ทำความรู้จักกับโคมไฟทั้ง 3 จาก FLOS แบรนด์โคมไฟสัญชาติอิตาลีที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1960 โดย Dino และ Cesare Cassina ที่นำเสนองานออกแบบอันมากกว่าแค่แสงสว่างพื้นฐาน หากยังตอบรับกับการใช้งาน เทคโนโลยี รวมถึงสุนทรียภาพ ผ่านการร่วมมือกับนักออกแบบระดับโลกอยู่เสมอ
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF LAMPTITUDE RESERVE
(For English, press here)
ในโลกของ lighting design ชื่อของ FLOS แบรนด์สัญชาติอิตาลีที่ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1960 โดย Dino และ Cesare Cassina นั้นคงอยู่ในอันดับต้นๆ ของแบรนด์ lighting design ชั้นนำอยู่เสมอ ด้วยการนำเสนองานออกแบบที่มากกว่าแค่แสงสว่างพื้นฐาน หากยังตอบรับกับการใช้งาน เทคโนโลยี รวมถึงสุนทรียภาพ ผ่านการร่วมมือกับนักออกแบบระดับโลกอยู่เสมอ อาทิ Achille Castiglioni, Philippe Starck, Gino Sarfatti รวมไปถึงสตูดิโอดีไซน์ร่วมสมัยอย่าง Formafantasma ทำให้แม้ว่า FLOS จะเป็นแบรนด์ที่แปะป้ายผลงาน iconic ไว้อย่างมากมาย หากแต่ก็ยังค้นหาผลลัพท์ใหม่ๆ ในโลกร่วมกับนักออกแบบอยู่เสมอ เราลองไปดูกันกับตัวอย่างผลงานทั้ง 3 ชิ้นจาก FLOS ที่ได้สร้างแรงกระเพื่อมให้กับการออกแบบโคมไฟตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
1. ARCO (1962)
หากพูดถึงโคมไฟที่สามารถกำเนิดแสงแบบ direct light จากด้านบนได้ เราคงนึกถึงไฟฝังฝ้าหรือโคมไฟระย้า
เพดาน สองคือโคมไฟระย้าที่ห้อยลงมา ซึ่งทั้งสองแบบนี้มีปัญหาร่วมกันคือ การต้องยึดติดโครงสร้างเข้ากับด้านบนฝ้านั้นทำให้โคมไฟไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ แล้วจะเป็นอย่างไร หากเรายังมีโคมไฟที่สามารถให้แสงจากด้านบนได้ดังเดิม เพิ่มเติมคือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างอิสระเพื่อตอบโจทย์การใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การให้แสง ณ โต๊ะทานอาหาร หรือมุมอ่านหนังสือ
ในช่วงต้นปี 1962 สองพี่น้อง Castiglioni ที่ได้เดินทางไป ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้สังเกตถึงงานออกแบบบางอย่างที่ดูจะเป็นสิ่งธรรมดาทั่วไป หากแต่ซ่อนคำตอบที่เด็ดขาดของปัญหาข้างต้น สิ่งนั้นคือ ‘โคมไฟริมถนน’ ที่สามารถมอบแสงจากด้านบนด้วยระยะโครงสร้างที่เรียวยาว ทั้งยังมีโครงสร้างที่ปักหลักอยู่เบื้องล่าง ไอเดียที่ดูจะเป็นเรื่องเล็กน้อยนี้นำไปสู่งานออกแบบที่กลายเป็นผลงาน iconic ตลอดกาลในเวลาถัดมา
ด้วยโจทย์สองอย่าง หนึ่งคือมีโครงสร้างอยู่ด้านล่าง สองคือการสร้างแสง direct light จากด้านบน โคมไฟ Arco จึงมีฐานที่ทำจากหินอ่อนไวท์คาราร่าที่หนักถึง 132 ปอนด์เพื่อถ่วงให้โครงสร้างนั้นมีความเสถียร และยื่นก้านโคมไฟขึ้นไปในอากาศก่อนที่จะค่อยๆ โค้งลงมาจากด้านบน ด้วยรัศมีสองเมตรจากฐานถึงดวงโคม และความสูงสองเมตรครึ่ง ทำให้ผู้ใช้งานสามารถนั่งหรือเดินผ่านภายใต้โคมไฟนี้ได้อย่างสะดวก อีกทั้งยังใช้สแตนเลส 3 ชิ้นที่ประกอบเข้าด้วยกันในส่วนของก้านโคมไฟทำให้มีลักษณะเบาและปรับเปลี่ยนระยะได้ การเกิดขึ้นของ Arco นั้นนำไปสู่การมุมมองของโคมไฟในฐานะงานออกแบบที่เปลี่ยนไป จากสิ่งที่ดูคงที่ กลายเป็นสิ่งที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ อันถือเป็นก้าวเล็กๆ ที่สำคัญยิ่งของการออกแบบโคมไฟ จนถือได้ว่าเป็นหนึ่งในโคมไฟ iconic ตลอดกาลชิ้นหนึ่ง
2. GUN (2005)
โคมไฟคือสิ่งที่ให้แสงสว่าง แล้วจะเป็นไปได้ไหม ที่โคมไฟจะกลายเป็นตัวแทนของเรื่องที่ใหญ่ว่านั้น อย่างการเรื่องราวของประเด็นทางสังคม นี่คือคำถามสำคัญที่นักออกแบบและสถาปนิกชาวฝรั่งเศสอย่าง Philippe Starck ได้ตั้งขึ้น และนำไปสู่ Gun collection ในปี 2005 ที่นำเสนอเรื่องของเงินตรา สงคราม และความตาย
โคมไฟในคอลเลคชั่นนี้นำเสนอความหมายเชิงสัญลักษณ์ของสงครามในแต่ละพื้นที่ของโลก ผ่านก้านโคมไฟที่มีรูปลักษณ์เป็นอาวุธสงครามที่หล่อขึ้นจากวัสดุอะลูมิเนียม โดยมีการชุบทอง 18k เพื่อให้เกิดเป็นความหรูหราและราคาแพง เพื่อสื่อถึงความโลภและการหาประโยชน์จากความขัดแย้งในสงครามที่เกิดขึ้นเสมอ โดยมีการใช้รูปลักษณ์ของปืนที่ต่างกันเพื่อสื่อถึงพื้นที่ต่างๆ ที่เป็นเจ้าของอาวุธนั้น อาทิ โคมไฟตั้งโต๊ะรูปทรงปืน AK-47 ที่เป็นตัวแทนของซีกโลกตะวันออก โคมไฟตั้งพื้นรูปทรงปืน M16 ที่เป็นตัวแทนของโลกตะวันตก และโคมไฟข้างเตียงรูปทรงปืน Beretta อันเป็นตัวแทนของทวีปยุโรป ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแบบใด โคมไฟทุกรุ่นนั้นต่างมีจุดร่วมกันคือดวงโคมที่อยู่ภายใต้โป๊ะสีดำสนิท อันเป็นตัวแทนของความตายและการสูญเสียในสงคราม
การหยิบเอาไอเดียของความตายและสงครามมาเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบในชีวิตประจำวันอย่างโคมไฟ ได้เน้นย้ำถึงวิธีการทำงานและความคิดของ Philippe Starck ที่มองหาผลลัพท์ของงานออกแบบที่มากกว่าแค่ความสวยงามอยู่เสมอ ในกรณีนี้ โคมไฟที่ฉาบด้วยเรื่องราวอันไม่น่าพิสมัยได้สร้างบทสนทนาระหว่างผู้คน วัตถุ และพื้นที่ที่มันตั้งอยู่ ทั้งนี้เอง รายได้ 20% ของ Gun collection นั้นจะถูกแบ่งเพื่อบริจาคให้กับ Frères des Hommes อันเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรเพื่อลดปัญหาความยากจน
3. Wireline (2019)
โดยทั่วไป สายไฟของโคมไฟมักถูกเก็บซ่อนไว้อย่างมิดชิดเพื่อความสวยงาม แต่ Formafantasma สตูดิโอออกแบบจากอิตาลีได้เปลี่ยนให้สายไฟนั้นกลายเป็นพระเอกหลักใน Wireline ด้วยโครงสร้างโคมไฟที่มีเพียงสองอย่าง คือสายไฟ และหลอด LED ทำให้เกิดโคมไฟที่ลดทอนเหลือเพียงแค่เส้นสายที่พริ้วไหวและทำหน้าที่เป็น installation ใน space อันควบรวมความงามของเส้นสาย เทคโนโลยี และการใช้งานไว้ด้วยกัน
Formafantasma เริ่มต้นจากการเปลี่ยนปลอกสายไฟให้มีลักษณะเป็นแผ่นยางคล้ายเข็มขัดที่แบนยาว ทั้งด้วยคุณสมบัติที่ยืดหยุดของแผ่นยาง ทำให้ Wireline ที่ติดตั้งบนฝ้าเพดานนั้นสามารถย้อยลงมาคล้ายกับกราฟพาราโบลา พร้อมติดตั้งแท่งหลอดไฟ LED ตรงกลาง ที่ทำให้เกิดความเปรียบต่าง ระหว่างความเรียบง่ายของโครงสร้างแผ่นยาง และความซับซ้อนของดีเทลหลอดไฟ LED อันก่อให้เกิดผลงานที่คล้ายกับงาน installtion art เมื่อถูกติดตั้งอยู่ใน space เพื่อทำหน้าที่คล้ายประติมากรรมลอยตัวชิ้นหนึ่งที่สามารถติดตั้งในสถาปัตยกรรมที่มีฝ้าเพดานสูง อาทิ ล๊อบบี้โรงแรม สำนักงานหรือแม้แต่ที่พักอาศัย
ซึ่งสำหรับใครที่สนใจชิ้นงานต่างๆ ของ FLOS ในประเทศไทยเองนั้นก็ได้มีแบรนด์ Lamptitude Reserve ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายแบรนด์ FLOS อย่างเป็นทางการ ซึ่งเนื่องในโอกาสงานสถาปนิก’66 ที่กำลังจะมาถึง ใครสนใจที่อยากรับชมชิ้นงานของจริง บูธ Lamptitude ก็ได้มีจัดแสดงโคมไฟจากแบรนด์ FLOS หลากหลายชิ้นทั้งรุ่น ICONIC รวมถึงรุ่น New Arrival อาทิ WIRELINE , ARRANGEMENT, COORDINATES, TARAXACUM 88 และ SHOGUN