คุยกับสตูดิโอออกแบบเจ้าของผลงานคาเฟ่มากมายในเชียงใหม่ ที่เริ่มต้นด้วยความตั้งใจที่จะไม่เคร่งครัดในแนวทางการเติบโต
TEXT: KITA THAPANAPHANNITIKUL
PHOTO: PANORAMIC STUDIO EXCEPT AS NOTED
(For English, press here)
หากใครเคยแวะเวียนไปเชียงใหม่ คงนึกภาพความเป็นมหานครเมืองหลวงแห่งคาเฟ่ได้อย่างไม่ยากเย็น ท่ามกลางคาเฟ่สุดฮิตที่เป็นเหมือนแลนด์มาร์คให้กับเชียงใหม่หลายๆ ร้าน อาทิ Transit Number 8, The Baristro Asian Style หรือล่าสุดอย่าง COMPLEMENT CAFE’ ที่แม้แต่ละร้านจะมีจุดเด่นและเนื้อหาการออกแบบที่ต่างกันไป เบื้องหลังนั้นกลับคือสตูดิโอเพียงแห่งเดียวที่รับผิดชอบในการถ่ายทอดอัตลักษณ์ของร้านคาเฟ่แต่ละแห่งให้ออกมาในรูปแบบของตัวเอง
art4d พูดคุยกับ บอล – ธนชาติ สุขสวาสดิ์ และ ปอม – กานต์ คำแหง จาก pommballstudio สตูดิโอออกแบบจากเชียงใหม่ที่โดดเด่นด้วยผลงานร้านกาแฟ (จำนวนมาก) ถึงเรื่องราวของการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป กระบวนการออกแบบคาเฟ่ พฤติกรรมการใช้ร้านกาแฟที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน รวมถึงทิศทางการออกแบบที่อิสระอันปรับเปลี่ยนไปตามโจทย์ของลูกค้าที่แตกต่างกันไป
art4d: pommballstudio มีจุดเริ่มต้นอย่างไร
Tanachat Sooksawasd: เราสองคนเป็นคนเชียงใหม่ แต่หลังจากเรียนจบมาก็ย้ายมาทำงานที่กรุงเทพฯ ด้วยกันทั้งคู่ แต่อยู่คนละบริษัทกัน หลังจากผ่านไป 4-5 ปี เราก็รู้สึกอิ่มตัว อยากกลับเชียงใหม่ด้วย ก็เลยชวนกันมาตั้งออฟฟิศ ตอนนั้นไม่ได้คิดอะไรมากเลย อย่างชื่อออฟฟิศก็มาจากชื่อเล่นเราสองคนรวมกัน ปอมกับบอล เลยกลายเป็น pommballstudio
Karn Khamhaeng: ซึ่งช่วงแรกๆ ที่เรากลับมาตั้งออฟฟิศที่เชียงใหม่ ก็คือมีแค่สองคนเลย บางมุมก็คล้ายกับเป็นฟรีแลนซ์ที่ทำสองคน ไม่มีการวางแผน ไม่มีการคิดเรื่องระบบองค์กร ทุกวันนี้ก็ยังเป็นอยู่นะ มันโตไปทางไหนก็ไปทางนั้นแหละ (หัวเราะ) พอเริ่มมีงานเยอะขึ้น เราก็เริ่มรับคนเข้ามาช่วย มันก็เติบโตขึ้นไปของมัน ตอนนี้ก็มีแค่ 5-6 คนเอง
KK: ด้วยความที่ก่อนหน้าที่เราทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นหลัก การที่เรากลับมาเชียงใหม่เลยเหมือนการเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด งานช่วงแรกๆ เลยจะมีหมดทุกสเกล มีทุกแบบที่เราไม่เคยทำ ตอนที่อยู่กรุงเทพฯ เราได้ทำงานสเกลของตึกสูง หรือ Low-rise Residential เป็นหลัก พอกลับมาเชียงใหม่ มันก็เปลี่ยนไปเป็นสเกลตึกแถว การให้รายละเอียดในงานก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องเขียนดีเทลละเอียดมากขึ้นเพราะงานมันเล็ก ที่เล็กสุดที่เคยทำคือออกแบบ kiosk ให้บูทขายเบียร์ขนาด 2 ตารางเมตร หรือแม้แต่เรื่องการออกแบบคาเฟ่ เราก็พึ่งได้มาเรียนรู้ตอนที่กลับมาตั้งออฟฟิศที่เชียงใหม่นี้เอง
art4d: ทำไมถึงมีผลงานออกแบบคาเฟ่เยอะมาก
KK: เราว่ามันเป็นเพราะจังหวะมากกว่า งาน Transit Number 8 และ The Baristro Asian Style น่าจะเป็นชิ้นแรกๆ ที่ทำให้มีคนรู้จักเยอะขึ้น ในช่วงนั้น กระแสของการทำคาเฟ่ยังไม่ได้เป็นเทรนด์กระแสหลักทั้งในเชียงใหม่เท่าปัจจุบัน สองโปรเจ็กต์นี้มันมีความโดดเด่นฉีกออกมาจากบริบท มันเลยน่าจะทำให้เป็นที่สนใจของคนใช้งาน และเจ้าของคาเฟ่ที่อยากออกแบบร้านแบบนี้บ้าง
TS: ในเชิงการออกแบบ ตัวร้าน Transit Number 8 มันตั้งอยู่ในเวิ้งตึกแถวที่อยู่ซอยตันเล็กๆ ในหมู่บ้านอีกที มันเลยมีเสน่ห์ของความเป็นหมู่บ้านที่เข้าถึงง่ายและคนชอบ ประกอบกันตัวอาคารที่เป็นโทนสีขาวเรียบตัดกับความเป็นไม้ ที่สำคัญคือ มันเป็นโปรเจ็กต์ที่รีโนเวทมาจากตึกแถวเก่าด้วย มันเลยเป็นมีความสำคัญทั้งในฐานะจุดหมายที่คนอยากแวะมา รวมถึงเป็นตัวอย่างไอเดียการทำธุรกิจที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการ โปรเจ็กต์นี้เลยทำให้เราเป็นที่รู้จักมากขึ้น บางคนมีพื้นที่ มีตึกแถวก็เริ่มลองเอามาคุยกับเรา บอกว่าอยากได้แบบนี้เลยก็มี (หัวเราะ)
art4d: แม้ว่าจะเป็นคาเฟ่เหมือนกัน แต่ Transit Number 8 กับ The Baristro Asian Style เองก็มีสไตล์ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เวลารับโปรเจ็กต์มา คุณเริ่มยังไง
KK: ถ้าพูดว่าเป็นเรื่องของสไตล์ เราไม่ได้จำกัดเลย เราชอบหาอะไรสนุกๆ ใหม่ๆ ในการออกแบบเรื่อยๆ ทั้งวัสดุ space รายละเอียดในการออกแบบ แต่ทั้งหมดก็ยังเป็นเรื่องของการออกแบบที่ร่วมสมัย มันคงไม่ได้มีสไตล์ที่ชัดเจนว่าแบบไหนเป็นลายเซ็นของเราอะไรขนาดนั้น
TS: จริงๆ เราเคยคุยกันเองหลายรอบว่าเราเองก็ไม่ได้มีแนวทางในการออกแบบที่ตายตัวอะไรขนาดนั้น บางทีเราเห็นว่าโปรเจ็กต์นี้มันตั้งอยู่ตรงไหน มันควรจะทำงานกับบริบทอย่างไร ซึ่งก็ไม่ได้หมายความว่ามันจะต้องเหมือนหรือโดดเด่นออกจากสภาพแวดล้อมนะ มันเป็นได้หมด ตามแต่โจทย์ที่ลูกค้ามอบให้เรา
สิ่งที่เราทำคือ การค้นหาโจทย์ของแต่ละร้านมันควรจะเป็นแบบไหน ทั้งเรื่องพื้นที่ ความต้องการของลูกค้า ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีเอกลักษณ์ มีตัวตนอยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เวลาเราทำงานเราเลยไม่ได้ติดภาพว่า งานนี้ต้องโมเดิร์น งานนี้ต้องไม้นะ แค่วิเคราะห์โจทย์ความต้องการที่เฉพาะของแต่ละงาน ร้านที่เกิดขึ้นก็จะมีความโดดเด่นในตัวมันเองไปโดยปริยาย
art4d: คิดว่างานออกแบบของร้านกาแฟที่ดีคืออะไร และความยากคืออะไร
KK: มันอาจจะเป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ อย่างแรกคือทำตามโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งอาจจะดูไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้ว มันก็คือเรื่องการจัดวางฟังก์ชัน การจัดที่นั่ง ใน space รวมถึงได้หน้าตาที่ทั้งเราทั้งลูกค้าโอเค ซึ่งนั่นคือจุดที่งานออกแบบเข้าไปถึง ส่วนร้านจะได้รับความนิยม มีคนบอกต่อกันเยอะ อันนั้นถือเป็นผลพลอยได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ก็อยู่ที่การจัดการเชิงธุรกิจของตัวเจ้าของร้านกาแฟเองด้วย เพราะตัวคาเฟ่เองมันก็มีคุณค่าของทั้งมิติด้านพื้นที่ประกอบด้วยความสวยงาม การใช้สอย รวมถึงหน้าที่ในตัวของผลิตภัณฑ์อย่างกาแฟ ทั้งเชิงบริการ ทั้งรสชาติ เองก็ตาม ซึ่งอย่างหลังอาจจะสำคัญกว่าด้วยซ้ำ
ความยากของการออกแบบร้านกาแฟอีกอย่างคือมันเป็นพื้นที่ public space ที่คนทั่วไปเห็น ทำให้การออกแบบมันไม่สามารถซ้ำกันได้เลย เพราะฟังก์ชั่นพื้นฐานของร้านกาแฟจริงๆ แล้วเหมือนกันหมด การวางเคาน์เตอร์ ทางสัญจร การจัดวางที่นั่ง ทำให้จุดที่สร้างความแตกต่างจริงๆ คือ ‘การจดจำ’ ผ่านหน้าตาและบรรยากาศของร้าน ถ้าเกิดว่าซ้ำกันแค่นิดเดียว ลูกค้าก็จะนึกออกทันทีว่าร้านที่เราทำนี้เหมือนกับร้านอะไร ทำให้จุดขายของร้านนั้นๆ มันหายไป ร้านนั้นก็จะสูญเสียความเป็นตัวเองไปทันที
การจดจำตรงนี้บางครั้งสำคัญกว่าชื่อเสียอีก อย่างร้าน The Baristro Asian Style คนอาจจะจำได้ในฐานะร้านที่มีกำแพงหินด้วยซ้ำ ซึ่งการออกแบบของเราก็ทำหน้าที่สื่อสารภาพจำตรงนี้ออกมา
art4d: สมมุติว่ามีร้านกาแฟสองร้าน ร้านหนึ่งออกแบบได้ดีแต่รสชาติกาแฟปกติ กับอีกร้านที่ไม่ได้ใส่ใจเรื่องการออกแบบมากนัก แต่มีรสชาติกาแฟที่ดีและมีเอกลักษณ์ คุณคิดว่าผลลัพธิ์ของสองร้านนี้จะแตกต่างกันอย่างไร
TS: แน่นอนว่าทั้งสองร้านนี้ย่อมมีกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาแตกต่างกัน ร้านแรกอาจจะตอบโจทย์กับสาย Café Hopping มากกว่า ลูกค้าเข้ามาถ่ายรูปได้ ชวนเพื่อนมาถ่ายรูปกัน ซึ่งอาจจะมีลูกค้าเยอะ แต่มากันไม่กี่ครั้ง ส่วนในแบบที่สอง อาจจะไม่ได้มีลูกค้าขาจรเยอะมาก แต่สามารถดึงให้คนเป็นลูกค้าประจำได้ด้วยรสชาติกาแฟ
สิ่งที่ปรากฏคือ ฟังก์ชันของการใช้ร้านกาแฟมันไม่ได้มีแค่การนั่งดื่มกาแฟ แต่มันรวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อาทิ การมีปฏิสัมพันธ์กับคน การถ่ายรูป การนั่งทำงาน ฯลฯ ทำให้เรามีกลุ่มผู้ใช้งานที่หลากหลาย ซึ่งตรงนี้เองเราไม่ได้มองว่ามีถูกมีผิด แค่ว่าตัวเจ้าของธุรกิจอยากจับกับลูกค้ากลุ่มไหนเท่านั้นเอง
art4d: การใช้งานคาเฟ่แบบเที่ยวคาเฟ่เพื่อถ่ายรูปแบบ Café hopping ส่งผลต่องานออกแบบคาเฟ่อย่างไรบ้าง
TS: เรามองว่าเทรนด์นี้อาจจะเกิดขึ้นเป็นกระแสหลักจริงๆ ก็เพิ่งในช่วงโควิดที่ผ่านมานี่แหละ เพราะคนอาจจะไม่ได้มีโอกาสออกไปไหนไกล การไปสถานที่ใกล้บ้านอย่างคาเฟ่ก็เลยตอบโจทย์ความต้องการออกไปข้างนอกของผู้คนได้มากขึ้น ได้ถ่ายรูป ได้คุยกับเพื่อน ทำให้พื้นที่คาเฟ่มันต้องขยายการรองรับต่อกิจกรรมและผู้คนที่หลากหลายขึ้นตาม ซึ่งก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ
KK: มันจะมีโจทย์แบบหนึ่งที่เราว่าตอบคำถามนี้ได้อย่างครอบคลุม สมมุติว่าเจ้าของคาเฟ่บอกว่าอยากได้งานออกแบบที่ไม่ตะโกนมาก ไม่อยากให้แมส แต่พองานออกแบบมันสามารถตอบโจทย์การใช้งานได้ดี รวมถึงมีบรรยากาศที่โอเค ทำให้ลูกค้าเข้าร้านเยอะ คาเฟ่รายได้เพิ่ม แต่ร้านกลายเป็นร้านแมสไป สุดท้ายแล้ว ถ้าเป็นแบบนี้นี่ถือว่าเราทำผิดโจทย์ไหม?
เรามองว่า สุดท้ายแล้วการทำร้านคาเฟ่ก็คือการสร้าง space ที่สอดคล้องกับทิศทางของธุรกิจที่เจ้าของร้านต้องการ ซึ่งแต่ละคาเฟก็จะมีกลุ่มลูกค้าเป็นของตัวเองอยู่แล้ว คาเฟ่บางแห่งก็ต้องการกลุ่มลูกค้าขาจร บางแห่งก็อาจต้องการกลุ่มลูกค้าประจำ เราเพียงแค่จัดสรรพื้นที่ให้สวยงามและเหมาะสม หากเราไม่มีมุมถ่ายรูปให้กับร้านคาเฟ่ที่ต้องการกลุ่มลูกค้าประเภทแรก เราก็เท่ากับไม่บรรลุโจทย์ที่สำคัญที่สุด คือ ‘ความต้องการของลูกค้า’
art4d: งานไหนของคุณที่คุณชอบเป็นพิเศษ
TS & KK: ชอบงานต่อไปครับ (หัวเราะ)
KK: จริงๆ เราก็ชอบทุกงานของเราเลย เพราะอย่างที่บอก แต่ละงานเรามันโจทย์แทบไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเวลาทำงานเราก็คงต้องคิดด้วยว่าเราจะทำยังไงให้งานเราไม่เหมือนงานอื่น นอกเหนือจากงานออกแบบคาเฟ่ งานประเภทอื่นๆ ที่เราทำก็มีบริบทที่แตกต่างกัน อย่างงาน Dental Sense ก็มีบริบทที่แตกต่างกันไปเลย ด้วยพื้นที่ตึกแถวหัวมุม อย่างอันนี้โจทย์ของลูกค้าก็คือ อยากให้มันโดดเด่นที่สุดไปเลยในพื้นที่ตรงนั้น เราก็หยิบเรื่องฟันที่ไม่เหมือนกันเลยของแต่ละคนมาเป็นประเด็นของ façade ของอาคารเหลื่อมกัน
TS: หรืออย่างร้าน KanVela Craft Chocolate เองที่เป็นร้านช๊อคโกแลต เราก็ได้ออกแบบ CI ไปด้วย กลายเป็นว่าทุกงานมันมีแง่มุมที่สนุกต่างกันไป จริงๆ แล้วเราไม่ได้วางแผนว่าจะต้องรับงานแบบไหนเป็นหลัก ถ้ามีงานไหนมาให้ทำเราก็ทำ จะร้านอาหาร kiosk บ้าน หรือจะลามไปยันการทำ Branding ทำ CI ทำกราฟิกก็ได้ ตราบใดที่เรายังมีความสุขในการทำ ยิ่งพักหลัง เวลามีคนมาจ้างเราออกแบบร้าน เขาก็เลยจ้างเราทำทั้งหมดครบวงจรไปเลย
art4d: มองว่า pommballstudio จะเติบโตไปในทิศทางไหน
KK: ประมาณนี้ก็โอเคแล้วนะ เราไม่ได้มีแผนว่าต้องขยับหรือเติบโตขึ้นไปให้มากกว่านี้ในเชิงความเป็นองค์กร เรายังคงอยากทำงานในแบบที่เรายังสนุกแล้วเรายังจัดการทุกอย่างได้ อยากให้มันเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ถ้าสมมุติวันนี้เรารับงานสเกลใหญ่มากๆ เราก็อาจจะทำได้ไม่ดี ทั้งในเชิงการออกแบบและการจัดการ ผลลัพธ์คือทั้งเรา ทั้งลูกค้า ก็จะไม่มีใครมีความสุขเลย
TS: ทุกวันนี้เราขอโทษลูกค้าเยอะมาก (หัวเราะ) บางครั้งเราก็ไม่สามารถรับงานเพิ่มได้จริงๆ ในบางช่วง เพราะเราก็รู้ดีว่าถ้าภาระงานมันหนักเกิน เราก็จะไม่สามารถควบคุมเวลาหรือคุณภาพได้ เราก็อยากให้มันเป็นเหมือนตอนที่เราเปิดออฟฟิศขึ้นมา ไม่ต้องไปเคร่งครัดในด้านการเติบโตมาก ให้มันเป็นไปตามครรลองของมัน