BAAN SAO YONG HIN

Housescape Design Lab ร้อยเรียงเรื่องราวของผืนดิน ผู้คน และสถาปัตยกรรมให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ใน ‘บ้านเสายองหิน’

TEXT: PRATCHAYAPOL LERTWICHA
PHOTO: RUNGKIT CHAROENWAT

(For English, press  here)

บนที่ดินที่ราบตีนเขา ภายใต้โอบกอดของเขาน้ำก้อในอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ คือที่ตั้งของ ‘บ้านเสายองหิน’ บ้านที่ประกอบด้วยอาคารสามหลังพร้อมหลังคาลาดชันสูงต่ำแตกต่าง สอดรับกับขุนเขาฉากหลังที่ตะปุ่มตะป่ำตามธรรมชาติ แม้จะมีทีท่าไม่ผิดแผกจากธรรมชาติเบื้องหลัง แต่บ้านก็ตั้งอยู่อย่างถ่อมตัว

‘บ้านเสายองหิน’ เป็นผลงานการออกแบบจาก Housescape Design Lab นอกจากการพูดคุยกับสองสามีภรรยาเจ้าของบ้านถึงความต้องการและเงื่อนไขชีวิตเพื่อใช้เป็นสารตั้งต้นการออกแบบ สถาปนิกยังเสาะหางานวิจัยเกี่ยวกับที่ตั้งมาศึกษา เพื่อให้เข้าใจพื้นที่อย่างลึกซึ้ง ‘เฮียนเสายองหิน: เรือนพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยชาวไทหล่ม บ้านแก่งโตน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์’ งานวิจัยจากขนิษฐา ปานศรี และศ.ดร.วีระ อินพันทัง แสดงให้สถาปนิกเห็นว่าในละแวกที่ตั้งของโครงการ มีรูปแบบของเรือนพื้นถิ่นที่เรียกว่า ‘เฮียนเสายองหิน’ อยู่ ซึ่งมีความพิเศษคือการวางเสาโครงสร้างหลักอาคารบนก้อนหินขนาดย่อมที่เสาะหาได้ในท้องถิ่น

การค้นพบดังกล่าวผลักดันให้สถาปนิกขุดสำรวจผืนดินของโครงการ จนเจอเข้ากับหินกรวดใหญ่จำนวนมากในชั้นตะกอนใต้ดิน หินกรวดเหล่านี้กลายเป็นหินที่สถาปนิกนำมารองโครงสร้างเสาไม้ของบ้านเสายองหิน สร้างความเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาที่ฝังรากในท้องที่ แม้ภาพการวางเสาบนหินจะออกมาไม่แตกต่างกับเรือนพื้นถิ่น แต่ดีเทลการก่อสร้างได้รับการปรับเปลี่ยนใหม่เป็นการฝากโครงสร้างเสาและหินไปบนแท่งเหล็กที่ฝังตัวบนคานคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นการเสริมความแข็งแรงและสร้างความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยในยุคที่โลกอากาศแปรปรวนไม่เหมือนวันวาน

นอกจากการขุดหินจากที่ดินมาใช้ สถาปนิกตั้งใจใช้ไม้ในละแวกพื้นที่ตามแนวคิด ‘Domestic Turn’ ที่มุ่งใช้วัสดุที่อยู่รอบตัวและใช้แรงงานท้องถิ่นมาก่อสร้าง เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างงานสถาปัตยกรรมและพื้นที่ท้องถิ่นอย่างแนบแน่น แต่ทว่า ไม้ในพื้นที่ที่มีคุณภาพหาได้ยากและมีราคาสูง ไม้ที่ใช้จึงเป็นไม้ที่รื้อจากบ้านเก่าสามหลังในเชียงใหม่ องค์ประกอบไม้ของบ้านเดิมได้รับการบันทึกวัดสัดส่วนอย่างละเอียดถี่ถ้วน ก่อนนำมาพลิกแพลงใช้งานเป็นองค์ประกอบต่างๆ อย่างเช่น บานประตูเลื่อน ที่เกิดจากนำบานประตูเก่าและบานประตูใหม่มาผสมผสานกัน โดยยังคงร่องรอยลายลูกฟักเดิมไว้อยู่

ผิวไม้หลายส่วนไม่ได้ทาย้อมให้เงางามเหนือกาลเวลา หากแต่เปลือยผิวเต็มใจน้อมรับตราประทับจากธรรมชาติและมนุษย์ ไม่ต่างกันกับผิวผนังปูนในอาคารที่ไม่ได้ฉาบทาเรียบ แต่เผยร่องรอยการฉาบทาอย่างจงใจ พื้นอาคารที่คล้ายพื้นหินขัดไม่ได้ผ่านการขัดมัน สถาปนิกให้ผิวหนังมนุษย์จรดย่ำขัดสีจนผิวมันขึ้นเองตามธรรมชาติ มีการใช้วัสดุหลายรูปแบบเพื่อให้ผู้ใช้งานได้สัมผัสพื้นผิวที่หลากหลาย อย่างเช่นพื้นทางเดินที่ปูด้วยอิฐดินเผาหรือขั้นบันไดก้อนหินก้อนเขื่อง เติมแต่งสีสันให้การใช้ชีวิตแม้จะอยู่ในพื้นที่จำกัด

เฟอร์นิเจอร์บางชิ้นในบ้านอย่างเช่นมือจับประตู โคมไฟ หรือโต๊ะไม้ห้องนอน เป็นเฟอร์นิเจอร์ฝีมือการออกแบบและก่อสร้างโดยน้ำมือของสมาชิกในสตูดิโอ ในขณะที่วัสดุหรือเฟอร์นิเจอร์จากโรงงานมีหน้าตาสะอาดสะอ้าน สัดส่วนเพียบพร้อมสมบูรณ์ แต่ของที่สร้างจากมือกลับมีเสน่ห์ที่รูปร่างหน้าตาและริ้วรอยเหนือการคาดเดา เป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ที่ไม่ได้ทำงานอย่างซื่อตรงเหมือนเครื่องจักรในโรงงาน แต่ถึงอย่างนั้น สถาปนิกไม่ได้ปฏิเสธวัสดุสมัยใหม่จากโรงงาน หากนำมาใช้บ้างโดยเฉพาะส่วนที่ต้องหยิบจับใช้งานบ่อย อย่างเช่นบานหน้าต่าง อำนวยความสะดวกสบายให้เจ้าของบ้านไม่ต้องซ่อมแซมบ่อยครั้งจนลำบากตัว

ตัวบ้านแยกอาคารเป็นสามหลัง ประกอบด้วยโรงรถและครัวไฟบริเวณทางเข้า เรือนรับรองแขก และเรือนส่วนตัวที่ประกอบด้วยห้องรับแขกและห้องนอน มีคอร์ทยาร์ดกลางบ้านปลูกพืชผักสวนครัวเป็นพื้นที่ประสานแต่ละเรือนเข้าด้วยกัน การแยกเรือนออกเป็นสามหลังทำให้บ้านเป็นดั่งหมู่บ้านขนาดย่อม เอื้อให้เจ้าของสองสามีภรรยาได้เดินออกจากเรือนสัมผัสอากาศภายนอก เสริมสร้างประสบการณ์อยู่อาศัยให้รุ่มรวย ไม่น่าเบื่อ การแยกเรือนยังทำให้บ้านไม่ใหญ่โตโหรงเหรงเกินการใช้ชีวิตผู้ใช้งานหลักสองคน อาคารแต่ละหลังมีตัวตนเป็นของตัวเองด้วยรูปร่างหลังคาที่แตกต่างกัน ความลาดชันต่างกัน สร้างให้เกิดภาพแนวอาคารที่สอดประสานลงตัวกับภูเขาสวยงามเบื้องหลัง การตั้งอาคารอยู่ตีนเขา ทำให้อาคารได้รับอิทธิพลของลมที่พัดลาดลงมาจากภูเขาอย่างเต็มที่ ดังนั้นแล้วที่หลังคาจึงมีการออกแบบโครงค้ำยันเพิ่มเติมเพื่อป้องกันหลังคาพะเยิดจากลม

อาคารในบ้านไม่ได้วางตัวตามแนวแกนตั้งแกนนอน หากแต่เฉียงตัวเพื่อให้สัมพันธ์กับรูปทรงที่ดินและลดทอนความแข็งเกร็งของภาพรวม ทำให้บ้านเป็นบ้านที่ไม่ได้ซื่อตรง แต่มีซอกมุมเล็กน้อยจากแกนเฉียงเป็นลูกเล่นเพิ่มเติมชีวิตชีวา ระเบียงนั่งเล่นของเรือนส่วนตัววางเฉียงเหมือนโดนเฉือนออก เป็นการเฉียงในแกนเดียวกันกับเรือนโรงรถ ซึ่งเป็นเทคนิคที่สถาปนิกใช้เชื่อมสัมพันธ์แต่ละอาคารแม้มันจะแยกตัวออกจากกัน

งานภูมิทัศน์คืออีกเวทีที่สถาปนิกเปิดให้ธรรมชาติเป็นผู้ร่วมสรรค์สร้างผลงาน ผิวดินไม่ได้ถูกปรับให้เรียบเนียน และไม่ได้มีแค่ต้นหญ้า เพราะพืชพันธุ์ต่างๆ รวมถึงวัชพืชบางส่วนก็ได้รับการต้อนรับด้วยความยินดี คลองไส้ไก่ถูกขุดขึ้นเพื่อให้น้ำไหลเวียน ช่วยบำบัดสิ่งแวดล้อมด้วยวิธีธรรมชาติ บางทีมีสรรพสัตว์เข้ามาทำรังสร้างสรรค์ระบบนิเวศท้องถิ่นให้สมบูรณ์ การปลุกสปิริตถิ่นที่ตั้งของ ‘บ้านเสายองหิน’ ไม่ได้คำนึงแค่มิติของมนุษย์ แต่ยังมองไปถึงเพื่อนต่างพันธุ์ที่ใช้ชีวิตบนโลกนี้ร่วมกันมาช้านาน

housescape-delab.com
facebook.com/housescape

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *