LONG GOY

Sher Maker ออกแบบโรงตัดเย็บใหม่ของ LONG GOY แบรนด์เสื้อผ้าจากเชียงใหม่ที่ถ่ายทอด ‘ความเป็นท้องถิ่น’ อันเป็นจุดร่วมสำคัญของทั้งตัวแบรนด์และสถาปนิก

TEXT: MONTHON PAOAROON
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT EXCEPT AS NOTED

(For English, press here)

ในช่วงบ่ายวันหนึ่งเราได้เดินทางมาที่อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่เพื่อพบกับ ศุภกร สันคนาภรณ์ เจ้าของแบรนด์ LONG GOY ซึ่งเป็น local brand เสื้อผ้า ตั้งใจมาเยี่ยมชมอาคารหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่นาน อาคารผนังสีน้ำเงินโดดเด่นที่เห็นได้ตั้งแต่ทางเข้าหลังนี้ออกแบบโดย Sher Maker ทีมสถาปนิก local เช่นกัน 

ศุภกรเริ่มเล่าข้อมูลเกี่ยวกับ LONG GOY ให้เราฟังว่ามีที่มาจากทีสิสสมัยปริญญาตรี  ที่เห็นว่าตัวเองเป็นคนเชียงใหม่แล้วอยากจะเอาวัฒนธรรมที่มีอยู่มาทำให้ดูใหม่ขึ้น ประกอบกับมีความผูกพันกับงานผ้าเนื่องจากทางบ้านเป็นโรงงานเย็บผ้าพื้นเมืองที่ทำงานกันอยู่ใต้ถุนบ้านไม้เดิมของคุณแม่อยู่แล้ว ซึ่งในงานชิ้นนั้นได้ปรับเทคนิคแฟชั่นแบบ street อย่างการกัดสียีนส์มาใช้กับผ้าพื้นเมืองอย่างผ้าหม้อห้อม แต่คิดวิธีทำลวดลายใหม่โดยใช้ stencil ที่ตัดจาก laser cut เพื่อให้การกัดสีเกิดลวดลายคมชัด ซึ่งศุภกรเล่าว่าในตอนนั้นยังไม่มีความรู้เรื่องแฟชั่นมาก แต่กระบวนการทำงานแบบจับแพะชนแกะในครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นที่มาของชื่อแบรนด์ LONG GOY ที่เป็นภาษาเหนือที่แปลว่า ‘ลองทำดู’ 

Photo: Monthon Paoaroon (left)

จนช่วงโควิดในปี 2019 ที่ออเดอร์แทบจะเป็น 0 เพราะลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติ กลายเป็นช่วงที่มีเวลาให้ศุภกรได้หยุดคิด และได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียน Bunka Fashion School โดยงานทีสิสในครั้งนี้ เขาเลือกออกแบบชุดทำงานที่เล่าเรื่องล้านนาในรูปแบบใหม่ โดยตัวกระโปรงที่ใช้เทคนิค pleat ซึ่งถ้ามองคนละด้านจะเห็นสีต่างกันกลายเป็นเทคนิคประจำคอลเล็คชั่นนี้ และสุดท้ายกลายเป็นเทคนิคที่มาปรับใช้ในการออกแบบอาคารหลังใหม่นี้ด้วย 

Photo courtesy of LONG GOY

Photo: Monthon Paoaroon

เมื่อศุภกรมีความคิดอยากย้ายพื้นที่โรงตัดเย็บออกมาเป็นอาคารอีกหลัง แยกจากบริเวณเดิมที่ใช้ใต้ถุนบ้าน ที่มีปัญหาค่อนข้างมืดและอับ จึงได้ติดต่อให้พัชรดา อินแปลง สถาปนิกจาก Sher Maker และรุ่นพี่ที่ลาดกระบัง มารับหน้าที่ออกแบบ ซึ่งในวันนี้เธอมาในชุดเสื้อคลุมสีฟ้าที่เธอใส่จนแทบเป็น uniform ประจำตัว แน่นอนว่าเป็นสินค้าของ LONG GOY ที่เธอเองก็ติดตามผลงานมายาวนานเช่นกัน

โรงตัดเย็บหลังใหม่ ตั้งอยู่ในบริเวณบ้านเดิมของครอบครัว ในพื้นที่หลองข้าวเดิมที่ย้ายออกไป สถาปนิกพยายามออกแบบอาคารให้กลมกลืนกับบ้านเดิม ในขนาดและสัดส่วนอาคารที่ใกล้เคียงกัน และมีลักษณะเป็นอาคารทรงยาวที่หักปลายเป็นรูปตัว L โดยมีฟังก์ชันหลักคือโรงเย็บผ้าประมาณ 80% รองรับพื้นที่ทำงาน มีจักรอยู่ประมาณ 20 ตัว ซึ่งทำงานของ LONG GOY และงานตัดเย็บเสื้อผ้าทรงพื้นเมืองของคุณแม่ไปพร้อมกัน ส่วนอีก 20% เป็นพื้นที่ของศุภกรสำหรับทำงาน stencil พื้นที่ออฟฟิศ พื้นที่ gallery และ พื้นที่สำหรับทดลองงานต่างๆ 

ในส่วนพื้นที่โรงเย็บผ้าถูกออกแบบให้โปร่งและสูงเพื่อให้แสงเข้าสู่อาคารในปริมาณมาก และเกิดการถ่ายเทระบายอากาศที่ดี เพราะไม่สามารถติดแอร์ได้เนื่องจากการทำผ้ามีฝุ่นของฝ้ายจากเศษผ้า ส่วนพื้นที่อาคารหักปลายตัว L ด้านหลังจะเป็นที่ทำงานของศุภกร โดยที่ชั้น 1 เป็นพื้นที่สำหรับทำงาน stencil ที่ใช้ทำลวดลาย มีการใช้ด่างทับทิมเพื่อกัดสีซึ่งมีกลิ่นจึงออกแบบให้เป็นพื้นที่เปิดโล่งเช่นกัน ส่วนพื้นที่ชั้น 2 เป็นส่วนออฟฟิศ  นอกจากนี้ยังมีพื้นที่ภายนอกอาคารบริเวณสวนด้านหลังที่เตรียมไว้สำหรับทำ workshop พื้นที่สวนนี้ศุภกรและคุณแม่ค่อยๆช่วยกันออกแบบกับทีมแลนด์สเคป โดยเส้นสายของสวนเกิดจากการเว้นระยะของแนวต้นไม้เพราะอยากจะเก็บต้นไม้เดิมที่อยู่มานาน และเพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อสวนด้านหลังกับลานด้านหน้าอาคารจึงมีการออกแบบช่องประตูบริเวณห้อง gallery ให้สามารถมองลอดทะลุผ่านไปที่สวนได้ ให้คนที่เข้ามาในโครงการสามารถเห็นและเดินไปพื้นที่ด้านหลังโดยไม่กวนกับฟังก์ชันที่เป็นโรงตัดเย็บด้านหน้า

ในส่วนของผนังอาคารที่เป็นสีน้ำเงินเด่นสะดุดตาตั้งแต่ทางเข้า พัชรดาเล่าที่มาว่าเนื่องจากแดดทิศใต้ค่อนข้างแรงจึงออกแบบให้ผนังชั้น 2 ของอาคารยื่นออกมาเป็น solid façade แต่สร้างช่องว่างระหว่างผนังชั้น 1 และชั้น 2 ให้ลมไหลผ่านเพื่อระบายอากาศบริเวณโถงโรงเย็บผ้าได้ดี  นอกจากนี้ในขั้นตอนการพัฒนาแบบทางทีม Sher Maker ได้ทดลองทำ study รูปแบบผนังอาคารต่างๆ ที่พัชรดาพูดติดตลกกับเราว่ามันบ้าบอกว่านี้มากๆ เช่น การเอาเศษผ้ามาทดลองทำเป็นอาคารเพราะเป็นของที่เหลือเยอะมากจากโรงตัดเย็บผ้า ซึ่งทางศุภกรก็ไม่ได้แตะเบรกแต่สุมไฟความสนุกไปด้วยกันจนกระทั่งสุดท้ายทางทีมต้องหาจุดตรงกลางเพื่อให้อาคารก่อสร้างได้จริงด้วย tectonic และระบบการก่อสร้างที่ใช้ช่างพื้นถิ่นและราคาก่อสร้างที่ไม่แพง สุดท้ายอาคารจึงถูกออกแบบเป็นโครงสร้างเหล็กและผนังเบากรุด้วยแผ่น smartboard  

Photo: Rungkit Charoenwat (left), Photo courtesy of Sher Maker (right)

Photo courtesy of Sher Maker

เพื่อทอนผนังอาคารที่มีขนาดใหญ่ทางทีม Sher Maker จึงเสนอให้ลองใช้เทคนิค pleat ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากทีสิสของศุภกรมาช่วยทอนขนาดของผนัง  ทดลองทำสีต่างๆเริ่มตั้งแต่สีห้อม (ฮ่อม) จนพัฒนาแบบได้สีน้ำเงินที่มีความเป็นกราฟิกมากขึ้น และใช้เศษไม้เก่าที่ทางบ้านเก็บไว้เอามารีด และติดตั้งเว้นจังหวะบนฝาโดยทำสีแดงและน้ำเงินสลับคนละด้าน ด้วยเอฟเฟ็กต์นี้เมื่อมองจากด้านนอกจะเห็นอาคารเป็นสีน้ำเงินแต่ถ้ามองจากภายในจะเห็นเป็นสีน้ำตาลแดง ศุภกรเสริมว่าที่เลือกจับคู่กับสีแดงเพราะเมื่อมองภายในอาคารใหม่แล้วอาคารจะดูกลมกลืนกับสีของบ้านไม้เดิม  ในส่วนขั้นตอนการก่อสร้างจริงทางสถาปนิกได้คุยกับช่างว่าอยากให้พื้นผิวเหมือนทาสีน้ำ ที่มีการทิ้งฝีแปรง มีความช้ำ ของพื้นผิวเพื่อเล่นกับเส้นคิ้วไม้สีแดง ซึ่งก็มีความท้าทายเพราะช่างสีส่วนใหญ่เคยชินกับการทาสีอาคารให้เรียบ แต่ก็ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ 

เราสังเกตว่าจริงๆ แล้วทาง Sher Maker มีประสบการณ์ทำงานออกแบบร่วมกับ local brand มาตลอด พัชรดา บอกว่าผลลัพธ์ที่ออกมาในแต่ละโปรเจ็กต์มีความปัจเจก ขึ้นอยู่กับแบรนด์ที่เข้าไปทำงานด้วย การทำงานกับบางแบรนด์ต้องลดความอยากของ designer ลง และพูดถึงเรื่องอื่นที่เป็นประโยชน์กับแบรนด์ในสถานการณ์ต่างๆกันไป เช่น เรื่อง waste management หรือการทำให้เจ้าของประหยัดขึ้นได้จากงานออกแบบของสถาปนิก แต่สำหรับ LONG GOY ที่เป็นแบรนด์ที่มีความเป็น designer สิ่งที่เสนอไประหว่างทำงาน เช่นเรื่องสีอาคาร กลับถูกยกระดับขึ้นไปอีกขั้นด้วยตัวเจ้าของทำให้โครงการออกมามีความเฉพาะตัวกว่าที่คิดไว้ ซึ่งแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเห็นรูปถ่ายคอลเล็คชั่นเสื้อผ้าใหม่ของ LONG GOY ที่มีฉากหลังเป็นอาคารหลังใหม่ ซึ่งเสื้อผ้าและสถาปัตยกรรมดูกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน

Photo courtesy of LONG GOY

shermaker.com
facebook.com/shermaker

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *