CONNECTING STATION

สุพิชชา โตวิวิชญ์ พาไปสำรวจงานออกแบบทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟทุ่งสงไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่เปลี่ยนภาพจำของสถานีรถไฟที่ไม่ดึงดูดตา ให้กลายเป็นศาลาและทางเดินที่เชื้อเชิญให้ผู้คนออกมามีปฏิสัมพันธ์กัน

TEXT: SUPITCHA TOVIVICH
PHOTO: SATIAN BORIKANJAN

(For English, press here)

ภาพจำแรกของบรรยากาศรอบสถานีรถไฟในต่างจังหวัดที่ผู้คนนึกถึง มักเป็นภาพของความซ้ำซากจำเจของอาคารมาตรฐาน ความวุ่นวายชั่วคราวเมื่อรถไฟมา และความเงียบงันอันยาวนานเมื่อรถไฟยังมาไม่ถึงโครงการทางเดินเชื่อมต่ออาคารสถานีรถไฟทุ่งสงอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองทุ่งสง (ทางเดินทศพิธราชธรรม)” ของเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ซึ่งออกแบบโดยสองบริษัทสถาปนิก ได้แก่ SMOOL และ sea.monkey.coconut ได้ทะลายภาพจำที่คุ้นเคยเหล่านั้นไปเสียสิ้น จากทางเดินเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟทุ่งสง ไปยังอาคารพิพิธภัณฑ์เมืองทุ่งสง (ซึ่งเป็นการรีโนเวทตึกเก่าที่อดีตเคยเป็นธนาคารสาขาส่วนภูมิภาคแห่งแรกของ บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด มาเป็นพื้นที่เรียนรู้) โดยแต่เดิมทางเดินนี้เป็นทางเดินแดดร้อนๆ ที่ไม่มีสิ่งใดดึงดูดใจ ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งจากการทำงานร่วมกันของสถาปนิกและทีมจากเทศบาลเมืองทุ่งสง ภายใต้งบประมาณที่จำกัดและแนวคิดที่ว่าอยากออกแบบพัฒนาเมืองโดยใช้ผังทุนทางวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ฟื้นฟู อนุรักษ์ และพัฒนาอย่างยั่งยืน จะได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นศาลาและทางเดินที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ความสดใหม่ และความน่าเชื้อเชิญให้ผู้คนออกมาเดินเล่น พบปะ และปฏิสัมพันธ์กันเป็นอย่างยิ่งขนาดนี้ 

สถาปนิกผู้ออกแบบมองว่า ทุ่งสงเป็นเมืองศูนย์กลางของการคมนาคมและการขนส่งทางรถไฟมาตั้งแต่ในอดีต แม้ว่าปัจจุบันการขนส่งทางรถไฟจะไม่เฟื่องฟูเท่าไรนัก แต่ด้วยแผนการพัฒนาการคมนาคมทางรางในอนาคตของเมือง ทุ่งสงน่าจะกลับมามีความสำคัญในระบบขนส่งสินค้าและคมนาคมได้อีกครั้งหนึ่ง ในการออกแบบศาลานัดพบและทางเดินเชื่อมนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้พื้นที่ให้เป็นประโยชน์แก่ชุมชน เพื่อเพิ่มกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม พื้นที่ใช้สอยหลัก ประกอบด้วยส่วน 1) ศาลาจุดนัดพบ และ 2) ทางเดินเชื่อมที่มีความยาวรวมกว่า 200 เมตร ที่ถูกใช้เป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ พื้นที่จัดงานตามเทศกาล และพื้นที่อเนกประสงค์ของชุมชน

สถาปนิกเล่าว่า รูปทรงของหลังคาของศาลาจุดนัดพบนี้ ได้แรงบันดาลใจจากศาลาโครงสร้างไม้ที่ตั้งอยู่ในสถานีรถไฟทุ่งสงนี้เอง แต่นำมาดัดแปลงให้ร่วมสมัย และเลือกใช้โครงสร้างเหล็กแทนไม้ สถาปนิกต้องการให้รูปทรงของหลังคาแสดงออกถึงความรวดเร็วและความเคลื่อนไหวของรถไฟ วัสดุมุงหลังคาใช้กระเบื้องลอนแบบที่พบเห็นได้ตามสถานีรถไฟทั่วไป แต่มีการเพิ่มเติมวัสดุมุงหลังคาใสที่มีสีสดต่างๆ  เพื่อเน้นถึงความมีสีสันและความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ เพื่อกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมอื่นๆ ตามมา สถาปนิกได้กำหนดระยะห่างของเสาอยู่ที่ 6 เมตรเพื่อรับกับมาตรฐานความยาวของเหล็กในระบบอุตสาหกรรมปัจจุบัน เพื่อให้สามารถติดตั้งคานเหล็กได้โดยไม่ต้องมีการตัดต่อระหว่างช่วงเสา

ในส่วนของพื้นผิว วัสดุท้องถิ่น 2 ชนิดหลักที่เลือกใช้ คือไม้หมอนรถไฟและหินที่ปกติใช้โรยบนทางรถไฟ โดยไม้หมอนเป็นวัสดุที่นำมาดัดแปลงเป็นที่นั่ง และเป็นวัสดุตกแต่งในพื้นที่ทางเชื่อมต่อเนื่องจากอาคารศาลา อีกวัสดุหนึ่งคือหินโรยทางรถไฟ ถูกนำมาใช้โรยปิดตะแกรงระบายน้ำ เพื่อเป็นการแสดงให้ผู้มาเยือนได้เห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่แล้วภายในเมืองทุ่งสงนี้เอง นอกจากนี้ในส่วนของทางเดินเชื่อม สถาปนิกเลือกใช้รางรถไฟมาออกแบบเป็นเส้นนำสายตาและเป็นขอบเขตของการแบ่งพื้นผิววัสดุ รวมถึงใช้เป็นรางสำหรับเคลื่อนโครงสำหรับติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ของนิทรรศการต่างๆ เพื่อทำให้เกิดความยืดหยุ่นในการจัดแสดงและการใช้พื้นที่ที่จะเกิดขึ้นภายในศาลานี้ เส้นสายของรางรถไฟนี้เองที่ช่วยให้การปรับเปลี่ยนหรือแบ่งพื้นที่กิจกรรมต่างๆ เป็นไปได้อย่างสะดวก และไม่จำเป็นต้องมีรูปแบบตายตัว ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น สุดท้ายนี้ ได้มีการนำธรรมชาติเข้ามาออกแบบเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ ได้แก่ การปลูกต้นแซะ ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำจังหวัด ที่มีความคงทน มีใบ และดอกสวยงาม รวมถึงการติดตั้งอุปกรณ์โซ่ลำเลียงน้ำฝน ทำให้เสียงของน้ำที่ไหลผ่านโซ่ช่วยสร้างบรรยากาศ ที่ผ่อนคลายจากความเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมลงไปได้อีกด้วย

facebook.com/sea.monkey.coconut
facebook.com/smalliscoolstudio

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *