่ไหม เขาบอกว่าเด็กรุ่นใหม่สนใจมาทำแค่ 2 คนจากรุ่นแม่ที่ทำเป็น 20 คน เพราะส่วนมากคนรุ่นใหม่จะเปิดร้านซ่อมมอเตอร์ไซค์บ้าง หรือทำอาชีพอย่างอื่นบ้าง จากตรงนี้ ทำให้เราเห็นว่าอาชีพนักทอผ้าอาจมีโอกาสที่จะสูญหายไป มันเลยเป็นจุดที่ทำให้เราตั้งคำถามต่อถึงโอกาสที่ภูมิปัญญาต่างๆ ในบ้านเราจะสูญหายไป

เราก็เลยคิดต่อว่า จะมีโอกาสหรือวิธีการไหน ที่จะทำให้วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาของบ้านเรายังอยู่ต่อไปกับคนรุ่นเราหรือรุ่นต่อๆ ไป รวมถึงมันจะเป็นไปได้บ้างไหม ที่เราจะสามารถเลี้ยงดูตัวเองไปด้วยจากการทำงานด้านนี้ จากตรงนั้น ก็เลยลองเข้าร่วมโครงการบ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคมกับ School of Changemaker ซึ่งเขาก็ชวนคิดต่อว่า การสูญหายทางวัฒนธรรมมันไปเป็นปัญหาสังคมอย่างไรบ้าง

นิทรรศการใน World Music Series โดย Hear & Found

จากนั้นเรากับรักษ์ก็เสาะหากันว่าการสูญหายทางวัฒนธรรมเกิดขึ้นจากปัจจัยอะไรบ้าง มีผลกระทบอย่างไร กับคนกลุ่มไหนบ้าง เมื่อลองค้นไปเรื่อยๆ ก็ได้เจอเรื่องราวเกี่ยวกับปัญหาหนึ่งที่คนกลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง กำลังเผชิญอยู่ เราเจอว่า คนกลุ่มนี้เขาโดนเข้าใจผิดในหลายเรื่อง อย่างเช่นคนปกาเกอะญอ ที่โดนมองว่าเป็นคนทำให้เกิดเขาหัวโล้นจากการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งเมื่อมีหลายๆสื่อ พูดออกไปแบบนั้น ก็ทำให้คนที่บริโภคสื่อคิดไปแบบนั้นเช่นกัน การเหมารวมหรือการมีอคติทางความคิดนี้ ทำให้เจ้าของวัฒนธรรมเองเจอปัญหาต่างๆ ตามมา เช่น เด็กบางคนถูก bully ในโรงเรียนเพียงเพราะใส่เสื้อผ้าของกลุ่มตนเอง หรือการถูกล้อเลียนสำเนียงการพูด จนทำให้หลายๆ คน รู้สึกไม่ภูมิใจในวัฒนธรรมของตนเองไปในที่สุด ซึ่งอันนี้ก็เป็นที่มาที่ไปของโอกาสในการสูญหายทางวัฒนธรรมรูปแบบหนึ่งที่บ้านเรากำลังเผชิญอยู่ และนอกจากเป็นเรื่องของความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องแล้ว คนกลุ่มนี้ยังพบปัญหาทางสังคมอีกหลายๆ ด้าน เช่น การไม่ได้รับสัญชาติหรือสิทธิขั้นพื้นฐานต่างๆ อย่างการเข้าถึงสถานพยาบาล การศึกษา สิทธิในที่ดินทำกิน 

แต่จากประสบการณ์การทำงานของเรา ที่เคยทำงานกับชุมชนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำให้เราเรียนรู้ในหลายๆ มุม ที่เราก็ไม่เคยได้รับรู้มาก่อน เช่น วิถีชีวิตการอยู่กับธรรมชาติ วัฒนธรรมการย้อมผ้าจากสีธรรมชาติ หรือแม้แต่ดนตรีเอง เราเลยคิดว่า เราก็น่าจะใช้ความสามารถและความถนัดมาสร้างเป็นพื้นที่ให้คนอื่นๆ เข้าเรื่องนี้ด้วยมุมมองที่แตกต่างจากเดิม

ตอนนั้น เราก็คิดกับรักษ์ว่าเราทำอะไรได้บ้าง เราเก่งอะไร ก็เลยคุยกันว่าหรือเราใช้ดนตรีเป็นตัวกลางในการสื่อสาร เพราะเมเรียนจบดนตรีมา เคยทำงานด้านออแกไนซ์ ทำอีเวนท์ ส่วนรักษ์ก็ถนัดด้านงานประชาสัมพันธ์ พอเริ่มต้นแบบนี้ได้แล้ว ทาง School of Changemaker ก็ให้ทุนเราทดลองทำโปรเจ็คต์เริ่มต้น เราเลยลองจัดอีเว้นท์ดนตรีขึ้นมา โดยเชิญพี่นักดนตรี ชื่อ ดิปุ๊นุ ซึ่งเป็นคนปกาเกอะญอ ชวนเขามาเล่นดนตรี มาเล่าเรื่องราวให้ฟังกัน อย่างมีเพลงหนึ่ง ชื่อเพลงว่า ‘เลเลเตหน่ากู’ เลเล เหมือนคำว่า ลาลาที่เราร้องประกอบจังหวะ ส่วน เตหน่ากู คือชื่อเครื่องดนตรีเตหน่ากู ของคนปกาเกอะญอ เพลงมีเนื้อหาเพลงที่สนใจมาก เพลงเล่าถึงแนวคิดการรักษาสิ่งแวดล้อม มีเนื้อร้องว่า “เราอยู่กับป่าเรารักษาป่า เราดื่มน้ำ เรารักษาน้ำ เรากินเขียดเราดูแลผา เรากินปลารักษาลำห้วย” เพลงนี้ก็มีทั้งภาษาไทย และภาษาปกาเกอะญอ กิจกรรมครั้งนั้นก็เป็นโอกาสที่เจ้าของเรื่องราวและวัฒนธรรมได้มาเล่าเรื่องของตัวเอง ได้เกิดการแลกเปลี่ยนในพื้นที่ใหม่ๆ ผ่านงานกิจกรรมดนตรี

ดิปุ๊นุ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอ

art4d: อีเวนท์ครั้งแรกผลตอบรับเป็นยังไงบ้าง 

SB: เราขายบัตรได้หมดเลย คนไปดู 30 กว่าคน แล้วเราก็ไปถามคนกับคนแต่ละคนด้วยว่าเขารับรู้เรื่องราวไหม ก่อนมากับหลังมาความรู้สึกต่างกันหรือเปล่า ซึ่งคนประมาณ 80% ที่มาดูเขาก็รู้สึกเข้าใจ และเห็นปัญหา มันก็เป็นการพิสูจน์ว่าดนตรีสามารถทำให้คนเข้าใจวิถีชีวิตของกลุ่มปกาเกอะญอขึ้นได้ 

หลังจากโปรเจ็คต์เริ่มต้นอันนี้ เราก็ชวนกลุ่มพี่ปกาเกอะญอทำกิจกรรมอื่นต่อ แล้วปรากฎว่า United Nations Development Programme เขาติดต่อให้เราไปพูดที่งาน แล้วชวนพี่ปกาเกอะญอไปเล่นดนตรีด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นต่อมาคือ ทางทีมทำงานของ UNDP ได้รู้จักหมู่บ้านของพี่คนนี้ และไปเยี่ยมหมู่บ้านพี่เขาด้วย ทำให้บ้านพี่เขาได้มีโอกาสในพูดถึงถึงวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และโอกาสในการแก้ปัญหาของเขาได้ต่อ จากตรงนี้ทำให้เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมันส่งเสียงออกไปได้มากขึ้นเหมือนกัน

ดิปุ๊นุ นักดนตรีชาวปกาเกอะญอ

art4d: เวลาเริ่มต้นโปรเจ็คต์ต่างๆ สเต็ปแรกที่คุณทำคืออะไร

SB: เราจะเริ่มต้นประเด็นในเชิงการรับรู้ที่เราสนใจ หรือจากวัฒนธรรมท้องถิ่นที่เราอยากเรียนรู้ จากตรงนี้ เราก็เดินทางไปเรียนรู้ ไปอยู่บ้านเขา เรียนรู้การใช้ชีวิต หรือทำความเข้าใจชุมชนก่อน อย่างงานแรกที่เราทำกับชาวปกาเกอะญอ เราก็ขอไปใช้ชีวิตกับเขา เพื่อทำความเข้าใจถึงวิถี และประเด็นเรื่องไร่หมุนเวียน คนจะคิดว่ามันคือการบุกรุกป่า พอเข้าไปในพื้นที่จริงๆ เราก็ไปเห็นว่าไร่หมุนเวียนของจริงเป็นอย่างไร จากตอนแรกเราที่คิดว่ามันคือการทำไร่พื้นที่เยอะๆ แต่พอไปดูจริงๆ เขาก็ทำแคในลานย่อมๆ ของตัวเอง แล้วเมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว ก็ปล่อยพื้นที่ส่วนนั้นให้กลายเป็นป่าอีกครั้ง โดยการปล่อยให้ระบบนิเวศน์มันฟื้นตัวเองอย่างน้อย 5 – 7 ปีเลย พอไปเห็นด้วยตาจริงๆ ก็ทำให้เข้าใจเลยว่ามันมีปัญหาเรื่องความเข้าใจผิดจริงๆ

จากนั้นเราก็คิดว่าเราจะสื่อสารเรื่องราวนี้ให้คนทั่วไปเข้าถึงได้อย่างไร โดยอยากให้ตอบโจทย์สามแกน อันแรกคือ ทางชุมชนได้อะไร ตอบกับวัตถุประสงค์ของทางชุมชนไหม สองคือ ตรงกับโจทย์ที่เราอยากแก้ปัญหาไหม และสามคือคนที่มาร่วมกับเรา เช่น คนดู เขาจะได้อะไรกลับไป อย่างตอนเราทำโปรเจ็คต์ ส่วนมากแล้ว งานของเราจะไม่ได้มีแค่เสียงดนตรี แต่มักจะพ่วงสตอรี่ของคนหรือพื้นที่นั้นๆ ไปด้วย อย่างในงาน World Music Series เราก็จัดนิทรรศการภาพถ่าย ให้คนที่มางานได้เห็นภาพไร่หมุนเวียนของจริงไปด้วย

World Music Series โดย Hear & Found

art4d: แล้วช่วงโควิดที่ผ่านมา ที่ไม่สามารถจัดอีเว้นท์ได้ คุณปรับตัวยังไงบ้าง

SB: ตอนช่วงโควิดเราก็คิดว่า เราจะสื่อสารเรื่องราวของกลุ่มชาติพันธุ์ต่อยังไงดี ในแบบที่เราเองก็สามารถอยู่ต่อไปได้ด้วย ก็เลยทดลองการขาย music and sound license หรือสิทธิการใช้งานเสียงและดนตรีท้องถิ่น เพื่อเป็นช่องทางในการโปรโมตเพลงท้องถิ่น แล้วยังทำให้ศิลปินมีรายได้ใหม่ๆ เมื่อทดลองได้สักพักก็เลยพัฒนา platform ที่เรียกว่า Stock Music and Sound Platform ที่เราเริ่มมาด้านนี้มากขึ้น เพราะส่วนตัวเราเองเคยทำบริษัท post production ด้านเสียง แล้วเสียงในสื่อต่างๆ ก็มักจะต้องมีการซื้อเสียงหรือเพลงจาก library กันอยู่แล้ว โปรเจ็คต์นี้มันเลยเป็นทั้งช่องทางสื่อสารเรื่องราว และช่องทางสร้างรายได้เสริมให้พี่ๆ ศิลปินพื้นถิ่นรวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ด้วย 

เว็บไซต์ของ Hear & Found – www.hearandfound.com

art4d: เห็นว่าคุณเคยได้ไปร่วมจัดนิทรรศการ Sound of the Soul กับ BACC ด้วย เล่าให้ฟังหน่อยว่านิทรรศการเป็นอย่างไรบ้าง

SB: โปรเจ็คต์นี้เป็นครั้งแรกที่ได้ทำ BACC และศิลปินรุ่นพี่ ไม่ว่าจะเป็น ทีม Duckunit ผู้ออกแบบสเปซ และพี่นิว-ศุภชัย เกศการุณกุล เป็นช่างภาพ ซึ่งทาง BACC ได้ชวนมาสร้างพื้นที่ในการสื่อสารศิลปะและวัฒนธรรมที่หลากหลายในบ้านเรา รวมถึงชวนให้คนที่มางานได้มองเห็นคุณค่าของคนที่หลากหลายด้วยกัน

นิทรรศการ Sound of the Soul ที่ BACC

คีย์หลักของนิทรรศการคือเราอยากให้คนค่อยๆ เข้าไปค้นพบและฟังเสียง ทำความรู้จักกลุ่มคนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อยู่ในไทย นิทรรศการแบ่งเป็นสามโซน โซนแรกคือโซนปอกเปลือก แสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยยังมีคนชาติพันธุ์หลายๆกลุ่มอยู่ในประเทศเรา ต่อมาเป็นโซนที่แสดงว่าคนชาติพันธุ์ต่างๆ ใช้ชีวิตกันอย่างไร ตอนจบสุดท้ายเราต้องการบอกว่า สุดท้ายแล้วกำแพงที่แบ่งระหว่างคนกับคนมันไม่ได้มีตั้งแต่แรก กำแพงนี้อาจจะถูกสร้างขึ้นมาลอยๆ แต่เมื่อไหร่ที่เกิดการทำลายกำแพงนี้ไป เราก็จะเข้าใจกันได้มากขึ้น ซึ่งจุดจบของนิทรรศการก็มาจบที่จุดเริ่มต้น เป็นการเดินวนหมุนเป็นลูป

นิทรรศการ Sound of the Soul ที่ BACC

ในนิทรรศการนี้จะมีลำโพงยิบย่อยอยู่ตามที่ต่างๆ เป็นเสียงที่มาจากพื้นที่จริงๆ เช่น เสียงแมลงบิน เสียงหมูร้องอู๊ดๆ หรือเสียงบทสัมภาษณ์ของคนกลุ่มต่างๆ มันเป็นพื้นที่ที่ชวนให้ทุกคนค่อยๆ มาเงี่ยหูฟัง มาทำความรู้จักความเป็นอยู่ของคนหลากหลายกลุ่ม พื้นที่ในห้องนี้ชวนให้คนที่มาดูงานได้รู้สึกร่วมไปกับการเดินทางค้นหาเสียงต่างๆ เราว่าการได้มีโอกาสทำนิทรรศการนี้กับหน่วยงานภาครัฐ เป็นอีกช่องทางการสื่อสารที่ดีเหมือนกัน เพราะเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กลุ่มคนหลายๆ กลุ่ม ที่อาจจะมีเสียงที่เบาอยู่ได้สื่อสารเรื่องราวของตัวเองออกไปในพื้นที่สาธารณะ 

นิทรรศการ Sound of the Soul ที่ BACC

art4d: เวลามีคนทำงานกับคนกลุ่มชาติพันธุ์หรือคนเปราะบางต่างๆ คนมักตั้งคำถามว่าเป็นการหากินกับคนเหล่านั้น Hear & Found ทำงานอย่างไรเพื่อให้สิ่งที่ทำไม่ใช่การหากินบนคนกลุ่มนี้

SB: เราวางวิธีการทำงานของเรากับคนชาติพันธุ์ว่าเป็นการทำงานร่วมกัน เราไม่ได้มองว่าเราไปช่วยเค้า หรือใครต้องอยู่สูงกว่า แต่มองว่าเรามาร่วมกันแก้ปัญหา เรามีสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างถนัดแล้วมาทำงานร่วมกัน เพื่อทำให้บางสิ่งบางอย่างดีขึ้น อย่างที่เล่าไปก่อนหน้านี้ เรามักจะเราเข้าไปทำความเข้าใจปัญหาก่อน แล้วถามเขาว่าอยากสื่อสารหรืออยากแก้ปัญหาอะไรหรือเปล่า ถ้าเราเล่าความถนัดของเราให้เขาฟังแล้วเขาบอกไม่สนใจ เราก็เลือกที่จะไม่ทำ หรือไม่มีการบังคับเขาหรือทำให้เขาเชื่อว่ามันแก้ปัญหาเขาได้ เพราะท้ายที่สุดเขาคือผู้ที่อยู่ในปัญหา เขาเจอปัญหา มันเลยต้องขึ้นอยู่กับเขาว่าเขาต้องการอะไรเพื่อให้ปัญหามันถูกแก้ออกไปได้ 

art4d: มองว่าอะไรคือเสน่ห์ของดนตรีจากกลุ่มคนชาติพันธุ์

SB: เพลงของเขามันเหมือนกับคำสอน เป็นนิทานที่มีทำนอง ซึ่งมันมาจากการที่เขาซึมซับและใช้วิถีชีวิตอยู่อย่างนั้นจริงๆ และเครื่องดนตรีของเขาหน้าตาแปลกใหม่มาก มันเหมือนกีตาร์ กลอง หรืออะไรที่เราคุ้นเคย แต่บางทีก็เป็นไม้ไผ่ เสียงที่ออกมาก็เป็นเสียงแบบใหม่

art4d: เราเห็นเรื่องตัวตนของคนชาติพันธุ์จะสูญหาย แล้วดนตรีเหล่านี้เจอปัญหาว่ามันจะสูญหายไปด้วยไหม

SB: ตัววัฒนธรรมไม่ใช่แค่ดนตรี มันมีโอกาสจะสูญหายอยู่ทุกวันอยู่แล้ว เราเลยคิดว่ามีโอกาสที่ดนตรีเหล่านี้จะสูญหายไปก็มีเหมือนกัน ผลกระทบของการสูญหายนี้หมายความว่า คนบ้านเราเองอาจจะไม่ได้มีโอกาสได้รู้จักความหลากหลายของชนิดของดนตรีพื้นถิ่น เสียงที่แปลกใหม่ รวมไปถึงพื้นที่ของคนที่อยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ทั้งนักดนตรี คนทำเครื่องดนตรี รวมถึงคนที่ใช้วัฒนธรรม หรือคนที่ดูแลวัฒนธรรมนี้ด้วย ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่อยู่แล้ว วัฒนธรรมบางส่วนก็จะสูญหายไป แต่ถ้าในวันนี้ เราสามารถสร้างการเข้าถึงสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม เสียง หรือดนตรีพื้นถิ่นเหล่านี้ได้มากขึ้น โอกาสที่ดนตรีหรือเรื่องราวทางวัฒนธรรมจะถูกพูดถึง ถูกฟัง ถูกต่อยอด หรือถูกรื้อฟื้นก็จะมีโอกาสเยอะขึ้นด้วย ผลกระทบต่อมาคือคนที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรม คนในสายงานนี้หรืออื่นๆ ก็จะมีโอกาส มีพื้นที่ในการสื่อสาร หรือพื้นที่ในการสร้างสรรค์ของตัวเองมากขึ้นด้วย

แต่ในต่างประเทศที่เขามีการสนับสนุนด้านวัฒนธรรมอย่างแคนาดาเขามีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับนักดนตรีชาติพันธุ์โดยเฉพาะ จนเกิดเป็นอุตสาหกรรม indigenous music industry ทำ music festival ส่งออก แล้วเฟื่องฟูจนนับเป็น GDP ประเทศเลย หรือมาเลเซียที่มีการจัด Rainforest World Music Festival ทุกปี มีคนไป 2-3 หมื่นคน รายได้เป็นสิบล้าน คือมันเฟื่องฟูได้ แต่ประเทศไทยมีพื้นที่ให้วงการนี้น้อยมาก ไม่ได้หมายความว่าไม่มีนักดนตรีนะ เพราะคนชาติพันธุ์อย่างปกาเกอะญอรุ่นใหม่ที่เป็นนักดนตรีก็มีเยอะ แต่เรามองเห็นว่า ส่วนนี้ยังมีช่องว่างอยู่มาก เช่น ช่องว่างทางโอกาสในการทำให้เกิดการเข้าถึงของคนทั่วไป หรือการเปิดรับความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ของศิลปินกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ใช่กระแสหลักในประเทศไทย รวมถึงช่องว่างด้านการสนับสนุนและการลงทุนในการพัฒนาความสามารถ งานโปรดักชัน การตลาดและการสื่อสารในแบบที่เข้าใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่นจริงๆ

art4d: มองภาพของ Hear & Found ในอนาคตเป็นอย่างไรบ้าง

SB: เราอยากให้ตัวเองเป็นองค์กรที่คนจะนึกถึงเวลาพูดเรื่องราวของความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะการสนับสนุนกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าพื้นเมือง แล้วเราก็ไม่ได้จำกัดว่าตัวเองต้องใช้ดนตรี วันต่อไปมันอาจเป็นเรื่องอื่นๆ ก็ได้ แต่เราอยากให้คนมาร่วมมือกับเราแล้วเดินไปด้วยกัน เพื่อทำให้วัฒนธรรมที่หลากหลายที่บ้านเรามีมันถูกพูดถึงมากขึ้น และมีรากฐานที่เริ่มต้นจากการยอมรับในความหลากหลาย 

art4d: แล้วภาพของสังคมในอนาคตที่ Hear & Found อยากเห็นล่ะเป็นอย่างไร

SB: เรากับรักษ์มีภาพตรงกันคืออยากเห็นสังคมที่ยอมรับในความหลากหลาย บางทีเราจะเจอการเหมารวม ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเชื้อชาติ สีผิว รูปร่าง หรือแม้แต่เพศ จนบางครั้งเราอาจได้ยินการดูถูกหรือพูดให้เป็นเรื่องตลก แต่จริงๆ มันสามารถเป็นคำพูดที่ทำร้ายจิตใจคนเหล่านั้นได้เลย คำถามคือ เราฟังเขาก่อนจะดีมั้ย ว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้ เราควรเคารพในสิ่งที่เค้าเป็นหรือเปล่า เมื่อเห็นแล้วจำเป็นต้องตัดสินทันทีเลยหรือเปล่า เราอยากเห็นสังคมที่ต่างคนมานั่งคุยกันแล้วบอกว่า เธอแตกต่างจากฉัน แต่ฉันโอเค ฉันอยากจะฟังเธอ และแต่ละคนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองเป็น

hearandfound.com
facebook.com/hearandfound

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *