LOUIS SKETCHER

art4d พูดคุยกับ หลุยส์ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา ศิลปินนักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ Louis Sketcher ถึงเส้นทางของการเป็น urban sketcher ที่คอยเก็บบันทึกความรู้สึกของเมืองผ่านสายตาและสองมือของตัวเอง

TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO COURTESY OF LOUIS SKETCHER

(For English, press here)

‘เมือง แมว และมือ’ คงเป็นคำใช้อธิบายผลงานของ Louis Sketcher ได้อย่างเห็นภาพ จากทั้งผลงานที่บอกเล่าเรื่องราวของสถานที่ต่างๆ อันมากกว่าแค่เรื่องของตึกผ่านลายเส้น sketch และสีน้ำ แมวสองขาตาแป๋วที่เป็นเหมือนมาสคอสของเพจไปแล้ว art4d พูดคุยกับ หลุยส์ – ศุภชัย วงศ์นพดลเดชา ศิลปินนักวาดภาพประกอบเจ้าของเพจ Louis Sketcher ที่ย้ายบทบาทจากการเป็นผู้สร้างเมืองในฐานะนักเรียนสถาปัตย์ สู่การเป็นผู้เก็บบันทึกความรู้สึกของเมืองผ่านสายตาและสองมือของตัวเอง

art4d: คุณเริ่มวาดรูปตั้งแต่ตอนไหน

Louis Sketcher: เราเริ่มวาดตั้งแต่ตอนเรียน ถ้านับรวมวาดเล่นก็วาดตั้งแต่ตอนติวเข้าสถาปัตย์ แต่ว่าก็จะเป็นการวาดเพื่อไปสอบเฉยๆ พอเข้ามาเรียนก็จะกลายเป็นต้องเขียนแบบเสียเยอะ สเก็ตช์เล็ก ๆ น้อย ๆ บ้าง ไม่ได้จริงจังอะไร มาเริ่มวาดเป็นบ้าเป็นหลังจริงๆ ก็ตอนปี 4 เป็นช่วงที่ได้รู้จักกลุ่มสเก็ตช์ ก็เลยเริ่มวาดกับเขา แล้วก็เริ่มติดการวาด พกสมุดไปโน่นไปนี่บ่อยขึ้น พออาจารย์ที่ปรึกษาเขาเห็นเราชอบสเก็ตช์อยู่แล้ว เขาก็เลยชวนให้ไปฟัง เขาเชิญคนก่อตั้งกลุ่ม Bangkok Sketcher มาพูดที่คณะ แล้วสมุดสเก็ตช์ที่เขาสเก็ตช์ เขาก็เอามาให้ดู มันก็แบบ เฮ้ย เจ๋งดี อยากทำบ้าง ก็เลยเริ่มซื้อสมุดมาเริ่มวาดจริงจัง

art4d: แสดงว่าก่อนเข้ามาเรียนคณะสถาปัตย์ คุณชอบวาดรูปอยู่แล้ว

LS: ใช่ เราคิดว่าเราชอบวาดรูป ซึ่งจริงๆแล้วเราไม่ได้วาดบ่อยขนาดนั้น แค่เรารู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่เราทำได้ดีมากกว่า แต่เรายังไม่ได้อินไปกับมันมากเท่าช่วงนี้

art4d: แล้วทำไมถึงเข้าสถาปัตย์

LS: มันก็เป็นมายาคติสมัยนั้น ชอบวาดรูปเรียนสายวิทย์ มีทางเดียวก็คือสถาปัตย์ เราไม่ได้ศึกษาคณะอื่นเลยจริงๆ ตอนติวเราได้เรียนโรงเรียนที่มันมีติวเกือบทุกภาคของ มัณฑณศิลป์ ศิลปากร เรารู้สึกว่า เออ มันยากมากเลย ไม่เรียนดีกว่า (หัวเราะ) สถาปัตย์นี่ติวง่ายที่สุดแล้วเพราะไม่ต้องวาดให้มันเหมือน มันแค่คนที่เป็นก้อนๆ อะไรอย่างนั้น ต้นไม้ก็เป็นหยึกๆ แค่พอคล้ายๆ มันไม่ได้จริงจังมาก ก็เลยเป็นเรื่องที่เราทำได้ดีในตอนนั้น ซึ่งจริงๆ ทุกคนที่ติดมาก็รู้ว่าไม่ได้ใช้หรอก แต่อานิสงค์ของการเรียนภาคสถาปัตย์ไทยมันทำให้มือเราไปไกลกว่าเดิม เพราะว่าเราเขียนอะไรที่มันยากมันเลยทำให้คุ้น รวมถึงสายตา ทำให้เราจับรายละเอียดต่างๆ ของอาคารได้ดี

art4d: แล้วเพจ Louis Sketcher เริ่มขึ้นตอนไหน จุดไหนเป็นจุดเปลี่ยนที่คนรู้จักเยอะ

LS: น่าจะเริ่มเปิดเพจช่วงเรียนอยู่ปี 5 ตอนนั้นเพจก็ไม่ได้เปรี้ยงปร้างอะไรนะ ทำไปเรื่อยๆ ที่มันเริ่มมีคนรู้จักน่าจะเป็นอินสตาแกรม เพราะว่าสมัยนั้นอัลกอริทึ่มยังไม่โหดร้ายเท่าสมัยนี้ พอเราเริ่มลงงานติดกันไปเรื่อยๆ แล้วก็ติดแฮชแท็ก ก็มีคนมามาไลค์มาติดตามเพิ่ม สมัยก่อนมันง่ายกว่านี้มาก (หัวเราะ) แล้วก็พอมีเพจอินสตาแกรมใหญ่ๆ มาแชร์ไป คนก็เริ่มตามมาเยอะ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนต่างชาติ

art4d: เน้นวาดงานแบบไหนเป็นหลัก

LS: จริงๆ ก็เรื่อยๆ นะ แต่อันที่หลักๆ ก็คือวาดอาคารบ้านเมืองแบบ urban sketch ซึ่งถ้าวาดเมืองอย่างเดียวมันก็จะแห้ง มันเลยต้องมีคน ก็ต้องมีหมาแมว ต้องมีองค์ประกอบเข้ามา แล้วมันก็ลามไปหาอาหารอะไรพวกนี้ ทำให้ตัวงานมันขยายออกจากแค่ตึกกลายเป็นเรื่องของย่าน ซึ่งถ้าพูดถึงงานที่เริ่มทำแรกๆ เลยก็เริ่มจากโรงแรมแถวท่าเตียนแห่งหนึ่งที่เขาให้เราวาดโปสการ์ดสำหรับเอาไปขาย

art4d: สไตล์เปลี่ยนไปบ้างมั้ยจากแรกๆ

LS: เปลี่ยนไปเยอะมากๆ ซึ่งก็ปกติ เหมือนลายมือ แต่ก่อนมันก็วาดอยากให้เสร็จเร็วๆ แบบสเก็ตช์จริงๆ แต่เดี๋ยวนี้มันเริ่มละเมียดขึ้น มีความค่อยๆ วาด เก็บรายละเอียดเยอะ แต่ก็แล้วแต่คนนะ บางคนยิ่งวาดจากละเอียดก็จะยิ่งหยาบไปเรื่อยๆ พอเหมือนมันอยากวาดไปหมด เรื่องเนื้อหาเองด้วย หลังๆ เราก็สนใจเรื่องการววาดตัวละคร สถานการณ์ต่างๆ มีชุดหนึ่งเป็นความสนใจส่วนตัวของเราเรื่องตำนานพื้นบ้านของญี่ปุ่น เป็นสไตล์ภาพแบบภาพพิมพ์ไม้ของญี่ปุ่น เลยเอามาผสม ๆ กันแล้วก็ทำเป็นงานชุดนี้

art4d: แล้วรู้สึกอย่างไรพอลายเส้นพวกนี้มันเปลี่ยน

LS: ไม่มีความเห็นเลย มันก็เปลี่ยนไปตามเวลา เดี๋ยวมันก็คงเปลี่ยนไปอีกมั้ง มันขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ที่ใช้ด้วย แต่ก่อนใช้ปากการอทติ้ง เดี๋ยวนี้ก็ใช้พู่กัน ใช้หมึกซึม ใช้ไอแพด

art4d: คิดว่าเสน่ห์ของ Urban sketch คืออะไร

LS: มันมีความต่างเยอะมาก ระหว่างการวาดจากรูปถ่ายกับการไปนั่งวาดที่จริง สำหรับเราคือมันเหมือนคนละโลกเลย อย่างแรกรูปถ่ายมันมีกรอบ สถานที่จริงไม่มีกรอบ แล้วเวลาเราจะวาด การที่จะเอามันยัดลงไปในกระดาษมันต้องผ่านการดีไซน์และการมองเห็น ความคุ้นชินกับ perspective ด้วย เช่นรถเนี่ย ล้อมันจะเขียนยังไงไม่ให้มันดูเหินไปเหินมา อีกอย่าง พอเราวาดที่จริงมันจะมีอะไรต่อมิอะไรมาบังเราตลอด เราต้องมาจัดระเบียบมันเอง รู้ว่าวาดแค่นี้ก็พอไม่ต้องวาดทั้งหมด ซึ่งมันสนุกกว่าการวาดจากรูปถ่ายนะสำหรับเรา

art4d: เวลาเราไปนั่งวาดตามที่ต่างๆ เคยเจออะไรประหลาดๆ บ้างไหม

LS: ตอนนั้นไปวาดเจดีย์สันติภาพ ที่อินเดีย เราขึ้นไปบนยอดเขาแล้วก็เป็นเจดีย์สีขาวๆ สวยดี ก็นั่งวาด ด้วยความเป็นคนอินเดียน่ะ เขาใฝ่รู้อยู่แล้ว เขามีความอยากรู้อยากเห็น แล้วเหมือน personal space ของเค้ามันน้อยกว่าที่อื่นปกติระหว่างเรานั่งกันปกติแค่นี้ก็ถือว่ากำลังดี แต่ไปถึงอินเดียปุ๊บ คนไม่รู้จักกันนะ สิบกว่าคนมาล้อมมุงดู เจ๋งดี

art4d: ช่วงหนึ่งเราเห็นคุณวาดแมวยูเครน ปกติคุณวาดงานคาบเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมเยอะไหม แล้วมองว่างาน illustrator มันมีจุดร่วมกับประเด็นทางสังคมยังไงบ้าง

LS: ไม่เยอะนะถ้าเทียบกับคนอื่น เราว่า urban art กับการเมืองมันก็ไม่ได้แยกจากกันตั้งแต่แรกแล้ว ศิลปะคือเป็นเครื่องมือในการที่คนใช้แสดงออกความรู้สึก สิ่งที่เขาอยากจะเรียกร้องมาโดยตลอด มันก็แค่เราอาจจะเห็นมากขึ้นในช่วงนี้ ด้วยความที่การเติบโตของกลุ่มศิลปิน การเข้ามาของ digital art แล้วก็ platform ต่างๆ คนพร้อมที่จะแชร์อะไรพวกนี้เวลาที่เขาไม่อยากพูดอะไรเยอะ หรือว่าเขามีความรู้สึกอยู่แต่เขาไม่สามารถเรียบเรียงได้ แชร์รูปนี้แล้วจบเลย ซึ่งแนวโน้มมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ อยู่แล้ว

art4d: แล้วหนังสือ Bangkok Shophouse มีที่มายังไง

LS: เล่มนี้เป็นสิ่งที่เราอยากทำมานานแล้ว เรื่องรวบรวมหน้าร้านต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ เพราะว่าเราชอบ ชีวิตเราอยู่ในเมืองเก่าตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม พอเริ่มสเก็ตช์มันก็เริ่มมองเยอะขึ้นเราก็เลยรูสึกว่ามันน่าจะมีการรวบรวมเก็บไว้บ้างนะ แต่ไม่มีใครทำ งั้นทำเองซะเลย เสร็จแล้วก็จะมี index รวบรวมไว้ว่า ร้านนี้ร้านอะไร ขายอะไร แล้วก็มีข้อมูลด้านสถาปัตย์นิดๆ หน่อยๆ เอาไว้ให้พอแบบว่ามีรายละเอียดประมาณไหน ยุคไหน

art4d: ครอบคลุมย่านไหนบ้าง

LS: เอาแค่เมืองเก่า ก็พระนคร แล้วก็ตั้งแต่แม่น้ำเจ้าพระยาไปถึงคลองผดุงกรุงเกษมลงมา เรานับว่าเมืองเก่า แต่ว่าจริง ๆ ก็ไม่ได้พูดเรื่องข้อมูลด้านประวัติศาสตร์มาก เอาแค่ว่านับแถวนั้นแล้วกัน (หัวเราะ) กับฝั่งธนฯ นิดหน่อย ประมาณหนึ่ง แล้วก็ตลาดพลู นอกจากวาดตึกแถวแล้วก็ไม่อยากให้มันแห้งเกินไป ก็เลยมีเรื่องชีวิต ผู้คน รถเข็น อาหาร อะไรพวกนี้แทรกๆ เข้าไปบ้าง

art4d: มุมนึงก็คล้ายๆ ว่าคุณเป็นคนบันทึกประวัติศาสตร์ของเมือง

LS: พวก urban sketch นี่คือบันทึกอย่างหนึ่งอยู่แล้วนะ มันก็คือไดอารีอย่างหนึ่ง เช่นรูปที่เราวาดที่ตลาดพลู วันหนึ่งพวกนี้อาจจะหายไปก็ได้ บางรูปที่นั่งวาดตรงวังหลัง ตรงนี้ตอนนี้มันมีเป็นตึกเต็มไปหมดเลย ตึกสูงเต็มไปหมด อย่างตรงเยาวราช เราก็เคยวาดห้างทองไว้ ตอนนี้ facade ก็เปลี่ยนไป ป้ายสวยๆ ที่เราชอบบางอันก็ไปหมดแล้ว ในแง่หนึ่งเราก็เหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นๆ ไว้ เมื่อเมืองมันเปลี่ยนแปลงไป บางอันวาดเสร็จ อ้าว หายไปแล้วก็มี อย่างบางที่ที่เราไปวาดซ้ำ เช่น มาบุญครอง วัดโพธิ์ ตัวสถานที่มันเปลี่ยนจากเดิมไม่มากถึงวาดที่เดิมแต่คนละเวลามันก็คนละแบบ  มันก็มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในตัว อีกอย่างคือข้อดีของการวาดคือทำให้เราจำ เราอินกับสถานที่นั้น เพราะว่ากว่าจะวาดเสร็จมันต้องใช้เวลา มันได้ซึมซับ อาจจะไม่ได้ชอบนะ แต่มันจำได้ แม้ว่าอาจจะเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีบ้างตอนวาด วาดแล้วหมาเดินผ่าน วาดตอนเย็น ๆ แล้วแมงเม่าแม่งบุก ก็จะเป็นความทรงจำภาพของสถานที่นั้น ๆ ทำให้เราจำได้ แล้วก็จะอินไปกับเมือง ไม่ว่ามันจะดีหรือไม่ดีก็ตาม

art4d: มีศิลปินคนไหนบ้างที่คุณชื่นชอบ

LS: มีหลายคนเลย มีคนนึงชื่อ Zao Dao เป็นคนไต้หวัน เราว่าเขาเก่งแบบ เก่งเกินไป (หัวเราะ) ลายเส้นเขามีความน่ารัก แต่ก็ยังเท่แล้วก็จัด position ตัวละครได้ดี กับอีกคนคือ Little Thunder คนนี้จะเน้นวาดคาแรคเตอร์ เราว่าเขาวาดผู้หญิงนิ่มนวลดีมาก แต่ว่าถ้าเอาที่เป็นไอดอลที่สุดคงจะเป็น คิมจุงกิ (Kim Jung Gi) เขาเป็นคนที่ไม่ร่าง วาดได้เลย วาดไปเรื่อยๆ เคยฟังไลฟ์แกมาเล่าเรื่องหนึ่ง บอกว่าวาดวันละ 14-15 ชั่วโมงต่อวันตอนเด็กๆ  (หัวเราะ) เราว่านักวาดที่เก่งคือนักวาดที่มีข้อมูลเยอะ อย่างคิมจุงกิเนี่ยเขาไม่ได้แค่วาดแค่คน เขาวาดสัตว์ ท่าทาง กล้ามเนื้อ แถมยังวาดพวกอุปกรณ์ อาวุธ รถถัง นอกจากมีข้อมูลแล้ว มือก็ต้องขยับตามที่คิดได้ด้วย

art4d: คิดว่าทิศทางในอนาคตของ Louis Sketcher ในด้านการวาดจะเป็นยังไงบ้าง มีไอเดีย มีแพลนอะไรไหม

LS: อยากเน้นการทำหนังสือให้มากกว่านี้ เวลาเราทำแต่ละเล่ม เราวาดด้วย เขียนด้วย ศึกษาข้อมูลด้วย เหนื่อยมาก แต่ก็ชอบนะ อาจจะมีการเพิ่มคาแรคเตอร์ในภาพ ให้มันมีเรื่องมีราวมากขึ้น แล้วก็ทำเป็นอาร์ตบุ๊คเหมือนที่ศิลปินนานาชาติเขาทำกันบ้าง จะได้ไม่ต้องเขียนเยอะ

art4d: มีความคิดว่าอยากลองฝึกวาดให้ได้แบบคิมจุงกิบ้างไหม

LS: เราเข้าใจว่ามันต้องใช้เวลาและความพยายามมากสุดๆๆ กว่าจะถึงจุดนั้น ซึ่งเราคงมีไม่ถึงเค้า 555 โอเค มันเป็นเป้าหมายสูงสุดอันนึงนะ แต่ถ้าไปไม่ถึงก็คงไม่ซีเรียสอะไร แต่ละคนก็คงมีที่มาของลายเส้นที่ต่างกันไปแหละ

facebook.com/lllouissketcher

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *