YELLOW HOUSE

JOYS Architects หยิบเอาเอกลักษณ์ของคอนกรีตดิบเปลือยและเนินดินสูงต่ำจากโครงการ Yellow Submarine Coffee Tank มาปรับใช้เข้ากับบ้านส่วนต่อขยายที่แม้ดูปิดทึบ แต่กลับเปิดโล่งภายในด้วยคอร์ททั้งสี่

TEXT: KORRAKOT LORDKAM
PHOTO: BEER SINGNOI

(For English, press here)

เพราะจำเป็นต้องเดินทางไกลไปดูแลคาเฟ่ Yellow Submarine Coffee Tank ในอำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาเป็นประจำ สืบสาย จิตตเกษม เจ้าของโครงการและหนึ่งในสถาปนิกผู้ออกแบบ จึงต้องการสร้างบ้านหลังเล็กๆ ไว้ในที่ดินผืนเดียวกันเพื่อความสะดวกสบายของตัวเองและครอบครัว บ้านพัก Yellow House จึงเกิดขึ้น ไล่เลี่ยกันกับการก่อสร้างส่วนต่อขยายคาเฟ่ Yellow Mini บนเนินดินที่ไล่ระดับสูงต่ำ ใต้ร่มเงาของผืนไม้ยมหอมบนที่ดินกว้าง บ้านพักอาศัยที่ปลีกตัวจากร้านกาแฟสูงถัดขึ้นไปในระยะมองเห็นได้แสดงเจตจำนงทางสถาปัตยกรรมได้แข็งแรงไม่แพ้อาคารที่ตั้งอยู่เบื้องล่าง โดยเฉพาะการแสดงออกด้วยพื้นผิวคอนกรีต ที่ทำให้อาคารดูคล้ายกับโครงการ Yellow Mini ที่ตั้งอยู่ใกล้กัน แต่ในขณะเดียวกันก็แตกต่างด้วยความปิดทึบที่ทั้งดูเร้นลับและเงียบงัน

Yellow House ได้ JOYS Architects มีสืบสายและเพื่อนอีกสองคนได้แก่ประเสริฐ อนันทยานนท์ และณัฏฐ์ ละเอียดอ่อน สถาปนิกกลุ่มเดียวกับผู้ออกแบบส่วนต่อขยาย Yellow Mini เป็นผู้ออกแบบ โดยบ้านหลังเล็กที่ท้ายที่สุดมีขนาดราว 200 ตารางเมตรนี้ แทบไม่มีข้อจำกัดใดๆ ในด้านที่ตั้งเพราะตั้งอยู่ในที่โล่งของสวนร่มรื่นขนาดใหญ่ มีเพียงเรื่องเดียวคือต้องการให้ตำแหน่งอยู่ไม่ไกลจากร้าน และต้องการให้มีต้นไม้ที่มีอยู่เดิมขึ้นแทรกในพื้นที่ใช้สอยของบ้านด้วย

แนวความคิดในการออกแบบจึงคล้อยตามบริบทที่ตั้งดังว่า โดยมีแนวความคิดหลักคือต้องการสร้างความเชื่อมต่อระหว่างภายนอกและภายใน แนวคิดดังกล่าวตกผลึกออกมาเป็นบ้านรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยให้ด้านทั้งสี่สามารถเปิดรับทิวทัศน์ของเรือกสวนภายนอกได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคงความปลอดภัยและเป็นส่วนตัวด้วย แนวคิดการเปิดรับบริบทภายนอกจึงเริ่มจากให้ทั้งสี่ด้านของบ้านมี ‘คอร์ท’ ของตัวเองเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับภายนอก แล้วเสริมแนวคิดการสร้างความสัมพันธ์กับบริบทโดยให้คอร์ททั้งหลายครอบลงบนต้นไม้ที่มีอยู่เดิมในพื้นที่ รวมถึงให้คอร์ทเป็นพื้นที่คงเอกลักษณ์ความสูงต่ำของเนินดิน ซึ่งเป็นแนวคิดที่ต่อเนื่องไปกับโครงการ Yellow Mini ก็ว่าได้

แนวทางการออกแบบ จึงเริ่มจากการวางแผนผังของคอร์ทสี่ด้านแล้ววางพื้นที่ใช้สอยในการใช้ชีวิตตามลำดับ หากมองจากแผนผัง จะพบว่าพื้นที่ใช้สอยถูกวางให้มีลักษณะคล้ายวงแหวนล้อมห้องนอนในใจกลาง โดยวงรอบเป็นพื้นที่ใช้งานอื่นๆ ที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของคอร์ทแต่ละด้านที่มีความสูงต่างกัน เริ่มจากด้านทางเข้า เป็นด้านของคอร์ทหมายเลข 1 หรือที่ถูกเรียกว่า ‘Welcome Court’ ด้วยระดับความสูงของเนินจากระดับดิน 40 เซนติเมตร จึงเป็นคอร์ทที่มีระดับดินเหมาะแก่การบดบังสายตา สร้างความเป็นส่วนตัวให้แก่ทางเข้าบ้านและส่วนห้องนั่งเล่นที่อยู่ถัดมาข้างใน 

มุมมองจากห้องนั่งเล่นออกไปทางหน้าบ้าน มีเนินดินของคอร์ทหมายเลข 1 บดบังสร้างความเป็นส่วนตัวให้

ถัดไปทางขวามือจากห้องนั่งเล่นเป็นคอร์ทหมายเลข 2 ที่มีระดับดินสูงที่สุดที่ 80 เซนติเมตร ถูกวางให้เป็นที่ตั้งบันไดเพื่อเดินขึ้นไปบำรุงรักษาบ้านบนดาดฟ้าได้ และเป็นส่วนมอบทิวทัศน์ให้ห้องสองฝั่งที่วางชิดอยู่ได้แก่ห้องครัวและส่วนรับประทานอาหารที่ด้านหน้าบ้าน กับห้องทำงานที่ด้านหลังบ้าน ต่อจากนั้น คอร์ทหมายเลข 3 ตั้งอยู่ในสุดหลังบ้านซึ่งไม่มีต้นไม้แต่เดิมขึ้นอยู่ จึงถูกขุดและทำให้เป็นสระว่ายน้ำ คอร์ทนี้เชื่อมต่อกับส่วนที่เป็นส่วนตัวมากขึ้น ได้แก่ ห้องทำงาน ห้องนอน และห้องน้ำ 

ห้องครัวอยู่ติดกับคอร์ทหมายเลข 1 และคอร์ทหมายเลข 2

(ขวา)​ ทางเดินจากห้องครัวขึ้นไปยังคอร์ทหมายเลข 2

คอร์ทหมายเลข 2

สุดท้าย คอร์ทหมายเลข 4 อยู่ด้านซ้ายมือ เป็นคอร์ทที่ระดับความสูงดินต่ำที่สุด (หรือถูกกำหนดให้เป็นความสูง 0.00 ของบ้าน) กำหนดให้เป็นส่วนซักล้าง ตากผ้า รวมถึงวางต้นไม้ประดับ และเป็นคอร์ทที่เชื่อมกับห้องน้ำกับห้องนอนแขก โดยหากพิจารณาต่อไปอีก ก็จะพบว่าการวางผังของบ้านหลังนี้เป็นรูปแบบห้องต่อห้องมากกว่ารูปแบบเชื่อมต่อห้องด้วยช่องทางเดิน (Corridor) ซึ่งโดยรวมพื้นที่ส่วนใช้งานรอบคอร์ทหมายเลข 1 อันได้แก่ห้องนั่งเล่น ครัว และห้องรับประทานอาหาร ก็จะมีความเป็นสาธารณะมากกว่าส่วนใช้งานรอบคอร์ทหมายเลข 3 ซึ่งมีห้องนอน ห้องน้ำ และห้องทำงานของเจ้าของบ้านล้อมอยู่นั่นเอง

(ซ้าย)​ ห้องน้ำเชื่อมไปยังคอร์ทหมายเลข 4 และห้องนอนแขก, (ขวา)​ ห้องนั่งเล่นเชื่อมไปยังคอร์ทหมายเลข 4

ห้องนอนอยู่เบื้องหลังห้องนั่งเล่น ที่มุ่งออกไปทางหน้าบ้าน

นอกเหนือจากเอกลักษณ์ด้านการวางผังบ้าน ที่สอดคล้องต่อเนื่องกันไปเป็นวงกลมตามแนวความคิดการเชื่อมต่อระหว่างภายนอก-ภายใน อันชัดเจนว่าได้รับอิทธิพลจากบริบทของสวนป่าแล้ว คอนกรีตอันเป็นวัสดุก่อสร้างหลักของบ้านนั่นเองที่เป็นอีกปัจจัยส่งเสริมแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมให้ชัดเจนขึ้น

โดยตลอดทั้งตัวบ้าน นอกจากการทำระดับพื้นทั้งบ้านให้ราบเรียบเท่ากันหมดแล้วปูพื้นด้วยหินสีดำ ผนังคอนกรีตโชว์ผิวก็เป็นเอกลักษณ์ที่ชัดเจนเห็นได้ตั้งแต่ภายนอก โดยแม้ผนังส่วนใหญ่จะดูหนาและทึบตันคล้ายถูกก่อสร้างจากระบบผนังรับน้ำหนัก แต่ระบบโครงสร้างที่แท้จริงของบ้านเป็นระบบเสา-คาน โดยใช้การก่ออิฐฉาบปูนกั้นพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ตามปกติ อย่างไรก็ตาม พื้นผิวและความหนาของผนังนั้นเกิดจากเทคนิคการปิดผิวผนัง โดยสถาปนิกใช้วิธีการตั้งไม้แบบห่างจากผนังก่อประมาณ 3 เซนติเมตร แล้วใช้ปูนเทลงไปเป็นพื้นผิวของผนัง วิธีนี้จึงทำให้เกิดรอยต่อแบ่งเป็นช่วงๆ จากการตั้งไม้แบบที่สูงขึ้นเป็นระยะๆ รวมถึงเกิดร่องรอยความไม่เรียบร้อยเมื่อวัสดุตอบสนองกับไม้แบบด้วย

ความไม่เรียบร้อยและความไม่สมบูรณ์แบบที่เกิดขึ้นเหล่านี้ สถาปนิกทั้งสามกล่าวว่าเป็นผลลัพธ์จากการทดลองหลายครั้งที่ท้ายที่สุดได้เป็นผนังคอนกรีตขรุขระ มีโพรงบ้าง มีหินเผยให้เห็นบ้าง อันเป็นรอยของความไม่สมบูรณ์แบบที่พวกเขากล่าวว่านอกจากจะแสดงให้เห็นกระบวนการการอย่างชัดเจนแล้ว ยังบอกเป็นนัยถึงระบบโครงสร้างที่แท้ของบ้าน กล่าวคือ ความไม่สมบูรณ์แบบเหล่านี้คงไม่อาจเกิดขึ้นได้กับบ้านในโครงสร้างผนังรับน้ำหนัก แต่บรรดาโพรงและรอยแตกทั้งหลายเป็นการบ่งชัดว่าคอนกรีตที่ตาเห็นเป็นเพียงองค์ประกอบตกแต่งของบ้านระบบเสา-คาน แต่สิ่งที่สำคัญกว่า อันสอดคล้องกับแนวความคิดทางสถาปัตยกรรมที่ตั้งไว้แต่ต้น คือความเชื่อมโยงด้านภาพลักษณ์และความรู้สึกระหว่างข้างนอกและข้างในบ้านที่ได้จากความขรุขระของคอนกรีต โดยเฉพาะร่องของรอยต่อไม้แบบที่ตำแหน่งจะเท่ากันไปตลอดทั้งหลังเนื่องจากเป็นการเทให้ต่อเนื่องกันไปในทีเดียว

ความเหมือนกันระหว่างภายนอกนอกและภายในบ้าน ด้วยการใช้ผิววัสดุเดียวกันเป็นเครื่องมือนำพาเช่นนี้ กล่าวอีกแบบได้ว่าได้เจือจางหรือสลายสถานะความถาวรของความเป็นข้างนอกและข้างในบ้านลง หรือทำให้เกิดสภาวะ ‘ไม่มีข้างนอก ไม่มีข้างใน’ คล้ายกับที่เกิดขึ้นในโครงการ Yellow Mini ด้วย กล่าวคือ Yellow Mini เป็นความตั้งใจสร้างสถาปัตยกรรมที่ขอบเขตของอาคารจะเบาบางที่สุดโดยให้มีเพียงหลังคาแบนราบขนาดใหญ่เป็นวัตถุชี้ชัดอาณาเขตคร่าวๆ ของอาคารเท่านั้น แต่ลักษณะของเนินดินและกิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นตัวกำหนดลักษณะรวมถึงขอบเขตของสเปซมากกว่าองค์ประกอบทางกายภาพอื่น ในขณะที่แม้บ้าน Yellow House จะมีลักษณะทางกายภาพทึบตันและดูมีขอบเขตของพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ที่ชัดเจนแน่นอนกว่า แต่พื้นผิวที่อยู่บนเทคนิคเดียวกันต่อเนื่องทะลุทะลวงไปทั่วทุกส่วน ก็ทำให้อาณาเขตภายนอกบ้านดูจะรุกล้ำเข้ามาตามการเคลื่อนที่ของเส้นกรอบของผนังทั้งหลาย นอกจากนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าความหยาบและขรุขระของพื้นผิวที่ปรากฏในพื้นที่ภายในบ้านเอง ก็ทำให้ภาพของสเปซภายในมีความกำกวมระหว่างความเป็นภายในและภายนอกบ้านเช่นกัน เมื่อประกอบกับความแบนราบเทียบเท่ากันหมดของระดับพื้น รวมถึงผังพื้นแบบห้องต่อห้องที่โล่งและลื่นไหล ก็กล่าวได้ว่าทำให้เส้นแบ่งของความเป็นข้างนอกและข้างในดูจะเคลื่อนขยับไปพร้อมการใช้ชีวิตของคนในบ้านในเวลาเดียวกัน

facebook.com/JOYSArchitects

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *